“ขอให้ทุกคนผ่อนคลายร่างกาย จิตใจ และวางความกังวลเอาไว้ก่อน”
ยอมรับว่าไม่ง่าย กับการแค่ยืนนิ่งๆ แล้วปล่อยวางจิตใจ สายตาไม่รู้จะโฟกัสจุดไหน มือไม้ก็ไม่รู้จะวางไว้ข้างตัวหรือกุมเอาไว้ดี เพราะเมื่อไม่กี่นาทีที่แล้ว เพิ่งจะหัวหมุนกับการจราจรบนท้องถนน ก่อนจะผลักบานประตูเข้ามายังสตูดิโอแห่งนี้
แต่ใช้เวลาอีกไม่กี่อึดใจ สายตาก็เริ่มปรับให้เข้ากับแดดจ้ายามบ่าย ที่แผดแสงแรงกล้าส่องทะลุช่องแสงเหนือเพดาน เปิดโอกาสให้เส้นสายของแสงเงาทาบทอบนผืนผนัง เกิดเป็นความงามตามธรรมชาติ
งาม… แม้ตรงหน้าจะมีเพียงโต๊ะที่ว่างเปล่า กรรไกรตัดแต่งกิ่ง แผ่นรองตัด ผ้าขนหนู และเหยือกน้ำอีก 2 ใบ
หลังจากต่างคนต่างยืนพิจารณาอุปกรณ์ต่างๆ ของตนนานเกิน 5 นาที เสียงของ จุ๊ – จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร ก็ดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เธอบอกกล่าวให้สมาชิกผู้มาร่วมเวิร์กช้อปจัดดอกไม้ Flowering Mind เดินไปเลือกหยิบกิ่ง ก้าน ใบ ของไม้ดอกหรือไม้ใบที่ถูกใจตน ณ มุมที่เธอเตรียมไม้ดอกไม้ใบนานาพันธุ์เอาไว้พร้อมสรรพ
“แจกันแรกอยากให้ใช้แค่หนึ่งก้านก่อน โดยวิธีเลือกดอกไม้ก็จะเป็นการค่อยๆ เดินดูให้ทั่ว ประหนึ่งว่าตัวเองอยู่ในสวนดอกไม้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกดอกทุกพืชได้แสดงความงามของตัวเองออกมา”
จุฑารัตน์บรรยายถึงกิริยาที่หลายคนเคยมองข้าม และอาจจะทำอย่างเร่งรีบเวลาไปร้านดอกไม้ ที่เอาแต่จ้องจะเลือกดอกไม้หลายๆ ชนิดที่ตนหมายตาเอาไว้ โดยแทบไม่ได้พินิจแต่ละกิ่งก้านใบโดยละเอียดเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ด้วยน้ำเสียงเรียบ นิ่ง และถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากความตั้งใจในการสื่อสารของจุฑารัตน์ พลอยทำให้สมาชิกผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนค่อยๆ บรรจงมองพืชหลากชนิดหลายสีไปทีละกิ่ง ก้าน ใบ อย่างแช่มช้าตามไปด้วย
ทิวลิปและลิลลี่ดอกโตคงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล แต่ข้างๆ กลับเป็นช่อดอกเข็มสีเหลืองและชมพู ไม้บ้านๆ ที่แสนจะคุ้นตา ไหนจะทานตะวันสีเหลืองสดอัดแน่นด้วยกลีบดอกสวยสมบูรณ์ ราวกับหลุดมาจากภาพเขียนของแวนโกะห์ แต่กลับมีดอกหงอนไก่ไทยสีแดงแจ๊ดชูช่ออยู่ข้างๆ… ช่างต่างชั้นกันเสียเหลือเกิน
“ระหว่างนี้ขอให้สังเกตใจของตัวเองไปด้วยว่ามีอคติอะไรเกิดขึ้นบ้างไหม เกิดการเปรียบเทียบ เกิดความคาดหวัง หรือเกิดการตัดสินอะไรขึ้นในใจรึเปล่า ถ้าเกิดอคติขึ้นบ้าง ก็ไม่เป็นไร แค่รับรู้แล้ววางลงก่อน”
ราวกับถูกจุฑารัตน์ดักคอ จนเกือบวางอคติที่เผลอแบ่งชนชั้นของดอกไม้ในใจแทบไม่ทัน
“ลองสังเกตความรู้สึกไปด้วยว่าดอกไหนที่เรารู้สึกกับเขาเป็นพิเศษ รู้สึกเหมือนกับว่าเขากำลังเรียกเราอยู่ หลายคนเคยอธิบายว่า เหมือนกับมีสปอตไลท์ส่องลงมาตรงนั้น หรือรู้สึกได้ว่าดอกไม้กำลังกวักมือและส่งเสียงเรียก สำหรับแจกันแรกจะลองเลือกที่เป็นดอกดูก่อนก็ได้” คำแนะนำของจุฑารัตน์ช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น
