เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ในเรือนไม้เก่าแห่งเมืองแพร่ ที่นำไปสู่ความหวังของการอนุรักษ์แบบ ‘มองเก่า ให้ใหม่’
“เมื่อมาถึงตัวเมืองแพร่ สิ่งแรกที่เห็นด้วยตาคือเรือนไม้สักอายุกว่า 100 ปีหลายหลัง ที่ประกอบรวมกันเป็นเนื้อเมือง ลวดลายฉลุ สีสัน และรูปแบบของสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์ ล้วนสะท้อนให้เห็นภาพอดีตอันรุ่งเรืองของเมืองศูนย์กลางการค้าไม้สักแห่งล้านนาตะวันออก”
เนื้อหาในแผ่นพับนำทัวร์เรือนไม้เก่าแห่งเมืองแพร่ ที่จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ เกริ่นเอาไว้แบบนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากออกเดินทางตามแผนที่ ตามไปเช็คอินยังเรือนไม้หลากสีที่ระบุอยู่ในลายแทงให้ครบทุกหลัง
และหลังจากออกเดินทางไปยังเรือนไม้สีแล้วสีเล่า ที่ต่อให้ไม่ต้องไปจนครบ ก็ยังสามารถทำให้แขกผู้มาเยือนสามารถลากเส้นจุดต่อจุด จนเกิดเป็นภาพร่างของเมืองแพร่ที่ค่อยๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น
มากไปกว่าการได้สนิทกับเมืองแพร่มากขึ้น อาคันตุกะอย่างเรายังพบว่า เรือนไม้หลายหลังได้รับการดูแลและบูรณะเป็นอย่างดี จนสามารถเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ในขณะที่อีกหลายหลังถูกทิ้งร้างผุพัง รวมถึงบางหลังที่ถูกทุบทำลายจนหายไปจากแผนที่
ยกตัวอย่างเรือนมิชชินนารีอายุเกินร้อยปีที่หลงเหลืออยู่เพียง 2 หลัง หนึ่งหลังได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมขึ้นชื่อ ส่วนอีกหลังถูกปล่อยทิ้งร้าง รอวันบูรณะซ่อมแซม
ส่วนเรือนไม้ที่หายไปอย่างอาคารสำนักงานบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burmah Trading Corporation, Limited: BBTCL) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2432 บริเวณท่าน้ำบ้านเชตะวัน ที่ถูกรื้อถอนทุบทิ้งทำลาย ตามประกาศโครงการปรับปรุงซ่อมแซมเรียนรู้การป่าไม้แพร่ของสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) นั้น เป็นการอันตรธานที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในงานด้านการอนุรักษ์ของทัั้งเมืองแพร่เองและในระดับประเทศ
งานสถาปนิก 64 ที่จะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีหน้า จึงได้หยิบเอาใจความของงานด้านอนุรักษ์มาจัดนิทรรศการหลักประจำงานในชื่อ มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage ที่เริ่มต้นออกเดินทางค้นหานิยามของคำว่าอนุรักษ์กันที่เรือนไม้เก่าหลายหลังในเมืองแพร่ในกิจกรรม Phrae Heritage in Action ว่าสถาปัตยกรรมเมืองเก่าจะฟื้นกลับมามีลมหายใจใหม่ด้วยรูปแบบไหนให้กลมกลืนกับวิถีแห่งปัจจุบัน
1.
