w©rld

การ ‘ลด’ เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่หนทางในการอยู่ร่วมกับโลกที่มีพลาสติกมหาศาล แต่ยังต้อง ‘กำจัด’ อย่างถูกวิธี

นั่นเป็นสิ่งที่ ‘อาจารย์เป้า’ หรือศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มนำพลาสติกไปทำถนน บอกกับเรา

“พลาสติกกับยางมะตอยก็เหมือนข้าวกับแป้ง มันทดแทนกันได้ เพราะพลาสติกกับยางมะตอยเป็นปิโตรเคมีที่มาจากการกลั่นของปิโตรเลียมเหมือนกัน”

อาจารย์เป้าเล่าว่า แรงบันดาลใจในการกำจัดพลาสติกของเขาเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ระหว่างที่นั่งมองลูกๆ เล่นน้ำทะเลในวันพักผ่อนของครอบครัว แล้วเห็นขยะพลาสติกลอยละล่องอยู่เต็มไปหมด

ด้วยสายตาของวิศวกรโยธา บวกกับความเข้าใจเรื่องวัสดุศาสตร์ อาจารย์เป้าจึงคิดค้นวิธีกำจัดพลาสติก ด้วยการนำไปทำถนน

ฟังเผินๆ เหมือนเป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ

อาจารย์เป้าทำถนนด้วยพลาสติกแล้วจริงๆ!

(Photo : The Cloud)

ถนนและบล็อกจากพลาสติก ความหวังใหม่ของการรีไซเคิล 

ถนนจากพลาสติกใช้งานได้ดีแค่ไหน?

“ตอนนั้นเอาขยะพลาสติกมาผสมกับยางมะตอย และนำไปทำถนน ปรากฏว่าถนนมีค่าความแข็งแรงหรือความเถียรสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เลยลองทำทั้งในขอนแก่น กระบี่ สมุทรสงคราม และเชียงใหม่ มีทั้งถนนในมหาวิทยาลัย ถนนสาธารณะประโยชน์ ลานกิจกรรม และเป็นสนามเล็กๆ ด้วย

บล็อกและถนนที่ทำจากพลาสติกจะใช้ พลาสติกชนิดอ่อน (LDPE : Low Density Polyethylene) เริ่มจากขั้นตอนแรกคือการแยกชนิดของพลาสติกออกมา เช่น แก้ว ถุง หลอด ฯลฯ เนื่องจากวัสดุแต่ละชนิดมีจุดหลอมเหลวต่างกัน หากนำไปรวมกันอาจทำให้ชนิดใดชนิดหนึ่งไหม้ไปก่อนได้ วัตถุดิบชั้นดีของการทำบล็อกคือ ‘ถุง’ เพราะใช้อุณหภูมิในการหลอมต่ำกว่าพลาสติกชนิดอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 140-150 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังใช้เชื้อเพลิงในการหลอมเหลวน้อยกว่า

(Photo : ศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ)

เมื่อแยกประเภทแล้ว นำพลาสติกเหล่านั้นมาล้างให้สะอาดและย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ในเครื่อง และนำมาผสมกับทรายที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส ผิวทรายที่ร้อนระอุจะเปิดออกมาทำให้เกาะกับพลาสติกเป็นอย่างดี  

การขึ้นรูปอิฐบล็อกธรรมดาอาจใช้อุณหภูมิแค่ 100 – 200 องศาเซลเซียส แต่สำหรับบล็อกพลาสติกนั้นต้องใช้อุณหภูมิเกือบ 500 องศา เนื่องจากต้องเผาควันให้สะอาด การกำจัดควันที่เกิดจากกระบวนการต่างๆ ต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่าการผลิต จึงจะเป็นการรีไซเคิลแบบยั่งยืน

เมื่อทรายและพลาสติกผสมเป็นเนื้อเดียวกัน จึงเทลงในพิมพ์อัดให้แน่นโดยใช้แม่แรงไฮโดรลิกหรือใช้ตุ้มหนักๆ มาตอก ทิ้งให้เย็นตัวและนำไปแช่น้ำก็จะสามารถนำบล็อกมาปูพื้นได้

ปัจจุบันบล็อกปูพื้นใช้พลาสติกแทนยางมะตอยได้ 100 เปอร์เซ็นต์อีกทั้งยังแข็งแรงได้มาตรฐาน แม้จะไม่เท่าคอนกรีต แต่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า ที่สำคัญมีน้ำหนักที่เบากว่าอีกด้วย

