©ulture

74 ปีที่แล้ว โลกได้ทำความรู้จักชุดว่ายน้ำ 2 ชิ้นที่เรียกว่า บิกินี (Bikini) เป็นครั้งแรก

เมื่อ Louis Reard วิศวกรยานยนต์ชาวฝรั่งเศส และ Jacques Heim แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส นำชุดว่ายน้ำแบบสองชิ้นออกเดินแบบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ในกรุงปารีส

คำว่า บิกินี มาจากชื่อของเกาะปะการังบิกินีในมหาสมุทรแปซิฟิค ที่อเมริกาเพิ่งใช้ในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งคู่เลือกใช้ชื่อนี้ เพราะคาดการณ์ว่าชุดว่ายน้ำสไตล์นี้ต้องดังระเบิดเช่นกัน

ถือว่าพวกเขาเดาถูก เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมา สาวๆ ในโลกตะวันตกต่างก็เริ่มสวมบิกินี่ออกไปท้าสายลมและแสงแดดกันอย่างแพร่หลาย

swimsuit

แต่ไม่ใช่สำหรับหญิงสาวในโลกตะวันออก ที่เมื่อกรอบทางวัฒนธรรมมาบวกเข้ากับความไม่มั่นใจในเรือนร่างบางส่วน ทำให้พวกเธอไม่กล้าสวมชุดว่ายน้ำแบบสองชิ้นอวดสายตาใครต่อใคร

การเดินทางของบิกินี่กับสาวเอเชียจึงดูเหมือนจะเป็นเส้นขนานมาอย่างยาวนาน 

จนกระทั่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว สาวไทยต่างก็ดีใจกันถ้วนหน้า เมื่อ Aprilpoolday เป็นแบรนด์ชุดว่ายน้ำสัญชาติไทยแบรนด์แรก ที่ออกแบบชุดว่ายน้ำได้อย่างเข้าใจสรีระและรสนิยมสาวไทยเป็นที่สุด

ด้วยดีไซน์สวยน่ารักในแบบ Oldschool เจือกลิ่นอายยุคเก่าปะปนอยู่ในฟังก์ชันที่เหมาะแก่การว่ายน้ำ ทั้งแบบวันพีซและทูพีซ พร้อมกับได้เลือกโชว์และปกปิดเรือนร่างบางส่วนได้อย่างลงตัว ไม่ต้องมัวเขินอายอีกต่อไป

swimsuit
มิญช์ – ลีลานันทน์ รณเกียรติ
แบรนด์ Aprilpoolday

มิญช์ – ลีลานันทน์ รณเกียรติ คือหนึ่งในดีไซเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Aprilpoolday จากจุดเริ่มต้นของความนึกสนุก และอยากทำชุดว่ายน้ำในดีไซน์ที่ไม่เคยมีมาก่อน กลายเป็นการเติบโตของแบรนด์ที่ได้รับการต้อนรับดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกขวบปี

กว่าจะสำเร็จเป็นชุดว่ายน้ำสักตัว

ภายในแฟล็กชิปสโตร์ขนาดกะทัดรัดของ Aprilpoolday ในย่านสาทร เจือด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น โดยมีกะแง้ว แมวรับแขกผู้ทำหน้าที่พนักงานต้อนรับได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และเมื่อเสริมด้วยรอยยิ้มละลายพฤติกรรมของ มิญช์ ดีไซเนอร์ร่างบางประจำแบรนด์ เราก็พร้อมจะทิ้งตัวลงบนโซฟาตัวเขื่อง แล้วเริ่มต้นบทสนทนา ด้วยการถามถึงสารทุกข์สุขดิบตลอดช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาสแรกของปี ว่า Aprilpoolday ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มาได้ด้วยวิธีใด

swimsuit

“ตอนแรกคิดว่ายอดขายต้องตกแน่เลย แต่สุดท้ายก็ไม่ตก เพราะเรามีการสลับเอา Ready to Wear มาออกก่อน จากที่ตอนแรกคิดจะวางขายช่วงหลังหน้าฝน พอเกิดโควิดปุ๊บ ก็เลยเร่งโรงงานให้เอาขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่คนยังซื้อได้ เพราะสามารถใส่อยู่บ้านได้ และพอหลังจากหมดโควิด ลูกค้าก็กลับมาซื้อชุดว่ายน้ำเหมือนเดิม ตอนนี้เราก็เริ่มปรับการตลาดใหม่อีกหน” 

