©ulture

ไม่ไกลจากดิ โอลด์ สยามศาลาเฉลิมกรุงออน ล็อก หยุ่น และดงร้านขายอาวุธปืนและวิทยุสื่อสารในย่านวังบูรพา ยังมีร้านขายหนังสือเก่าแก่อยู่หนึ่งร้าน ที่เปิดให้บริการมานานเกือบ 80 ปี

นิพนธ์ คือ ชื่อของร้านหนังสือแห่งนั้น ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะร้านขายหนังสือระดับอินเตอร์แห่งแรกของไทย ค่าที่สามารถสั่งหนังสือวิชาการจากต่างประเทศมาจำหน่ายได้อย่างครบครันที่สุด

vintage bookshop

ปัจจุบัน แม้บรรยากาศของตัวร้านซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นถนนเจริญกรุงจะดูราวถูกแช่แข็งให้หยุดนิ่งอยู่กับกาลเวลามาตั้งแต่สมัยยุคโก๋หลังวัง แต่ถ้าได้ลองผลักบานประตูเข้าไปสำรวจทุกตารางนิ้วของร้านนิพนธ์ จะพบว่าชีพจรของที่นี่ยังคงเต้นเป็นจังหวะ ที่ถึงจะช้า ทว่าหนักแน่นและสม่ำเสมอ 

เพราะที่นี่จุไว้ซึ่งรายละเอียดเข้มข้นทางประวัติศาสตร์ ผ่านการเติบโตของตัวร้านในแต่ละยุคสมัย เริ่มตั้งแต่การเป็นร้านหนังสือที่ตีพิมพ์ดิกชันเนอรี่ของสอ เสถบุตร ซึ่งถือเป็นเวอร์ชั่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งสยามประเทศ สู่สถานะของร้านหนังสือวิชาการที่สามารถจัดหาตำราจากต่างประเทศมาจำหน่ายได้ครบครันที่สุด และปัจจุบันยังเป็นเจ้าแห่งการคัดสรรวรรณกรรมเยาวชนภาษาอังกฤษมาจำหน่ายตามโรงเรียนนานาชาติทุกแห่งทั่วประเทศไทย 

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางยาวนานกว่าห้าแผ่นดินของร้านหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดแห่งย่านวังบูรพา

vintage bookshop

กรุงเทพบรรณาคาร: ร้านหนังสือของท่านพระยา 

กาลครั้งหนึ่งนานไม่ถึงร้อยปี ร้านหนังสือแห่งนี้เคยเป็นบ้านเกิดของดิกชันนารีอังกฤษไทย ที่ สอ เสถบุตร ทยอยถอดความหมายของแต่ละคำในหมวด A – Z จากในคุก แล้วแอบส่งออกมาให้ ห้างกรุงเทพบรรณาคาร ตีพิมพ์ขาย แต่แล้วในเวลาไม่นานหลังจากนั้น อาคารหลังนี้ก็ถูกระเบิดพังพินาศในช่วงสงครามครั้งที่สอง ก่อนอาคารหลังใหม่จะถูกสร้างขึ้นแทนที่บนที่ดินผืนเดิม และเปิดเป็นร้านหนังสือดังเดิมภายใต้ชื่อเรียกขานใหม่ว่า นิพนธ์  

เรื่องราวข้างต้นคือประวัติศาสตร์ขนาดย่อของร้านขายหนังสือตำราและวิชาการที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร 

ตอนนั้นวงการร้านหนังสือเจริญ มีหลายร้านในกรุงเทพฯ เราเป็นร้านที่เก่าแก่ที่สุด จนกระทั่งอเมริกามาทิ้งลูกระเบิดที่สะพานพุทธ แล้วไม่ค่อยแม่น เลยมาลงตรงนี้” พลเอกวิษณุ คงสิริ ทายาทรุ่นที่สามของร้านขายหนังสือเลขที่ 72 เจริญกรุงซอย 2 ลำดับเหตุการณ์แต่หนหลังให้ฟังแบบกระชับ พร้อมเอ่ยถึงเหตุผลสั้นๆ ที่ทำให้เขารับหน้าที่ทายาทผู้ดูแลกิจการร้านหนังสือตราบจน พ.ศ. ปัจจุบัน 