เมื่อสมาชิกในคลาส ‘จัดใจด้วยดอกไม้’ เลือกดอกไม้ได้คนละหนึ่งก้านเป็นที่เรียบร้อย ก็ค่อยเดินไปยังมุมแจกัน มองหาแจกันคนละหนึ่งใบที่คิดว่าเข้ากับพืชกิ่งที่ตนเลือกมากที่สุด จากนั้นรินน้ำใส่แจกันจนเกือบเต็ม แล้วค่อยๆ พิจารณาพืชที่เลือกมาอีกครั้งว่ามีสีสัน รูปทรง และผิวสัมผัสแบบไหน ใบไหนที่แลดูชำรุด หมดพลัง หรือหากไตร่ตรองดูแล้วว่าถ้าเอาบางใบออกแล้วทำให้พืชดูงดงาม มีชีวิตชีวาขึ้น ก็สามารถเอาใบนั้นออกได้ รวมถึงการหยิบผ้ามาเช็ดใบให้สะอาดเอี่ยม หรือค่อยๆ หมุนกิ่งก้านไปทีละองศา เพื่อมองหามุมมองที่กิ่งก้านดอกไม้จะถูกปักลงในแจกันได้สวยอย่างพอดี
“ขั้นตอนของการใช้เวลาอยู่กับพืชที่เราเลือกมาถือว่าสำคัญมาก เราควรดูแลและให้ความรักกับพืชด้วยความเคารพในธรรมชาติของเขา” จุฑารัตน์ย้ำ
ระยะเวลาในการจัดดอกไม้แจกันแรกดำเนินไปอย่างเนิบช้า กินเวลายาวนานเกือบชั่วโมง นัยว่าเป็นการปรับพื้นฐานให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คช้อปค่อยๆ ทำความเข้าใจพืชไปทีละน้อย ก่อนจะเริ่มจัดดอกไม้แจกันที่สองและสามตามลำดับ ซึ่งก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนของกิ่งและชนิดของพืชให้หลากหลายมากขึ้น
น่าสนใจตรงที่ผู้เข้าร่วมเวิร์คช้อปส่วนใหญ่มักจะถูกใจดอกไม้แจกันแรกมากที่สุด ราวกับเป็นรักแรกพบก็ว่าได้
“จริงๆ แล้ว การทำงานกับแจกันแรกเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเอาไปทำงานกับแจกันอื่นๆ ไม่ว่าเราจะผสมพืชหลายชนิดแค่ไหน ก็ขอให้จดจำโมเมนต์ที่เราอยู่กับแจกันที่หนึ่งไว้ แล้วลองเอาไปทำงานกับเจกันที่เราลองผสมดูอีกสักครั้งก็ได้”
เจ้าของโปรเจคท์ Flowering Mind เอ่ยถึงหัวใจของการจัดดอกไม้แบบโคริงกะ กิจกรรมที่เธอหลงใหล และตั้งใจส่งต่อพลังงานดีๆ ที่ได้รับจากพืชสู่ผู้คนในวงกว้าง ผ่านการจัดเวิร์คช้อปอย่างสม่ำเสมอมานานเกือบปี
เมื่อดอกไม้ช่วยให้ใจสว่าง
โคริงกะ ประกอบด้วยคำ 3 คำ
คำว่า โค แปลว่า แสงสว่าง ริง แปลว่า วงกลม และคำว่า กะ มาจาก ฮานะ ที่แปลว่า ดอกไม้
เมื่อรวมกันแล้ว โคริงกะ จึงหมายถึง ดอกไม้แห่งแสงสว่าง
โมกิจิ โอกาดะ ปราชญ์ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้บัญญัติคำว่าโคริงกะขึ้นเป็นคนแรก ภายใต้แนวคิดที่ว่า ความงามที่เรามองเห็นในธรรมชาติไม่ได้เป็นแค่ความงามทางสายตา แต่เป็นพลังธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ สามารถเยียวยาจิตใจของมนุษย์ได้
