อีกหนึ่งเมืองที่ดูจะเป็นม้านอกสายตาประจำแดนภารตะ ที่เราภูมิใจเสนอ คือ ชิมลา อดีตเมืองหลวงฤดูร้อนแห่งประเทศอินเดีย
เหตุผลที่เราอยากให้คุณไต่ระดับความสูงไปเที่ยวเมืองที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,205 เมตรแห่งนี้ ก็เพราะไปชิมลาที่เดียว เหมือนได้เที่ยวอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และบราซิลในทริปเดียว!
ส่วนเหตุผลส่วนตัวที่จูงใจเราให้อยากไปเที่ยวชิมลาเมื่อปีกลายที่ผ่านมานั้น เพียงเพราะอยากลองนั่งรถไฟของเล่น (Toy Train) ในตำนาน เพราะเรารู้สึกว่านี่เป็นวิธีเดินทางไปชิมลาที่คลาสสิคที่สุด แม้จะสามารถนั่งเครื่องบินโดยสารรถบัส หรือเหมาแท็กซี่ไปได้ก็ตาม
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/04.jpg)
![shimla 0](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/03.jpg)
การเดินทางไปสู่เมืองชิมลานั้นเราตั้งต้นจับรถไฟออกจากสถานีโอลด์เดลี โดยสารตู้นอน หลับยาวๆ ไปหนึ่งคืน ก่อนจะตื่นมาพบกับแสงแรกที่สถานีกัลกา (Kalka) จากนั้นก็แบกสัมภาระขึ้นหลัง เปลี่ยนไปโดยสารรถไฟขบวนเล็ก เพื่อลัดเลาะไปตามเหลี่ยมเขามุ่งหน้าขึ้นสู่เมืองชิมลา
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/02.jpg)
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/07.jpg)
ถึงจะได้รับสมญาว่ารถไฟของเล่น แต่ก็ไม่ได้ไซส์จิ๋วจนต้องนั่งงอก่องอขิงเหมือนนั่งรถไฟตามสวนสนุก
แม้เก้าอี้ในขบวน Toy Train จะมีขนาดเล็กกว่าขบวนรถไฟสายปกติ ก็ยังนั่งสบาย แถมมีอาหารเสิร์ฟอีกด้วย
หลังจากรถไฟสายมรดกโลกขบวนนี้ แล่นลอดอุโมงค์หลายสิบแห่งจนมาถึงอุโมงค์ที่ยาวที่สุดถึงกว่า 1,143 เมตร หรือนับเป็นระยะเวลาที่ต้องตกอยู่ในความมืดนาน 5 นาที ขบวนรถก็จอดพักที่สถานี Barog นาน 10 นาที เป็นสัญญาณว่าเรามาได้เกินครึ่งทางแล้ว และก็เพื่อให้ผู้โดยสารได้ลงไปซื้อน้ำ ซื้อขนมกิน ยืดเส้นยืดสายพอให้ได้สัมผัสลมหนาวยะเยือกผิวเบาๆ เตรียมพร้อมรับมือสู่ความหนาวที่สุดขั้วยิ่งกว่าเมื่อถึงยอดชิมลา
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/08.jpg)
เราใช้เวลานั่งโขยกเขยกลอดอุโมงค์นับได้เกินร้อยอุโมงค์นาน 5 ชั่วโมง ในที่สุด ก็เดินทางถึงสถานีชิมลา และจับแท็กซี่ไปสู่โรงแรมที่พักระหว่างเส้นทางที่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา
เราพบว่าชิมลายิ่งใหญ่เกินจินตนาการไปมาก ใจคิดว่าจะเป็นแค่เมืองขนาดกำลังดีอารมณ์ประมาณโพคารา เมืองเล็กริมทะเลสาบที่ประเทศเนปาล แต่ที่ไหนได้ชิมลาคืออลังการแห่งงานก่อสร้างบ้านเรือนให้ลดหลั่นไปตามองศาของภูเขาทั้งลูกจนแทบจะไม่เหลือที่ว่าง เราเองก็ลืมไปว่าขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงฤดูร้อนทั้งทีจะมาไก่กามีบ้านแค่ 100-200 หลังได้ไง
ว่าด้วยประวัติย่อของชิมลานั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเมืองหลวงฤดูร้อนของบริติชอินเดียในปี ค.ศ. 1864
