“ไปอู่ต่อเรือไททานิกกัน”
เพื่อนสาวเจ้าบ้านประจำเมืองคาร์ดิฟฟ์แห่งเวลส์ แชทมาเชื้อเชิญ ขณะที่เรากำลังแพลนทริปเยือนสหราชอาณาจักรครั้งที่ 2 ในรอบครึ่งปี
เราก็ตอบไปแบบงงๆ ทันทีว่า “ไปสิ ว่าแต่ อู่ต่อเรือนี้อยู่ที่ไหนนะ”
“อยู่เบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ” อ๋อ โอเค… เอ๊ะ แล้วไอร์แลนด์เหนือนี่อยู่ตรงไหนกันแน่?
ด้วยเหตุนี้เอง เราถึงกับต้องรื้อแผนที่สหราชอาณาจักรออกมาดู เพื่อทบทวนความรู้วิชาโลกของเราใหม่อีกรอบว่า แท้ที่จริงแล้ว อาณาเขตของสหราชอาณาจักรนั้นครอบคลุมทั้งเกาะบริเตนใหญ่ (อังกฤษ สก็อตแลนด์ และเวลส์) และไอร์แลนด์เหนือด้วย ซึ่งปกติทัวร์ริสต์อย่างเราก็มักปักหมุดเที่ยวในอังกฤษและสก็อตแลนด์เป็นหลัก น้อยนักที่จะยอมข้ามทะเลไปถึงไอร์แลนด์เหนือ โดยหารู้ไม่ว่า ‘เบลฟาสต์’ มีดีกว่าที่คิด
ทำความรู้จักเมืองหลวงของประเทศไอร์แลนด์เหนือสักเล็กน้อย เริ่มตั้งแต่ชื่อ Belfast ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาไอริชว่า Béal Feirste มีความหมายว่า สันทรายปากแม่น้ำ ตามที่ตั้งของเมืองซึ่งอยู่บริเวณจุดที่แม่น้ำ Farset และแม่น้ำ Lagan มาบรรจบกันพอดี
ด้วยทำเลที่ดีขนาดนี้ทำให้เบลฟาสต์มีสถานะเป็นเมืองท่าเก่าแก่มาอย่างยาวนาน ทั้งยังขึ้นชื่อในด้านอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จึงไม่แปลกที่เรือโดยสารลำใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น อย่าง RMS Titanic จะถูกประกอบขึ้นที่นี่
แต่ถ้าคุณคาดหวังจะได้เห็นเรือไททานิกลำมหึมาจอดเทียบท่าอย่างสง่างาม เหมือนอย่างพิพิธภัณฑ์ไททานิกที่เมืองบรอนสัน รัฐมิสซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา คงต้องผิดหวังอย่างแรง
เพราะ Titanic Belfast ขอเสิร์ฟความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในอาคารดีไซน์สวยล้ำ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลึกคริสตัลและภูเขาน้ำแข็ง โดยหากมองจากมุมท็อป แปลนของอาคารจะมีลักษณะดาวสี่แฉกคล้ายสัญลักษณ์เข็มทิศเดินเรือ จึงเป็นตัวแทนสื่อความหมายของเรือไททานิกได้อย่างลึกซึ้ง
อีกทั้งบรรยากาศทั่วทั้งเวิ้งอ่าว ที่รวมแล้วเรียกว่า Titanic Quarter นั้น ยังสะท้อนประวัติศาสตร์กว่า 400 ปีของเมืองเบลฟาสต์ในฐานะเมืองศูนย์กลางการต่อเรือของโลกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
Titanic Belfast เริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 และเปิดให้บริการในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง เพื่อรำลึกถึงวาระครบ 100 ปีของการเกิดขึ้นและดับไปของเรือเดินสมุทรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้