คุ้มเจ้าหลวง: เรือนขนมปังขิงที่สมบูรณ์แบบ
เมื่อครั้งที่ชาติตะวันตกเดินทางมาล่าอาณานิคมยังทวีปเอเชีย และแผ่อำนาจมาจนถึงแผ่นดินสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 หนึ่งในวัฒนธรรมที่แทรกซึมจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเมืองไม้สักแห่งนี้ ก็คือ เรือนขนมปังขิง ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแพร่หลาย และแพร่ถือเป็นจังหวัดที่มีเรือนขนมปังขิงมากที่สุดในประเทศไทย
ลักษณะของเรือนขนมปังขิงมีความโดดเด่นอยู่ตรงลวดลายฉลุลักษณะคล้ายขิงเป็นแง่ง และตกแต่งหรูหราคล้ายบ้านขนมปังขิงของชาวยุโรป ซึ่งหากต้องการชมบ้านขนมปังขิงที่ยังคงสภาพดั้งเดิมไว้เหมือนเมื่อร้อยกว่าปีที่สุด ต้องไปที่ คุ้มเจ้าหลวง หนึ่งในเรือนไม้สีเขียวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งประจำเมืองแพร่ ที่เคยได้รับพระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2540 และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2553 จากสมเด็จพระเทพฯ
คุ้มเจ้าหลวงสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2435 เพื่อเป็นบ้านของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ผู้ครองเมืองแพร่คนสุดท้าย ที่กลับมีโอกาสได้พักอาศัยในเรือนหลังคาทรงปั้นหยาหลังนี้เพียงไม่กี่ปี ก่อนจะเกิดกบฏเงี้ยวทำให้เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ต้องลี้ภัยไปยังเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
คุ้มเจ้าหลวงเปรียบดั่งเรือนรับรองประจำเมืองแพร่ก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเคยใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายยุคสมัย ยังเคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาเยี่ยมเยือนราษฎรที่จังหวัดแพร่อีกด้วย
ปัจจุบัน พื้นที่ทั้ง 3 ชั้นของคุ้มเจ้าหลวงถูกแบ่งเป็นห้องต่างๆ ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ของบ้านหลังนี้ ผ่านภาพถ่ายเก่าแก่ เครื่องเรือน เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงบริเวณใต้ถุนบ้านที่เคยใช้เป็นที่คุมขังทาสในอดีต ก็ยังมีร่องรอยของเครื่องทรมานจัดแสดงให้คนในยุคปัจจุบันได้รับชม
เมื่อเดินชมทุกห้องหับภายในบ้านหลังนี้จนครบ จึงทำให้แขกผู้มาเยือนสามารถปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของเมืองแพร่ ที่เคยมีเรือนไม้หลังนี้เป็นฉากหลังได้อย่างเห็นภาพย่ิ่งขึ้น
2.
คุ้มวิชัยราชา: เรือนลูกครึ่งมะนิลา
อีกหนึ่งเรือนไม้สไตล์โคโลเนียลที่ได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพดี และได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ประเภทบ้านพักอาศัย (บ้านเจ้า) เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างเรือนมะนิลาและเรือนขนมปังขิง ที่โดดเด่นด้วยลวดลายฉลุอ่อนช้อยสวยงาม โดยเฉพาะลูกกรงรอบตัวบ้านที่ฉลุลวดลายดอกไม้สีหวานโดดเด่นเป็นที่จดจำ
คุ้มวิชัยราชาสร้างโดยเจ้าหนานขัติ ต้นตระกูลแสนสิริพันธุ์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในพ.ศ. ใด แต่เคยเป็นหนึ่งในฉากหลังของเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งโจรเงี้ยวออกปล้นฆ่าเหล่าข้าราชการในเมืองแพร่ เจ้าหนานขัติจึงเปิดบ้านให้บรรดาข้าราชการเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้หลังคา จนกว่าเหตุการณ์จะสงบลง ทำให้เจ้าหนานขัติได้รับความดีความชอบ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงวิชัยราชา อันเป็นที่มาของชื่อเรือนไม้สีน้ำตาลแห่งนี้ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญในตัวเมืองแพร่ ที่นักท่องเที่ยวควรหาโอกาสมาเยือน
3.
