“ไปเอาเรื่องมา ไปหาข้อเท็จจริงมา ไปเอาความจริงมาให้ได้ และเอามาให้หมด!”
นี่เองที่ทำให้เขาวิ่งตามไม่รู้จักเหนื่อยจากร่องรอยหนึ่งไปยังอีกร่องรอยหนึ่ง จากชื่อคนคนหนึ่งไปยังชื่อคนอีกคน จากความจริงเรื่องหนึ่งไปยังความจริงอีกเรื่อง
เรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องไฟไหม้ในร้านสรรพสินค้า บรรดานักหนังสือพิมพ์อาจไปออกันอยู่เป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนข่าวกันอยู่ห่างๆ ที่เกิดเหตุ ทันใดนั้นก็จะเริ่มมีร่างผอมสูงแขนขายาววิ่งมาอย่างรวดเร็วที่ทางด้านหนึ่ง ที่ต้องวิ่งก็เพราะระหว่างที่เห็นเปลวไฟนั้น เขาอาจกำลังอยู่อีกด้านหนึ่งของเมือง และร่างนี้ก็คือร่างที่คุ้นตาของนักข่าวเวชต์ลิคช์ โพสต์ ทันใดนั้นก็จะมีเสียงตะโกนเรียก
“แน่ะ โจอี้มาแล้ว” และเสียงตะโกนออกชื่อเช่นนี้ก็จะเพียงพอที่จะเรียกเสียงหัวเราะกันได้อย่างครื้นเครง
“ไปอยู่ที่ไหนมาโจอี้ จะรีบไปไหนโจอี้ ซื้อเบียร์เลี้ยงเราสักแก้วสิ แล้วเราจะแย้มเรื่องราวให้ฟัง เฮ้ย รอเดี๋ยวโจอี้ ขืนเข้าไปในกองไฟนั่นล่ะก็จมูกไหม้ไม่รู้ด้วยนา”
แต่ โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer) ก็จะแทรกตัวผ่านหน้าพวกนี้เข้าไปใกล้ตึกที่กำลังไฟไหม้อยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สอบถามคนดับเพลิง ลูกจ้างในร้านคนที่เห็นเหตุการณ์ และทุกคนเท่าที่พบ – และจะออกมาพร้อมด้วยเรื่องที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นได้มาลงในวันรุ่งขึ้น…”
บรรยากาศข้างต้นเกิดขึ้นในปฐมบทแห่งอาชีพนักข่าวของโจเซฟ พูลิตเซอร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอเมริกา ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักชื่อของเขาในฐานะผู้ให้กำเนิดรางวัลพูลิตเซอร์ แต่อาจไม่เคยรู้เลยว่า ถ้าไม่มีเขา อเมริกาคงไม่มีเทพีเสรีภาพตั้งตระหง่านอย่างในทุกวันนี้ จะไม่มีหนังสือพิมพ์หัวสีที่ช่วยให้การเสพข่าวมีสีสัน และอาจไม่มีใครประสิทธิ์ประสาทวิชาหนังสือพิมพ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะในรั้วมหาวิทยาลัย
พลิกโฉมหนังสือพิมพ์ให้อ่านสนุก
ในยุคแรกๆ ของการก่อตั้งประเทศอเมริกา เป็นยุคสมัยที่วิทยุและโทรทัศน์ยังไม่ได้รับการคิดค้นขึ้น หนังสือพิมพ์จึงเป็นสื่อที่ทรงพลังที่สุดสำหรับใช้สื่อสารกับมวลชน ดังนั้น หนังสือพิมพ์แต่ละหัวจึงได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ และนำเสนอแต่เรื่องของชนชั้นสูงเท่านั้น ทั้งยังมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าเบื่อ จนกระทั่ง ผู้อพยพชาวฮังกาเรียนนายหนึ่งได้ก้าวเข้ามาปฏิวัติวงการหนังสือพิมพ์อเมริกาให้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