ก็คุณตาผมไปหา สอ เสถบุตร ถึงในคุก เพื่อเอาต้นฉบับมาทำดิกชันนารี เราเลยต้องทำร้านนี้ต่อไปเพื่อท่าน

vintage bookshop

ขยายความเพิ่มเติมจากเรื่องเล่าของพลเอกวิษณุ บวกกับเรื่องราวที่บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์ชีวิตของคุณสุเนตรา คงสิริ ผู้เป็นมารดา ได้ความว่า พระยานิพนธ์พจนาตถ์ หรือ สันตติ์ วิจิตรานนท์ คือผู้บุกเบิก ห้างกรุงเทพบรรณาคาร (The Bangkok Central Books Depot) ขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ โดยจัดว่าเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่และก้าวหน้าทันสมัยมากในยุคนั้น

vintage bookshop
พระยานิพนธ์พจนาตถ์

กรุงเทพบรรณาคารจึงมั่นใจที่จะประกาศตัวว่า “เป็นห้างขายหนังสือแห่งเดียวในพระนครที่รวบรวมหนังสือได้มากที่สุด” โดยนอกจากหนังสือไทยแล้ว ยังมีตำรา หนังสือนวนิยาย และแม็กกาซีนจากต่างประเทศจำหน่าย ทั้งยังมีบริการรับสั่งเล่มที่ลูกค้าต้องการจากต่างประเทศให้อีกด้วย 

นอกจากนี้ กรุงเทพบรรณาคารยังมีสถานะเป็นสำนักพิมพ์ไปในตัว โดยรับจ้างพิมพ์หนังสือ พิสูจน์อักษร รับซื้อหนังสือเก่าใหม่ เป็นเอเย่นต์หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน เป็นเอเย่นต์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข ขายแสตมป์ ไปจนถึงการจำหน่ายเครื่องเขียนเสร็จสรรพ

vintage bookshop
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จเยือนร้านนิพนธ์

และสิ่งตีพิมพ์ที่สรางชื่อให้กรุงเทพบรรณาคารเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้แก่ ปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ สอ เสถบุตร ที่ถือเป็นดิกชันนารีเล่มแรกของเมืองไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง 

ทว่าในยุคนั้นไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าดิกชันนารีเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นในคุก เพราะในขณะนั้น สอ เสถบุตร ถูกต้องโทษจองจำในคดีกบฏบวรเดชมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ทำให้ต้องแอบผลิตต้นฉบับจากในทัณฑสถานทีละหมวดอักษร จนเมื่อเรียบเรียงเนื้อหาถึงหมวดตัว สอก็สามารถติดต่อในทางลับกับพระยานิพนธ์พจนาตถ์ อดีตเจ้ากรมราชเลขาธิการยุคราชาธิปไตย ซึ่งเคยร่วมงานกันมาได้สำเร็จ

vintage bookshop

กรุงเทพบรรณาคารจึงตกลงรับเป็นผู้จัดพิมพ์ปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ สอ เสถบุตร ออกจำหน่ายเป็นตอนๆ โดยเริ่มลงประกาศแจ้งความตามหน้าหนังสือพิมพ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 ว่า จะจัดพิมพ์ปทานุกรมอังกฤษเป็นไทยแบบใหม่ของ สอ เศรษฐบุตร ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งเล่ม หนา 24 หน้า ทั้งชุดจบบริบูรณ์จะเป็นหนังสือประมาณ 100 เล่ม หรือ 2,400 หน้า สามารถเย็บรวมเป็นเล่มปกแข็งได้สองเล่มใหญ่ ผู้สนใจสามารถบอกรับเป็นสมาชิกได้ในราคาพิเศษ ถูกกว่าซื้อปลีกเป็นอันมาก 

ในการนี้ พระยานิพนธ์ฯ ได้ส่งจดหมายแจ้งแก่สอว่า ผมจะแก้ตัวว่าหนังสือเล่มนี้ คุณหลวงได้เขียนไว้นานแล้ว คุณหลวงได้มอบต้นฉบับไว้กับผมแต่วันที่ถูกจับ

และนี่คือเบื้องหลังของจุดกำเนิดดิกชันนารีเล่มสำคัญของไทย คู่มือในการเข้าถึงและเข้าใจภาษาอังกฤษที่สร้างบัณฑิตมาแล้วรุ่นสู่รุ่น

vintage bookshop

แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในวันที่ มิถุนายน พ.ศ. 2487 ท่ามกลางไฟแห่งความขัดแย้งที่กำลังโหมกระหน่ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจส่งเครื่องบินมาโจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ในพระนคร อาทิ โรงไฟฟ้า สะพาน ทางรถไฟ ฯลฯ 