มิญช์เล่าถึงเสื้อผ้าคอลเล็กชั่น Lazy Sunday ที่ช่วยขัดตาทัพให้ก่อนจะเริ่มเดินเครื่องแบบเต็มสูบอีกครั้งกับ Carnival x Aprilpoolday ไฮไลท์ในช่วงต้นปี ที่สายเซิร์ฟพากันแชร์ชุดว่ายน้ำสไตล์สปอร์ตสีสันสดใส แต่ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของ Aprilpoolday จนเต็มหน้าไทม์ไลน์

swimsuit

“ทางคาร์นิวัลชวนเราตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเป็นการต่อยอดจากคอลเล็กชั่น SS2019 ของเขา ภายใต้แนวคิด Heat Infrared ที่เหมือนการถ่ายภาพอินฟราเรดออกมาเป็นกราฟิกสีจัดๆ” มิญช์เริ่มเล่าถึงที่มาของชุดว่ายน้ำสปอร์ตทูพีซที่ซ่อนความหวานด้วยลวดลายสีน้ำไล่โทนสวย

“แต่เอพริลฯ ไม่ชอบอะไรที่เป็นกราฟิก เราชอบงานแฮนด์คราฟท์ทำมือ อิสซี่ (พลช ลิลิตธรรม – สไตลิสต์ประจำแบรนด์) ซึ่งเป็นคนออกแบบหลักในคอลเล็กชั่นนี้ เลยนำมาดัดแปลงด้วยการใช้สีน้ำในการไล่โทนที่ต้องไม่ออกมาดูพาสเทลจนเกินไป เพราะไม่ใช่ตัวตนของ Aprilpoolday” 

swimsuit
Carnival x Aprilpoolday

การออกแบบหน้าตาให้สวยงามเป็นเพียงด่านแรก ขั้นตอนการทำแพทเทิร์นต่างหากที่ถือเป็นด่านยาก ที่คอยปราบเซียนพวกเธอในทุกครั้งที่เริ่มทำงานชิ้นใหม่

“การวางคอนเสปท์ในภาพให้ออกมาสวยก็เรื่องนึง พอเข้าสู่ขั้นตอนการตัดเย็บ ตอนพิมพ์ผ้าก็ต้องเทสต์สีแล้วเทสต์สีอีกจนกว่าจะเจอที่ใช่ แล้วก็ต้องไปพิมพ์ผ้าที่นึง ก่อนจะเอาไปคุยกับโรงงาน กว่าจะพัฒนาแบบให้ใส่แล้วสวยใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน เดี๋ยวสูงไป เดี๋ยวต่ำไป อกหลวมไป ลองว่ายน้ำแล้วสายหล่น ก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลงตัว

swimsuit

“การทำแพทเทิร์นของเอพริลฯ ถือเป็นงานที่ยิ่งทำ ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราก็ไม่อยากทำอะไรซ้ำกับของเดิมที่เคยทำมาแล้ว ด้วยความที่อิสซี่อยากให้สีสันที่ออกแบบไล่โทนอยู่บนชุดเหมือนกับในแบบร่าง จึงต้องใช้วิธีต่อผ้า ซึ่งชุดนี้น่าจะต่อประมาณ 17 ชิ้น” มิญช์ชวนให้เราเพ่งมองในรายละเอียดของการต่อผ้าหลายชิ้นที่ผ่านการเย็บติดกันอย่างประณีต จนได้เป็นบราชิ้นบนของชุดว่ายน้ำที่ใส่แล้วสวย และที่สำคัญคือ ต้องใส่ว่ายน้ำได้จริง