ภายในแบ่งเป็นห้องจัดแสดงที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของอังกฤษตั้งแต่ยุค 1910 ซึ่งบ้านเมืองกำลังประสบภาวะข้าวยากหมากแพง ดังนั้นการได้ยินข่าวว่า บริษัท White Star Line กำลังต่อเรือเดินสมุทรลำมหึมาขึ้นที่เมืองเบลฟาสต์ จึงเป็นดั่งความหวังใหม่ของคนทั้งชาติในการเดินทางไปแสวงโชคในโลกใหม่อย่างอเมริกา
จากห้องหนึ่งสู่อีกห้องหนึ่ง เราค่อยๆ ซึมซับบรรยากาศของบ้านเมืองและผู้คนในยุคนั้น เคียงคู่ไปกับขั้นตอนการประกอบเรือไททานิก ตั้งแต่บนพิมพ์เขียวจำลองจนสำเร็จเป็นลำเรือ พร้อมหย่อนลงสู่ท้องน้ำ ด้วยความที่ Titanic Belfast สร้างขึ้นบนพิกัดจริงของจุดกำเนิดเรือไททานิก การได้มองท้องฟ้าและเวิ้งน้ำในทิศทางที่หัวเรือมุ่งหน้าออกสู่มหาสมุทร จึงเป็นความรู้สึกที่พิเศษสุดชนิดที่นิทรรศการไททานิกครั้งไหนๆ ก็ไม่สามารถจำลองบรรยากาศสุดขลังได้ทัดเทียมที่นี่
จาก Titanic Belfast เราเดินเล่นไปตามเส้นทาง Titanic Trail ที่มองเห็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ มีเรือสินค้าจอดอยู่หลายลำ มีประภาคารหลังโตตั้งอยู่ปลายอ่าว ขนาบด้วยสตูดิโอขนาดใหญ่ และมีกระจกสีแผ่นเบ้อเริ่มจารึกลวดลาย The Iron Throne ตั้งตระหง่านให้แฟนคลับ Game of Throne ได้ตามไปเก็บแต้มจากลายแทง Glass of Thrones ที่การท่องเที่ยวไอร์แลนด์ได้จัดทำกระจกสีเป็นลวดลายฉากสำคัญจากซีรีส์เรื่องนี้ขึ้น 6 ฉาก แล้วนำไปตั้งตามจุดสำคัญต่างๆ ของเมือง เพื่อเป็นการฉลองวาระ 10 ปีที่ซีรีส์เรื่องนี้มาปักหลักถ่ายทำในไอร์แลนด์เหนือ จนสร้างสีสันให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้คึกคักขึ้นนั่นเอง
จาก Titanic Belfast สามารถเดินเล่นละเลียดบรรยากาศบ้านเรือน เพื่อกลับมาสู่ย่านใจกลางเมืองได้สบายๆ เพราะตัวเมืองเบลฟาสต์มีขนาดไม่ใหญ่ การจราจรไม่พลุกพล่าน อีกทั้งผังเมืองยังออกแบบเป็นตารางหมากรุก จึงยิ่งทำให้เดินง่าย ไม่มีหลง และความน่ารักอีกอย่างของเมืองนี้ คือ อาคารส่วนใหญ่ยังคงความเป็นสถาปัตยกรรมไอริชแบบดั้งเดิม ที่นิยมสร้างบ้านเรือนด้วยอิฐสีน้ำตาลแดง และมักเจาะช่องหน้าต่างเป็นวงกลม สร้างเสน่ห์ให้เบลฟาสต์เป็นเมืองสีอิฐเดินเพลินสำหรับเราไปโดยปริยาย
นอกจากสายตาจะเริ่มสอดส่องหากระจกสี Glass of Thrones แล้ว อีกหนึ่งสีสันของเบลฟาสต์ที่พุ่งเข้ามาสะดุดสายตาเราในทุกตรอกซอกซอย คือ บรรดากราฟฟิตี้บนกำแพงตึกต่างๆ ที่แทรกตัวอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ในจำนวนนี้มีตั้งแต่ภาพเขียนในย่านผับ บาร์ และคาเฟ่ ไปจนถึงภาพจิตรกรรมที่มีความหมายล้ำลึกเชิงการเมือง ซึ่งภาพประเภทหลังนี้เองที่หลายๆ คนดั้นด้นเดินทางมาเสาะหา เพื่อเสพซึ้งถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพด้วยตนเอง