โจเซฟ พูลิตเซอร์ เกิดวันที่ 10 เมษายน ปี 1847 ที่เมืองมาโก ประเทศฮังการี มีชีวิตวัยเด็กเพียบพร้อม เพราะเกิดในตระกูลพ่อค้าชาวยิวที่ร่ำรวย พูลิตเซอร์และน้องชายได้รับการศึกษาแบบตัวต่อตัว จึงมีพื้นความรู้ภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันดีเยี่ยม แต่หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิตขณะที่พูลิตเซอร์อายุเพียง 11 ปี สถานะของครอบครัวจึงพลิกผันกลับกลายเป็นล้มละลาย แม่แต่งงานใหม่ ลูกชายคนโตอย่างเขาจึงบ่ายหน้าสู่อเมริกา สมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองที่กำลังปะทุ
พูลิตเซอร์ในวัย 17 ปี เดินทางถึงท่าเรือเมืองบอสตันในปี 1864 โดยเขาแอบลักลอบหนีออกจากเรือ แล้วลอยคอเข้าฝั่งลำพังคนเดียว เพราะเขาบังเอิญแอบรู้ความจริงขณะอยู่บนเรือว่า นายหน้าที่ขนชาวยุโรปมาเป็นทหารได้ค่าหัวคิวเป็นรายหัว ซึ่งพูลิตเซอร์เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ จึงชวนพวกพ้องเรียกร้องความเป็นธรรม แต่กลับไม่มีใครกล้าเสี่ยง พูลิตเซอร์จึงตัดสินใจบินเดี่ยวมุ่งหน้าไปยังมหานครนิวยอร์ก เพื่อสมัครเข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพสหรัฐ แม้จะไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยสักคำ
เหตุการณ์ที่พูลิตเซอร์แอบหนีออกจากเรือแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นต่อการตีแผ่ความจริงที่เข้มข้นอยู่ในตัวมาตั้งแต่ครั้งที่เขาไม่รู้จักอาชีพนี้ด้วยซ้ำ แต่กว่าที่เขาจะได้ประกอบอาชีพที่ ‘ใช่’ พูลิตเซอร์ต้องย้ายไปตั้งรกรากยังเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี และรับจ้างทำงานสารพัด ตั้งแต่เป็นคนเลี้ยงลา คนงานตักถ่านหินบนเรือ เด็กเสิร์ฟ ในขณะที่ก็ยังคงความเป็นหนอนหนังสือ และเป็นนักเล่นหมากรุกฝีมือฉกาจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เขาได้เป็นนักข่าวอย่างไม่คาดฝัน
วันหนึ่ง เขาบังเอิญเห็นชายสองคนกำลังคร่ำเคร่งกับเกมหมากรุกตรงหน้า และเมื่อเห็นว่าฝ่ายหนึ่งกำลังพลาดท่าเดินหมากผิด พูลิตเซอร์ก็เผลอตัวยื่นมือเข้าไปแก้เกมโดยอัตโนมัติ ดึงดูดให้คู่หูที่กำลังโขกหมากรุกอย่าง ดร.อีมิล พรีโธเรียส และ คาร์ล เซอร์ซ ซึ่งต่างก็เป็นคนดังประจำเมืองเซนต์หลุยส์ และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันชื่อ เวชต์ลิคช์ โพสต์ (Westliche Post) ถูกใจอัธยาศัยใจคอของเด็กหนุ่มวัย 20 ปีคนนี้ และหลอกถามสารพัดคำถามเพื่อทำความรู้จักพูลิตเซอร์ให้ได้มากที่สุด จนเห็นแววความเป็น ‘คนข่าว’ ในตัวเด็กหนุ่ม จึงได้ชวนเขามาเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ เวชต์ลิคช์ โพสต์