โดยระเบิดที่ลงใกล้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ บริเวณพาหุรัด เลยมาถึงสี่กั๊กพระยาศรี ถนนเจริญกรุง ซึ่งมีรัศมีครอบคลุมจุดที่เป็นที่ตั้งของกรุงเทพบรรณาคาร ทำให้ทั้งพระยานิพนธ์ฯ และภริยา (ม.ร.ว. หญิงเลื่อนอรณพ วิจิตรานนท์) ซึ่งกำลังนั่งทำงานอยู่ภายในห้างฯ ต้องประสบภัยพิบัติถึงแก่ชีวิต พร้อมทรัพย์สินที่พังทลายเสียหายหมดสิ้น 

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของ สุเนตรา คงสิริ บุตรสาวเพียงคนเดียวของพระยานิพนธ์ฯ แต่ด้วยความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวในตัวเอง ทำให้คุณสุเนตราใช้เวลาไม่นานในการพลิกความเศร้าโศกมาเป็นพลังในการสร้างร้านหนังสือแห่งใหม่ขึ้นบนพื้นที่เดิมในปีถัดมา เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อ และได้ตั้งชื่อร้านหนังสือแห่งนี้ว่า นิพนธ์ ตามราชทินนามของบิดา

vintage bookshop

นิพนธ์: ร้านหนังสืออินเตอร์แห่งแรกในพระนคร 

หลังจากที่คุณสุเนตราพลิกฟื้นกิจการของบิดาขึ้นอีกครั้ง ร้านหนังสือนิพนธ์จึงยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของผู้อ่านกับโลกแห่งการพิมพ์เหมือนที่กรุงเทพบรรณาคารเคยทำไว้อย่างต่อเนื่อง โดยติดต่อซื้อขายหนังสือกับต่างประเทศแบบครบวงจร ทั้งการสั่งหนังสือเข้ามาจำหน่ายเกือบทุกแขนงวิชาที่ทุกมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้สอน และจัดไว้ในห้องสมุดเพื่อการค้นคว้า ทั้งตำรา งานวิจัย และวารสารวิชาการ ทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงหนังสือพิมพ์ชั้นนำและนิตยสารในสมัยนั้น เช่น London Times, Daily Telegraph, The Economist, Financial Times, Vogue, Vanity Fair ฯลฯ เพื่อให้คนไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น

vintage bookshop
เครื่องคิดเงินรุ่นบุกเบิกที่เพิ่งปลดประจำการเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากนี้ ร้านนิพนธ์ยังเป็นแห่งแรกที่สั่งอุปกรณ์ฝึกสอนการพูดภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ลิงกัวโฟน (Linguaphoneเข้ามาจำหน่าย สำหรับผู้ที่สนใจฝึกฝนพูดอังกฤษอย่างเอาจริงเอาจัง โดยลิงกัวโฟนประกอบด้วยแผ่นเสียงและหนังสือคู่มือ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นก็ว่าได้ 

นอกจากจะนำเข้าวิชาการจากโลกตะวันตกมาสู่คนไทยแล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของร้านนิพนธ์ ก็คือ การส่งออกความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยไปยังสถาบันการศึกษาในต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคัดเลือกหนังสือและงานวิจัยของไทยที่ทรงคุณค่าและมีคุณภาพไปยังห้องสมุดสำคัญและสถาบันที่สอนไทยคดีศึกษา เช่น ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) ห้องสมุดสาธารณะแห่งนครนิวยอร์ก (New York Public Library) มหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น Oxford, Cambridge, Cornell, Yale เป็นต้น 

ดังนั้น ร้านนิพนธ์จึงเป็นร้านแรกที่ดำเนินการค้าด้านหนังสือระดับอินเตอร์อย่างแท้จริง และเป็นแหล่งกลางของหนังสือนอกที่นักศึกษาไทยและคนต่างชาติจะต้องแวะเวียนมาชมหรือสอบถามข้อมูล รวมทั้งสั่งซื้อทางไปรษณีย์ หรือมีบริการส่งถึงที่หากต้องการด่วน ซึ่งทางร้านมีแผนกจัดส่งหนังสือโดยเฉพาะ

vintage bookshop

หลังจากที่ผมเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยอังกฤษก็กลับมาทำงานในกองทัพไทย ซึ่งกระทรวงกลาโหมก็อยู่ไม่ไกลจากร้าน ผมเลยมาช่วยงานคุณแม่เป็นประจำหลังเลิกงาน โดยรับหน้าที่ติดต่อประสานงานกับสำนักพิมพ์ในต่างประเทศจนคุ้นเคย” พลเอกวิษณุ บุตรชายคนที่ ของคุณสุเนตรา เล่าถึงงานที่ผูกพันมาทั้งชีวิต 