เนื่องจากชาวอังกฤษผู้เดินทางมาปกครองอนุทวีปแห่งนี้ทนองศาเดือดของกรุงกัลกัตตาในช่วงฤดูร้อนไม่ไหว
รัฐมนตรีทั้งหลายจึงอพยพทั้งรัฐบาลย้ายไปประจำการสร้างบ้านแปงเมืองเสียใหม่หมดบนภูเขาสูงแห่งรัฐหิมาจัลประเทศ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปีถึงขั้นมีหิมะโปรยปรายไม่ต่างอะไรจากบรรยากาศในอังกฤษเลยทีเดียว
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/05.jpg)
พอหมดฤดูร้อนก็ย้ายกลับไปว่าราชการที่กรุงกัลกาตาเหมือนเดิมและหลังจากอินเดียได้รับเอกราช ก็ไม่มีเมืองหลวงฤดูร้อนอีกต่อไปแต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชิมลาก็ได้กลายเป็นเมืองตากอากาศแห่งสำคัญไปเสียแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเอง รวมถึงนักเดินทางจากทั่วโลก ต่างก็อยากไปสัมผัสร่องรอยอารยธรรมที่อังกฤษได้ทิ้งไว้ที่นี่ ว่ากันว่าการได้เดินเล่นบน Mall Road เส้นเดียว ก็เหมือนได้ไปเที่ยวกรุงลอนดอนไม่มีผิด ว่าแล้วก็กดลิฟต์ขึ้นไปเดินช้อปเดินชิลที่ Mall Road กันเลย
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/52.jpg)
อย่างที่บอกว่า ชิมลาเกิดจากการค่อยๆ สร้างเมืองขึ้นตามไหล่เขา ดังนั้นถนนแต่ละสายในเมืองจึงมีความต่างระดับกันถึงขึ้นที่ต้องใช้ลิฟต์โดยสารที่มีความสูงถึง 9 ชั้น เพื่อเดินทางจากถนนเส้นต่ำที่สุดไปยัง Mall Road หรืออีกชื่อคือ The Ridge ซึ่งเป็นถนนเส้นบนสุดของเมือง แล้วค่อยเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยต่างๆ ลงไปยัง Lower Bazaar จะสะดวกกำลังขากว่าเดินขึ้นบันไดเป็นไหนๆ
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/23.jpg)
เหนือ Mall Road ที่เรียงรายด้วยร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านขายเสื้อผ้าต่างๆ ขึ้นไป เป็นลานโล่งกว้างที่เรียกขานกันว่า The Ridge ศูนย์รวมความศิวิไลซ์ประจำเมืองชิมลา มีทั้ง Christchurch โบสถ์เก่าแก่ที่ถือเป็นแลนมาร์คกลางเมือง มีห้องสมุด โรงหนัง และโรงละคร ที่มีโปรแกรมน่าสนใจต่างๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ชาวชิมลาได้แวะชมความบันเทิงร่วมกันในแต่ละค่ำคืน ด้วยความที่ The Ridge เป็นลานโล่งกว้าง จึงเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่มองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ชัดถนัดตา เดินไปอีกนิดก็สามารถช้อปของฝากจำพวกงานคราฟต์ หรือของทำมือต่างๆ ได้ที่ Lakkar Bazaar ที่อยู่ติดกัน
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/10.jpg)
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/12.jpg)
ส่วนใครที่ชอบเดินตลาดพื้นบ้านแบบที่ได้ต่อราคาสนทนากับพ่อค้าแม่ขายด้วยตัวเอง ให้มองหาบันไดในตรอกไหนก็ได้จาก Mall Road เดินลงไปยัง Lower Bazaar แค่นี้คุณจะได้พบกับอีกโลกที่แตกต่างจากความหรูหราบนถนนมอลล์อย่างสิ้นเชิง
