“มรดกสืบทอดของคานธีกับความอัศจรรย์ของเรื่องราวชีวิตเขานั้นเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งเพ คานธีทั้งเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ ดูแคลนชนชั้นแรงงาน สรรเสริญระบบชนชั้นวรรณะ
“คานธีต่อต้านการเหยียดจัณฑาลก็จริง แต่ก็เชิดชูความหลักแหลมของระบบวรรณะแบบฮินดู ความจริงเหล่านี้โดนกลบทับเสียมิด คานธีเป็นนักการเมืองที่ฉลาดและเจ้าเล่ห์ มีทั้งวิสัยทัศน์ แต่ก็ยึดติดอยู่กับธรรมเนียมเก่าๆ อย่างเหลือร้าย
“นักประวัติศาสตร์เกือบทุกคนในประเทศนี้พ่นคำหลอกลวงเกี่ยวกับคานธีทั้งนั้น พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงสิ่งที่คานธีทำในแอฟริกาใต้ ไม่พูดถึงมุมมองเกี่ยวกับการเมืองเรื่องเพศของเขา เรื่องชนชั้นแรงงาน เรื่องระบบวรรณะ เรื่องที่เขาเผชิญหน้ากับอัมเบดการ์แล้วกล่าวอ้างหนักแน่นว่า เรือนร่างของตนคือตัวแทนของบรรดาจัณฑาล นี่มันคือเรื่องของการสวมรอยเลือกรับปรับใช้ทางวัฒนธรรมทั้งนั้นเลย”
ส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเผ็ดร้อนที่อรุณธตีเคยให้สัมภาษณ์กับ จุฑา สุวรรณมงคล และ ปาลิน อังศุสิง ทางเว็บไซต์ s-o-i.io บอกเล่าถึงเนื้อแท้ของหนังสือ บัณฑิตกับนักบุญ (The Doctor and The Saint) ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
นอกจากจะตีแสกหน้าคานธีแล้ว ยังทำเอาคนที่คิดว่าคานธีเป็นนักบุญถึงกับเหวอไปตามๆ กัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) คือคนอินเดียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก
เฉพาะการได้รับการยกย่องให้มีคำเรียกขานว่า ‘มหาตมะ’ ซึ่งแปลว่า ผู้มีจิตวิญญาณอันสูงส่ง นำหน้าชื่อ ก็การันตีได้แล้วว่าบุรุษผู้มักปรากฏกายภายใต้แว่นทรงกลมและนุ่งผ้าเตี่ยวคนนี้ ‘เหนือ’ มนุษย์ธรรมดาสามัญแค่ไหน
ต่อเมื่อได้อ่านทุกตัวอักษรในหนังสือ ‘บัณฑิตกับนักบุญ’ จนจบ จึงยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า คานธีทำตัวเหนือกว่ามนุษย์คนอื่นจริงๆ ในแง่ของการบูชาระบบวรรณะอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไปพร้อมๆ กับการสร้างภาพว่าตนไม่เคยแบ่งแยกตัวเองออกจากฝูงชน และประพฤติตนแสนจะธรรมดาสามัญ
ผู้อ่านจะค่อยๆ ประจักษ์ว่าคานธีช่างมีความย้อนแย้งและซับซ้อนในตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในปุถุชนอยู่แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ ‘ซัมบอดี้’ อย่างเขาคิดและลงมือทำย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง ดังนั้น การที่คานธีเก่งกาจในการหว่านล้อมให้ผู้คนเลื่อมใสในระบบชนชั้นทางสังคม จึงเป็นการยิ่งฝังรากลึกให้ชาวฮินดูยังคงยึดมั่นในวรรณะสืบต่อไป
“ประวัติศาสตร์ปราณีต่อคานธี เขาได้รับการบูชาจากปวงชนนับล้านตลอดช่วงชีวิต ความเป็นเทพของเขากลายเป็นสากล และดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์อมตะ
“คานธีกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับประชาชนทุกคน โอบามารักเขา เช่นเดียวกับขบวนการอ็อคคิวพาย อนาคิสต์รักเขา เช่นเดียวกับกลุ่มสถาปนา นเรนทระ โมดี รักเขา ราหุล คานธี ก็เช่นกัน คนจนคนยากดุจเดียวกับคนมั่งมี ต่างก็รักคานธี
“เขาคือนักบุญแห่งสถานภาพที่เป็นอยู่”
อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) สรุปถึงสถานภาพของคานธีไว้เช่นนั้นในหนังสือเล่มนี้ ผลงานที่เธอทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสืบค้นข้อมูลจำนวนมาก เพื่อทำความเข้าใจจุดยืนของคานธี
ยิ่งค้น เธอก็ยิ่งพบว่า เบื้องหลังก่อนจะสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นมหาบุรุษของชาติภารตะได้นั้น คานธีเคยมีแนวคิดที่อ่อนโอนบิดพลิ้วไปตามสายลมมากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เขายังใช้ชีวิตเป็นทนายความอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ก่อนจะกลับมาเฉิดฉายสร้างชื่อยังแผ่นดินเกิด
