“ฉันจะเรียนมหาลัยไปทำไม ในเมื่อวันที่ฉันจบการศึกษา อากาศจะมีสภาพเลวร้ายสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลาย โลกนี้ไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ด้วยซ้ำ”
เควิน นัม (Kevin Nahm) เด็กหนุ่มชาวเกาหลีใต้อายุ 19 ปี กล่าว
คำพูดของนัมคือหนึ่งในความคิดที่สะท้อนมุมมองของหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ในศตวรรษที่ 21 ที่มีต่ออนาคตของพวกเขา
อาจกล่าวได้ว่า ความใฝ่ฝันของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปยุค baby boomer เราคงเห็นได้ว่าคนยุคนั้นเปี่ยมไปด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่าอนาคตข้างหน้าจะสวยงาม เหมือนท้องฟ้ายามรุ่งสางที่เห็นดวงอาทิตย์ส่องแสงทอประกายอยู่ลิบๆ
และก็เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันโลกเรากำลังเจริญในทุกด้าน จนเข้าใกล้คำว่าอุดมคติเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือการศึกษา
แต่ขณะเดียวกัน เมฆหมอกแห่ง ‘ความสิ้นหวัง’ กลับกำลังก่อตัวขึ้นในใจของหนุ่มสาว เพราะเมื่อทุกอย่างเพรียบพร้อมจนกลายเป็นมาตรฐานที่สูงเกินเอื้อม การอุทิศเวลาทั้งชีวิตเพื่อจะไปอยู่ในจุดเดียวกับที่พ่อและแม่เคยทำไว้ จึงเป็นความกดดันกลายๆ ที่ถาโถมเข้ามา
นิยามความฝันของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่อนาคต แต่กลับเป็น ‘ความสุขตรงหน้า’ ที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน
ปรากฏการณ์ Shibal Biyong “ซื้อๆ ไปเถอะ!” จ่ายเงินเพื่อเยียวยา ‘ความสิ้นหวัง’
ค่าใช้จ่ายของชาวเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ถึงกลางทศวรรษ 1990 และนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ตัวเลขก็พุ่งสูงเป็นสองเท่าของคนยุค baby boomer (อ้างอิงจากข้อมูลการใช้บัตรเครดิตและเดบิตของชาวเกาหลีใต้)
แม้จะเป็น first jobber ที่มีรายได้ไม่สูงมากแต่เหล่าคนรุ่นใหม่ก็ใจป้ำยอมจ่ายแพงเพื่อซื้อของฟุ่มเฟือยที่อยากได้ และนั่นเป็นการจับจ่ายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหมายถึงการ ‘ให้รางวัลตัวเอง’ ท่ามกลางการเผชิญกับอนาคตอันสิ้นหวัง
หลายคนเลือกซื้อความสบายโดยการนั่งแท็กซี่ราคาแสนแพงกลับบ้านแทนรถประจำทางราคาย่อมเยาเพราะเหน็ดเหนื่อยเกินจะต่อสู้กับขนส่งสาธารณะอันหนาแน่น บางคนช้อปปิ้งอย่างหนักหน่วงเพื่อเยียวยาความเครียดในช่วงสอบ
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้แสดงว่าหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่คิดจะประเมินความเสี่ยงในชีวิต แต่พวกเขาคิดมาอย่างดีแล้วว่าอนาคตนั้นช่างไร้ซึ่งความหวัง จึงเลือกที่จะใช้และวางแผนการเงินในระยะสั้นๆ แบบที่พอจะให้ตัวเองมีความสุขและดำเนินชีวิตต่อไปได้
ปรากฏการณ์ควักเงินหมดหน้าตักเพื่อซื้อความสุขนี้เกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ราวๆ ปี 2016 พวกเขาเรียกมันว่า ‘Shibal Biyong’ อาจตรงกับภาษาไทยที่ว่า ‘ซื้อๆ ไปเถอะ’
นี่ไม่ใช่คลื่นของความสิ้นหวังที่ปรากฏแค่ในเกาหลีใต้ แต่แผ่ขยายไปยังคนรุ่นใหม่ทั่วโลก เช่น แคนาดา ที่กำลังเผชิญกับสภาวะฟองสบู่แตกของที่อยู่อาศัยและปัญหาการว่างงาน
เพราะอนาคตอาจไม่มีอยู่จริง จึงไม่ต้องคิดถึงให้มากมาย
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุกอย่างจึงดูเพรียบพร้อมและเป็นระบบเกินกว่าที่มนุษย์อันซับซ้อนจะเอาตัวเองให้ไปอยู่ในกรอบเหล่านั้นไหว ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมทางเพศ การศึกษาที่กดดันและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ (กับคนจน) กำลังส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้
National Youth Policy Institute สำรวจพบว่าหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้กว่า 46 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการซื้อบ้านสักหลังนั้นเป็นเรื่องยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะราคาของบ้านในกรุงโซลนั้นพอๆ กับในนิวยอร์ก ทั้งๆ ที่เงินเดือนเฉลี่ยของชาวเกาหลีใต้น้อยกว่ามาก อาจต้องใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อหาเงินมาให้พอสำหรับซื้อบ้านหนึ่งหลัง
คนรุ่นใหม่ส่วนมากจึงเลิกออมเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตร ฯลฯ เพราะพวกเขาไม่สามารถเจียดเงินมาลงทุนในส่วนนี้ได้ และมองเห็นว่าวิธีเหล่านี้ก็ไม่ให้ค่าตอบแทนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากเท่าไร
มองผิวเผินการใช้ชีวิตแบบ Shibal Biyong นั้นมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของ เอพิคูวรัส นักปรัชญากรีกโบราณผู้ให้กำเนิดแนวคิด ‘สุขนิยม’ ที่กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของชีวิตคนเรานั้นคือการแสวงหาความสุขเพื่อปรนเปรอตนเองให้มากที่สุด แต่แก่นแท้ของแนวคิดนี้คือความสุขที่ว่านั้นต้องยั่งยืนพอที่จะไม่นำพาเอาความทุกข์มาเยือนเราในภายหลัง
แม้การจ่ายเงินเพื่อซื้อความสุขอันฉาบฉวยจะเป็นความหอมหวานเดียวในวินาทีนี้ แต่คงต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า
นั่นจะไม่ทำให้ล้มละลายจนเป็นความทุกข์ที่เข้ามาเยือนในภายหลัง.
อ้างอิง
- JEONGMIN KIM.Why Young Koreans Love to Splurge.https://foreignpolicy.com/2019/07/04/why-young-koreans-love-to-splurge-shibal-biyong-millennial-fuck-it-expense/
- Meagan Campbell.Splurging because the future is bleak? South Koreans have a term for that.https://nationalpost.com/news/splurging-because-the-future-is-bleak-south-koreans-have-a-term-for-that