‘รับสมัครหนูทดลอง’
ในฐานะแฟนเพลงพันธุ์ลึกนี่คงเป็นข้อความที่ชวนให้ตื่นเต้นในรอบหลายปี นอกจากนี่จะเป็นการทดลองอันลึกลับที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเกี่ยวกับอะไรแล้ว ยังเป็นสัญญาณเตือนอยู่กลายๆ ว่า ‘พาราด็อกซ์ (Paradox) วงอัลเทอร์เนทีฟในตำนานกำลังมีเรื่องสนุกมาให้ลุ้นกันอีกครั้ง
หมอกของความตื่นเต้นปกคลุมไปทั่วในหมู่แฟนเพลง หลังจากวงดนตรีประกาศในเวลาต่อมาว่า ‘หนูทดลอง’ ผู้ถูกเลือกทั้ง 20 คนจะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ได้ฟังเพลงใหม่ล่าสุด พร้อมทำการทดลองโดยการวาดภาพตามจินตนาการของตัวเองจากเนื้อเพลงที่ได้ฟัง
“…มาเคารพหลุมศพปลาวาฬ ปลาดาวซบปลาหมึกกลางฝูงห่าน…”
“…ความจริงเที่ยงแท้ คือปัญญา กาลเวลาคงบุบสลายไป…”
“…ฟันปลอมแท้แห่งจักรวาลยังคงเคี้ยวเขมือบความฝันใฝ่…”
เนื้อเพลงที่ไม่ปะติดปะต่อของเพลง ‘หลุมศพปลาวาฬ’ เต็มไปด้วยคำประหลาด ถูดจัดวางด้วยรูปประโยคแปลกๆ ทำให้ไม่เพียงรูปวาดผสมจินตนาการของเหล่าหนูทดลองเท่านั้นที่แสดงออกมาหลากทิศทาง แต่ปรากฏการณ์หลังจากเพลงถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการก็ยังเต็มไปด้วยการตีความหลากหลาย มีการวิเคราะห์ถึงความจริง ความตาย ไปจนถึงเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างรูหนอน หลุมดำ และทฤษฎีสัมพัทธภาพ
เป็นความตั้งใจของวงพาราด็อกซ์ และ คนเขียนเพลงอย่าง ต้า – อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา ที่ยังคงสนุกกับการทดลองทำเพลงด้วยโจทย์แปลกใหม่มาตลอด 25 ปี ผลการทดลองนอกจากปลดแอกตัวเองจากเพลงเดิมๆ ในทุกอัลบั้ม ในฐานะผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ต้าค่อยๆ สรุปผลการทดลองของเขาในวันวาน พร้อมเผยถึงการทดลองครั้งใหม่ต่อจากนี้ให้เราฟัง
นักทดลองที่ชื่อ ‘ต้า’
เริ่มแต่งเพลงตอนไหน
เรื่องที่น่าตลกคือ สมัยเด็กๆ เราจะเปิดหนังสือเพลงแล้วเอากีตาร์มาดีด ดีดไปเรื่อยๆ ใจมันชอบลอย พอใจลอยแล้วก็ขี้เกียจอ่านเนื้อเพลง จำเนื้อก็ไม่ได้ พอจำไม่ได้แล้วเราจะฮัมเมโลดี้ มีการแปลงเนื้อ แต่ไม่ใช่แปลงเล่น แต่เป็นการเติมเนื้อให้มันครบ เพราะช่วงนั้นสติจะหลุด มัวแต่กังลเรื่องการจับคอร์ด ก็จะหอนๆ ร้องภาษาต่างดาวไป
สมมุติเริ่มเล่นเพลงแล้วดีดคอร์ดซี สักพักปิ๊งเมโลดี้ในหัว สรุปก็ไม่ได้เล่นเพลงนั้น จะมีเพลงใหม่ของตัวเองงอกออกมาทุกที ไม่เคยเล่นจบเพลงเลย นี่คือจุดเริ่มต้น
เล่าความทรงจำเกี่ยวกับดนตรีให้ฟังหน่อย
ตอนเย็นครอบครัวจะมาล้อมวงกัน เป็นเหมือนดนตรีวงเหล้า น้าจะเล่นเบส น้าอีกคนเป็นนักร้องลูกทุ่ง พ่อเขาเล่นกีตาร์ เป็นนักโซโล่ประจำวง เล่นดนตรีกลางคืน เขาพยายามคะยั้นคะยอให้ซ้อมกีตาร์แล้วเอามาเล่นกับเขา พ่อจะมานั่งตรงปลายเท้าแล้วดีดกีตาร์ไปเรื่อยๆ ให้ผมตื่น
พอโดนคะยั้นคะยอบ่อยๆ เข้า คุณไม่รู้สึกต่อต้านเหรอ
ไม่ได้รู้สึกต่อต้าน แต่รู้สึกว่ามันยาก ตอนนั้นอยู่ประมาณ ป.6 พ่อพยายามทำทุกวิถีทาง เช่นเอากีตาร์กิ๊บสันมาให้เราลองยกดู ตอนนั้นคิดว่าหนักจัง เล่นไปเล่นมาแล้วก็เล่นไม่เพราะ เลยถอดใจ สิ่งที่เปลี่ยนให้มาฝึกกีตาร์อีกครั้งคือ วันหนึ่งเพื่อนชวนไปบ้าน แล้วเขาเอากีตาร์คลาสสิกมาบรรเลงเพลง เพราะมากจนผมตกใจ ถามว่าใครสอน เขาบอกว่าไปเรียนพิเศษมา เราเลยสะเทือนใจ เพื่อนถึงกับต้องไปเรียนพิเศษ ส่วนเรามีพ่อสแตนด์บายรอจะสอนกลับไม่สนใจ หลังจากนั้นก็เริ่มซ้อม
พอเล่นดนตรีมาเรื่อยๆ คิดไหมว่าเราจะอยู่กับมันจนวันนี้