เพราะแม้จะเป็นเมืองที่แลดูสงบ ร่มเย็น อยู่ง่าย เดินเล่นสบาย แต่ถ้าถอยเวลากลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เบลฟาสต์ไม่ได้สงบแบบนี้ และตรงข้ามกับคำว่าสงบคือ สงครามกลางเมืองยังไม่จบด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Unionist ที่ต้องการรวมตัวกับอังกฤษ และ Nationalist ที่อยากแยกตัวเป็นรัฐอิสระไอร์แลนด์ ซึ่งแม้จะทำความตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยในปี 1921 ด้วยการแยกประเทศเป็นไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ แต่ความรุนแรงระหว่างทั้ง 2 กลุ่มก็ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงช่วงปี 1980s ศิลปินหลายรายจึงสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมสะท้อนบริบทต่างๆ ทางการเมืองขึ้น เพื่อสื่อถึงไอร์แลนด์ในทรรศนะของตัวเอง
หลังจากเดินงงในดงกราฟฟิตี้จนตะวันเริ่มตกดิน เราค้นพบอีกว่าเบลฟาสต์อุดมไปด้วยผับบาร์ชั้นดีมากมาย มากถึงขั้นที่ใครอยากเที่ยวเบลฟัสต์แบบ Pub Crawl ก็สามารถออกแบบเส้นทางทัวร์สายดื่มยันโต้รุ่งได้สบายๆ เราเองมีโอกาสได้เข้าผับโน้นออกบาร์นี้อยู่ 2-3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ The Crown Liquor Saloon บาร์ระดับตำนานที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1826 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว!
แน่นอนว่าเปิดให้บริการยั้งยืนยงมาหลายชั่วอายุคนแบบนี้ เครื่องดื่มต้องดี สถาปัตยกรรมต้องเด่น แค่ผลักบานประตูเข้าไปเบาๆ เราก็ถึงกับยืนตะลึงอยู่นาน เพราะซาลูนแห่งนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดน่ามองจนละเลียดด้วยสายตาแทบไม่ครบ ไล่มาตั้งแต่พื้นกระเบื้องโมเสค และงานไม้แกะสลักหัวเสาจนจรดเพดาน
เก๋สุดต้องยกให้คอกไม้ส่วนตัวสำหรับนักดื่มที่สลักเสลาด้วยไม้และประดับกระจกสีอย่างวิจิตรบรรจง โดยมีทั้งหมด 10 คอก ไล่ตามตัวอักษร A-J ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ เป็นโซฟาบุหนังนั่งสบาย มีออดโบราณสำหรับกดเรียกพนักงาน และมีแถบโลหะเขียนว่า MATCHES ติดอยู่ เอาไว้สำหรับจุดไม้ขีดไฟในสมัยร้อยปีก่อนโน้น ที่ส่งผลให้คนยุคนี้อย่างเราจิบเบียร์ Guinness ประจำถิ่นไปพลางมองตามมุมโน้นมุมนี้ของ The Crown Bar ด้วยตาลุกวาว
เบลฟาสต์ รวมถึงไอร์แลนด์เหนือยังมีอะไรๆ ให้ไปเยี่ยมชมอีกเพียบ ใครอยากตามรอยซีรีส์ Game of Thrones ควรมา รวมถึงคอวรรณกรรมที่หลงใหลงานของ ซี.เอส.ลิวอิส ผู้เขียนตำนานแห่งนาร์เนีย ยิ่งควรค่าแก่การไปสัมผัสบรรยากาศของบ้านเมือง ที่เป็นจุดกำเนิดของวรรณกรรมระดับโลกเรื่องนี้
หรือสายปาร์ตี้ที่อยากรู้ว่าผับในเบลฟาสต์เจ๋งยังไง จะมีอะไรที่ดีไปกว่า การลองไปทำความรู้จักเบลฟาสต์ (แบบไม่ฟาสต์) ด้วยตัวเอง.