การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการ หนึ่งในนั้นคือ แวดวงสิ่งพิมพ์
โดยเฉพาะรูปแบบสื่ออย่างนิตยสาร ที่ถูกตีตราว่ากำลังจะตาย หรือตายไปแล้ว (Print is Dead) เพราะนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ไม่ทันเท่าสื่อออนไลน์
แต่ทันทีที่เห็นปกนิตยสารต่อไปนี้ หลายคนอาจต้องเปลี่ยนความคิด หรือมุมมองต่อนิตยสารเสียใหม่ ไม่ใช่เหตุผลด้านความสวยงามทางศิลปะ แต่ยังแฝงความหมาย และชวนตั้งคำถามถึงเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
becommon ได้คัดสรรหน้าปกชวนคิดกับเบื้องหลังงานออกแบบจากนิตยสาร 10 เล่ม ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า Print is not Dead สิ่งพิมพ์ยังคงมีพลัง และส่งเสียงดังจนผู้อ่านอย่างเราได้ยิน
1
TIME
NOPE: The Long Road Back
ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2563
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่คำถามสำคัญที่ตามมาหลังจากนั้นคือ แล้วเมื่อไหร่ถึงจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ทั้งชีวิตที่ต้องประคองให้อยู่รอดบนความไม่แน่นอนรายวัน และสภาพเศรษฐกิจที่กำลังจนตรอก เพราะใกล้ถึงทางตัน กลายเป็นความกดดันและการบีบคั้นให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
ภาพปกจึงทำหน้าที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ความหวังในการเปิดประเทศ และกลับมาดำเนินกิจการธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน โดยอาศัยความฉลาดในการเล่นคำ เพียงแค่ย้ายตำแหน่งตัวอักษร ก็สามารถเปลี่ยนคำว่า OPEN ให้กลับเป็นคำว่า NOPE
ภาพปก: Ben Wiseman
บรรณาธิการศิลปกรรม: D.W. Pine
2
The New Yorker
Innovators issue
ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
ภาพปกสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ของบรรดานักศึกษาทั่วโลกที่กำลังจะเรียนจบในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต โดยเฉพาะคนที่คาดหวังไว้แต่แรกว่าตนเองจะได้เริ่มต้นเข้าไปทำงานในองค์กรที่ใฝ่ฝัน
เพราะในความเป็นจริง ชีวิตของพวกเขากำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย และไม่มีหลักหรือฐานที่มั่นคงมากพอให้ยึดหรือยืนหยัด ทั้งหมดนี้คือโจทย์สำคัญ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจทั้งระดับปัจเจก สังคม ประเทศ และโลก
ภาพปก: Anita Kunz
บรรณาธิการศิลปกรรม: Françoise Mouly
3
Society
Next Stop: The Unknown
ฉบับวันที่ 30 เมษายน – 13 พฤษภาคม 2563
ผลงานภาพถ่ายของช่างภาพสตรีทเจ้าของบัญชีอินสตาแกรม @subwayhands ที่บอกเล่าชีวิตและเรื่องราวของคนในรถไฟฟ้าใต้ดินผ่านภาพถ่ายมือของพวกเขา
การใช้มือเพื่อแสดงออกท่าทางต่างๆ คือ ภาษากายที่แฝงไปด้วยความหมายลึกซึ้ง อาจสะท้อนไปถึงความคิดและตัวตนของผู้คนได้อย่างแยบยล เหมือนกับภาพนี้ที่สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตระหว่างการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ภาพปก: Hannah La Follette Ryan
บรรณาธิการศิลปกรรม: Peggy Cognet
4
a day
Work from Home
ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563
เมื่อพูดถึง work from home ภาพแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาย่อมเป็นภาพคนทำงานที่บ้าน หรือโต๊ะทำงานสวยๆ แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ปกเป็นไปตามภาพจำ และการตกลงในทีมว่าฉบับนี้ทุกคนจะคงคอนเซปต์ด้วยการช่วยกันทำนิตยสารเล่มนี้จากที่บ้านจริงๆ การออกกองไปถ่ายบ้านของใครสักคนจึงเป็นอันตกไป
การออกแบบปกจึงใช้วิธีวาดภาพประกอบแทน เป็นมุมมองผ่านบานหน้าต่างที่มองเข้าไปในบ้านของคนเหล่านั้น ขณะที่พวกเขากำลังขะมักเขม้นทำงาน เพราะเนื้อหาหลักในเล่มเกี่ยวข้องกับการงานที่บ้านของคนแต่ละสายอาชีพ