สมัยก่อนไม่มีใครคิดว่าเป็นอาชีพได้แน่นอน (หัวเราะ) เขาเรียกว่านักดนตรีไส้แห่งน่ะครับ มันคล้ายกับที่สมัยก่อนไม่มีนักฟุตบอลอาชีพ ไม่มีนักกีฬาอาชีพ คุณต้องเป็นแชมป์โรงเรียนมาก่อน เป็นแชมป์เยาวชนตั้งแต่เด็กถึงจะติดทีมชาติ คนที่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่มีทางได้ติดทีมชาติแบบนั้นเลย แต่ยุคนี้คนที่นั่งอยู่เฉยๆ นึกมีไอเดียแต่งเพลงขึ้นมา ถึงไม่ได้เก่งมากก็ออกอัลบั้มได้ เน้นที่ไอเดียเป็นหลัก
สมัยก่อนนักดนตรีอาชีพต้องเป็นสุดยอดแห่งความเก่ง มันมีสเต็ป เช่น เล่นเก่งมากแล้วไปเล่นตามผับ ไปประกวดแล้วได้ออกอัลบั้ม ส่วนทางของผมแค่เล่นแบบสนุกสนาน ไม่ได้มีโอกาสไปตามเส้นทางนั้นเลย ไม่มีความคิดจะได้ออกอัลบั้ม ยกเว้นออกกันเล่นๆ มันเป็นเรื่องไกลตัวมาก จนเริ่มยุคอัลเทอร์เนทีฟ ก็มีวงโมเดิร์นด็อก มีค่ายเบเกอรี่มิวสิกที่เป็นค่ายเล็กๆ แต่สามารถออกอัลบั้มได้แล้วดัง มันเลยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ส่งอัลบั้มเข้าไป
ตอนไหนที่คิดว่าคุณเองก็เป็นนักดนตรีอาชีพได้
ตอนออกอัลบั้มชื่อ Lunatic Planet กับค่ายอีสเทิร์นสกาย มันขมมากนะ ต่อให้ออกอัลบั้มแล้วก็ยังรู้สึกว่าห่างไกลจากการเป็นนักดนตรีอาชีพ เวลาไปเล่น ไปเจอคนดูจริงๆ เขาก็งงว่าเพลงอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง ดูแล้วไม่น่าจะทำเป็นงานได้
จุดเริ่มต้นจริงๆ น่าจะตอนออกอัลบั้มกับแกรมมี่ เพราะเริ่มมีคนจ้างไปเล่น สมัยนั้นสอนหนังสือไปด้วยแล้วงานดนตรีเป็นงานอดิเรก ตอนหลังเริ่มมีงานเข้ามาเรื่อยๆ ต้องขอลาสอน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มหาเงินจากการเป็นนักดนตรีได้
ถ้าไม่ใช่นักดนตรีตอนแรกคุณอยากทำอะไร ทำไมถึงเลือกเรียนครุศาสตร์
คณะครุศาสตร์ศิลปะมีวิชาเรียนที่น่าสนใจเยอะ เช่น ถ่ายรูป วาดภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ติดอยู่อย่างเดียวคือต้องไปฝึกสอน ซึ่งผมจะกลัวมาก ยุคนั้นไม่ได้คิดว่าจะเป็นครู คิดว่าเรียนเพื่อทำหนังสือ ทำโฆษณา ทั้งๆ ที่เป็นครุศาสตร์แต่คนยุคนั้นก็มีความเชื่อคล้ายๆ กัน รุ่นพี่ก็ไม่ค่อยมีใครเป็นครู ตอนแรกที่เลือกก็เพราะทุกวิชาที่เรียนน่าสนใจ ยกเว้นการสอนหนังสือ (หัวเราะ) เป็นเรื่องตลกที่ไม่เคยมีความคิดนี้อยู่ในหัวเลย
แต่ท้ายที่สุดก็เลือกเป็นครู
ผมจะแปลกอยู่อย่างหนึ่ง อะไรที่ไม่เคยสนใจ อะไรที่ไม่ชอบหรือกลัว สุดท้ายจะกลายเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตและกลายเป็นเรื่องที่ชอบ อย่างการเป็นครู ตอนเข้าเรียนครุศาสตร์ศิลปะ ผมกลัวมาก กลัวต้องมาสอนโรงเรียนเดิม ไม่อยากไปเจอรุ่นน้อง กลัวเขิน สุดท้ายโดนหมดทุกอย่างที่กลัว ผมกลับไปสอนที่สาธิต จุฬาฯ แถมยังสอนม.ปลายอีกต่างหาก
พอเจอความจริงกลายเป็นว่าชอบ จริงๆ แล้วอาชีพครูนี่ดีมากเลย มีรุ่นน้องเป็นลูกศิษย์ มีเพื่อนมากขึ้น ตอนไปสอนก็ตื่นเช้า พอเลิกก็ไปเตะฟุตบอล บรรยากาศมันทำให้เรารู้สึกดี ความประทับใจนั้นเลยเปลี่ยนชีวิต พอฝึกสอนจบปุ๊บสมัครเป็นครูเลย แล้วก็มีบทเรียนว่าระวังให้ดี ที่เขาบอกว่ายิ่งเกลียดจะยิ่งเจอ ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นจริงๆ ปัจจุบันอะไรที่ผมรู้สึกกลัวหรือไม่ชอบ ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าในอนาคตอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ได้
ทุกวันนี้มีเหตุการณ์ไหนอีกไหมที่รู้สึกว่าต้องทำในสิ่งที่เคยเกลียด
ขึ้นเวทีครับ (หัวเราะ) ตอนแรกอยากเล่นกีตาร์ แฝงตัวอยู่ในวงแล้วปล่อยให้เพื่อนๆ ร้องเพลง ตอนหลังมีแต่คนงอแง สมัยก่อนวงไม่ค่อยมีอนาคต สมาชิกมีกันแค่สองคนคือผมกับคุณสอง ที่เหลือก็ไปยืมคนจากวงอื่นมา ต้องไปง้อเพื่อนมาช่วยร้อง ง้อมือกลองให้ช่วยตี สุดท้ายคุณสองบอกว่าไหนๆ แต่งเพลงแล้วก็ร้องเองเลย เพื่อนๆ ก็ชมว่าร้องเพลงได้ด้วยเหรอ จริงๆ ผมร้องได้อยู่แล้วเพียงแต่ว่ามันไม่ค่อยจบเพลง
