นักวิ่งที่มาออกกำลังกายในสวนลุม เมื่อวิ่งผ่านหน้าลุมพินีสถาน จะสังเกตเห็นรูปปั้นผู้ชายถือไวโอลินและคันชัก
คนที่เกิดก่อน พ.ศ.2500 ต่างรู้จักชายผู้นี้ดี เขาคือนักร้อง-นักแต่งเพลงฝีมือฉกาจ วาทยากร หัวหน้าวงดนตรีแห่งยุคสมัย ผู้มีฉายา ‘ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’
เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่น่าจะมีสักครั้งในชีวิตที่บทเพลงของเขาลอยมาเข้าหู
ชายผู้นี้คือใคร ทำไมรูปปั้นเขาถึงอยู่ในสวนลุมฯ?
เอื้อ สุนทรสนาน หรือ “ครูเอื้อ” เป็นนักร้อง นักประพันธ์เพลง และหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ เกิดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช พ.ศ.2453 เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ชั้น ม.1 ก่อนฉายแววความสามารถพิเศษจนครูผู้สอน (พระเจนดุริยางค์) ให้งดวิชาสามัญ แล้วหันมาเรียนดนตรีเต็มวัน
หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ครูเอื้อที่รับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง ถูกโอนไปอยู่กรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการเป็น ‘กรมโฆษณาการ’ อธิบดีในขณะนั้นคิดว่า ควรจะมีวงดนตรีประจำสถานีวิทยุของรัฐบาล ด้วยฝีมือและชื่อชั้น เอื้อและคณะจึงได้รับการแนะนำมาอยู่ที่นั่นในฐานะ ‘วงดนตรีกรมโฆษณาการ’
จุดเริ่มต้นของวงสุนทราภรณ์เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อคราวเขานำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียนในพ.ศ.2482 แล้วผู้จัดงานเห็นว่าดูไม่เหมาะที่จะนำวงดนตรีราชการมาบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือว่าควรใช้ชื่ออื่นสำหรับเล่นนอกเวลาราชการ
ขณะนั้นเขาตกหลุมรักหญิงสาวชื่อ ‘อาภรณ์’ (ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาในอนาคต) จึงนำนามสกุลของตัวเองรวมกับชื่อคนรักเป็นชื่อวง ‘สุนทราภรณ์’
สิ่งที่ทำให้ครูเอื้อและวงสุนทราภรณ์เป็นที่จดจำ มาจากผลงานเพลงอันมากมายและหลากหลายกว่า 2,000 เพลง (ถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์ ผู้เขียนหนังสือ ครูเพลง แห่งสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ระบุว่า ครูเอื้อแต่งทำนองเพลงให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ประมาณ 2,000 เพลง) ทั้งเพลงถวายพระพร เพลงปลุกใจ เพลงรำวง เพลงเทศกาล เพลงที่เกี่ยวกับความรัก ศาสนา และปรัชญาชีวิต ฯลฯ ที่มีความไพเราะเฉพาะตัว
มีคนถามว่า เพลงสุนทราภรณ์เป็นเพลงแนวไหน?
บางคนทึกทักว่าแนวลูกกรุง แต่คนที่รู้จักสุนทราภรณ์จะบอกว่า “สุนทราภรณ์ก็คือสุนทราภรณ์”
วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ‘สโมสรวรรณกรรม’ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เขียนถึงเอกลักษณ์ของบทเพลงสุนทราภรณ์ว่า
“ครูเอื้อและบรรดาศิลปินทั้งหลายในยุคนั้น ต่างก็มีครูเพลงและครูดนตรีไทยเดิมเป็นมรดกทางใจกันทั้งสิ้น ดังนั้นดนตรีไทยสากลของสุนทราภรณ์จึงเป็นที่รวมของครูและศิลปินนักประพันธ์เพลงและดนตรีที่ดัดแปลงทำนองดนตรีไทยเดิมมาเป็นเพลงสากลด้วยการเล่นเครื่องดนตรีของตะวันตกได้อย่างไพเราะเสนาะโสต”
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ครูเอื้อรักและผูกพัน ในเพลง ‘พระเจ้าทั้งห้า’ ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อร้องมีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “พระที่ห้ามีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สิน ซอสุดรักไวโอลิน เหนือศิลป์ใดใด”
(photo: ปกหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เอื้อ สุนทรสนาน)
เสน่ห์เพลงสุนทราภรณ์ที่เกิดจากการฟิวชั่นดนตรีแบบไทยเดิมกับสากล นอกจากความเฉพาะตัวแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์เพลงไทยเดิมให้ร่วมสมัยไม่หายไปจากกาลเวลา
ทั้งยังให้กำเนิดจังหวะทางดนตรีใหม่อย่าง ‘ตะลุงเท็มโป้’ ที่นำเพลงตะลุงของภาคใต้มาปรับให้เป็นจังหวะลีลาศแบบสากล และแนวเพลง ‘สังคีตสัมพันธ์’ ที่บรรเลงเครื่องดนตรีไทยร่วมกับเครื่องดนตรีสากล (ซึ่งเกิดจากดำริของ ม.ล.ขาบ กุญชร ที่นึกถึงพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่ตรัสว่า “ดนตรีไทยกับดนตรีสากลนั้น ควรจะเล่นรวมกันได้)