“ในการขึ้นแบบครั้งแรกทุกครั้งจะขึ้นไซส์ S เสมอ เพื่อให้มิญช์ลองได้ พอใส่จนคิดว่าสวยแล้ว ก็ต้องใส่ไปลองว่ายน้ำ ถ้าหลวมไป หรือไหล่ตกก็ต้องเอามากลับมาแก้จนกว่าจะพอดี ขีดความสามารถอย่างต่ำของชุดว่ายน้ำ ก็คือ ต้องใส่ว่ายน้ำได้ หรือใส่ออกมาแล้วต้องซัพพอร์ทรูปร่างให้สวยขึ้นกว่าความเป็นจริง

swimsuit
Exclusive Tartan

“แต่ก็มีบางตัวที่ถึงขั้นใส่เซิร์ฟได้ อย่าง Exclusive Tartan ที่ใส่เซิร์ฟได้ดีมาก มิญช์ลองเซิร์ฟมาแล้วที่ฮาวาย” ดีไซเนอร์สาวผู้รักกีฬาทางน้ำทุกชนิด เอ่ยถึงขั้นตอนการใช้งานจริง ทำให้เธอกล้าการันตีในคุณภาพของชุดว่ายน้ำ Aprilpoolday ทุกตัว ที่มีดีมากกว่าแค่ดีไซน์สวย

รู้ใจสาวเอเชีย

คงเพราะสปอตไลท์สาดส่องไปที่ Carnival x Aprilpoolday มากไปหน่อย ทำให้ชุดว่ายน้ำดีไซน์เรียบหรูอย่าง Number Seven ที่ประเดิมคอลเล็กชั่นแรกของปีนี้ ตกหล่นไปจากสายตา ทั้งที่พวกเธอตั้งใจออกแบบขึ้นมาเพื่อระลึกถึงวาระก้าวสู่ปีที่ 7 แบรนด์

“อิสซี่ต่อยอด Number Seven มาจากคอลเล็กชั่นแรกของแบรนด์ อย่าง Tennis และ Volleyball โดยใช้ความรู้และความสามารถหลังจากผ่านประสบการณ์มา 7 ปี ใส่ลงไปในตัวนี้

swimsuit
มิญช์กับ Number Seven

Number Seven ยังมีความเป็นสไตล์คลาสสิกอยู่ โดยสามารถซัพพอร์ททั้งคนที่มีหน้าอกและไม่มีหน้าอก ด้วยเทคนิคการตัดต่อชิ้นผ้า บวกกับแพทเทิร์นที่จะทำให้ดูมีเอวมากขึ้น ด้านในมีสเตย์ช่วยรัดช่วงเอวให้คอดเหมือนกับใส่คอร์เซ็ต ลูกค้าหลายคนมักถามว่า ทำไมใส่แล้วคับจัง นั่นเพราะเราตั้งใจให้คับและกระชับช่วงเอว เพื่อขับเน้นรูปร่างของผู้หญิงที่สวมใส่ให้โดดเด่นมากขึ้น 

“นอกจากนี้ Number Seven ยังออกแบบให้มีความ High Cut มากขึ้น เพื่อให้ช่วงขาดูเรียวยาว แต่เรายังเก็บก้นให้เหมือนเดิม” มิญช์เล่ารวดเดียวจบถึงผลงานชิ้นบูที้กในมือ ที่ยังคงเอกลักษณ์ในการช่วยสาวไทย รวมถึงสาวเอเชีย “เก็บก้น” ให้เรียบร้อยเหมือนเดิม

swimsuit
Number Seven

“ตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรกมาแล้ว ที่เราออกแบบโดย base on หุ่นคนเอเชียเป็นหลัก รวมถึงคัลเจอร์ของคนเอเชียด้วย เช่น คนเอเชียจะไม่ชอบให้เปิดก้น ต้องปกปิดช่วงก้น เพราะคนเอเชียก้นไม่สวย อาจจะด้วยวิธีที่เราใส่กางเกงในแบบเต็มตัว ไม่เหมือนกับฝรั่งที่ใส่จีสตริงเป็นส่วนมาก ทำให้ยางยืดไปกดทับแก้มก้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้หญิงเอเชียก้นไม่สวย 