พอทำจริงๆ กลับรู้สึกว่าเหมาะ เพราะบางทีเพลงที่แต่งมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะประหลาดหน่อย คนอื่นร้องอาจจะเคอะเขิน ร้องเองง่ายกว่า พอร้องไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชิน แต่งปุ๊บร้องเองได้เลยแบบไม่ต้องถามใคร
ระหว่างรอให้บทเพลงทำปฏิกิริยา
เวลาคนจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจะมีจังหวะที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง คิดว่าจังหวะที่เหมาะกับคุณเกิดขึ้นตอนไหน
มันจะมีจังหวะหนึ่งที่เหมือนกับว่าเพลงที่เกิดมามันลงตัว มันจะย้อนแย้งกับเพลงที่มีโจทย์มาให้ แบบนั้นจะมีน้อยครั้งที่ผุดไอเดียออกมา บางครั้งเพลงที่ดีมันเกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด จะมีความกลัวทุกครั้งที่มีอัลบั้มใหม่ กลัวว่าจะไม่มีเพลงเด็ด เด็ดชนิดที่ว่าพราวด์ลีพรีเซนท์ บางทีอัลบั้มนี้มีแล้วก็กลัวว่าครั้งหน้าก็จะหมดมุกหรือเปล่า เพลงเด่นๆ อาจต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม บางเพลงแค่ฟังเดโมท่อนหนึ่ง จะรู้ชะตากรรมของมันเลยว่าขึ้นหิ้งแน่นอน มันจะมีช่วงเวลาแบบนั้นอยู่ บอกไม่ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพลงพวกนี้มักจะงอกมาจากจุดที่ไม่สามารถคาดเดาได้ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไอเดียดีๆ ที่มาบรรจบกับคำที่ครบถ้วนพอดี พอจังหวะมันบรรจบกันก็เกิดเป็นเพลงอมตะ
ใกล้เคียงกับคำว่า ‘โชคดี’ ไหม
เหมือนโชคผสมกับจังหวะและพรสวรรค์ ต่อให้พรสวรรค์ดี ถ้าจังหวะไม่สัมพันธ์กับไอเดียก็ไม่ได้ พวกเพลงแปลกๆ ที่แต่ง บางทีเราไม่รู้ว่าเพลงแบบนั้นจะมาเมื่อไหร่ เหมือนเข้าทรงอยู่ดีๆ ก็ปิ๊งขึ้นมา มีหลายเพลงมากที่จดไว้ในสมุดโน้ต แต่แปลกมากที่ไม่ค่อยได้ใช้เลย ที่ปล่อยออกมาจริงๆ ส่วนใหญ่คือเพลงที่คิดแล้วแต่งใหม่ เคยทำหนังสือเรื่อง ‘อยากมีเธออยู่ตรงนี้’ นั่นคือการรวมเพลงที่จดไว้ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เอามาใช้ เพราะหาเมโลดี้ที่เข้าไม่ได้
เพลงอมตะขึ้นหิ้งสำหรับคุณเป็นเพลงแบบไหน
ถ้ามาวิเคราะห์กันจริงๆ สำหรับผมเพลงขึ้นหิ้งไม่จำเป็นต้องดัง มันจะมีความรู้สึกเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรหรือแม้กระทั่งไอเดีย จะเป็นเพลงที่เราภูมิใจ เรียกว่ามาสเตอร์พีซก็ได้ เพลงดังมักจะเป็นเพลงที่คนฟังอาจจดจำได้โดยบังเอิญ เช่นเพลงฤดูร้อน นี่ไม่ใช่เพลงขึ้นหิ้งของตัวผมเอง เพียงแต่มันเป็นเพลงที่คนชอบแล้วมันดัง
มีอมตะสำหรับผมมีเยอะมาก อย่างเพลงที่ได้รางวัลสีสันอวอร์ด ชื่อ รถไฟขบวนแห่งความฝัน ตอนแต่งเสร็จรู้สึกว่ามันสุดยอดเลย เป็นเพลงที่ทั้งคำสวยและมีความหมายในเชิงลึก และเป็นความหมายที่จะไม่เก่า จะมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา มีอีกหลายเพลงซึ่งเป็นเพลงแนวทดลอง เช่น หลุมศพปลาวาฬ เยอะแยะมาก แล้วแต่คาแร็คเตอร์ของเพลง
คุณเคยเล่าว่าเพลงจะรอวันทำงาน คำว่า ‘เพลงทำงาน’ หมายความอย่างไร
เพลงทำงาน คือวันหนึ่งเพลงมันอาจกลายเป็นเพลงขึ้นหิ้งไปโดยปริยาย อาจกลายเป็นเพลงที่คนต้องคัฟเวอร์ โดยที่เข้าใจว่านี่เป็นเพลงดัง แต่จริงๆ หารู้ไม่ว่าตอนมันเกิดขึ้นมันไม่ได้ดัง มันจะไปเริ่มทำงานเอาตอนนั้น
