©ulture

พุทธทาสภิกขุ คือพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งในช่วง พ.ศ.2469-2536 ที่ปลุกธรรมะให้ตื่นในใจผู้คน ด้วยวิธีการสื่อสารอันทันสมัย

ไม่ว่าจะการปรับหลักธรรมที่ยาก และเต็มไปด้วยบาลี ให้เข้าถึงชาวบ้าน ผ่านถ้อยคำที่เรียบง่ายและเข้าถึงใจอย่าง “ตัวกู ของกู”

การยืนปาฐกถาธรรมแทนการนั่งอยู่บนธรรมมาสน์ ซึ่งแหวกขนบพระในยุคนั้น โดยท่านให้เหตุผลว่า “ความคิดที่จะใช้ปาฐกถาแทนเทศน์ มันเกิดจากความรู้สึกว่าของเดิมเต็มสมัยแล้ว…”

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

นอกจากนี้ ท่านยังใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ตามยุคสมัย ไม่ว่าภาพถ่าย กล้องวิดีโอ เครื่องบันทึกเสียง หรือแม้แต่โรงมหรสพทางวิญญาณ ที่เป็นเสมือนโรงภาพยนตร์ เป็นเครื่องมือเผยแผ่ธรรมะเพื่อให้เข้าถึงใจผู้คน ที่กำลังสับสนวุ่นวายในยุคที่ความเจริญและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

“มันเป็นธรรมดาธรรมชาติ หรือเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่ง ซึ่งทุกคนต้องการสิ่งประเล้าประโลมใจ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติกำหนดมาเช่นนั้น ท่านทั้งหลายก็ดูที่ตัวเอง ว่าต้องการสิ่งประเล้าประโลมเท่าไร…”

ธรรมะที่เคยอยู่บนหิ้ง จึงได้รับการสื่อสารใหม่ ผ่านวิธีที่บันเทิงเริงใจ แต่แฝงไว้ด้วยพระธรรม

นิทรรศการ ‘เรื่องเล่นเห็นธรรม’ ที่จัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสื่อในการเผยแผ่ธรรม นิยามการสื่อสารด้วยสื่อต่างๆ ของท่านว่า เป็นการ ‘เล่น’

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

“การเล่น หรือ ของเล่น นั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่คู่กันมากับมนุษย์อย่างที่จะแยกกันไม่ได้เป็นอันขาด…

“…การไม่ได้หัวเราะเสียเลย หรือไม่มีเวลารู้สึกสนุกเพลิดเพลินเลยนั้น คงจะทำให้เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อบางส่วนแห้งตีบ และกลายเป็นคนไม่สมประกอบไปบ้างส่วนก็เป็นได้ หรือจะเปิดโอกาสให้แก่โรคภัยบางอย่างโดยตรงก็ได้ ฉะนั้นแม้ในวงผู้ฝึกฝนการปฏิบัติธรรม ก็จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดีเหมือนกัน จะถือว่าเป็นสิ่งที่นอกเรื่องไม่ได้”

คำถามคือ ท่านพุทธทาส ‘เล่น’ อะไร แล้วสิ่งที่เล่นนั้น ท่านใช้ในการแสดงธรรมอย่างไร

กล้องถ่ายรูป

ว่ากันว่าท่านพุทธทาสน่าจะเร่ิมสนใจถ่ายภาพตั้งแต่สมัยที่ท่านเดินทางจาก อ.ไชยา ขึ้นมาเรียนภาษาบาลีที่วัดปทุมคงคม กรุงเทพฯ ราว พ.ศ.2472-2474 เพราะเห็นว่าสนุกและมีประโยชน์

โดยกล้องแรกที่ใช้คือโกดักเวสต้า ซื้อที่เวิ้งนาครเขษม ราคา 12 บาท “มันก็ถ่ายได้ดี แล้วก็มาหัดล้างอัดเอง” ซึ่งช่วยประหยัดค่าล้าง-อัดภาพได้มากโข “อัดเองมันถูกมาก ถูกกว่ากันหลายเท่า 50 เท่าได้”

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

ต่อมาเมื่อท่านพุทธทาสมีโอกาสเดินทางไปอินเดียเมื่อปลาย พ.ศ.2498 ท่านได้จัดหากล้องไปด้วยหนึ่งตัว คือ กล้อง Contax D เพื่อก็อปปี้ภาพ

การถ่ายภาพ ดูจะเป็นกิจกรรมหลักของการเดินทาง โดยเฉพาะการถ่ายภาพโบราณสถาน ภาพพุทธประวัติหินสลักทั้งจากสถานที่จริง พิพิธภัณฑ์ และจากหนังสือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “สอบสวนข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เดิมๆ”

ซึ่งก็คือภาพพุทธประวัติหินสลักระหว่าง พ.ศ.300-600 ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้า แต่ทำเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