ณ ตลาดที่อยู่ต่ำกว่าแห่งนี้เต็มไปด้วยสีสันของอินเดียแบบที่คุ้นเคย ทั้งจำนวนผู้คนที่หนาตา ร้านค้าที่เบียดชิดติดกันทุกคูหา และมีข้าวของให้ช้อปครบทุกประเภท รับรองว่าเดินสนุก เดินเพลินจริงๆ
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/16.jpg)
เติมเต็มบรรยากาศของความเป็นอังกฤษกันต่อที่ Viceregal Lodge อาคารโบราณหน้าตายุโรปจ๋าอายุเกินศตวรรษ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชิมลาไปแค่ 2 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นที่พักอาศัยของผู้รั้งตำแหน่งอุปราชแห่งอังกฤษ
และหลังจากอินเดียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2490 ที่นี่ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นที่พักตากอากาศในช่วงฤดูร้อนของประธานาธิบดีแห่งอินเดียอยู่พักใหญ่ ต่อมาท่านประธานาธิบดีได้ยกไวซ์รีกัลลอดจ์ให้เป็นแหล่งศึกษาสำหรับค้นคว้าวิจัยของบรรดานักวิชาการหัวกะทิของประเทศ ปัจจุบันที่นี่จึงยังมีสถานะเป็นที่ทำงานของนักวิชาการและนักวิจัยหลายสาขา จึงเปิดให้ทัวร์ริสต์อย่างเราเข้าชมได้แค่บางห้องเท่านั้น
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/47.jpg)
ประวัติศาสตร์ที่เราสามารถเก็บตกได้จากไวซ์รีกัล ลอดจ์ หนีไม่พ้นบรรยากาศขรึมขลังของห้องประชุมที่มหาตมะคานธีเคยใช้เป็นพื้นที่ในการถกเถียงเหตุบ้านการเมืองหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นและเพดานไม้เก่าแก่ แชนเดอร์เลียร์สวยหรู และนาฬิกาแขวน เมด อิน อัมสเตอร์ดัม อายุเกือบ 200 ปี ที่ยังคงเดินส่งเสียงติ๊กต่อกบอกเวลาอย่างเที่ยงตรงในทุกยุคสมัย น่าจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้ากับเรื่องราวเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในคฤหาสน์หลังนี้ได้ดีที่สุด
ออกจากอังกฤษกันดีกว่า ได้เวลาไปเยือนบราซิลเบาๆ ณ ยอดเขา Jakhoo ซึ่งเปรียบเหมือนภูเขาหลังบ้านของชิมลา แนะนำว่าตอนเดินเล่นที่ Mall Road ให้สังเกตบนยอดเขาสูงทางด้านหลัง คุณจะเห็นเหมือนมีรูปปั้นสีชมพูยืนเด่นอยู่ลิบๆ ท่ามกลางทิวสน และนั่นเองคือที่สถิตของกริชตูเรเดงโตร์แห่งชิมลา
เอ่ยชื่อ กริชตูเรเดงโตร์ อาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าประติมากรรมพระเยซูที่ตั้งอยู่บนยอดเขากอร์โกวาดูแห่งประเทศบราซิล หลายคนคงร้อง อ๋อ เพราะรูปปั้นองค์นั้นทำหน้าที่แลนด์มาร์คแห่งบราซิลได้อย่างไม่มีที่ติ ในขณะที่ประติมากรรมบนยอดเขาจาคูแห่งนี้กลับไม่ค่อยมีใครรู้จักสักเท่าไร ทั้งที่หนุมานองค์สีชมพูรูปร่างกำยำองค์นี้ ก็มีความสูงที่ไม่น้อยหน้ากันเลย (รูปปั้นพระเยซูสูงราว 38 เมตร รูปปั้นหนุมานสูงราว 33 เมตร) แต่ถึงอย่างไร หนุมานก็ครองสถานะหนึ่งในเทพที่ฮินดูชนให้ความเคารพมากที่สุดองค์หนึ่ง จึงมีผู้คนขึ้นไปสักการะองค์หนุมานในวัด Jakhoo ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันตลอดทั้งปี
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/42.jpg)
ทำไมต้องสร้างรูปปั้นหนุมานไว้ที่นี่?