“อีกอย่างคือ คนเอเชียไม่ชอบให้เว้าสูง (High Cut) ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจความชอบของคนเอเชียเป็นหลัก ก็เลยออกแบบมาเพื่อคนเอเชีย ดังนั้น ถ้าฝรั่งอยากซื้อชุดว่ายน้ำเอพริลฯ เราจะถามหุ่นเขาก่อน ถ้าหุ่นเขาเป็น typical ฝรั่ง ก็จะบอกเขาว่า ใส่ได้นะ แต่ใส่แล้วไม่สวย

swimsuit
Volleyball สวมทับด้วยกระโปรงพลีท

“แบรนด์เราชอบคุยกับลูกค้า ชอบให้ลูกค้าอินบอกซ์มาสอบถามก่อน เพราะการเลือกซื้อชุดว่ายน้ำมันต้องคำนวณหลายอย่าง ถ้าเป็นวันพีซ เราต้องรู้อก เอว สะโพก และส่วนสูง โดยใช้ประสบการณ์ของพวกเราในการพูดคุยและแนะนำลูกค้า” มิญช์เล่าถึงกิจวัตรที่ทั้งตัวเธอเอง อิสซี่ รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ใน Aprilpoolday ช่วยกันเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในการตอบคำถามลูกค้าไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งการเอาใจใส่ลูกค้าในแบบ customized นี้เองที่ทำให้ Aprilpoolday เอาชนะใจสาวๆ ได้ทุกคน

swimsuit
Hopeland และ Capsule Hopeland

“ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้พวกเรามั่นใจว่า สามารถให้คำแนะนำลูกค้าได้ 360 องศา เรารู้ว่าผ้าชนิดไหนเหมาะกับคนรูปร่างอย่างไร เราจะขออนุญาตดูสไตล์ของลูกค้า และคัดสรรชุดว่ายน้ำที่เหมาะกับเขามากที่สุด ต่อให้ลูกค้ามั่นใจ เลือกไซส์ของตัวเองมาเสร็จสรรพ เราก็จะพยายามขอให้เขาระบุขนาดของอก เอว สะโพก เสียก่อน เพื่อรีเช็คไซส์ที่เหมาะสมให้

“เพราะเมื่อเขาจ่ายเงินซื้อชุดว่ายน้ำสักตัวไปแล้ว ก็ต้องใส่ออกมาแล้วสวยด้วย”

swimsuit
Skittles และ Jessie

ก้าวที่ต้องกล้าและแกร่ง

เราอยากให้คุณลองเข้าไปดูใน aprilpoolday.com จะพบว่า แต่ละคอลเล็กชั่นของทั้งชุดว่ายน้ำ และ Ready to Wear ของแบรนด์ “เมษาวันว่าย” เต็มไปด้วยสีสันของความแตกต่างและหลากหลาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันหมดของพวกเธอ เหล่าดีไซเนอร์ที่ปวารณาตัวว่า จะไม่ยอมย่ำอยู่กับที่เดิม

swimsuit

ผ่านมา 7 ปี ยิ่งออกแบบ ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ ไหม เมื่อเทียบกับคอลเล็กชั่นแรก

ตอนเริ่มทำแบรนด์ พวกเรามีความรู้น้อยมากด้วย และเน้นดีไซน์สวยเป็นหลัก แต่เป็นเพราะเรายังไม่เคยทำ และในตลาดชุดว่ายน้ำก็ยังไม่ค่อยมีอะไรใหม่ การที่ทำคอลเล็กชั่นแรกเลยไม่ยากมาก เพราะคอนเสปท์หลักของพวกเราคือ ไม่อยากทำอะไรที่มีอยู่แล้ว 

สมมติว่าตอนนั้นเราทำออกมา 10 ชุด แต่เรารู้สึกว่า 2 ชุดนี้ใช่ที่สุด ก็เลยหยิบ Tennis กับ Volleyball มาออกเป็นคอลเล็กชั่นแรก ซึ่งก็รู้สึกว่าไม่ยากเท่าคอลเล็กชั่นหลังๆ ที่พวกเราพยายามต่อยอดสิ่งใหม่ให้ดีกว่าเดิม ใหม่กว่าเดิม