“ภาพปั้นชุดนี้มันหมายตาเอาไว้ก่อนไปอินเดียแล้ว ตั้งแต่อ่านเจอในหนังสือ มันพิเศษตรงที่เป็นพุทธประวัติสมัยที่เขายังไม่มีรูปเคารพของพระพุทธเจ้า พอไปอินเดียก็ไปถ่ายมาเพิ่มเติม ตอนหลังติดต่อไปทาง British Museum ที่อังกฤษ เขาก็ดีเหลือ ถ่ายรูปมาให้ เราจึงคุยว่าภาพพุทธประวัติชุดนี้ของเราสมบูรณ์ที่สุดในโลก มันแสดงถึงความเจริญทางวิทยาการสมัยนั้น ที่เขาไม่บูชารูปเคารพกัน เขาใช้เป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่รูปสำหรับบูชา”

จากรูปถ่ายจำนวนมากที่บันทึกไว้ ต่อมาท่านพุทธทาสได้นำมาเป็นต้นแบบในการให้ช่างฝีมือปั้นจำลองขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนธรรม

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

นอกจากนี้ ภาพถ่ายอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นภาพพอร์ตเทรต ซึ่งท่านให้ “ท่านชู” หรือ พระบุญชู ฐิตปุญโญ เป็นผู้ช่วยถ่าย ท่านก็นำมาใช้เป็นภาพประกอบโคลงกลอนสอนธรรม สำหรับตีพิมพ์เป็นหนังสือ ‘บทพระธรรม ประจำภาพ’ ที่เปี่ยมด้วยอรรถรสทั้งศิลปะและพระธรรม

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ บทพระธรรม ประจำภาพ
บทพระธรรม ประจำภาพ (Photo: kathmanduphotobkk.com)

กล้องถ่ายภาพยนตร์

นอกจากถ่ายภาพ ท่านพุทธทาสยังสนใจเล่นกล้องถ่ายภาพยนตร์ ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า

“เมื่อเล่นถ่ายรูปก็ถ่ายวิวมากกว่าอย่างอื่น กล้องถ่ายหนังก็เคยเล่น เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ พันเอกสาลี่ให้มา กล้อง 16 มิล นายสุจิตต์เป็นผู้ถ่ายให้โดยมาก แล้วยังมีผู้ให้กล้อง 36 มิล 50 ฟุต และกล้อง 8 มิลซุปเปอร์ กับ 8 มิลธรรมดา ก็ได้ถ่ายไว้ไม่น้อย คงเตรียมขึ้นราหมดแล้ว เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดทั้งนั้น ที่ชอบมากที่สุดก็ถ่ายปลาใส่ตู้กระจก สวยมาก เรียกว่าเพชรพลอยในหนอง เมื่ออยู่ในหนองมันไม่สวยไม่น่าดู พออยู่ในตู้กระจก มันสวยวิเศษไปเสียทุกตัวเวลาถ่ายเป็นหนังออกมา…”

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

เครื่องฉายสไลด์

ในยุคที่โลกยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์และพาวเวอร์พอยต์ ท่านพุทธทาสนับเป็นพระไทยรูปแรกๆ ที่ใช้เครื่องฉายและสไลด์ประกอบการบรรยายธรรม เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนุกและตรึงใจ

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

“อยากจะให้โรงเรียนวันอาทิตย์ที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้ครึกครื้น หรือให้การแสดงปาฐกถาที่กรุงเทพฯ สนุกสนานขึ้น จึงคิดอ่านเล่นอุตริที่คนอื่นเขาไม่เล่นกัน”

เนื่องจากยุคนั้นเครื่องฉายสไลด์มีราคาแพง ท่านจึงคิดประดิษฐ์เครื่องฉายขึ้นมาด้วยตัวเอง

“เราได้เคยเห็นที่กรุงเทพฯ ที่เขาฉายสไลด์กัน ชนิดไม่ต้องมีแผ่นสไลด์ ชนิดที่ใช้ภาพหนังสือสอดเข้าไปข้างใต้ แล้วภาพนั้นก็ออกมาปรากฏที่จอได้ แล้วก็คิดว่า เราควรจะมีใช้ของอย่างนี้บ้าง

“ก็ศึกษาว่ามันจะทำได้อย่างไร ในชั้นแรกนั้นไม่เคยคิดว่าจะซื้อ เพราะว่ามันไม่มีทุน จึงศึกษาจนรู้ว่าทำอย่างไร ก็ทดลองอย่างนั้น ทดลองอย่างนี้ จนรู้หลักของมัน ก็เลยประกอบขึ้นด้วยตนเอง เป็นลังไม้ยาวเกือบวา เพราะว่าไปใช้ไฟฉายที่ใช้หน้ารถยนต์มาทำเป็นตัวแสง มันก็กินเนื้อที่ยาว แล้วก็ไอ้คอนเดนเซอร์ก็หาได้ยากตามความประสงค์ ไปซื้อเปะปะมา มันก็ทำให้ต้องใช้โฟกัสยาว รวมกันเข้าจึงยาว จึงหนัก ใช้เลนส์กล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่หน่อยทำเลนส์ รวมกันเข้าจึงเป็นลังไม้ยาวเกือบวา…”

