ความน่าทึ่งอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ การไม่เคยหยุดคิด
เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา หรือข้อจำกัดบางอย่าง ทั้งเรื่องเล็กน้อยจนหลายคนอาจมองข้ามไป หรือเรื่องยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องหันกลับมาสนใจ ด้วยความทะเยอทะยาน มนุษย์จึงไม่เคยมองเห็นปัญหาเป็นทางตัน และจะพยายามคิดหาหนทางใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่แก้ไขได้ แต่ผลลัพธ์ที่ค้นพบว่าเป็นทางออก ยังกลายเป็นหมุดหมายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้มนุษย์ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความน่าทึ่งของมนุษย์ในเรื่องนี้ได้ คือ รองเท้าส้นสูง
แม้ว่าส้นสูงๆ ที่เสริมเข้ามายกส้นเท้าจนผิดรูป จะทำให้ผู้สวมใส่ต้องทรงตัวอยู่ในท่วงท่าฝืนธรรมชาติของสรีระร่างกาย แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง มนุษย์ทั้งบุรุษและสตรี จึงจำเป็นต้องอดทนเพื่อประคองตนให้หยัดยืนและก้าวเดินบนส้นสูงด้วยความเต็มใจ
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยขึ้นมาว่า แล้วรองเท้าส้นสูงเกี่ยวข้องกับผู้ชายได้อย่างไร
การมองย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางของรองเท้าส้นสูง ทำให้ได้มากกว่าคำตอบ เพราะช่วยให้เข้าใจความเป็นมาเบื้องหลัง และจุดเปลี่ยนของรองเท้าส้นสูงผ่านสภาพสังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย จากบุรุษสู่สตรี จากความจำเป็นต้องใช้งานสู่แฟชั่นสวยงามที่ถูกตีตราว่าเป็นของฟุ่มเฟือย และจากสิ่งแทนความแตกต่างทางชนชั้นสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ
ยิ่งสูง ยิ่งแข็งแกร่ง
นักโบราณคดีขุดค้นจานโบราณใบหนึ่ง (Dish with Rider) ขึ้นมาได้ จากพื้นที่ของเมืองโบราณนิชาปูร์ (ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) บนจานใบนั้นปรากฏภาพทหารม้าสวมร้องเท้ามีส้น กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญซึ่งยืนยันได้ว่า คนกลุ่มแรกที่ประดิษฐ์และใส่รองเท้าส้นสูง คือ พลทหารม้าเปอร์เซียในช่วงศตวรรษที่ 10
ในอดีต กองทัพทหารเปอร์เซียขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจในสมรภูมิ พวกเขาสร้างชื่อเสียงจากการออกรบปราบศัตรูได้อย่างอาจหาญ ข้อได้เปรียบของกองทัพทหารเปอร์เซียอยู่ตรงที่ มีกองพลทหารม้ายิงธนูแม่นราวจับวาง แต่พวกเขากลับเจอปัญหาน่าปวดใจที่ต้องรีบเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าขืนปล่อยทิ้งไว้ อาจบั่นทอนภาพความแข็งแกร่งของกองทัพที่พวกเขาสร้างและสั่งสมลงได้ นั่นคือ เมื่ออยู่บนหลังม้า ทั้งท่านั่งและคอม้ากลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้พลทหารยิงธนูพลาดเป้า
ต่อให้มีโกลน (stirrup) สำหรับสอดเท้ายันตัวขณะควบม้า แต่รองเท้าพื้นเรียบที่ทหารสวมอยู่ ทำให้พวกเขาพยุงตัวยืนขึ้นไม่ได้ หากฝืน ฝ่าเท้าจะเลื่อนหลุดออกจากโกลน ทำให้เสียหลักและพลัดตกจากหลังม้าจนบาดเจ็บสาหัสหรือถึงขั้นตายได้