และเหตุผลที่ร้านของเราตั้งอยู่ตรงนี้ก็เพราะเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งในสมัยนั้นคนที่จะสั่งหนังสือต่างประเทศมาอ่านได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าราชการในกระทรวงเหล่านี้นี่เอง 

ในด้านการจัดพิมพ์หนังสือในนามของร้านนิพนธ์เอง เนื่องจากต้องติดต่อสัมพันธ์กับลูกค้าชาวต่างชาติมาตลอด ทำให้คุณสุเนตราทราบถึงความต้องการหนังสือแต่ละประเภทเป็นอย่างดี เช่น การเรียนรู้ภาษาไทยขั้นพื้นฐาน ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ฯลฯ ร้านนิพนธ์จึงเป็นศูนย์กลางผลิตหนังสือประเภทเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Thai Self Taught) หรือประเภท Simplified Thai, Modern Thai ฝึกพูดคำไทยง่ายๆ หรือคำไทยสมัยใหม่ ที่แพร่หลายในกลุ่มอาจารย์ที่สอนภาษาไทยให้คนต่างชาติด้วย

vintage bookshop

นอกจากนี้ ในสมัยที่เมืองไทยยังไม่มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรืองานมหกรรมหนังสือ ร้านนิพนธ์ได้นำตำราเรียนภาษาต่างๆ ไปจัดแสดงให้นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชมถึงสถาบันการศึกษาฯ เป็นครั้งคราว และเคยจัดนิทรรศการหนังสือนานาชาติขึ้นภายในร้านตั้งแต่ พ.ศ. 2513 อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน กิจกรรมขนหนังสือไปขายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ยังเป็นกิจกรรมหลักของที่นี่ 

ต่างก็ตรงสถาบันที่เป็นลูกค้าหลักของ บริษัท นิพนธ์ จำกัด ในตอนนี้กลับกลายเป็นโรงเรียนนานาชาติต่างๆ ทั่วประเทศไทย

vintage bookshop

Books@ 53: ลมหายใจในตลาดหนังสือเด็ก (อินเตอร์) 

หากใครเคยผ่านไปผ่านมาแถวซอยทองหล่อเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว น่าจะเคยเห็นหรือมีโอกาสได้แวะเวียนไปยัง Books@53 ร้านจำหน่ายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ต้นซอยสุขุมวิท 53 ที่ตกแต่งบรรยากาศร้านสบายตา น่ามอง ดึงดูดใจให้คนที่ผ่านไปผ่านมาอยากเข้าไปเลือกซื้อหนังสือ หรือนั่งจิบเครื่องดื่มฆ่าเวลา เพราะที่นี่เปิดเป็นคาเฟ่ไปในตัว 

ร้านหนังสือ Books@53 คือส่วนต่อขยายของร้านนิพนธ์ สืบเนื่องจากตลาดหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศที่มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน แม้ตอนนี้ ร้าน Books@ 53 จะหายไปจากแผนที่ย่านทองหล่อ แต่ชื่อของ Books@ 53 ก็ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน ผ่านการขายทางเว็บไซต์ https://www.books53.shop/ ด้วยตัวเลือกของหนังสือภาษาอังกฤษ ทั้งหนังสือแบบเรียน แบบฝึกหัดภาษาอังกฤษ หนังสืออ่านนอกเวลา หนังสือเสริมทักษะความรู้ ฯลฯ ที่อัพเดทใหม่อยู่เสมอ

vintage bookshop

ร้านของเราสั่งสมประสบการณ์ในการสั่งซื้อหนังสือและวารสารทางวิชาการจากต่างประเทศ ส่งไปยังห้องสมุดและโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงการส่งหนังสือไทยไปยังมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีแผนก Thai Studies มาโดยตลอด แต่หลังจากการมาถึงของอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเรียนทางอีบุ๊คส์กันหมด จึงไม่ค่อยมีการสั่งซื้อหรือจัดส่งหนังสือวิชาการแล้ว ส่วนวารสารยังคงมีอยู่นิดๆ หน่อยๆ เช่น หมอที่ก็ยังคงชอบเปิดวารสารแบบเป็นเล่มๆ อ่าน เพราะถนัดกว่าการมองจอคอมพิวเตอร์ แต่ก็น้อยลงมาก 