เด็กรุ่นใหม่อาจรู้สึกว่านี่เป็นเพลงที่ฮิตในสมัยก่อน เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น เพลงฤดูร้อน จริงๆ เพลงนี้ไม่ใช่ซิงเกิลโปรโมต แต่วงรู้สึกว่าเพลงนี้น่าจะดังได้ เลยเอามาเล่นกันเองบ่อยๆ ตอนนั้นเพลงยังไม่ทำงาน แต่พอเราเอามาเล่นไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันก็ค่อยๆ มีคนเอาไปคัฟเวอร์แล้วดังขึ้นมา จนทุกวันนี้เชื่อว่าหลายๆ คนอาจเข้าใจว่านี่คือเพลงโปรโมต จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันไม่ได้ทำงานตอนนั้น แต่มาทำงานในอีก 10 ปีผ่านไป
ฤดูร้อนอยู่ในอัลบั้ม Summer สำหรับอัลบั้มนี้ ตอนนั้นคุณตั้งใจโปรโมตเพลงไหน
ตอนนั้นเป็นเพลงน้องเปิ้ล ตีหัวเข้าบ้านให้คนจำง่ายๆ เพลงที่สองคือเพลง LOVE เพลงที่สามคือฤดูร้อน เพลงที่ผมคิดเองว่ามันจะดังน่ะ มันจะดังจริง แต่ต้องอีก 5-6 ปีต่อมา วงที่คิดว่าจะดังก็ดังจริงๆ แล้วเป็นอีก 5-6 ปีต่อมาเช่นกัน ไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นจริงหมดเลย เราเคยเอาแผ่นเดโมของวงต่างๆ ไปวิ่งเสนอตามค่าย ตกใจมากว่าวันนี้ทุกวงที่เราดันเขาดังหมดแล้ว
ตอนแรกๆ เรามั่นใจมากว่าวงนี้ต้องดังแน่ๆ แต่กลับมีกระแสอะไรมากลบ มันเป็นแบบนี้ตลอด ถ้าถามว่าการทำงานตรงนี้เราผิดหวังกับอะไร เรามักจะผิดหวังในเวลาที่เราคิดว่าเพลงที่ออกมาน่าจะดัง แต่กลับตรงกันข้าม มันเงียบกริบ เราจะรู้สึกว่า ‘อะไรวะเนี่ย ทำไมมันเงียบได้ขนาดนั้น’ หรือแม้กระทั่งเวลาผมไปเป็นกรรมการตัดสินประกวดวงดนตรี ก็มองเห็นว่ารายการนี้จะมีวงเกิดใหม่อีกเพียบ สักพักเงียบกริบ ก็จะเกิดคำถามในหัวว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่เพลงไม่ดังมันค่อยๆ ตกผลึก ค่อยๆ ขึ้นหิ้ง ความเก่าของมันทำให้ยิ่งขลัง กลายเป็นความเชื่อสำหรับตัวเองว่าสิ่งที่คิดว่าจะดังหรือจะดี ถ้าเพลงมันดีจริงๆ เดี๋ยววันหนึ่งมันจะดังเอง
คุณรู้สึกเชื่อมั่นกับการทำงานเพลงต่อไปได้อย่างไร ในช่วงเวลาที่เพลงยังไม่ทำงาน
เรื่องเพลงไม่ทำงานมันสำคัญเหมือนกันนะ ให้คิดเสียว่าเราทำงานให้ดีที่สุด มันอาจยังไม่ถึงจังหวะเวลา วันหนึ่งเพลงมันจะทำงาน ถึงวันนั้นมันจะคืนทุนให้กับเราเอง ขอให้ทำด้วยความสนุก จุดที่สำคัญที่สุดคือทำอะไรทำด้วยความรู้สึกที่ดี อยากจะเก็บไว้ฟังเอง อยากจะแบ่งให้เพื่อนๆ ได้ฟัง ต่อให้มันไม่มีใครฟัง เราฟังเองมันก็มีความสุขเอง ถ้ามีคนมาเห็นมันก็ยิ่งเป็นกำไร อาจจะปลอบใจตัวเองตอนนี้ไปก่อน
มีเรื่องหนึ่งที่อันตราย คือการมองโมเดลของวงดนตรีเปลี่ยนไป มันคือการมองภาพจุดจบ ตอนที่เราประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าไปมองในมุมของการตอบโจทย์ตลาดเสียมาก ไม่ได้เริ่มจากพื้นฐานที่ว่าชอบแล้วอยากจะทำเพลง อาจทำให้โจทย์ในการทำงานเปลี่ยนไป อยากให้เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบ พัฒนางานไปเรื่อยๆ อย่างนั้นจะถูกวิธี ถ้าเกิดมันไม่ประสบความสำเร็จ เพลงมันยังเป็นเพลงที่ตัวเองชอบ
วงที่ดังไม่รู้ตัวเนี่ย เห็นมากับตาเยอะมาก อย่างวง ค็อกเทล (Cocktail) เมื่อก่อนเป็นวงที่ร่วมกิจกรรมกับห้องซ้อมตาต้ามาตลอด ผมสงสัยมาตลอดว่าทำไมค็อกเทลไม่ดัง ในเมื่อตัวแปรทุกอย่างมันครบแล้ว สมัยก่อนเราอัดเพลงกันกะโหลกกะลา แต่ของค็อกเทลจะอัดแบบไฮโซมาก เรารู้สึกว่านี่มันน่าจะต้องดัง แต่มันก็เงียบไป เป็นเวลา 10 ปี ที่เรารู้จักกัน จนวันหนึ่งก็ดังระเบิดขึ้นมา เรียกว่าดังกว่าวงผมอีก (หัวเราะ) นี่เป็นเคสของเพลงที่ยังไม่ได้ทำงาน แต่พอทำงานปุ๊บ ทุกอย่างมันจะรุ่งเลย
เพลงของพาราด็อกซ์เริ่มทำงานตอนไหน