ก็ต้องท้าวความไปสู่ตำนานบทหนึ่งในรามายณะ หรือรามเกียรติ์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในตอนที่พระลักษม์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ หนุมานจึงต้องเหาะไปตามหาต้นสังกรณีตรีชวา เพื่อนำมาปรุงยารักษาพระลักษม์ และด้วยความที่เป็นพืชสมุนไพรหายาก หนทางก็ไกล หนุมานจึงแวะหยุดพักบนยอดเขา Jakhoo แห่งนี้ เพื่อชะเง้อแลเล็งหาภูเขาลูกที่มีความน่าจะเป็นว่าจะมีสมุนไพรต้นนี้อยู่ ก่อนจะเหาะต่อไปแล้วหอบภูเขาที่หมายตาเอาไว้ขึ้นมาทั้งลูกกลับไปรักษาพระลักษม์ จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของรูปปั้นหนุมานเหาะ โดยแบกภูเขา 1 ลูกไว้ในมือนั่นเอง
![shimla 2](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/27.jpg)
สักการะหนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยาเป็นที่เรียบร้อย ก็โบกแท็กซี่ไปเล่นสกีกันต่อดีกว่า ไม่รู้อะไรซะแล้วว่า ถ้าคนอินเดียเขาอยากเล่นสกี วิ่งไล่ปาหิมะกันแล้วล่ะก็ ถัดจากชิมลาไปแค่ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ Kufri เมืองสันทนาการยามเหมันตฤดูของชาวอินเดียเขานั่นเอง
![shimla](https://becommon.co/wp-content/uploads/2020/01/25.jpg)
เส้นทางจากชิมลาไปคูฟรีนั้นคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาและสวยงามด้วยทิวสนตัดกับท้องฟ้าสีคราม ยิ่งเมื่อเข้าเขตเมืองสกีเราก็จะเริ่มเห็นหิมะปกคลุมตามข้างทางระหว่างนั่งรถชมวิวเพลินๆ คนขับรถจะถามเราว่า จะเล่นสกีไหม ถ้าคำตอบคือ Yes ก็อย่าตกใจที่จู่ๆ เขาจะหักเลี้ยวเข้าไปจอดรถบริเวณไหล่ทางที่มีรถจอดอยู่แล้วหลายคัน เพราะตรงนี้เป็นจุดเช่าชุดและรองเท้าสำหรับเล่นสกี เรียกว่าลองชุดและเปลี่ยนชุดกันข้างทางให้เสร็จสรรพ ก่อนขึ้นรถแล้วขับไปให้ถึงลานสกี (ส่วนชุดเช่าทั้งหมดก็เป็นของแขกชุดก่อนหน้านี่ที่เพิ่งถอดออกมาสดๆ ร้อนๆ!)
อีกครั้งที่มโนภาพก่อนมากับความเป็นจริงช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในตอนแรก เราปฏิเสธเพื่อนเสียงแข็งว่า จะไม่เล่นสกี เพราะคิดว่าจะต้องสโลบลงมาจากเนินเขาหิมะสูงชัน ไม่เอาล่ะ ไม่อยากเจ็บตัว ซึ่งเพื่อนสาวหัวใจแอดเวนเจอร์ก็มโนภาพในใจไว้เช่นนั้นเหมือนกัน
แต่หลังจากจำยอมสมัครใจเล่น เพราะขี้เกียจนั่งแกร่วรอแบบไม่มีอะไรทำ และเปลี่ยนมาใส่ชุดหมีบุนวมจนตัวหนาราวมนุษย์อวกาศเสร็จเรียบร้อย
พวกเราก็พากันเดินล้มลุกคลุกคลานขึ้นไปตามเนินน้ำแข็งลื่นๆ เพื่อที่จะพบว่าที่นี่คือลานสกี 101 บรรยากาศไม่ต่างอะไรกับตอนหัดเล่นไอซ์สเก็ตครั้งแรกตามห้างฯ ในกรุงเทพฯ ไม่มีผิด
ไม่มีเนินเขาสูง ไม่มีสโลบใดๆ อุปกรณ์สกีก็ต้องรอแขกรอบก่อนหน้าเล่นเสร็จ ถึงจะได้เอามาสวมใส่แล้วหัดเอาไม้ไถๆ ไปตามพื้นเอาเอง ให้เพื่อนช่วยดันหลังบ้าง หัดเบรกเองบ้าง ไถสกีวนๆ อยู่คนละ 4-5 รอบ
ถ่ายรูปวิวเทือกเขาหิมาลัยที่โอบล้อมพอเป็นพิธี จากนั้น ก็เปลี่ยนชุดคืนเจ้าหน้าที่ แล้วนั่งรถกลับไปกำซาบบรรยากาศในเมืองชิมลากันต่อ
เอ๊ะ แล้วมันเหมือนไปสวิสตรงไหน?
เอาน่าอย่างน้อยก็ได้ลองเคลื่อนร่างไปบนสกีแบบไม่ต้องเสียเงินแสนบินไปถึงยุโรป ก็ได้สัมผัสอรรถรสและทิวทัศน์สวยๆ ได้พอกล้อมแกล้ม เป็นอันจบทริปทัวร์เมืองหลวงฤดูร้อนแห่งอินเดีย
ที่มอบทุกประสบการณ์ให้แบบครบเครื่องจริงๆ