กองทัพทหารเปอร์เซียไม่ต้องการสูญเสียกำลังพลโดยใช่เหตุ จึงทดลองเสริมส้นให้รองเท้าเพื่อใช้เป็นตัวยึดกับโกลน ผลปรากฏว่า รองเท้าส้นสูงกลายเป็นหนึ่งในยุทธวิถีทางการทหารที่สร้างความน่าเกรงขามให้กองทัพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะพลทหารยืนยิงธนูบนหลังม้าได้อย่างคล่องตัวและแม่นยำ โดยไม่ต้องกังวลถึงความผิดพลาดและอันตรายที่เคยเกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา ทหารม้าทุกคนจึงใส่รองเท้าเสริมส้นอย่างพร้อมเพรียง และการเป็นผู้นำเทรนด์รองเท้าส้นสูงโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
ยิ่งสูง ยิ่งสมชาย
ระหว่างปลายศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 17 การสวมใส่รองเท้าเสริมส้นไม่ได้จำกัดอยู่ในกองทัพอีกต่อไป เมื่อสภาพสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง ม้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง
ชนชั้นสูงและผู้ลากมากดีชาวเปอร์เซียจึงกำหนดบรรทัดฐานทางสังคมร่วมกันว่า รองเท้าสำหรับใส่ขี่ม้าต้องมีส้นสูงประมาณ 1 นิ้ว ทำให้รองเท้าส้นสูงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความร่ำรวยโดยปริยาย
ในเอกสารโบราณที่เล่าเรื่องราวและมีบทกวีเกี่ยวกับศาสนา (Mūsā Nāma) ยังปรากฏภาพวาดผู้ชายชาวเปอร์เซียสวมเครื่องแต่งกายที่ปักด้วยทองคำและสวมรองเท้าส้นสูง ซึ่งบ่งบอกฐานะทางสังคมได้ว่าพวกเขาเป็นคนร่ำรวย แต่กว่าที่ชาวยุโรปจะรู้จักและมีโอกาสได้สวมใส่รองเท้าส้นสูงอย่างกว้างขวางผ่านความสัมพันธ์ทางการทูต และการอพยพย้ายถิ่นฐาน เวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17
ขณะนั้นชาวเปอร์เซียอาศัยม้าเป็นพาหนะหลัก จึงจำเป็นต้องสวมรองเท้าเสริมส้นอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่า พวกเขากำลังโฆษณารองเท้ารูปทรงแปลกๆ ไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ จนในที่สุดผลลัพธ์ทางการทหารของชาวเปอร์เซียที่คิดแก้ปัญหาได้ตรงจุด ก็เตะตาชนชั้นนำของดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรปเข้าอย่างจัง โดยเฉพาะระดับผู้นำและผู้ปกครอง
ตอนแรกๆ ทั้งประเทศรัสเซีย เยอรมนี และสเปน ต่างเลียนแบบเสริมส้นให้ทหารม้าในประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพ แต่ระดับขุนนางกลับมองต่างออกไปด้วยความคิดชายเป็นใหญ่ พวกเขาเลือกให้ความสำคัญกับการแต่งตัว เพราะต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีตลอดเวลา ส่วนของร่างกายที่พวกเขาดูแลมากเป็นพิเศษ คือ ขา
ขาของชายผู้สูงศักดิ์ต้องเรียวเล็ก เหมาะกับการสวมถุงน่องสีพื้นและกางเกงรัดรูป หากขาใหญ่แสดงว่าเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ต้องออกแรงทำงานด้วยความยากลำบาก ดังนั้น การใส่รองเท้าส้นสูงจึงช่วยปรับภาพลักษณ์ให้ผู้ชายดูดียิ่งขึ้น เพราะเป็นวิธีลวงตาให้คนอื่นมองเห็นว่า ขาของพวกเขายาวสวยงาม ความภาคภูมิใจในความงามที่แสดงความเป็นชายของชนชั้นสูงจึงปรากฏให้เห็นผ่านภาพวาด ซึ่งผู้ชายมักจะยืนหรือวางท่าทางอวดเรียวขาของตนเอง ซึ่งเผยให้เห็นรองเท้าส้นสูงที่สวมอยู่ด้วย
ยิ่งสูง ยิ่งอยู่สุขสบาย
ชายผู้ทำให้รองเท้าส้นสูงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายที่บ่งบอกทั้งชนชั้นและสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่โดยสมบูรณ์ คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIV) เขาจริงจังเรื่องนี้ถึงขนาดกำหนดกฎหมายไว้อย่างชัดเจนในปี 1673 ว่า ชาวฝรั่งเศสที่มีสิทธิ์ใส่รองเท้าส้นสูง ต้องมีฐานันดรศักดิ์ระดับขุนนางขึ้นไป
รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้คนอื่นใส่รองเท้าส้นสูงที่มีพื้นและส้นสีแดงเด็ดขาด เพราะต้องการสงวนสีแดงซึ่งเป็นสีโปรดที่สื่อถึงอำนาจ ความร่ำรวยในทรัพย์และบริวารไว้ให้ตัวเองใช้ได้เพียงผู้เดียว ในสายตาของชนชั้นสูง ต่างมองเห็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นไอดอลของการสวมรองเท้าส้นสูง
ความนิยมชมชอบสิ่งสวยงาม และการใช้ชีวิตท่ามกลางความหรูหราอลังการของชนชั้นสูงในประเทศฝรั่งเศส ทำให้พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า การสวมรองเท้าส้นสูง ซึ่งไม่เหมาะกับการทำกิจวัตรอื่นใด นอกจากยืนหรือนั่งอยู่เฉยๆ แสดงถึงฐานะที่มั่นคงและมั่งคั่ง เพราะหมายความว่า พวกเขาไม่ต้องทำอะไรก็มีกินและใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย
จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 รองเท้าส้นสูงจึงไม่ได้เป็นของสงวนสำหรับชนชั้นสูงอีกต่อไป เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกเพศ หามาสวมใส่ตามความสนใจ
ยิ่งสูง ยิ่งเท่าเทียม
ความนิยมในรองเท้าส้นสูงของประเทศอื่นๆ ทางฝั่งยุโรปและตะวันตก แตกต่างจากฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง เพราะชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเริ่มสนใจใส่รองเท้าเสริมส้นกันมากขึ้น ส่วนชนชั้นสูงที่ใส่รองเท้าเพื่อแสดงสถานะทางสังคม ก็ทำได้เพียงเพิ่มความสูงให้ส้นมากขึ้นกว่าเดิม
นานวันเข้า รองเท้าส้นสูงยิ่งได้รับความสนใจในหมู่ผู้หญิง ถึงขนาดต้องออกแบบลักษณะส้นให้เรียวเล็ก เพื่อสร้างความแตกต่างจากรองเท้าของผู้ชาย ซึ่งนิยมส้นหนาและใหญ่
ตลอดศตวรรษที่ 18 ความเป็นชายในฐานะเพศผู้คิดค้นและยึดครองพื้นที่เล็กๆ ของรองเท้าส้นสูงกลับพร่าเลือนและหายไปในที่สุด เพราะสังคมยุโรปและประเทศทางตะวันตกเริ่มให้ความสำคัญกับบทบาททางเพศ
กรอบความคิดเกี่ยวกับบทบาททางเพศ สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้การสร้างรองเท้าในยุคสมัยนั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รองเท้าผู้หญิงถูกออกแบบให้แคบลง เสริมส้นสูงขึ้น มีสีสันสดใส ติดโบว์หรือเครื่องประดับอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนรองเท้าของผู้ชายถูกออกแบบให้กว้าง และลดความสูงของส้นลง เพื่อความสะดวกสบายและความกระฉับกระเฉงระหว่างเคลื่อนไหวร่างกาย
ผู้ชายจึงเลิกใส่รองเท้าส้นสูงที่แสดงชนชั้นและฐานะทางสังคมราวปี 1730 คงไว้เพียงแต่เหตุผลด้านการใช้งาน เช่น รองเท้าบูทส้นสูงของโคบาลหรือคาวบอย
และรองเท้าส้นสูงทรงโค้งมนจากประเทศสเปนที่เรียกว่า Cuban heel สำหรับใช้ทำกิจกรรมเฉพาะอย่าง เช่น เต้นระบำฟลาเมงโก (Flamenco)
ยิ่งสูง ยิ่งสวย
ยุคใหม่ของรองเท้าส้นสูงเริ่มต้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ขับเคลื่อนโดยวงการบันเทิงและโฆษณา ในช่วงนั้นสาวพิมพ์นิยมของสังคมตะวันตก คือ ผู้หญิงที่มีรูปลักษณ์ตามแบบฉบับ Pin-up Girl พวกเธอแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เผยให้เห็นสัดส่วนน่าเย้ายวน แต่งหน้าด้วยสีสันฉูดฉาดสะดุดตา วางท่าทางสื่อถึงความมั่นใจในตัวเอง ที่สำคัญพวกเธอมักจะสวมรองเท้าส้นสูงปลายแหลม เพื่อเพิ่มเสน่ห์น่าดึงดูด Pin-up Girl จึงทำหน้าที่เป็นนางแบบบนโปสเตอร์ภาพวาดคู่กับการโฆษณาสินค้า