คนรู้จักจริงๆ น่าจะ Fat Live 4 The Paradox Circus คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก ตอนนั้นมีอัลบั้มชื่อว่า Freestyle พอมีเพลง Sexy คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น แต่ผมว่าพาราด็อกซ์เป็นเคสพิเศษกว่าความฮิต ถ้าพูดกันตามตรงคือพาราด็อกซ์ไม่ใช่วงแมส ไม่ใช่เพลงกระแสที่จะดังได้ แต่ความพิเศษของมันคือดันไปอยู่ในโหมดของขึ้นหิ้ง เป็นงานสะสม หลายครั้งผมทึ่งมากที่มีแฟนเพลงหลายคนเอาเพลงไปวิเคราะห์ ตีความเป็นงานวิทยานิพนธ์ ผมว่านี่มันมาถึงจุดที่เราต้องการมากๆ คือไม่ต้องดังในกระแส แต่มีคนสนใจเชิงลึก มันคือความประสบความสำเร็จอย่างหนึ่ง
มันคล้ายๆ กับผู้กำกับที่ทำหนังแล้วไม่ได้รางวัลอะไรมาก แต่คนกลับพูดถึงเยอะ ยิ่งเพลงเก่า มันยิ่งคลาสสิก มันจะไม่ใช่เพลงเก่ากระดาษเหลือง ถึงเป็นกระดาษเหลืองก็จะเหลืองแบบที่ควรค่าแก่การเก็บ ยิ่งนาน ยิ่งขลัง
บทเรียนที่ค้นพบระหว่างทดลอง
พอเอาความชอบมาทำเป็นงานมันมีความกดดันอะไรบ้าง
ถ้าเป็นเรื่องเพลงไม่ค่อยกดดัน จะกดดันเวลาที่ปล่อยให้ดินพอกหางหมูแล้วใกล้เดดไลน์ ก็จะเกิดความเครียดขึ้น จะรู้สึกว่าทำไมไม่ทำให้พร้อมตั้งแต่แรก สุดท้ายไอ้ความเครียดนี้มันจะยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะงานสร้างสรรค์มันไม่ใช่งานเอกสารที่จะมานอนดึกเพื่อเคลียร์ได้ในวันเดียว มันคิดยังไงก็คิดไม่ออก โชคดีผมผ่านเหตุการณ์พวกนั้นมาได้แบบฟลุคๆ พอคิดอะไรไม่ออกแล้วโดนกระตุ้นหน่อยก็เกิดปิ๊งไอเดียแล้วมันดันออกมาดี แต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ได้บทเรียนว่าจริงๆ แล้ว เราควรจะบริหารเวลาให้ดีที่สุด ถ้าต้องออกอัลบั้มปลายปี ช่วงต้นปีก็ควรเริ่มทำสต็อกเพลงได้แล้ว ไม่ควรชะล่าใจ
ความชะล่าใจส่งผลกับงานเพลงอย่างไรบ้าง
บางทีตอนทำเดโม่ก็อัดร้องไปแบบนั้น พอใกล้เดดไลน์จะมาอัดใหม่อีกที กลับเสียดายเสียงที่อัดไว้ตอนนั้นเพราะอารมณ์มันดีกว่าเยอะ แล้วก็มานั่งโอดครวญว่าตอนนั้นน่าจะอัดให้มันดีๆ ไปเลย ตอนหลังเราแก้ปัญหาโดยการเผื่อเวลาให้ดีที่สุด ยิ่งนานยิ่งดี ทำไปเรื่อยๆ ทำเสร็จแบบตรวจแล้วตรวจอีกดีกว่ามานั่งฟังอีก 4-5 ปีหลังแล้วเสียใจที่ร้องผิด ร้องเพี้ยน แล้วดันไม่แก้ตรงนั้น นี่เลยเป็นบทเรียนที่ว่าต่อไปนี้เวลาทำงานต้องเผื่อเวลา
ถ้าคิดงานไม่ออกทำอย่างไร
เรื่องนี้อันตรายมาก งานสร้างสรรค์ไม่ใช่งานที่สั่งได้ ถ้าตอนนั้นเกิดอาการคิดไม่ออกก็ต้องกระตุ้น วิธีหามรุ่งหามค่ำอดหลับอดนอนช่วยได้ในระยะสั้น กัดฟัน จนหยดสุดท้าย งานเสร็จไปแต่มันไม่ค่อยสมบูรณ์หรอก นี่เป็นวิธีเก่าที่เคยทำ สืบเนื่องจากวิธีนี้รู้สึกว่าเข็ด จะหาวิธีแก้ก่อนเลย ต้องแก้เหมือนการดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นหวัด คือแบ่งเวลา เผื่อเวลาไว้ก่อน จะได้มีเวลาตรวจทาน สต็อกเพลงไว้เรื่อยๆ เกิดถึงเวลาทำไม่ทันก็ยังมีสต็อกเพลงอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีสำรองเลย
เมื่อก่อนเรายอมอดหลับอดนอนได้ไม่มีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเป็นนักมวยก็เหมือนกรอบ จะเริ่มไม่ไหวแล้ว มันรู้สึกล้า ถ้างานกระชั้นมากจะยอมปฏิเสธ เพื่อให้มีไอเดีย มีพลังจะสร้างงานอื่นๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม ดีกว่าทำงานไม่ได้คุณภาพและเสียชื่อไปอีกนาน
เคยรู้สึกผิดหวังกับผลงานตัวเองบ้างไหม
มีบ้างครับ แต่ไม่ค่อยเยอะ ส่วนใหญ่ก็จะขยี้จนพราวด์ลีพรีเซนท์จนได้ บางทีการเผางานแล้วถูกกระตุ้นด้วยเดดไลน์ มันกลายเป็นไอเดียมันบรรเจิดเหมือนกันนะ แต่ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ ก็คงต้องป่วยตายเพราะอดนอน สุดท้ายแล้วต่อให้มีเวลาเหลือยังไงก็จะมีข้อผิดพลาด เราก็ใช้พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ส่วนงานที่เร่งๆ ยังไงก็มีความผิดพลาดคล้ายๆ กัน ต่างกันแค่สุขภาพร่างกายจะพังกว่า ถ้าให้เลือกขอทำแบบชิวๆ จะได้งานที่ได้คุณภาพมากกว่า
