life

กลวิธีการขายแบบประชิดตัว โน้มน้าวใจ มักทำให้ผู้บริโภคเยียวยาความรู้สึกกดดันด้วยการ ‘ซื้อ’ นั่นจึงทำให้ผู้คนเข็ดขยาดและพยายามเลี่ยงจะเผชิญหน้ากับพนักงานขาย 

ทั้งๆ ที่เราทุกคนมีสิทธิ์จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ อย่าเพิ่งมองนักขายในแง่ร้าย อย่างเพิ่งรู้สึกผิดถ้าไม่ซื้อของ ลองมาดูวิธีปฏิเสธที่ถนอมใจทั้งคนขายและคนซื้อดีกว่า 

1.

กล่าว ‘ขอบคุณ’ ที่เสียเวลา 

หากตัดสินใจฟังข้อมูลสินค้าที่พนักงานขายอธิบายอย่างละเอียดไปแล้ว แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านั้น พึงระลึกไว้ว่าเรามีสิทธิจะฟังและตัดสินใจไม่ซื้อได้เสมอ เมื่อฟังจบก็กล่าวขอบคุณอย่างเป็นมิตรที่พวกเขาให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน จากนั้นจึงปลีกตัวออกมา 

2.

อธิบายเหตุผลของเราอย่างตรงไปตรงมา 

บอกเหตุผลที่เราจะไม่ซื้ออย่างสุภาพและชัดเจน เช่น อธิบายว่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ ไม่ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของเราอย่างไร แสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและจริงใจ นั่นจะทำให้นักขายโน้มน้าวต่อได้ยาก และเป็นการเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายเคารพในเหตุผลของเราด้วยเช่นกัน 

3.

เก็บไว้เป็นตัวเลือกในภายหลัง 

เมื่อบอกปฏิเสธแล้ว อธิบายเหตุผลจะไม่ซื้อไปแล้ว สิ่งต่อมาที่จะช่วยรักษาน้ำใจของนักขายคือ เก็บไว้เป็นตัวเลือกหรือพิจารณาในภายภาคหน้า อาจขอใบปลิวหรือรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ อย่าลืมระบุไว้ด้วยว่าถ้าครั้งหน้าสนใจซื้อจะพิจารณาที่นี่แน่ๆ 

4.

บอกปฏิเสธตั้งแต่เนิ่นๆ 

หากรู้ตัวว่าจะไม่ซื้อสินค้านั้นแน่ๆ ให้บอกปฏิเสธไปตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างสุภาพ มองผิวเผินนี่อาจเป็นวิธีปฏิเสธที่ค่อนตรงและดูเป็นวิธีถนอมน้ำใจน้อยที่สุด แต่ก็เรียกได้ว่า ‘เจ็บแต่จบ’ และเป็นการเจ็บที่สาหัสน้อยที่สุด   

หากรักษาน้ำใจคนขายด้วยทำท่าทีเป็นสนใจ นั่นถือเป็นการให้ความหวัง ยิ่งเพิ่มความรู้สึกผิดเมื่อต้องปฏิเสธในภายหลัง 

 

ข้อควรระวังเล็กๆ น้อยๆ เมื่อต้องปฏิเสธ 

ไม่ยกเรื่องราคามาเป็นข้ออ้าง หากเราบอกว่า “ราคาแพงไป” นักขายจะต้องมีแพ็กเกจคุ้มค่ามาเสนออีกเพียบ 

การบอกปัดว่ามีธุระเป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับการปฏิเสธแต่เนิ่นๆ แต่หากหลวมตัวไปฟังข้อเสนอแล้ว บอกว่าไม่มีเวลาอาจไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะนักขายย่อมโน้มน้าวให้เราอยู่ฟังต่อได้เสมอ อีกทั้งถ้าปลีกตัวออกมาทันที ขณะที่พวกเขากำลังอธิบายยิ่งเป็นการหักหาญน้ำใจอีกฝ่าย 

หลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่คล้อยตาม เพราะนั่นอาจเป็นการเปิดทางให้พนักงานขายนำเสนอข้อมูลสินค้ามากขึ้น หากเป็นไปได้ให้ตอบแบบคลุมเครือหรือปฏิเสธไปตามตรง 

เมื่อปฏิเสธแล้วควรจากไปทันที ไม่ควรเอ้อระเหยอยู่ตรงนั้น หรือพยายามชวนคุยเรื่องอื่น เพราะนั่นจะทำให้ดูเหมือนว่าเราสนใจสินค้า และเป็นการเปิดทางให้บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นอีกรอบ 

 

อ้างอิง