พิพิธภัณฑ์ไม้สัก: ร่องรอยของกิจการป่าไม้ไทย
หากจะกล่าวว่าพื้นที่สีเขียวของสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่าคือหัวใจสำคัญของเมืองแพร่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คงไม่ผิดจากความจริงแต่อย่างใด เพราะในครั้งนั้น ทรัพยากรป่าไม้สักอันอุดมในจังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือของไทยแห่งนี้ เป็นแม่เหล็กดึงดูดสำคัญที่เย้ายวนกิเลสของชาติตะวันตก ที่เคยปักหลักทำสัมปทานป่าไม้ในเขตประเทศพม่า ให้ขยายอาณาเขตมายังประเทศไทย กลายเป็นจุดกำเนิดของอาคารเก่าแก่ 3 หลัง ที่อัดแน่นด้วยประวัติศาสตร์เมืองแพร่และวิชาป่าไม้ของไทย
เดิมอาคารทั้ง 3 หลังเป็นทรัพย์สินของบริษัทสัญชาติเดนมาร์คอย่างบริษัท อีสต์ เอเชียติค จำกัด (East Asiatic Co., Ltd) ที่ได้รับสัมปทานทำไม้สักบริเวณริมแม่น้ำยมฝั่งขวาในเขตจังหวัดแพร่ จึงได้ทำการเช่าพื้นที่จากรัฐบาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว รัชกาลที่ 5 และก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของบริษัทฯ รวมถึงที่พักของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ
หลังจากที่อีสต์ เอเชียติคหมดสัญญาเช่าพื้นที่ จึงได้มอบสถานที่รวมถึงอาคารที่ทำการบริษัทให้กรมป่าไม้ และได้ตั้งกองโรงเรียนการป่าไม้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 ก่อนที่ในอีก 4 ปีต่อมา จะถูกยกฐานะเป็นวิทยาลัยวนศาสตร์ สอนระดับอนุปริญญา และกลายเป็นคณะวนศาสตร์ สอนระดับปริญญาตรี จนในที่สุดได้ย้ายสถานที่จากแพร่มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 จนถึงปัจจุบัน
แม้จะมีการเปิดสอนระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ แล้ว แต่กรมป่าไม้ก็ยังเปิดทำการสอนที่โรงเรียนการป่าไม้แพร่ โดยเปิดรับบุคคลภายนอกที่จบการศึกษา มศ.8 (สายวิทย์-คณิต) ก่อนจะปิดตัวอย่างถาวรเมื่อ พ.ศ. 2536 และได้ดัดแปลงอาคารที่ทำการเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้สัก เรือนไม้สีครีมที่จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำไม้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากไม้สัก และประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะภาพถ่ายหายาก หลักฐานชั้นดีที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์กับสายตาถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไทยในอดีต
รวมถึงอาคารเก่าแก่สองชั้นที่มองเห็นได้จากระยะไกล เพราะตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนกำแพงเมืองเก่า เคยใช้เป็นที่พักของผู้บริหารของอีสต์ เอเชียติค และเป็นที่พักของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้ ที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงบูรณะ จึงไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้ หวังเพียงการบูรณะจะทำให้อาคารโบราณกลับมามีชีวิตบอกเล่าถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ได้อีกครั้งอย่างสมภาคภูมิ
4.