ความกระตือรือร้นในการเสาะหาข่าวของพูลิตเซอร์ก็เหมือนที่เล่าไว้ตอนต้น แน่นอนว่าความสามารถอันโดดเด่นของเขากลายเป็นดาบสองคม โดยเฉพาะคุณสมบัติของการเป็นนักข่าวตงฉินสุดขั้ว ทำให้พูลิตเซอร์ถูกเหม็นขี้หน้าและโดนกลั่นแกล้งสารพัด ครั้งหนึ่ง สมัยที่เขายังเป็นนักข่าวที่เวชต์ลิคช์ โพสต์ เขาถูกโมเมเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการสมัครเป็นผู้แทนราษฎร และแม้จะหน้าชาเพราะรู้ตัวว่ากำลังถูกยั่วล้อเกียรติภูมิแห่งศักดิ์ศรีเช่นเคย แต่พูลิตเซอร์ในวัย 22 ปี ก็ยืดอกเดินหน้าลงรับสมัครเลือกตั้ง และในที่สุดเขาก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนที่ต่างก็ถูกใจนักข่าวจอมซื่อสัตย์และซื่อตรงคนนี้ จนได้เข้าไปนั่งทำงานในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมิสซูรี
พูลิตเซอร์คลุกวงในอยู่กับแวดวงราชการและการเมืองจนเข้าอกเข้าใจเนื้อแท้ในวงการนี้เป็นอย่างดี และแล้วในวัย 31 ปี เมื่อเขามีทั้งเงินและฝีมือ พูลิตเซอร์จึงซื้อหนังสือพิมพ์เซนต์หลุยส์ ดิสแพตช์ มาบริหาร โดยควบรวมกิจการกับหนังสือพิมพ์เซนต์หลุยส์ โพสต์ แล้วก่อตั้งหนังสือพิมพ์หัวใหม่ชื่อ ‘เซนต์หลุยส์ โพสต์ – ดิสแพตช์’ ขึ้นในเดือนธันวาคม 1878 เขาจึงแถลงนโยบายเอาไว้ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ ดังนี้
“หนังสือพิมพ์เซนต์หลุยส์ โพสต์ – ดิสแพตช์ จะไม่เป็นกระบอกเสียงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะเป็นผู้รับใช้ประชาชนโดยตรง เราขอปฏิญาณว่าสิ่งที่เราจะตีพิมพ์เสนอต่อสาธารณะชนนั้นจะต้องเป็นข่าวสารเรื่องราวที่สรรแล้วว่าเป็นความจริง จะไม่มีการโน้มน้าวมติมหาชน หรือเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือสมาชิกสภาก็ตาม เราจะวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองทุกคนด้วยวิจารณญาณอันเที่ยงธรรม”
นอกเหนือจากอุดมการณ์อันแรงกล้า พูลิตเซอร์ยังเปลี่ยนโฉมรูปแบบการนำเสนอข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ไปอย่างสิ้นเชิง “เราจะหาข่าวมาให้คนอ่านอ่าน – ข่าวที่ผู้อ่านจะไม่มีวันได้จากที่อื่น แต่คนอ่านเขาไม่อยากอ่านอะไรที่เขียนเอาจริงเอาจัง เราจะเติมสีสันเรื่องราวความตื่นเต้นเข้าไป มีทั้งรูปภาพ การ์ตูน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แปลกๆ ใส่ชื่อคนเข้าไปมากๆ ในเรื่อง” เขาสั่งการลูกน้องไว้แบบนั้น และมุ่งมั่นสร้างสรรค์เซนต์หลุยส์ โพสต์ – ดิสแพตช์ ให้เป็น “หนังสือพิมพ์ที่อ่านสนุก และทำให้คนอ่านเพลิดเพลินพร้อมๆ กับให้การศึกษาและแนะนำคนอ่านไปด้วย”