ถ้าเผื่อเวลาไว้มากๆ มีความรู้สึกจมกับงานบ้างไหม
จริงๆ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือจะเริ่มชิน สมมุติว่าอัดร้องวนอยู่แบบนั้น พอพักหูไว้แล้วมาฟังอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา มันจะเกิดความรู้สึกว่าที่อัดมามันตลก เพราะเราจมอยู่กับเพลงตอนนั้น จนชิน วนกลับไปเรื่องเดิมคือต้องมีการเผื่อเวลาที่เหมาะสม แล้วต้องตั้งกฎไว้เลยว่าวันหนึ่งจะทำงานสองชั่วโมง ค่อยๆ ทำไปทีละนิด มันจะมีระยะเวลาเข้าออกงาน จมไปนิดหนึ่งก็ถอยออกมา อยู่ในงานให้พอดี
อยากให้ลองยกตัวอย่างเพลงที่เป็นผลลัพธ์ของการเผื่อเวลาไว้ดีมากๆ
ส่วนใหญ่เป็นเพลงเผาทั้งนั้น (หัวเราะ) ผมเป็นคนแต่งเนื้อนานมาก เอาเข้าจริงระยะเวลามักจะถูกกระตุ้นด้วยเดดไลน์ หลังจากจบอัลบั้มล่าสุดเราถึงค่อยมีการเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบนั้น ตอนนี้เลยยังไม่ค่อยมีผลิตผลจากการพัฒนานั้น จะมีอยู่หนึ่งเพลงซึ่งเป็นซิงเกิลต่อไป
ถ้าให้ยกตัวอย่างเพลงที่ปล่อยไปแล้ว เป็นเพลงที่เราทำได้ เช่นเพลง ‘จดหมายจากวันวาน’ เป็นเพลงที่เขียนเนื้อเสร็จนานแล้ว เหลือแค่มานั่งเกลานู่น เกลานี่ รู้สึกว่ามันสมบูรณ์ของมันเอง มันสมบูรณ์ขนาดที่ว่าพอมิกซ์เสร็จเราไม่อยากไปแตะอะไรอีกเลย เพราะชอบแล้ว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำออกมาแล้วรู้สึกดี
หยิบนู่น ผสมนี่
ออกมาเป็นเพลงแปลกที่เกิดปฏิกิริยาปั่นป่วน
จากเพลงแรกจนถึงเพลงนี้ เรื่องราวในเพลงมันเปลี่ยนไปบ้างไหม
เรื่องที่จะเล่ามันค่อนข้างหลากหลายมากครับ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยคือมีการทดลองตลอดเวลา ปัจจุบันแผลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ เพราะทุกวันนี้ยังเล่นอะไรที่แปลกประหลาด บางทีแฟนเพลงหน้าเก่าก็อาจรับไม่ได้ เช่น เพลงหวานเกินไป อย่างเพลง ‘คนบนฟ้า’ นี่เป็นการทดลองอยากให้หวานคิกขุไปเลย มันเป็นเรื่องน่าดีใจที่เราฉีกกฎของตัวเองได้เยอะมาก
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรามีชั้นเชิงมากขึ้น เก๋าเกมมากขึ้น รู้จังหวะของการลงเนื้อให้พอดีกับเมโลดี้ เพลงก็จะไม่ใช่เพลงตื้นๆ เหมือนสมัยก่อน เนื้อจะเรียบๆ แต่บรรยากาศจะลึกซึ้งขึ้น
ความเก๋าเกมทำให้คุณทำเพลงได้ลึกซึ้งมากกว่าแต่ก่อนไหม
ผมมีความสามารถพิเศษ เวลาฟังเพลงหรือดูเนื้อจะดูออกว่าเพลงนี้มันพิเศษ มีสัญลักษณ์ มีลายเส้นของตัวเอง ในงานของตัวเองจะรู้สึกว่ามีลายเส้นที่ชัดเจนมากจนน่าตกใจ มันไม่ได้มาจากตัวคำที่เลือกใช้ มันมาจากภาพรวม ซึ่งอันนี้ทำได้ยากมาก เรื่องสำคัญในการทำอาจหมายถึงทำให้ฮิต ทำให้เนื้อเพลงสวยงาม แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นมันคือภาพรวมที่ทำให้วงดนตรีมีลายเส้นเป็นของตัวเอง มีมิติของเพลง เพลงอาจจะโดนใจคน ฮิตก็จริงแต่เหมือนกระดาษเตรียมรอวันเหลือง วางไว้ในแผงแล้วหายไป
‘มิติ’ ที่บอกเป็นแบบไหน
มันอธิบายยากเหมือนกัน เหมือนคนดื่มกาแฟกับนักชงกาแฟจะรู้กัน บางคนดื่มไปแทบจะลอยไปถึงแอฟริกา แต่ถ้าเป็นคนปกติก็อาจจะรู้สึกว่าแค่ขมๆ เราจะสังเกตมิติของเพลงได้ง่ายๆ แบบคนฟังทั่วไปคือต่อให้ฟังนานๆ เพลงก็ยังมีความรู้สึกที่ลึกซึ้ง หรือที่เขาเรียกว่าตอบสนองทางจิตวิญญาณ มีความดื่มด่ำในใจ ในอนาคต ถึงกลับมาฟังอีกครั้งก็ยังตอบโจทย์ได้ บางเพลงก็อาจไม่ได้เพราะ ไม่ได้ดัง แต่มันก็มีมิติของเพลงโดยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สิ่งนี้มันจะสัมผัสได้มันจะเป็นความรู้สึก ในภาพรวม