บ้านพักมิชชินนารี: บ้านฝรั่งที่ยังคงอยู่
เรือนไม้สีน้ำตาลที่สร้างจากไม้สักหลังนี้มีอายุร้อยกว่าปี รุ่นราวคราวเดียวกับเรือนไม้สักเกือบทุกหลังในเมืองแพร่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2436 โดยกลุ่มมิชชินนารีลาวในสังกัดคริสตจักรเพรสไบทีเรียน สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา และจัดตั้งเป็นศูนย์เพื่อใช้เป็นที่พัก และสำนักงานของครอบครัวมิชชินนารีที่เข้ามาดูงาน
เรือนมิชชินนารีหลังนี้ตั้งอยู่ในเขตโรงเรียนเจริญราษฎร์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. จังหวัดแพร่ ลักษณะของตัวเรือนเป็นอาคารชั้นเดียว ใต้ถุนสูง มีขนาดใหญ่ สามารถแบ่งได้ถึง 10 ห้อง และมีห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่ เพื่อการใช้สอยอเนกประสงค์ ทั้งยังปรากฏหลักฐานการก่อสร้างบ้านเรือนแบบดั้งเดิมที่ใช้แบบแผนตะวันออกผสมกับตะวันตกอย่างลงตัว
โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างกากบาท (Joint Bridge) ตามแบบตะวันตก และการเข้าเดือยเข็นแบบจีน เพื่อเสริมความแข็งแรงและสะดวกแก่การถอดประกอบใหม่
หลังจากถูกปล่อยให้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เรือนมิชชินนารีหลังนี้ก็ได้รับการอนุรักษ์เมื่อปี 2552 โดย ผอ.สนิท กาญจนประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกศน. ในสมัยนั้น ที่นำงบพัฒนาจากจังหวัดแพร่มาทำการยกระดับตัวบ้าน หรือดีดบ้าน โดยช่างผู้ชำนาญการจากจังหวัดพิจิตร รวมถึงได้มีการเปลี่ยนหลังคาเป็นปูนซีเมนต์ และหล่อเสาตอม่อรองรับเสาไม้สัก ซึ่งเป็นเสาสี่เหลี่ยม เพื่อความคงทนถาวรยิ่งขึ้น จนทำให้คณะกรรมการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบัน ประจำปี 2555 แก่เรือนมิชชินนารีหลังนี้
ในขณะที่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ในเขตรั้วโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน เรือนมิชชินนารีแฝดที่ถูกรื้อมาประกอบใหม่จากทำเลเดิมบริเวณบ้านเชตะวัน ริมฝั่งแม่น้ำยม ยังคงถูกทอดทิ้งไว้ในสภาพทรุดโทรม
เรือนมิชชินนารีฝาแฝด หรือชื่อเรียกที่ชาวแพร่รู้จักกันดีว่า เรือนหมอบริกส์ ตั้งขึ้นตามชื่อผู้ก่อตั้งอย่าง หมอบริกส์ (Dr. W. A. Briggs) ที่ออกเงินตัวเองล่วงหน้าเพื่อซื้อที่ดินในการก่อสร้างศูนย์มิชชั่น เมื่อ พ.ศ. 2436 โดยได้สร้างบ้านพักมิชชินนารีขึ้น 2 หลัง และย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่ ทำให้บ้านหมอบริกส์เป็นมิชชินนารีครอบครัวแรกที่ย้ายมาประจำยังศูนย์มิชชั่นแห่งนี้ โดยให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยทั่วไป ในฐานะสถานพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกของจังหวัดแพร่
หลังจากดำเนินงานมาจนถึง พ.ศ. 2455 ศูนย์มิชชั่นแพร่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม บ้านเชตะวัน ถูกกระแสน้ำเซาะจนตลิ่งพัง และต้องเผชิญน้ำท่วมเป็นครั้งคราว จึงจำเป็นต้องรื้อบ้านพักหลังหนึ่งจากสองหลังลง เพราะบริเวณที่ตั้งของบ้านถูกน้ำกัดเซาะจนอาจเป็นอันตราย และมิชชั่นนารีทั้งหมดต้องอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว ซึ่งคับแคบและลำบากมาก จึงย้ายศูนย์ไปยังสถานที่แห่งใหม่ ณ ที่ตั้งของโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน ในปัจจุบัน บนถนนยันตรกิจโกศล ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่
แม้จะอยู่ในสภาพทรุดโทรมเจียนพัง แต่เรือนหมอบริกส์ก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยภูมิปัญญาการก่อสร้างของคนในศตวรรษที่แล้ว ที่ออกแบบโครงสร้างอาคารมาอย่างแข็งแรง และเลือกใช้วัสดุชั้นดีจากยุโรป ผสมกับไม้สักไทย ทำให้คนรุ่นหลังยังมีโอกาสได้สัมผัสภูมิปัญญาเก่าแก่ที่รอวันอนุรักษ์ให้ฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งอย่างถูกวิธี