เนื่องจากในตอนที่โมกิจิยังมีชีวิตอยู่ (พ.ศ. 2425-2498) ต้องผ่านความทุกข์มากมาย เขาจึงเริ่มแสวงหาทางเยียวยาจากธรรมชาติด้วยการเริ่มต้นจัดดอกไม้ที่ปลูกไว้ในบ้าน จนค้นพบว่าพลังธรรมชาติสามารถช่วยให้ผ่านพ้นความทุกข์ได้ เขาจึงตั้งใจเผยแพร่ศาสตร์การจัดดอกไม้แบบโคริงกะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อันที่จริง โคริงกะเป็นการจัดดอกไม้อิเคบานะรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้มากด้วยกฎเกณฑ์อย่างอิเคบานะ โดยโคริงกะให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นหลัก ไม่มีรูปแบบตายตัว เน้นการใช้ใจสัมผัสความงามของพืชที่มีชีวิต มีเอกลักษณ์ มีพลังของความงามที่แตกต่างกัน
“เมื่อเราใช้ใจสัมผัสความงามของเขา เราก็จะทำงานร่วมกับพืชโดยที่เราปราศจากอคติ ทำด้วยความเพลิดเพลินและบริสุทธิ์ใจ” จุฑารัตน์อธิบายเพิ่มเติม ก่อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้รู้จักศาสตร์การจัดดอกไม้แบบโคริงกะ
“ปกติเป็นคนชอบธรรมชาติ และชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว จนมีโอกาสได้ไปเรียนจัดดอกไม้โคริงกะกับทางมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ทำให้รู้สึกเหมือนเราได้จัดใจไปด้วย” ช่างภาพแฟชั่นฝีมือดีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เล่าอย่างใจเย็น
“เพราะมันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ งานที่ท่านโอกาดะทำเน้นในเรื่องของการใช้พลังธรรมชาติมาใช้กับชีวิต เช่น เกษตรธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ การชำระล้างบำบัด ศิลปะการชงชา จัดดอกไม้ ฯลฯ
“ช่วงที่เรียนมาเรื่อยๆ จะสังเกตได้ว่าตัวเองมีความสุข มองเห็นอะไรตามธรรมชาติสวยงามขึ้น จากที่เคยเดินผ่านดอกไม้บางดอกทุกวันโดยไม่เคยสนใจ กลายเป็นว่า เอ๊ะ ทำไมวันนี้สวยจัง เวลากินข้าวก็จะอร่อยเป็นพิเศษ นอนหลับก็สบาย เกิดเป็นความรู้สึกที่อยากจะขอบคุณทุกอย่างรอบตัว” จุฑารัตน์ระบายยิ้มออกมา
และแล้วก็เป็น ‘โควิด-19’ อีกครั้งที่บันดาลให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นบนโลกใบนี้ เมื่อการแพร่ระบาดในปีที่แล้วทำให้มูลนิธิเอ็มโอเอไทยต้องระงับคลาสสอนจัดดอกไม้ ทำให้นักเรียนผู้หลงใหลธรรมชาติคนนี้คิดถึงคลาสจัดดอกไม้จับใจ จึงชวนเพื่อนๆ กลุ่มเล็กมาจัดดอกไม้โคริงกะด้วยกันเสียเลย
“จริงๆ แล้วมีความใฝ่ฝันอยากสร้างพื้นที่ให้คนได้มาจัดดอกไม้ เพราะเวลาเราไปซื้อดอกไม้มาจัดคนเดียวมักจะใช้ไม่หมด ดังนั้น ถ้าเราได้มีพื้นที่เหมือนเป็นชมรม ใครอยากจัดดอกไม้ก็มาเจอกัน โดยเราเตรียมดอกไม้ เตรียมแจกันไว้ให้ ก็น่าจะดี พวกเขาเองก็จะได้มีความสุขไปด้วย”
เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมแห่งปีโควิดที่ 1 เป็นต้นมา เมื่อสบโอกาสครั้งใด จุฑารัตน์จะชวนเพื่อนๆ คราวละ 6-7 คนมาร่วมกิจกรรม Flowering Mind ที่มีเธอเป็นตัวตั้งตัวตีในการไปเลือกสรรดอกไม้สีสวยหลากชนิดจากปากคลองตลาด มาปนๆ กับไม้ดอกไม้ใบในรั้วบ้านตัวเอง ที่เธอเลือกหยิบมาแซมเพื่อเติมความหลากหลาย