คุณมองหาความสมดุลระหว่างการทำเพลงเพื่อตอบสนองจิตวิญญาณกับทำเป็นอาชีพอย่างไร
ก็มองความสมดุล ยุคนี้เอื้อมากนะครับ ยุคนี้เปิดกว้างเรียกได้ว่าเป็นยุคขายตรง มีวงอีกเยอะแยะเลยที่ผมสงสัยว่าเขาทำเป็นอาชีพได้ด้วยเหรอ ซึ่งเขามีกลุ่มของเขา ที่วงเขาเป็นเจ้าของโลกใบนั้น อาจจะมีคนกดไลก์น้อย แต่คนที่เข้ามาจะสนใจจริงๆ จะขายของ ขายเพลงก็ขายได้จริง ยุคนี้ถ้าทำคอนเทนท์ออกมาเรื่อยๆ ผมว่ามันมีฐานของคนดู ตอนนี้มันเปิดทั่วโลกแล้ว สมมุติทำเพลงไม่เหมือนชาวบ้าน เดี๋ยวมันจะมีคนที่สนใจเหมือนกันเข้ามาดูเอง เราทำต่อเนื่อง แล้วจัดกิจกรรมของตัวเอง เดี๋ยวก็มีแฟนเพลงมาร่วมกิจกรรม ขายบัตรเล่นๆ มันก็จะมีรายได้กลับมาได้ ถ้ารุ่งวันหนึ่งมันจะค่อยๆ พัฒนาต่อไปเป็นอาชีพได้
แต่ก่อนคุณเองก็ทำไลฟ์เฮาส์ให้คนมาเปิดคอนเสิร์ต
ใช่ เคยมองเห็นความเป็นไปได้นี้ในตอนนั้น เพื่อนเลยชอบแซวว่าเรา ‘มาก่อนกาล’
ว่ากันว่าเราทุกคนเป็นนักเขียนนิยายได้ อย่างน้อยๆ ก็เขียนเรื่องของตัวเอง คุณเองเคยเอาชีวิตจริงไปใส่ในเพลงบ้างไหม
เพลงส่วนใหญ่จะมาจากจินตนาการ ไม่ค่อยได้เอาเรื่องอื่นๆ มาใส่ เพราะถ้าใส่มากๆ มันก็จะหมดมุข อย่างเรื่องอกหักเนี่ย คนเราคงไม่อกหักกันได้เป็นร้อยเป็นพันครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ฟังเขามา จินตนาการ ผสมกับแฟนตาซีกันไป ส่วนเรื่องงานเขียนเราจะอิงกับตัวเองเยอะหน่อย จริงๆ ผมยังไม่ได้เขียนนิยายเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นบทความก็จะอิงกับสิ่งที่คนอยากจะรู้ เช่น เรื่องตอนขึ้นเวที แต่พอเป็นงานแต่งเพลงจะไม่ค่อยเอาเรื่องส่วนตัวมาแต่ง มีเรื่องในชีวิตจริงประมาณ 3 เพลงเองมั้ง ส่วนใหญ่เป็นเพลงเศร้าๆ ถ้าเป็นน้ำผลไม้ก็จะมีประมาณ 10% ที่เหลือเป็นเรื่องอื่นๆ
ถ้าไม่ใช่เรื่องราวของตัวเอง คุณได้แรงบันดาลใจจากที่ไหนบ้าง
ส่วนใหญ่จะเป็นหนังครับ การดูหนังเนี่ยมันช่วยย่นระยะทาง ไม่ต้องไปเที่ยวเยอะ บรรยากาศของหนังจะพาให้เกิดปิ๊งไอเดีย ดูจบแล้วหัวใจพองโต อยากจะแต่งเพลงนู้นเพลงนี้ บางทีบรรยากาศอึมครึมในหนังสยองขวัญก็ทำให้อยากแต่งเพลงแนวระทึกขวัญ หนังมันกระตุ้นแรงบันดาลใจได้เยอะโดยไม่ต้องไปนั่งเที่ยวรอบโลกให้ไปเจอ เวลาไปเที่ยวกะไปเก็บตัวแต่งเพลง ส่วนใหญ่ผมทำไม่ได้ ถ้าไปทะเลก็นู่นล่ะ ลงไปเล่นน้ำแล้ว ไม่ต้องเขียนกันแล้ว เที่ยวหมด (หัวเราะ)
เพลงที่มาจากหนัง เช่น เพลงบอลลูน เราดูหนังวัยรุ่นเรื่องอะไรสักอย่างมันจบด้วยงานปาร์ตี้ที่วัยรุ่นทุกคนมารวมตัวกันที่สวนหย่อมหลังบ้าน แล้วกล้องก็ค่อยๆ ซูมออกเหมือนโดรนบินออกมา อยากทำเพลงให้ได้อารมณ์ของซีนจบหนังเรื่องนั้น เวลาจบตอนหนังมันจะชอบมีกลองขึ้นมาก่อนอย่างนี้เลยเป็นที่มาของเสียงกลองเบิกบานตอนเริ่มเพลงบอลลูน
ลายเส้นเพลงของคุณมีทั้งสดใสมากและมืดมนมาก คุณตั้งใจตั้งแต่แรกหรือบังเอิญออกมาเป็นแบบนี้
เป็นความตั้งใจ เพลงยิ่งฟังไม่เหมือนเป็นวงเราเท่าไหร่ก็ยิ่งชอบ นี่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราไม่ได้รางวัลพวกอัลบั้มยอดเยี่ยม เพราะมันไม่มีความเป็นองค์รวม แต่เรารู้จุดประสงค์ของตัวเองอยู่แล้ว ว่าเราทำแล้วชอบ ส่วนตัวชอบฟังซาวด์แทร็กหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าในอัลบั้มซาวด์แทร็กมันไม่น่าเบื่อเพราะมีเพลงของหลายวง เลยเป็นคอนเซปต์ที่ใช้มาตลอด เวลาทำอะไรก็ให้มันฉีกไปเลย หนักก็หนักสุดไปเลย แรงก็แรงไปเลย เบาก็เบาหวิวไปเลย เหมือนได้ทดลองกับตัวเองด้วย ถ้าเป็นดาราก็เป็นดาราเจ้าบทบาท เป็นตัวร้ายแล้ว ก็ลองรับบทผู้ถูกกระทำ มันน่าสนุก