‘มองเก่า ให้ใหม่’ ไปต่ออย่างไรให้สูญเสียน้อยที่สุด
จากตัวอย่างของเรือนไม้เก่าแห่งเมืองแพร่ ที่มีทั้งได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ถูกปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา และถูกทุบทำลายทิ้ง ถือเป็นกรณีศึกษาที่นำมาเชื่อมโยงให้เข้ากับกรณีของโรงภาพยนตร์สกาล่าได้เช่นกัน เมื่อทางโรงภาพยนตร์หมดสัญญาเช่ากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เครือเอเพ็กซ์ เจ้าของโรงภาพยนตร์สกาล่าจึงจำเป็นต้องรื้อทุกภาพจำของโรง ตั้งแต่ป้ายชื่อโรง, โคมแชนเดอเลียร์ และประติมากรรมตกแต่งผนัง ออกทั้งหมด เพื่อนำไปประกอบใหม่และคืนชีวิตให้สกาล่า ณ สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี เหลือไว้เพียงโครงสร้างอาคาร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของทรัพย์สินจุฬาฯ ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมที่แน่ชัดในวันข้างหน้า
“ผมแอบรู้สึกว่าเวลาเรียกร้องให้เกิดการอนุรักษ์อะไร คนที่เรียกร้องควรจะต้องคิดด้วยว่าสิ่งนี้ควรจะถูกใช้เพื่ออะไร เพื่อให้อาคารนั้นๆ อยู่ได้ด้วยตัวเองจริงๆ เช่น หากสกาล่าจะมีอยู่ต่อไป เอนเตอร์เทนนิ่งของสกาล่าก็ควรจะต้องถูกแจ๊ซอัพให้กลับมามีชีวิตใหม่ ซึ่งหากทำได้จริงก็คงไม่ต้องมานั่งเถียงกันอีกต่อไปว่า การอนุรักษ์จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในอาคารอายุร้อยปีขึ้นไป แต่ควรหมายถึงอาคารที่มีคุณค่า เพื่อทำให้อาคารนั้นยังคงอยู่ต่อไปได้” ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานสถาปนิก 64 มองเก่า ให้ใหม่ (Refocus Heritage) แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง
“มีทฤษฎีนึงบอกว่า The Best Architecture is Non-Making Architecture สถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดคือสถาปัตยกรรมที่ไม่ต้องสร้างใหม่ เพราะหากสถาปัตยกรรมนั้นๆ ยังมีอายุยืนยาวและไปต่อได้ ก็จะลดเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม ลดขยะจากการก่อสร้าง และใช้งานสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนั่นน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดต่อโลกใบนี้ด้วยซ้ำไป
“ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะจัดการมรดกเหล่านี้อย่างไร เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากคำว่า อนุรักษ์ มาเป็นคำว่า จัดการ เพราะคำว่าอนุรักษ์ทำให้เราต้องกลับไปสู่รูปแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างแต่เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วศาสตร์ของการออกแบบมีทางออกหรือทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดในการรักษาคุณค่าของสิ่งนั้นไว้ ที่สำคัญคือ เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน”
การรีโฟกัสงานอนุรักษ์จึงเป็นภารกิจที่ต้องหมั่นให้ความสำคัญซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่หยุดหาทางออกร่วมกันในทุกภาคส่วน เพราะไม่ใช่แค่จังหวัดแพร่เท่านั้น แต่ยังมีอาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าอีกหลายแห่งในเมืองไทย ที่ควรได้รับการอนุรักษ์ในแนวทางร่วมสมัย เพื่อให้สถาปัตยกรรมที่สวยสง่าข้ามกาลเวลาฟื้นคืนชีพ ไม่ใช่แค่ในฐานะตึกสวย น่าถ่ายรูปโชว์เพื่อนในโลกโซเชียล แล้วจากไป แต่ควรใช้งานได้จริง ณ พุทธศักราชปัจจุบัน
ผู้ที่สนใจสามารถหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานอนุรักษ์แบบมองเก่า ให้ใหม่ ได้ในงานสถาปนิก ‘64 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2564 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี www.architectexpoasia.com