“ครั้งแรกไปจัดที่บ้านเพื่อน มีสมาชิกประมาณ 10 คน และรู้สึกว่าเพื่อนๆ ก็มีฟีดแบ็คที่ดี มีความสุข บางคนก็บอกว่า ฉันไม่ได้อยู่กับตัวเองแบบนี้มานานมากแล้ว มัวแต่เลี้ยงลูก ดูแลสามี ได้ยินแบบนี้เราเลยอยากทำอีก และด้วยความที่ตัวเองเป็นช่างภาพ เลยตั้งใจถ่ายรูปพอร์เทรทของแต่ละคนกับผลงานของเขาไว้เป็นที่ระลึก และทำแบบนี้มาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้”
ขจัดอคติออกจากใจ
แม้จะดูราวกับว่าจะต้องเป็นคนรักดอกไม้เท่านั้น ต้องมีเซนส์ทางศิลปะ หรือพอจะจัดดอกไม้เป็นอยู่แล้ว ถึงจะสามารถมาร่วมเวิร์คช้อป Flowering Mind ได้
แต่เปล่าเลย คลาสจัดดอกไม้ฟรีสไตล์คลาสนี้เปิดกว้างให้ใครก็ได้เปิดใจมาจัดดอกไม้แบบไร้อคติไปด้วยกัน
“อคติต่อการจัดดอกไม้มีหลายอย่าง เช่น งานดอกไม้เป็นงานของผู้หญิง ผู้ชายเขาไม่ทำกันหรอก ทั้งๆ ที่เซนเซ หรือครูที่สอนจัดดอกไม้อิเคบานะก็เป็นผู้ชายเยอะมาก หรือความคิดที่ว่าผู้ชายไม่มีทางหยิบดอกไม้สีชมพูแน่ๆ หรือแม้แต่ความเชื่อของไทยที่ว่าดอกหน้าวัวเป็นดอกไม้งานศพก็เหมือนกัน” จุฑารัตน์ยกตัวอย่างอคติที่คนส่วนใหญ่มีต่อดอกไม้
“อคติอาจจะเกิดจากการเปรียบเทียบก็ได้ เช่น เปรียบเทียบดอกเข็มกับทิวลิป ดอกเข็มอาจจะดูพื้นๆ ทั้งๆ ที่เขาก็มีความงามในแบบของเขา ทิวลิปแค่เดินทางมาไกลหน่อยเลยดูแพงกว่า แต่ใช่ว่าดอกเข็มจะด้อยกว่าทิวลิป
“หรืออคติที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว เช่น แฟนคนแรกเคยให้ดอกกุหลาบ แล้วพอเลิกกันก็อาจทำให้เกิดอาการฝังใจจำว่า ชีวิตนี้ฉันจะไม่มีวันใช้ดอกกุหลาบอีกแล้ว ซึ่งก็น่าเสียดายโอกาสในการทำงานร่วมกับดอกกุหลาบ
“จากที่เคยเดินผ่านดอกไม้บางดอกทุกวันโดยไม่เคยสนใจ กลายเป็นว่า เอ๊ะ ทำไมวันนี้สวยจัง เวลากินข้าวก็จะอร่อยเป็นพิเศษ นอนหลับก็สบาย เกิดเป็นความรู้สึกที่อยากจะขอบคุณทุกอย่างรอบตัว”
“ดังนั้น การจัดดอกไม้แบบโคริงกะเลยอยากให้ผู้คนลองวางสิ่งที่เคยชอบหรือไม่ชอบไว้ก่อน เพราะอคติเหล่านั้นอาจจะมาปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองก็ได้” เธอย้ำอีกครั้ง
“อยากให้ลองอยู่กับความสดใหม่ตรงหน้า สังเกตใจตัวเองไปทีละขณะเวลาอยู่กับพืช ถ้าเกิดอคติขึ้น ก็แค่วางลง ถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรกับพืชที่อยู่ตรงหน้าเรา ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำงานกับธรรมชาติในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนดูสักครั้ง”
เสียงของจุฑารัตน์บอกกล่าวสมาชิกผู้เข้าร่วมเวิร์คช้อปเป็นพักๆ สลับกับการปล่อยให้เกิดความเงียบอันเป็นห้วงเวลาแห่งสมาธิ เพื่อให้แต่ละคนได้ยินเสียงดอกไม้ทักทายมา
บทสรุปหลังการทดลองจัดใจ
มากกว่าการเลือกแจกัน ปักดอกไม้ และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก หัวใจของ Flowering Mind อาจจะอยู่ที่การล้อมวงฟังความในใจของสมาชิกร่วมเวิร์กช้อปที่มีต่อแจกันดอกไม้ของตน ซึ่งชวนให้นึกถึงหนึ่งในตัวอย่างของอคติ ที่จุฑารัตน์ยกตัวอย่างให้ฟัง