ครูเอื้อทิ้งมรดกทางดนตรีไว้ไม่เพลงแค่บทเพลง แต่ยังก่อตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีสร้างคนดนตรีคุณภาพมากมาย ซึ่งต่อมาบางคนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เช่น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, รวงทอง ทองลั่นธม, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และมัณฑนา โมรากุล รวมถึงนักเรียนอีกนับหมื่น
หลังจากครูเอื้อสิ้นใจ ราว 29 ปีต่อมา ในพ.ศ.2553 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลก แม้จะเป็นศิลปินดนตรีของไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ แต่เมื่อครั้งที่มีชีวิต ครูเอื้อบอกว่าความภาคภูมิใจในชีวิตไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียงหรือเงินทองที่ได้รับ แต่คือการมีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องยุคลบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านเพลงพระราชนิพนธ์
หลายครั้งครูเอื้อและวงสุนทราภรณ์ จะได้รับพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์หลายบทเพลงไปบรรเลงเป็นวงแรก สำหรับครูเอื้อนี่คือเกียรติสูงสุดในฐานะศิลปิน
ทางฟากผู้ฟังดนตรี คนที่เติบโตมาในยุคเพลงสุนทราภรณ์ หรือเคยได้ฟังสุนทราภรณ์มาบ้าง ไม่มากก็น้อย คงได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่เล่ามาในบทความ
ส่วนคนรุ่นหลังที่อ่านบทความนี้ คงสิ้นสงสัยแล้วว่ารูปปั้นชายผู้ถือไวโอลินและคันชักที่หน้าลุมพินีสถานคือใคร
สำหรับคำถาม ทำไมรูปปั้นถึงมาตั้งอยู่ตรงนี้ คำตอบก็อยู่ที่อาคารเบื้องหลังรูปปั้น
ครั้งหนึ่งลุมพินีสถานเคยเป็นที่นัดรวมพลของบรรดาหนุ่มสาวที่มาเต้นลีลาศ โดยมีดนตรีวงชื่อ ‘สุนทราภรณ์’ คอยขับกล่อมให้จังหวะ และครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง
ว่ากันว่าในเวลานั้น ครูเอื้อได้รับการเรียกขานว่า ‘เจ้าพ่อแห่งเวทีลีลาศสวนลุมพินี’
อ้างอิง:
- Wikipedia. เอื้อ สุนทรสนาน. https://bit.ly/2jiyRay
- Wikipedia. วงดนตรีสุนทราภรณ์. https://bit.ly/2GNnWAc
- Wikipedia. กรมประชาสัมพันธ์. https://bit.ly/2xatGnQ
- ปรีชา เศขรฤทธิ์. 78 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์. https://bit.ly/2Lt8wof
- ธนิต วิจิตรพันธุ์. สวนลุมพินี ณ วันวาน. http://bit.ly/2Cawu5c
- วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์. ครูเอื้อ สุนทรสนาน-สุนทราภรณ์. https://bit.ly/2C1oNhW
- อรอนงค์ เสนะวงศ์. ครูเอื้อ สุนทรสนาน: ขุนพลเพลงแห่งรัตนโกสินทร์ บุคคลสำคัญของโลกประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓. https://bit.ly/2EdqhrQ
- สมถวิล (สมถวิล). ประวัติวงดนตรีที่เรียกว่า “สังคีตสัมพันธ์”. https://bit.ly/2RzJE1g
- ThaiPR.NET. กทม.เดินหน้าสร้างรูปปั้นครูเอื้อในสวนลุมพินี. http://www.ryt9.com/s/prg/251470
- ชวนพิศ สุศันสนีย์. ห้องโสตทัศน์วัสดุ “สุนทราภรณ์”. http://ruir.lib.ru.ac.th/sites/default/files/rujl-7-4-05.pdf
- วิพล นาคพันธ์. เอื้อ สุนทรสนาน “สังคีตสัมพันธ์” พัฒนาการของเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทย. https://www.gotoknow.org/posts/427234
Did you know/Quick Facts
- “สุนทราภรณ์ใส่สูทสีอะไร?” คือปริศนาคำทายของเด็กๆ ในยุคสุนทราภรณ์ คนที่ไม่รู้จะตอบเป็นสีต่างๆ อาทิ สีดำ สีกรมท่า แต่คำเฉลยที่ถูกต้องคือ ‘สีไวโอลิน’
- รูปปั้นครูเอื้อ ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘อนุสรณ์สถาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ เกิดจากกรุงเทพมหานคร (ยุคผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช) และมูลนิธิสุนทราภรณ์ ร่วมกันจัดสร้าง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 เพื่อรำลึกถึงครูเอื้อ สุนทรสนาน คีตศิลปินคนสำคัญของไทย
- ประชากรบนโลกกว่า 7 พันล้านคนที่เชื่อมโยงอยู่บนร่างแหเดียวกัน และสื่อสารกันในระดับเรียลไทม์เพลงแรกที่ครูเอื้อ… แต่ง: ยอดตองต้องลม, ร้อง: ในฝัน, แต่งเพลงปลุกใจ: รักสงบ, บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์: ยามเย็น, แต่งเพลงถวายพระพร: ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น
- เพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อร้อง คือ พระเจ้าทั้งห้า