ตอนนี้เราเลยหันไปขายหนังสือให้เด็ก แต่ไม่ใช่เด็กไทยนะ เด็กไทยไม่อ่าน เราขายให้โรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนอินเตอร์เกิดขึ้นมากมาย เช่น Harrow International School, Shrewsbury International School, St Andrews International School ฯลฯ วิธีการก็คือ เมื่อไรก็ตามที่แต่ละโรงเรียนจัดงานสัปดาห์หนังสือ เราก็จะยกร้านไปถึงโรงเรียน เรามีทั้งหนังสืออ่านเล่น หนังสือติว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรของอังกฤษที่ทางเราถนัดเป็นพิเศษ” พลเอกวิษณุเล่าถึงกิจการที่ทำให้ร้านหนังสือเก่าแก่แห่งนี้ยังคงยุ่งขิงอยู่เสมอ

vintage bookshop
หนังสือเกี่ยวกับอาวุธและสงครามโลกคัดพิเศษจากสำนักพิมพ์ในต่างประเทศ

หันกลับมามองที่ร้านนิพนธ์ ที่เป็นดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้ที่พลเอกวิษณุยอมรับว่า เขาคือรุ่นสุดท้ายของตำนานร้านหนังสือแห่งนี้ 

ผมถือเป็นรุ่นสุดท้าย ไม่มีใครสานต่อจากผมแล้ว ทุกวันนี้ที่ยังเปิดร้านอยู่ก็เพื่อเลี้ยงดูลูกน้องที่อยู่ด้วยกันมานาน ซึ่งก็แก่พอๆ กับผม” พลเอกวิษณุตอบเสียงดังฉะฉานสมศักดิ์ศรีชายชาติทหาร “ดีกว่าไม่มีอะไรทำ” เขาย้ำด้วยรอยยิ้ม

vintage bookshop

ถ้าร้านนี้จะต้องปิดลง ผมก็เห็นด้วย เพราะเราเองก็ไม่ได้ทันสมัยอย่างใครเขา แต่ผมรู้ว่าสำหรับเด็กในวัยหนึ่ง เขายังชอบที่จะหยิบจับหนังสือ และเปิดดูรูปภาพบนหน้ากระดาษอยู่ ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้เป็นคนละรุ่นกับเด็กที่เอาแต่จ้องดูเกมในมือถือ 

ผมเชื่อว่ามีเด็กๆ หลายคนฝันอยากจะมีร้านหนังสือ อยากขายหนังสือ แต่ว่ามันยาก ยิ่งเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านแล้ว ขายหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต หรือสั่งตรงจากเมืองนอกได้ทันที โดยไม่ต้องมาผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเรา หนังสือก็สามารถส่งตรงถึงหน้าประตูบ้านได้เลย แถมราคาถูกกว่าด้วย ผมเองก็สั่งเหมือนกัน” เจ้าของธุรกิจย่อมเข้าใจในธรรมชาติของวงการที่เปลี่ยนไป และไม่ยื้อยุดยุคสมัยให้หยุดความทุกข์ไว้กับตนเอง

vintage bookshop

ทำไมจึงควรไปร้านนิพนธ์ 

ด้านนี้เป็นหนังสือวิชาการลดราคานะคะ อาจจะเก่าด้วยปีที่พิมพ์ แต่เป็นหนังสือใหม่และห่อปกทุกเล่ม ไม่ใช่หนังสือมือสอง 

เสียงของพรทิพย์ พนักงานประจำร้านวัยเฉียด 70 ปี ที่ประจำการในสำนักหนังสือแห่งนี้มานานกว่า 40 ปี ดังขึ้นมาจากโต๊ะคิดเงิน ขณะที่เรากำลังเดินเลือกชมหนังสือทางฟากขวามือของร้าน ซึ่งเรียงรายไปด้วยตำราทางวิชาการในหมวดวิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ อัดแน่นเต็มชั้นหนังสือ โดยตัวอักษรอายุเฉียด 80 ปีบนเชลฟ์ที่ระบุว่า DICTIONARIES & REFERENCES ยังคงทำหน้าที่กวักมือเรียกผู้ที่ตามหาตำราอ้างอิงต่างๆ ให้เดินไปสำรวจ ณ มุมนั้นของร้านได้โดยอัตโนมัติ