การทำงานหนักของพูลิตเซอร์ส่งผลให้ เซนต์หลุยส์ โพสต์ – ดิสแพตช์ ขึ้นแท่นหนังสือพิมพ์ชั้นนำแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ ชนิดที่บรรดาคู่แข่งฉบับอื่นต่างก็พากันลอกเลียนวิธีเขียนข่าวให้น่าตื่นเต้น แต่ผลของการกรำงานหนักหามรุ่งหามค่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรม พูลิตเซอร์จึงวางมือจากโลกแห่งการทำงานในเมืองเซนหลุยส์ แล้วพาภรรยาพร้อมกับลูกๆ ไปพักผ่อนยังมหานครนิวยอร์ก เมืองที่เขาจากมานานเกือบ 20 ปี แต่แทนที่จะได้พักผ่อน กลายเป็นว่าเขาพบโอกาสใหม่ โดยตัดสินใจซื้อหนังสือพิมพ์ที่ใกล้จะเจ๊งอย่าง นิวยอร์ก เวิลด์ (New York World) มายกเครื่องใหม่ในปี 1883
เป็นคนทำให้เทพีเสรีภาพมีที่ยืนในสังคม
การก้าวมาเป็นบรรณาธิการอีกครั้งในเมืองใหญ่ ไม่สบอารมณ์ภรรยาของพูลิตเซอร์เท่าไรนัก เพราะเธออยากให้เขาพักผ่อนเพื่อดูแลสุขภาพ เนื่องจากตอนนั้นตาของเขาเริ่มมองไม่เห็นและระบบประสาทก็เริ่มทำงานผิดปกติ แต่แล้วเธอก็ต้องยอมแพ้ต่อเจตนารมณ์อันแรงกล้าของสามี ที่ยืนยันหนักแน่นว่า
“…ผมต้องการเสียงที่ไม่ใช่จะพูดได้ในเมืองเพียงเมืองเดียว แต่ในประเทศทั้งประเทศ และหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์กเท่านั้นที่ทำอย่างนี้ได้ ผมต้องการมีส่วนตัดสินใจว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศ ผมต้องการมีส่วนช่วยปั้นอนาคตของประเทศนี้ ผมต้องการบอกให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริง และความเป็นจริง และต้องการแสดงให้นักการเมืองและผู้พิมพ์โฆษณาของหนังสือพิมพ์อื่นๆ ได้เห็นว่าหนังสือพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ของเรา จะสามารถเป็นเครื่องมือทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างไร”
ไม่เพียงแต่จุดไฟในตัวนักข่าวทุกคนในกองบรรณาธิการนิวยอร์ก เวิลด์ ให้กระตือรือร้นขึ้นกว่าเดิมแบบเร่งสปีด พูลิตเซอร์ทำการปรับโฉมหน้าตาของข่าวหน้าหนึ่งอีกครั้ง จากเดิมที่หนังสือพิมพ์ทุกหัวต้องอัดแน่นด้วยตัวอักษรเต็มทุกตารางนิ้ว พูลิตเซอร์ขอเสี่ยงด้วยการใช้รูปวาดบนหน้าแรกของทุกฉบับ เพื่อที่เวลาวางพับบนแผง หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เวิลด์ จะได้จูงใจคนอ่านมากกว่าคู่แข่งหัวอื่นๆ และเป็นอีกครั้งที่บรรณาธิการหัวเห็ดอ่านเกมขาด ส่งผลให้ประชาชนเทความนิยมล้นหลามให้หนังสือพิมพ์หัวเก่าที่ได้เขามาปรับโฉมใหม่แบบยกเครื่อง
ความสำเร็จท่วมท้นของนิวยอร์ก เวิลด์ ทำให้พูลิตเซอร์ต้องแบกความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ได้แก่ การดูแลนิวยอร์ก เวิลด์ฉบับเช้า ฉบับบ่าย และฉบับวันอาทิตย์ หนำซ้ำเขายังก้าวขาเข้าไปในแวดวงการเมืองอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตที่ได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งทำงานในรัฐสภาแห่งกรุงวอชิงตัน และผลลัพธ์ของการเข้าไปคลุกวงในแวดวงการเมืองครั้งนี้ ออกมาในรูปของ ‘เทพีเสรีภาพ’