“ยังมีเรื่องของอคติจากการคาดหวังว่า ฉันต้องจัดดอกไม้ออกมาให้ดีที่สุด สวยที่สุด ทุกคนต้องชอบงานเรา ซึ่งไม่จำเป็นเลย หากเราปราศจากอคติ ใจก็จะบริสุทธิ์ไปโดยอัตโนมัติ และเมื่อเราบริสุทธิ์ใจกับดอกไม้ เราจะสามารถสื่อสารกับเขาได้ แล้วเดี๋ยวพลังก็จะออกมาเอง”
อ่านแค่ตัวอักษรอาจรู้สึกราวกับเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เหนือจินตนาการ ฝันเฟื่อง และโลกสวย ดอกไม้ที่ไหนจะพูดได้
ต่อเมื่อได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง ผ่านการใช้ตามองรายละเอียดของดอกไม้ และใช้ใจสำรวจอคติที่เคยมี
บางทีเสียงของดอกไม้ก็คือเสียงในใจของแต่ละคนนั่นเอง
และเหล่านี้คือตัวอย่างของบางบทสนทนาที่แลกเปลี่ยนกันฟังจากหนึ่งในคลาสของ Flowering Mind
“วันนี้ไม่ได้จับโทรศัพท์ตั้งหลายชั่วโมง เพราะจดจ่ออยู่กับดอกไม้ ดีจังเลย ตอนนี้คนยุคใหม่กำลังโหยหาอะไรที่มัน therapy บางอย่างในชีวิต บางคนเลือกที่จะไปเดินป่าแคมปิ้ง บางคนออกกำลังกาย ที่สามารถเยียวยาความวูบไหวได้ เลือกอยู่กับสิ่งที่ง่าย ไม่ต้องพยายาม ไม่มีถูกผิด ส่วนสิ่งที่เราได้รับในวันนี้ ก็คือ ดูสิ เราต้องมานั่งเช็ดใบไม้ ได้ทำสมาธิไปในตัว”
“เรารู้ตัวนะว่าตัวเองเป็นคนใจร้อนหรือต้องเป๊ะในทุกๆ เรื่อง แต่ไม่เคยมองเห็นตัวเองชัดๆ ว่าเป็นแบบนั้นเสียที จนวันนี้ได้หันกลับมามองตัวเองอีกครั้ง และได้มองคนอื่นๆ ด้วย ผู้ชายบางคนช่างละเอียดอ่อน ในขณะที่ตัวเองเป็นผู้หญิง กลับมือหนักมาก ทั้งที่เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เคยเป็นคนละเอียดอ่อนกว่านี้ แต่ตอนนี้สิ่งเหล่าหายไปหมดแล้วจากหน้าที่การงานและการใช้ชีวิต บางทีอาจจะถึงเวลาที่เราควรกลับมาเบาๆ ลงบ้าง”
“โดยส่วนตัวชอบแจกันแรกที่จัด แม้พี่จุ๊จะมาช่วยปรับให้สวยขึ้น แต่ก็ยังชอบงานที่ตัวเองทำอยู่ดี ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนคงเสียเซลฟ์ และปรับไปเป็นแบบที่พี่จุ๊จัด เพราะเคยเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองมาก่อน แต่ตอนนี้พยายามยอมรับตัวเองมากขึ้น จริงใจกับตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองชื่นชมกับสิ่งที่เราคิดว่า เราทำออกมาได้ดีแล้ว พยายามไม่ให้ความเห็นของคนอื่นมาชี้นำจนเกินไป ตอนนี้เลยพยายามไม่เอางานคนอื่นมาเทียบกับตัวเอง เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เป็นความสวยคนละแบบ”
“ชอบที่จุ๊บอกให้ตัดอคติออกไป ถ้าเป็นคนคิดมาก อาจจะอดคิดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้ และบางทีอคติไม่ได้เกิดขึ้นตอนจัดแจกันแรก แต่อาจจะกลับมาตอนแจกันที่สามก็ได้ เพราะเริ่มมีความไม่เป็นธรรมชาติเกิดขึ้น”
“แล้วเราเห็นอคตินั้นไหม”
“เห็น แต่ไม่วาง วางไม่ได้”
“แต่เรายอม ยอมที่จะไม่ต้องสวย ไม่ต้องเก๋”
“ขอบคุณพลังของดอกไม้” ใครคนหนึ่งตัดบทเอ่ยขึ้น ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะหายไปจากฟ้า
ติดตามกิจกรรมจัดดอกไม้ Flowering Mind ได้ทาง IG: floweringmind.project