สาเหตุที่พวกเธอได้รับการขนานนามว่า pin-up เนื่องจากภาพโปสเตอร์เหล่านี้เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชายในสมัยนั้น จนต้องเอาไปติดไว้ภายในห้องพัก แม้แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) นอกจากภาพครอบครัวและคนรัก ทหารส่วนใหญ่มักจะพกภาพสาวๆ Pin-up Girl ไว้ดูต่างหน้าด้วย เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้หัวใจท่ามกลางสงครามที่มีแต่ผู้ชาย
ความนิยม Pin-up Girl ทำให้ผู้หญิงสนใจใส่รองเท้าส้นสูงปลายแหลมอย่างแพร่หลาย แต่ผู้หญิงคนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงความคิดสาวๆ จนพวกเธอยอมพลีฝ่าเท้าให้พื้นที่เล็กๆ ของรองเท้าส้นสูง เพื่อแลกกับการเป็นหญิงทรงเสน่ห์ คือ เบตตี้ เกรเบิล (Bette Grable) เธอเป็นนักแสดงสาวแถวหน้าของฮอลลีวูด ผู้สวมบทบาทเป็น Pin-up Girl โดยใส่เพียงชุดชั้นในคู่กับรองเท้าส้นสูง ผู้หญิงกับส้นสูงจึงเป็นสิ่งคู่กันนับจากนั้นเป็นต้นมา
รวมถึงภาพจำของ มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) นักแสดงและนางแบบชาวอเมริกัน เธอมักจะใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้ความเป็นหญิง จนกลายเป็นต้นแบบความงามของสาวๆ ในยุคสมัยนั้น
ส่วนผู้ชายเริ่มกลับมาสนใจรองเท้าส้นสูงอีกครั้ง เพราะ วงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ศิลปินกลุ่มแนวดนตรีร็อคแอนด์โรลทั้ง 4 คน สวมรองเท้าบูทเสริมส้นที่พวกเขาสั่งทำจากร้าน Anello & Davide ในกรุงลอนดอน เพราะต้องการสร้างความน่าสนใจเล็กๆ น้อยๆ ให้การแต่งตัว
รองเท้าของพวกเขาพัฒนามาจาก Chelsea boot หรือรองเท้าบูทหนังทรงสูงหุ้มข้อเท้าสไตล์อังกฤษ แต่เสริมส้นลักษณะเดียวกับ Cuban heel ทำให้ได้รองเท้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง พวกเขาเรียกรองเท้าบูทส้นสูงนี้ว่า Beatle boots นอกจากจะเรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดจากสาวๆ แล้ว ศิลปินวงร็อคในยุคต่อๆ มา ยังเลือกใส่รองเท้าส้นสูงตามวงเดอะบีเทิลส์ด้วย
ศิลปินอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บุกเบิกทลายกำแพงที่แบ่งแยกรองเท้าส้นสูงกับบทบาททางเพศ คือ เดวิด โบวี (David Bowie) เพราะเขาเลือกสวมรองเท้าส้นสูงเป็นรองเท้าปกติ ทั้งตอนที่ออกสื่อ แสดงบนเวที และใช้ชีวิตประจำวัน
แต่ส้นสูงก็ยังคงเป็นรองเท้าที่สื่อถึงความเป็นหญิงมากกว่าอยู่ดี เพราะได้รับอิทธิพลมาจากการผลิตและฉายซ้ำของวงการภาพยนตร์ เช่น รองเท้าทับทิม จากภาพยนตร์เรื่อง The Wizard of Oz (1939) และรองเท้าแก้ว จากการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง Cinderella (1950)
ปัจจุบันรองเท้าส้นสูงได้รับการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้ผลิตและผู้สวมใส่ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ระดับความสูง สีและวัสดุที่ใช้ ไปจนถึงรูปทรงที่ชวนให้รู้สึกประหลาดใจเมื่อพบเห็น โดยเฉพาะรองเท้าส้นสูงของ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga)
ยิ่งสูง ยิ่งเจ็บปวด
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงต่างรู้อยู่เต็มอกว่า เพื่อแลกกับความสวยงามของส้นเท้าและเรียวขาน่าหลงใหล มีราคาต้องจ่ายเป็นความเจ็บปวด