ส่วนสไลด์ที่ใช้ฉาย ท่านบอกว่ายุคนั้นยังไม่มีสไลด์แบบสำเร็จรูป ก็ต้องรู้จักล้างฟิล์มถ่ายภาพให้เป็นโพสิตีฟ เพื่อให้โทนสีตรงตามธรรมชาติเหมือนที่ตาเห็น โดยทั้งหมดนี้ ท่านเล่นเอง เรียนเอง ประดิษฐ์เอง

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

“เอาไปฉายให้คนดู… แล้วก็ใช้เสื่อน้ำมันเป็นจอพ่นสีบรอนซ์เข้าด้านหลัง กางออกเป็นจอ ยาววากว่า โกลาหลที่สุดแหละ ต้องใช้เด็ก 4-5 คน แรกๆ ไปถึงไหนก็ตื่นเต้นที่นั่น ทำอย่างนี้อยู่ปีสองปีได้ จึงใช้เครื่องสำเร็จรูปของฝรั่งที่หมอไพบูลย์ให้เป็นรุ่นแรก รุ่นต่อมาก็กมล สุโกศลให้ ก็ดีขึ้น แล้วก็ได้เครื่องที่กระทรวงศึกษาธิการช่วยซื้อให้ก็ดีที่สุด สำหรับเครื่องสไลด์”

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

โรงมหรสพทางวิญญาณ

หลังจาก ‘เล่น’ มาหลายปี ท่านพุทธทาสก็นึกสนุกนำสื่อและศาสตร์ต่างๆ ที่ท่านสนใจ มาบูรณาการสร้างเป็นโรงหนังหรือ ‘โรงมหรสพทางวิญญาณ’ ในปี พ.ศ.2505 ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนสามารถศึกษาธรรมะได้ด้วยตนเอง

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ โรงมหรสพทางวิญญาณ
โรงมหรสพทางวิญญาณ (Photo: 365surattravel.sru.ac.th)

โดยอาศัยสื่ออันทันสมัย เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องบันทึกเสียง ภายในอาคารประดับด้วยภาพปริศนาธรรมทั้งไทย เซน นิทานจีนและฝรั่ง สุภาษิตคำพังเพย ที่แสดงธรรมะหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงธรรมะขั้นสูง

“เรามีโรงหนัง โรงมหรสพทางวิญญาณนั้น ก็เพื่อเผยแผ่ธรรม มีนั่นมีนี่ สร้างขึ้นมาไว้ให้สะดวก เป็นวัตถุก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ที่มาดูมาเห็น มายินมาฟัง แล้วก็เข้าใจธรรมะได้โดยง่ายและเพลิดเพลิน…

“นี่เราเรียกว่ามหรสพทางวิญญาณ เจตนาเพื่อจะดึงคนที่ลุ่มหลงในมหรสพกิเลสเนื้อหนัง มาสู่มหรสพทางธรรม”

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

หลังจากพุทธทาสภิกขุมรณภาพในปี พ.ศ.2536 ท่านได้ทิ้งมรดกธรรมไว้มากมาย ไม่ว่าหนังสือ ตำรา คำเทศนา รูปถ่าย และสื่อการสอนต่างๆ ซึ่งชวนให้ประหลาดใจว่า ทำไมคนๆ หนึ่งถึงเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางถึงเพียงนี้

ครั้งหนึ่งท่านเคยเล่าถึงวิธีการเรียนรู้ของตัวเองไว้ในหนังสือ ‘เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา’ ว่า

“…ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องอะไร คุณจงตั้งต้นการศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้นดี ดีจนพอ ดีจนเกินพอ ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเราอยากจะเรียน อยากจะศึกษาของเรา เราจะทำให้เหมือนกับว่า เราจะเป็นครูสอนเรื่องนั้นทุกเรื่อง มันมีหลักอย่างนั้น คือมันเรียนมาคิดมาก มันทบทวนมาก มันก็เลยได้ผลดีกว่าที่จะตั้งใจเรียน เพียงแต่ว่าเรารู้คนเดียว

“ก็ยังยืนยันจนบัดนี้ ถ้าใครอยากจะรู้เรื่องอะไรก็ให้ตั้งต้นเรียน เหมือนอย่างจะไปเป็นครูเขา”

พุทธทาสภิกขุ นิทรรศการ เรื่องเล่นเห็นธรรม หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ

*หมายเหตุ: นิทรรศการจดหมายเหตุ “เรื่องเล่นเห็นธรรม” จัดแสดง ณ สโมสรธรรมทาน หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) ตั้งแต่วันนี้ – ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

อ้างอิง:

  • เนื้อหาจากนิทรรศการ “เรื่องเล่นเห็นธรรม” ณ หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ
  • วิกิพีเดีย. พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ). http://bit.ly/2TslGbm
  • หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ. กลวิธีสื่อธรรมโดยใช้กวีนิพนธ์ของพุทธทาสภิกขุ : กรณีศึกษา นิราศลพบุรี. http://www.bia.or.th/html_th/index.php/site-content/65-archives/595-321