กดดันตัวเองหรือพัฒนาจากฟีดแบ็กของลูกค้า

พวกเราอยากทำกันเอง เพราะแบรนด์นี้เริ่มต้นจากความชอบ เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องออกคอลเล็กชั่นใหม่เพราะถึงเวลาต้องออกแล้ว ไม่มีเงินแล้ว แต่เรารู้สึกว่า เรามาทำอะไรใหม่ๆ กันดี อะไรที่ยังไม่เคยทำ อย่างคอลเล็กชั่นแรกพูดจริงๆ ว่า เราอาจจะยังไม่ได้คิดเยอะเรื่องหุ่นที่หลากหลาย แต่ทุกวันนี้เราคิดเผื่อไว้หมดสำหรับลูกค้าทุกรูปร่าง ทำให้ต้องใช้เวลา develop นานกว่าเดิม 

swimsuit

วัดการเติบโตของแบรนด์จากอะไร

อืม (นึกนาน) ถ้าพูดถึงยอดขายก็โตขึ้นทุกปี ตอนนี้จึงถือว่าอยู่ตัวแล้วในแง่ของการเงิน แต่พวกเราสนใจเรื่องดีไซน์เป็นหลัก ตอนนี้ผ่านมา 7 ปีแล้ว เราค่อนข้างโปรมากสำหรับการทำชุดว่ายน้ำ รู้ว่าผ้าอะไรดี ผ้าอะไรไม่ดี sourcing จากที่ไหนถึงจะดี โรงงานเย็บแห่งไหนที่ได้คุณภาพ ต้องคำนวณผ้ายังไง เทคนิคอะไรที่ใช้กับชุดว่ายน้ำไม่ได้ หรือเทคนิคไหนที่ยังไม่เคยทำกับชุดว่ายน้ำมาก่อน เราทำได้ไหม

หรือว่าลูกค้าแต่ละประเทศมีรูปร่างแบบไหน มีความชอบแตกต่างกันอย่างไร แม้แต่คนเอเชียเองก็มีทั้งจุดที่คล้ายและต่างกัน ซึ่งเราต้องบอกได้ว่าคืออะไร ไปจนถึงเรื่องของการทำอย่างไรให้ก๊อปยากขึ้น ความจริงของก๊อปก็เป็นอีกสิ่งที่ push ให้เราไปไกลมากขึ้น 

อย่างคอลเล็กชั่นแรกถือว่าก๊อปยากประมาณนึง แต่ถ้าลูกค้าดูแค่ในรูปก็จะคล้ายๆ กัน เขาก็มีวิธีแต่งรูป หรือบางทีก็ใช้รูปของเราไปเลย (หัวเราะ) ความจริงโลโก้เราก็ทำใหม่ เพราะโลโก้เก่าใส่ลงไปในรูปแล้วไม่สวย และหลังๆ เราต้องใส่โลโก้ลงไปในทุกรูป เพราะอย่างน้อย ถ้าก๊อปรูปไป ก็ยังมีโลโก้เราติดอยู่ แต่ตอนนี้ก็รู้แล้วว่า ถึงจะมีโลโก้อยู่ในรูป ก็ไม่แคร์ ก็เอาไปพร้อมโลโก้นั่นแหละ

swimsuit

รู้ไหมว่าใครก๊อปเราบ้าง

เกาหลีก็มี ไต้หวันไม่มี ไต้หวันมีแต่ขายของก๊อป แต่ไม่ได้ผลิต ส่วนจีนนี่ตัวหลักเลย และแย่ที่สุด เพราะใช้รูปเราด้วย คือ เขาเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าเหมือนของเราเป๊ะ พร้อมทั้งขโมยรูปเราไป พร้อมกับบอกร้านค้าส่งที่ซื้อของจากเขาว่า เอารูปพวกนี้ไปใช้ได้เลย 

เมื่อหลายปีก่อนเคยคิดว่า เขาคงอยู่กับเราแค่แป๊บเดียวล่ะมั้ง เจอแบรนด์ใหม่เขาคงไป ปรากฏว่า เขาอยู่กับเราตลอด (หัวเราะ)  ยกเว้นชุดที่ยากมากๆ