ยิ่งรองเท้าเสริมความสูงของส้นมากเท่าไหร่ ยิ่งสวมใส่นานเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความเสี่ยงให้กระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้า รวมถึงข้อเข่าเสียหายได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเท้าต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากเกินความจำเป็น ขณะใส่รองเท้าส้นสูงเดินยังเพิ่มโอกาสบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขาพลิกได้ง่ายมากกว่ารองเท้าส้นเรียบ
ในปี 2019 ยูมิ อิชิคะวะ (Yumi Ishikawa) นักแสดงและนักเขียนชาวญี่ปุ่น เริ่มต้นรณรงค์ให้สังคมญี่ปุ่นยกเลิกค่านิยมบังคับผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงไปทำงาน เพราะเธอมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับผู้หญิงญี่ปุ่น แต่เธอส่งเสียงแทนผู้หญิงทั่วโลกให้ทุกคนรับรู้ความเจ็บปวดนี้
อิชิคะวะรณรงค์เรื่องนี้ผ่าน #KuToo อ่านว่า คัททู มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น kutsu หากออกเสียงเน้นพยางค์แรก จะแปลว่า รองเท้า ถ้าเน้นพยางค์หลัง จะหมายถึง ความเจ็บปวด เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจาก #MeToo หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรณรงค์ยุติการล่วงละเมิดทางเพศในผู้หญิง
ผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากเห็นด้วยกับอิชิคะวะ จึงร่วมกันลงชื่อเป็นข้อเรียกร้อง และเสนอต่อกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อออกกฎระเบียบห้ามบริษัทและนายจ้างบังคับให้ผู้หญิงสวมใส่รองเท้าส้นสูงทำงาน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะ ทาคุมิ เนะโมะโตะ (Takumi Nemoto) รัฐมนตรีในขณะนั้นมองว่าการใส่รองเท้าส้นสูงขณะทำงานยังเป็นสิ่งจำเป็น และมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้หญิงในประเทศอื่นๆ ออกมาเรียกร้องการบังคับใส่รองเท้าส้นสูงในลักษณะเดียวกัน เช่น ปี 2017 ทางการฟิลิปปินส์ ออกกฎหมายห้ามนายจ้างบังคับให้ลูกจ้างผู้หญิงสวมส้นสูง เพราะไม่ต้องการให้เกิดอคติเหยียดเพศ และสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยขณะทำงาน หรือปี 2018 รัฐบาลท้องถิ่นในประเทศแคนาดา ออกกฏหมายห้ามบริษัทบังคับพนักงานผู้หญิงให้ส้นสูงเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้คือเส้นทางของรองเท้าส้นสูง ที่เริ่มต้นจากชายชาติทหาร ก่อนเปลี่ยนผ่านมาสู่เท้าของผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องน่าจับตามองต่อไปว่า ความสูงที่ไม่ต้องเขย่งของรองเท้าเสริมส้นคู่นี้ จะกรุยเส้นทางเดินไปในทิศทางไหน สร้างการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ หรือจะคงความงดงามแสนเจ็บปวดนี้ไว้ในฐานะแฟชั่นนำสมัย
อ้างอิง
- Ariana Marsh. High Heeled Shoes Were Originally Created For Men. https://bit.ly/34x6OOd
- Beh Lih Yi. Philippines bans mandatory high heels at work. https://reut.rs/34zT457
- Emmie Cosgrove. The History of High Heels. https://bit.ly/3e2S8cT
- Maude Bass-Krueger. The High-Life: A History of Men in Heels. https://bit.ly/34ueaCc
- Toma Mochizuki. Men force feet into high heels as Japan’s #KuToo movement seeks to build on media attention. https://bit.ly/34wIaNF