vintage bookshop

ส่วนชั้นหนังสือที่โอบล้อมเสากลมตรงกลางร้าน เรียงรายด้วยนิตยสารและวารสารต่างประเทศ แซมด้วยนิทานภาษาอังกฤษและหนังสือสำหรับเด็กจำนวนหนึ่ง พลอยทำให้อดจินตนาการถึงบรรยากาศคึกคักของร้านหนังสือในยุคก่อนไม่ได้ ที่คงมีกลุ่มคนผู้ฝักใฝ่การอัพเดทเรื่องราวให้ทันยุคทันโลก หยุดยืนพลิกหน้าแม็กกาซีนอยู่ตรงมุมนี้เป็นนานสองนาน

vintage bookshop

ทางฟากซ้ายมือของร้านก็มีทั้งหนังสือวิชาการหมวดสังคมศาสตร์ ไปจนถึงหนังสือแนวสุขภาพ ธรรมะ ตำราสอนทำอาหาร และหนังสือท่องเที่ยว ที่แม้จะไม่ใช่หนังสือใหม่ แต่ก็เหมาะสำหรับคนที่กำลังตามหาเนื้อในที่เข้มข้นมากกว่าหน้าปกที่สวยงาม

vintage bookshop

vintage bookshop

เพิ่งมีคนมาขอซื้อตำราอาหารไปหลายเล่ม ถึงสีบนปกจะซีด แต่เขาบอกว่าข้างในยังอ่านได้อยู่” พนักงานคนเดิมแนะนำถึงความเคลื่อนไหวของหนังสือบนชั้น ที่ถึงแม้จะเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มานานหลายปีแล้ว ก็ยังคงมีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนอย่างสม่ำเสมอ 

ราวกับหนังสือบางเล่มก็รอคอยที่จะได้พบผู้เป็นเจ้าของอย่างเงียบงัน ในขณะที่หนังสือบางหมวดก็ช่างเปล่งประกายอย่างมีชีวิตชีวา และมีลูกค้าประจำแบบผูกขาดโดยไม่จำเป็นต้องทำการโปรโมทใดๆ  

และหนังสือหมวดนั้นก็คือ โหราศาสตร์ นั่นเอง

vintage bookshop
ปฏิทินดวงดาวราฟาเอล (Raphael) หนังสือขายดีประจำร้าน

ราฟาเอลมีคนสั่งซื้อทุกปี” พนักงานรุ่นใหญ่ชี้ชวนให้เราสำรวจมุมโหราศาสตร์ ที่นอกจากจะมีหนังสือฤกษ์บน-ฤกษ์ล่างที่ขายได้ขายดีไม่เว้นแต่ละปีแล้ว ตำราโหราศาสตร์ระดับโลกอย่าง ปฏิทินดวงดาวราฟาเอล (Raphael) ที่ร้านนิพนธ์สั่งตรงจากประเทศอังกฤษมาขายให้กับบรรดาโหร หมอดู และผู้ที่สนใจด้านโหราศาสตร์ ก็ยังมีคนโทรมาถามหาอยู่ตลอดเวลา

vintage bookshop

ดังนั้น แม้จะเป็นร้านหนังสือเก่าแก่ แต่ร้านนิพนธ์กลับปิดบิลต่อวันด้วยยอดขายที่ไม่ต่างจากร้านหนังสือสมัยใหม่ ที่นับวันจะทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ จนหลงเหลือไว้ในจำนวนที่แทบจะนับนิ้วได้ 

ใครอยากสัมผัสประวัติศาสตร์ในร้านหนังสือที่ให้อารมณ์เหมือนหลงเข้าไปสู่อดีตเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว แนะนำให้ผลักบานประตูเข้ามาทำความรู้จักร้านนิพนธ์ ที่อาจทำให้คุณได้เจอหนังสือดีที่รอการค้นพบอยู่ก็เป็นได้

vintage bookshop

  • ร้านหนังสือนิพนธ์ ใกล้แยกสี่กั๊กพระยาศรี ตรงข้ามเจริญกรุงซอย กรุงเทพฯ โทร 02 221 2611 https://www.books53.shop/ 
  • เปิดบริการวันจันทร์ – วันพฤหัส เวลา 8.30 – 16.30 น. 

 อ้างอิง 

  • อาริยา สินธุจริวัตร บุนนาค.อนุสรณ์ชีวิตนางสุเนตรา คงสิริ วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556. 
  • ศรัณย์ ทองปาน.สอ เสถบุตร ดิกชันนารีแห่งชีวิต.สารคดี, 2551.