Breakfast Club ที่เป็นคอปกโปโล ถูกก๊อปไหม

โปโลก็ก๊อป ทั้งที่ยากมาก แต่เขาก็เอาไปทำด้วยวิธีที่ไม่ยากนัก เพราะขนาดเสื้อโปโลที่เป็น ready to wear ยังต้องผลิตในโรงงานที่ทำเสื้อโปโลโดยเฉพาะ ดังนั้น ช่างทำชุดว่ายน้ำซึ่งไม่เคยทำเสื้อโปโลมาก่อน ยิ่งยากไปกันใหญ่ เราต้องไปศึกษาว่า จะรีดสาบยังไงไม่ให้ผ้าออกมาเป็นหยุยๆ รีดผ้ากาวยังไง บุ๊งคอยังไงให้ดูคุณภาพดี โดยทั้งหมดนี้คือ ต้องทำกับผ้าว่ายน้ำ ในขณะที่โรงงานจีนเขาก็ใช้ผ้าว่ายน้ำนั่นแหละ แต่ไม่ต้องรีดสาบ ไม่ต้องรีดผ้ากาวอะไรทั้งนั้น ออกมาก็จะดูหยุยๆ หน่อย ดูไม่ค่อยแพง เราก็ซื้อมาดูนะ เพราะส่วนใหญ่ร้านออนไลน์ในไทยรับมาขาย ตัวละ 200 กว่าบาทเอง 

swimsuit
Daisies Collection

จนถึงตอนนี้ เห็นแล้วรู้สึกยังไง

โกรธเหมือนเดิม เพราะเราใช้เวลาทำนาน แถมยังเอารูปเราไปใช้อีก เขาไม่ต้องทำอะไรเลย ตอนแรกเคยคิดว่า ผ่านไปหลายปี เราคงจะโกรธน้อยลง แต่ถามความรู้สึกจริงๆ ก็ยังโกรธเหมือนเดิม ทำไมคนถึงต้องคิดว่า โดนก๊อปเป็นเรื่องธรรมดา คิดเสียว่าเราทำของดี แล้วทำไมเราถึงจะต้องไม่โกรธด้วยล่ะ ในเมื่อทุกขั้นตอนการทำงาน เราไม่ได้ไปเบียดเบียนใครเลย พยายามขายในราคาที่สมเหตุสมผล แต่กับบางคนเขาก็มีสแตนดาร์ดว่า ชุดว่ายน้ำต้องราคา 900 กว่าบาท หรือไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งก็ทำได้แหละ แต่อาจจะไม่ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ คุณภาพก็ไม่ต้องดีมาก

swimsuit

แต่ก็ต้องอยู่กับการถูกก๊อปต่อไป

ส่วนใหญ่จะไม่ไปสนใจ ถ้าสนใจแล้วจะเสียเวลาทำงานมาก เอพริลฯ ก็ไม่ได้มีทีมงานเยอะ ทุกคนก็ต้องโฟกัสกับงาน แต่ส่วนมากจะเป็นลูกค้าที่คอยส่งมาให้ดู ซึ่งหลังๆ ช่วงหลังมีทุกวัน เลยเหมือนถูกตอกย้ำอยู่อย่างนั้น เลยอดที่จะรู้สึกโกรธไม่ได้

swimsuit

เคยเบื่อปัญหานี้ จนถอดใจในการทำแบรนด์ต่อไหม

ไม่ค่อย ถ้าเขาก๊อปได้ เราก็จะออกแบบใหม่ให้ยากขึ้นไปอีก อย่างคาร์นิวัล ถ้าจะก๊อปก็ต้องเย็บ 17 ชิ้น จะทำไหมล่ะ

ดีไซเนอร์สาวยิ้มตาหยีปิดท้ายบทสนทนา ที่ไม่ถือเป็นการท้าทายคนอื่น แต่เป็นการปักธงความท้าทายในการทดสอบขีดความสามารถของตัวเอง ในการก้าวต่อไปข้างหน้าของ Aprilpoolday มากกว่า

  • Aprilpoolday Studio& Boutique 63 ซอยเซ็นหลุยส์ 3 ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ โทร 085-824-8989 เปิดบริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 11.00 – 19.00 น. facebook.com/aprilpooldays