เพื่อต่อยอดไอเดียไปให้สุดทาง ปกของเล่มนี้จึงเจาะเป็นกรอบหน้าต่างรูปแบบต่างๆ เมื่อผู้อ่านพลิกหน้าปกจะเห็นว่าหน้าต่างบ้านได้เปลี่ยนเป็นหน้าต่างสนทนาบนโลกออนไลน์แทน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวิถีการทำงานของเราทุกคนได้เปลี่ยนไปแล้ว
ภาพปก: Banana Blah Blah
บรรณาธิการศิลปกรรม: วัชรพงศ์ แหล่งหล้า
5
Vogue Italy
Blank White Canvas
ฉบับเดือนเมษายน 2563
สีขาวสื่อความหมายได้หลากหลายในเวลาเดียวกัน คือสีที่แสดงถึงการเคารพและให้เกียรติทุกสรรพสิ่ง คือแสงสว่างของการถือกำเนิดหลังจากความมืดมนได้ผ่านพ้นไป คือจุดรวมกันของทุกสีสัน คือสีเครื่องแบบของผู้อุทิศตนเพื่อทำหน้าที่รักษาชีวิตเราทุกคน และเมื่ออยู่บนผืนผ้า สีขาวไร้มลทินเปรียบเสมือนการแสดงออกถึงความบริสุทธิ์ของปัจจุบัน รวมถึงความหวังในวันข้างหน้า
แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สีขาวไม่ได้หมายถึงการยอมจำนนหรือการยอมแพ้ หากแต่เป็นพื้นที่ว่างสำหรับบันทึกเรื่องราวของการเริ่มต้นครั้งใหม่
ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์: Ferdinando Verderi
บรรณาธิการใหญ่: Emanuele Farneti
6
The New York Times for Kids
Reminder: You are not Alone!
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2563
จากเรื่องน่ากังวลว่าเด็กๆ จะรู้สึกโดดเดี่ยวระหว่างกักตัวอยู่แต่ในบ้าน เพราะไม่ได้ออกไปเจอเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ผู้ใหญ่ใน The New York Times Magazine จึงรวมตัวกันจัดทำนิตยสารฉบับพิเศษสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ ว่าด้วยเรื่องราวอ่านสนุก หยิบยกเรื่องซับซ้อนอย่างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมาอธิบายใหม่ให้เข้าใจง่าย
หน้าปกจึงเป็นภาพแทนมุมมองของเด็กๆ ที่มองออกไปยังนอกบ้านที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เพื่อสื่อความหมายว่า ไม่ใช่แค่หนูคนเดียวหรอกนะที่รู้สึกว่าหลายๆ อย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป และหนูก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะทุกคนจะอยู่ด้วยกัน เพียงแต่ไม่ได้ใกล้ชิดกันเท่านั้น
ภาพปก: Tillie Walden
บรรณาธิการศิลปกรรม: Deb Bishop
7
Bahamontes
Quarantine
ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563
สำหรับคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย โดยเฉพาะนักปั่น การกักตัวอยู่แต่บ้านกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ทุกคนไม่สามารถออกจากบ้านไปปั่นจักรยานได้เหมือนเคย เพื่อชดเชยความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าที่เลือดสูบฉีดทั่วร่างกายขณะปั่น การปั่นจักรยานอยู่กับที่ภายในบ้านจึงเป็นไอเดียที่พอจะช่วยได้ อาจเพิ่มความสมจริงด้วยการเปิดวิวข้างทางประกอบ นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับทางตรงหน้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักปั่นหลายคนยืนยันว่า ทำให้ปั่นได้ระยะทางมากขึ้นด้วย
ภาพปก: Jelle Vermeersch
บรรณาธิการศิลปกรรม: Willems Pieter
8
Atlanta
21st Century Plague: At War with an Invisible Enemy
ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563
ข้อความคัดสรรบนหน้าปก คือคำพูดที่ตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ภายในเล่ม ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมอง ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ของบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ทั้ง 17 คน ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘โรคระบาดแห่งศตวรรษที่ 21’
ถึงแม้ว่าบทบาทและหน้าที่ของคนทั้ง 17 อาชีพนี้จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ลึกๆ ภายในใจของทุกคน กลับกำลังเผชิญความรู้สึกเดียวกัน นั่นคือ ความกลัว บางคนกลัวว่าชีวิตนับจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางคนกลัวว่าความฝันจะต้องจบสิ้น บางคนกลัวว่าจะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ไม่ได้ และบางคนกลัวว่าวันข้างหน้าอาจไม่ได้อยู่กับคนที่เขารัก
ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่ความกลัวจะหายไปจากใจ แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อความสั้นๆ บนปกจะช่วยย้ำเตือนทุกคนว่า เมื่อเราต่างมีความกลัวเหมือนกัน นั่นหมายความว่าเราต้องร่วมมือกัน เพื่อก้าวผ่านความกลัวเหล่านี้ไปด้วยกัน
ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ: Matt Love
ผู้อำนวยการฝ่ายภาพ: Martha Williams
9
The Guardian Review
How to be Creative in a Crisis
ฉบับวันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม 2563
คนจำนวนหนึ่งเห็นภาพกราฟิกบนปกเป็นหยดน้ำตา ที่เชื่อมโยงกับความเศร้าเสียใจ ซึ่งแตกต่างจากคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตีความเป็นสายฝน ไม่มีใครผิด ทั้งหมดคือความถูกต้องที่ขึ้นอยู่กับการตีความผ่านประสบการณ์ส่วนตัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดของภาพคือ ทั้งน้ำตาและฝนที่ตกลงมาสื่อความหมายเดียวกันถึงอุปสรรคของชีวิต
ท่ามกลางปัญหาและวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่ผ่านมา ตอนนี้ หรือในอนาคตอันใกล้ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่และรันทดใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นโอกาสที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ไม่ต่างจากช่วงเวลาดีๆ
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลของการออกแบบให้หยดน้ำกลายเป็นส่วนสำคัญของดินสอ เพราะดินสอธรรมดาๆ หนึ่งแท่ง นำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการสร้างสรรค์มากมาย แม้ว่าผู้จับดินสอนั้นจะรู้สึกเศร้าก็ตาม
ภาพปก: Andrea Ucini
บรรณาธิการศิลปกรรม: Bruno Haward, Anna Goodson
10
BRUTUS
Home Sweet Home
ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563
ภาพถ่ายมุมหนึ่งภายในบ้านที่ดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่กลับโดดเด่นในเชิงความรู้สึกและบรรยากาศอันอบอุ่นที่แฝงไปด้วยความหมายบางอย่าง ซึ่งผู้อยู่เป็นคนนิยาม
นิตยสารเล่มนี้จึงนำเสนอภาพบรรยากาศของบ้านทั้งในประเทศญี่ปุ่นและที่อื่นๆ ของโลกรวม 18 หลัง โดยถ่ายทอดผ่านมุมมองการใช้ชีวิตและการทำงานที่เกี่ยวโยงกับห้องต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านสร้างความหมายให้บ้านของตัวเองเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย
บรรณาธิการใหญ่: Zenta Nishida
อ้างอิง
- a day magazine. a day 237: Work From Home. https://godaypoets.com/product/a-day-237/
- Alice Park. Here’s How Scientists and Public-Health Experts Recommend the U.S. Gets Back to ‘Normal’. https://time.com/5829387/coronavirus-reopening-science/
- Andrea Ucini. How to be creative in a crisis. https://twitter.com/AndreaUcini/status/1257207629258067968
- Atlanta magazine. Feature. https://www.atlantamagazine.com/issue/may-2020/
- Bahamontes. Quarantaine. https://bahamontes.be/edities/quarantaine
- Brutus. Brutus No.915. https://magazineworld.jp/brutus/brutus-915/
- Coverjunkie. New York Times Kids. https://coverjunkie.com/cover-categories/best-of-the-rest/new-york-times-kids/
- Françoise Mouly. Cover Story: Anita Kunz’s “Class of 2020”. https://www.newyorker.com/culture/cover-story/cover-story-2020-05-18
- Jessica Rach. Vogue Italia announces its April cover will be a blank white page to signify ‘rebirth’. https://www.dailymail.co.uk/femail/article-8199993/Vogue-Italias-April-cover-blank-tribute-pandemic.html
- Society magazine. Saint-Jacques, Quartier Libre. https://www.society-magazine.fr/magazines/society-130/