สปอตไลท์ที่สาดส่องไปยังชีวิตของคานธีตลอดชั่วชีวิต (ตราบจนถึงตอนนี้) ช่างแตกต่างแรงเทียนจากไฟฉายที่ส่องไปยังชีวิตและผลงานของ ดร.บี.อาร์. อัมเบดการ์ (B.R. Ambedkar) หนึ่งนักต่อสู้คนสำคัญของอินเดีย ที่แม้จะได้รับการยกย่องและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็กว้างในระดับมหานทีของอินเดียรวมกัน มิอาจเทียบเท่าชื่อเสียงระดับมหาสมุทรของคานธีได้เลย
อรุณธตี เจ้าของรางวัลบุ๊กเกอร์ไพรซ์ ปี 1997 จากนวนิยายเรื่อง เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (God of Small Things) จึงสำนึกถึงพันธกิจของการเป็นนักเขียน เลยหยิบยกเอามหากาพย์การต่อสู้ของสองขั้วแนวคิดระหว่างคานธีและอัมเบดการ์มาปัดฝุ่น แล้วแจกแจงใหม่อีกครั้ง
แต่ยิ่งขุดคุ้ยอดีตของคานธีมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้อรุณธตีเองไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ในโลกที่ ‘ติดบ่วง’ คานธี ยิ่งออกแรงคัดง้างหนักเท่าไร ย่อมหมายถึงการเทน้ำหนักในการเขียนถึงคานธีมากกว่าอัมเบดการ์ในหนังสือเล่มนี้อยู่ดี
เนื้อหาในบัณฑิตกับนักบุญจึงออกมาในทำนองของการเผลอไผลเดินหน้าขุดคุ้ยอดีตของคานธีจนเกือบจบเล่ม แล้วรีบขมวดเล่าเรื่องของอัมเบดการ์แบบไวๆ อย่างน่าเสียดาย
กระนั้น นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ระดับประวัติศาสตร์หลายต่อหลายเรื่องที่เป็นฉากชีวิตของคนทั้งคู่ ยังมีจุดเล็กๆ ที่น่าสนใจที่อรุณธตียกมาอ้างถึง อย่าง ‘คัมภีร์’ ที่ต่างฝ่ายยึดถือ
คานธีเทิดทูน ‘ภควัทคีตา’ เป็นดั่งพจนานุกรมทางจิตวิญญาณ แต่อัมเบดการ์กลับไม่ได้ลุ่มหลงในโศลกเชิงปรัชญาและเทววิทยาเกี่ยวกับการอุทิศตนและฝึกฝนจริยธรรมในสนามรบตามหลักศาสนาเท่าไรนัก
อัมเบดการ์กลับเรียกภควัทคีตาว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่ง “นำเสนอหลักการพื้นฐานทางปรัชญาผ่านทฤษฎีจตุรวรรณะ โดยผูกโยงเข้ากับทฤษฎีแห่งคุณสมบัติตามสันดานและชาติกำเนิดของมนุษย์”
สิ่งที่ชายผู้มีชาติกำเนิดเป็นทลิต หรือจัณฑาล หรือชนนอกวรรณะคนนี้ยึดถือ คือ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคของจริงแบบจับต้องได้ โดยไม่ต้องมีตำนานหรือความเชื่อใดมาเหนี่ยวรั้งให้รุงรัง
หลังจากใช้ความสามารถในการต่อสู้เพื่อถีบตัวเองขึ้นมาจากหลุมพรางแห่งวรรณะ ไปพร้อมๆ กับการเดินหน้าเรียกร้องความเสมอภาคมาตลอดชีวิต อัมเบดการ์ในฐานะประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญอินเดียจึงเป็นยิ่งกว่าฮีโร่ของชาวทลิตหลายล้านชีวิต ภาพเหมือนของเขาเข้าข่าย ‘รูปที่มีทุกบ้าน’ ที่คนยากไร้หรือผู้ที่ใฝ่หาความเท่าเทียมล้วนเทิดทูนบูชา
เช่นเดียวกับจำนวนรูปปั้นอนุสาวรีย์ของอัมเบดการ์ที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดินอินเดียมากพอๆ กับคานธี
คนหนึ่งมาจากชนชั้นสูง แต่พยายามที่จะเดินเท้าเปล่า นุ่งผ้าน้อยชิ้นเพื่อสื่อถึงความสมถะ ในมือแบกตำนานปรัมปรา
กับอีกคนที่มาจากจุดเริ่มต้นยิ่งกว่าติดลบ ชนิดที่คนในสังคมรังเกียจแม้แต่จะแตะต้องโดนเงา กลับสวมสูทตะวันตกเต็มยศ พร้อมหนีบรัฐธรรมนูญที่ตนมีส่วนร่างอย่างสมภาคภูมิ
มีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือนกันในรูปปั้นของคนทั้งคู่ คือต่างอยู่ในท่วงท่าที่พร้อมมุ่งไปข้างหน้า ในฐานะผู้นำของผองชนชาวอินเดีย ที่ขึ้นอยู่กับว่าจะศรัทธาและนำหลักความจริงของใครไปปฏิบัติมากกว่ากัน
อ้างอิง
- ซอย สวอด. เขียน (แด่) ผู้ไร้สิ่งปลอบประโลม: บทสัมภาษณ์กับอรุณธตี รอย. https://bit.ly/3vJbf3R