(Photo : ศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ)

ขยะที่หายไป

ปัจจุบันบล็อกปูพื้นใช้พลาสติกแทนยางมะตอยได้ 100 เปอร์เซ็นต์อีกทั้งยังแข็งแรงได้มาตรฐาน แม้จะไม่เท่าคอนกรีต แต่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า ที่สำคัญมีน้ำหนักที่เบากว่าอีกด้วย

ทำถนน 1 ตารางเมตรใช้ขยะ 1 กิโลกรัม ในหนึ่งวันอาจารย์เป้าใช้เวลาปูถนนได้ 1 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าเราสามารถลดขยะได้ถึง 3 ตันในวันเดียว ส่วนการทำบล็อก 1 ตารางเมตรจะใช้พลาสติกราวๆ 30-40 กิโลกรัม แม้จะมีระยะเวลาการผลิตที่นานกว่าแต่ก็ช่วยลดขยะได้ในปริมาณมากเช่นกัน

(Photo : The Cloud)

จากการทดลองทำบล็อกและถนนในชุมชนมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงทำให้ขยะเหลือทิ้งมีจำนวนลดลง เดิมทีขยะในชุมชนจะเป็นขยะอินทรีย์ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้เลยประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือขยะที่ต้องให้รถเทศบาลขนไปทิ้ง ทีมงานของอาจารย์เป้าจึงทำการเฟ้นหาพลาสติกที่ยังใช้ประโยชน์ได้มาทำบล็อกและถนน และพบว่าช่วยลดขยะไปได้ราวๆ 5 เปอร์เซ็นต์

ฮาวทูทิ้ง ‘พลาสติก’ อย่างไรให้ได้ไปต่อ

ในวันที่ลดการใช้แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เมื่อเราผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคที่ต้องหมุนเวียนวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกครั้ง หรือที่เรียกว่า Circular Economy อาจไม่ใช่แค่ขยะเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพลังงานอีกด้วย 

การรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดิมทีอุตสาหกรรมใหญ่ๆ มีการนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลกันเป็นปกติ เพียงแต่เมื่อก่อนคนเรามีความเชื่อที่ว่าสิ่งของที่มาจากรีไซเคิลจะต้องมีราคาถูก เพราะเป็นการนำวัสดุเก่ามาใช้ใหม่ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มรู้ว่าการรีไซเคิลนั้นไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตน้อยลงเลย จึงทำให้ผู้ผลิตเริ่มเปิดเผยเรื่องการรีไซเคิลมากขึ้น

อาจารย์เป้ายังทิ้งท้ายถึงหัวใจสำคัญของการรีไซเคิลไว้ว่า

“ตอนจะทิ้งต้องคัดแยก ถ้าแยกแล้วจะเห็นได้เลยว่าขยะจะลดลงกว่าเดิมเป็นทวีคูณ เพราะขยะมันจะมีที่ไป บางคนอาจคิดว่าพอคัดแยกแล้วเอาไปวางในถัง เขาจะเอาขยะไปรวมกัน แต่สังเกตดู ถ้าเราลองคัดแยกแต่ละถุงเป็นสัดส่วน เขาจะไม่เอาไปรวมกันนะ

“ถ้าไม่คัดแยกขยะแล้วส่งขยะมาให้อาจารย์ทำบล็อก สุดท้ายมันก็กลายเป็นขยะอยู่ดี จะต้องเพิ่มขั้นตอนในการแยก การล้าง แต่เมื่อไหร่ที่เราคัดแยก มันจะมีที่ไปและมีคนเอาไปใช้ต่อ”

(Photo : The Cloud)

ใครที่อยากเริ่มต้นแยกขยะแล้วยังไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน ลองสะสมพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วส่งมาให้อาจารย์เป้าและทีมงาน ขยะแต่ละชิ้นที่ส่งมาอาจไปอยู่บนถนนสักสายหรือกลายป็นบล็อกสวยๆ 

แต่มั่นใจได้ว่าทุกชิ้นจะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าอีกครั้งแน่นอน

หมายเหตุ : เนื้อหาส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากงาน Talk of the Cloud 04 Motivators for Sustainability

ที่อยู่สำหรับส่งขยะพลาสติกร่วมโครงการ
ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ (โครงการกรีนโรด)
22 ซ.7 ถนนหมื่นด้ามพร้าคต ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300