คนฟังเขาว่าอย่างไรบ้าง
คนฟังก็จะชอบ บางทีแฟนเพลงก็จะมาจากเพลงนุ่มๆ พอเจอเพลงดาร์กๆ ครั้งแรกก็จะผงะไป แต่ตอนหลังพอเขาชอบเขาก็จะค่อยๆ ซึมซับได้ เชื่อว่าอย่างไรก็จะมีลายเซ็นภาพรวมของตัววงอยู่แล้วแค่มันแค่ฉีกอารมรณ์ไปคนละทิศคนละทาง มันกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวงซึ่งแลกมาด้วยความหลากหลายที่ดูไม่มีภาพรวม
การมองโลกจากเนื้อเพลงสะท้อนออกมาหลายมุมมาก แล้วส่วนตัวของคุณมองโลกแบบไหน
มองได้หลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะไปในทางบวก คือต่อให้มันดูเป็นแย่ มันก็จะเป็นความแย่ที่ดูคลาสสิก เหมือนเราถ่ายรูปถังขยะหรือท่อน้ำเน่าๆ พอถ่ายออกมา มันก็จะมีความสวยงามเขรอะๆ ของมัน จะมีความรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้มีอะไรแย่มากจนถึงขั้นต้องจมปลักอยู่กับความทุกข์
ตอนนี้ยังมีเรื่องอะไรที่ไม่เคยเล่าลงในเพลง แล้วอยากจะเล่าไหม
อัลบั้มหน้าเป็นเรื่องแปลก เพลงที่มีอยู่ตอนนี้ค่อนข้างได้รับแรงบันดาลใจมาจากวงต่างๆ เยอะ เช่น ไปทัวร์คอนเสิร์ตกับวงนี้ เห็นวงนี้มีคนน่ารักมากระโดดโลดเต้น เลยรู้สึกว่างั้นลองทำเพลงสไตล์วงนี้สักหนึ่งอัน หรือบางวงที่เชิญเราร้องด้วย เราก็อยากลองทำเพลงสไตล์วงนั้น เหมือนเป็นการโคลนนิ่ง ในตอนนี้มีไอเดียที่แปลกประหลาด
แต่ส่วนใหญ่เนื้อเพลงจะยังเรียบง่ายและลึกซึ้ง เท่าที่มีในตอนนี้ยังไม่ได้หวือหวามาก จะค่อนข้างน้อยแต่มาก แล้วก็อยากให้ชาวบ้านชาวช่องทำความเข้าใจได้ง่าย จุดที่ท้าทายก็คือทำอย่างไรจะให้เขาสนุกไปกับเพลงได้ ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนหัวใคร รู้สึกว่ามันดี ถ้าเอามาแบ่งแล้วคุณไม่กินก็เรื่องของคุณ แต่โจทย์ต่อไปคือต้องผสมยาอะไรสักอย่างให้คนทั่วไปกินได้ หาวิธีทำให้เขากินพวกสมุนไพรขมๆ แล้วอร่อย
ทำไมเลือกจะสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ออกมาเป็นตัวอักษรไม่ว่าจะงานเพลงหรืองานเขียน มันตอบโจทย์อะไรในตัวเรา
เวลาเขียนหรือแต่งเพลงส่วนใหญ่จะมองมันเป็นงานศิลปะ เลยมีจุดอ่อนนิดหน่อยที่ว่าคนดูเขาจะงงๆ ว่าไอ้นี่มันบ่นอะไรอยู่บนเวที แต่มันก็ตอบโจทย์อีกเหมือนกันว่าเรามาในทางที่ถูกต้องแล้ว เจอแนวแปลกๆ ของตัวเองไปเลย การทำแบบนี้ก็ถือเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งในแบบของเรา ในแง่ของการเขียนบทความ จะเป็นการสื่อสารในเชิงที่ว่าเราช่วยให้คนอ่านมีมุมมองที่อิ่มเอมกับชีวิตในทางบวก ถ้าเป็นงานเพลงอาจจะเป็นงานแนวทดลองไม่ค่อยได้ตอบโจทย์อะไรกับจิตใจได้มากเท่างานเขียน
มองอนาคตของตัวเองในวงการเพลงอย่างไรไว้บ้าง
ตอนนี้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว เห็นภาพรวมชัดเจน สามารถเป็นได้ทั้งอาชีพและงานอดิเรก ถ้าในอนาคตจะมีอาชีพอะไรเป็นหลัก งานเพลงก็ยังทำได้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าทำด้วยความสุข ทำเป็นงานอดิเรก หรือในแง่ของการเป็นงานหลัก เราก็ยังอยากพัฒนาต่อ ยังมีความฝันว่าอยากทำให้เพลงแปลกประหลาดจนถึงจุดคลาสสิกไปเลย เด็กรุ่นใหม่เขามอง มองคาราบาวเป็นแนวเพื่อชีวิต อาจมองพาราด็อกซ์เป็นแนวอัลเทอร์สำหรับเขา นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง
ที่สำคัญคือทำเพลงให้ดังมันไม่มีสูตรเลย อยู่วงการนี้มา 20 กว่าปี ไม่รู้เลยว่าทำอย่างไรให้ดัง บทจะดังก็ดังเอง แปลว่าไม่ต้องไปสนใจว่ามันจะมีสูตรมาตรฐาน ให้คิดว่าต่อยอดให้ดีในผลงานเป็นหลัก