หลังจากเข้าไปนั่งทำงานในสภา พูลิตเซอร์ได้ล่วงรู้ความลับน่าละอายที่รัฐบาลหมกเม็ดต่อประชาชน นั่นก็คือ ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ร่วมใจเรี่ยไรเงินจำนวนหนึ่งล้านฟรังค์ เพื่อจ้าง ออกัส บาร์โทลดี้ ประติมากรชื่อดังให้สร้างรูปปั้นเทพีเสรีภาพขึ้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพที่มีต่ออเมริกันชน ซึ่งรูปปั้นดังกล่าวทำเสร็จนานแล้ว แต่ถูกเก็บไว้ในโกดังแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสจนฝุ่นเกรอะ เพราะรัฐสภาผัดผ่อนไม่ยอมอนุมัติงบสำหรับสร้างฐานสำหรับรองรับรูปปั้นบนเกาะเบดโลว์ให้สูงพอที่คบไฟของเทพีจะได้เป็นที่มองเห็นแก่ชาวเรือที่แล่นเข้าอ่าวนิวยอร์ก
พูลิตเซอร์จึงใช้หน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เวิลด์ ตีพิมพ์ประกาศวิงวอนประชาชนให้ร่วมใจกันบริจาคเงิน เพื่อสร้างฐานรองรับรูปปั้น มิเช่นนั้นจะถือเป็นเรื่องน่าอับอายแก่ประเทศชาติ ที่ไม่สามารถจัดหาแม้แต่ที่ประดิษฐานของขวัญชิ้นงามจากประเทศมหามิตร
การตอบสนองเป็นไปอย่างล้นหลาม เงินบริจาคจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในสำนักงานนิวยอร์ก เวิลด์ โดยส่วนมากเป็นคนยากไร้ที่ร่วมบริจาคเงินเพียงคนละไม่กี่เซนต์ จนในที่สุดก็สามารถรวบรวมจนครบหนึ่งแสนเหรียญตามเป้า ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2429 และในวันที่ 28 ตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง เทพีเสรีภาพก็ล่องเรือข้ามมหาสมุทรมายืนหยัดอย่างสง่างามบนแผ่นดินอเมริกาตราบจนทุกวันนี้
อีกหนึ่งปีถัดมา พูลิตเซอร์เพิ่มยอดขายให้ นิวยอร์ค เวิลด์ ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการว่าจ้างนักข่าวหญิงที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติโดดเด่นในตัวอย่าง เนลลี บลาย เจ้าของผลงานเด่นอย่างการแฝงกายเข้าไปในโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อรายงานข่าวเชิงสืบสวนเปิดโปงการทำงานด้านมืดภายในนั้น นอกจากนี้ พูลิตเซอร์ยังผลักดันให้บลายทำลายสถิติการเดินทาง 80 วันรอบโลกได้สำเร็จ และการเขียนบันทึกการเดินทางรอบโลกลงในหนังสือพิมพ์ ทำให้อเมริกันชนต่างก็ต้องพากันอ่าน นิวยอร์ก เวิลด์
จุดกำเนิดสื่อเหลือง
ปี 1890 โจเซฟในวัย 43 ปี ย้ายไปใช้ชีวิตบนเรือที่ล่องไปในท้องทะเล เขาจำเป็นต้องปลีกวิเวกเพื่อรักษาอาการตาบอดและระบบประสาทเสียหาย ชนิดที่เขาไม่สามารถทนเสียงรอบตัวที่แม้จะดังเพียงเล็กน้อยก็ราวกับฟ้าผ่าดังลั่นในหัวของเขา แต่ถึงจะมีทวีปและมหาสมุทรขวางกั้น ก็ยังมีโทรเลขจากสำนักงานนิวยอร์ก เวิลด์ ส่งมาขอคำปรึกษาและรอการสั่งการจากเขาอย่างต่อเนื่อง บ่อยครั้งที่พูลิตเซอร์ต้องจ้างหรือไล่คนออก ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบหน้าคนเหล่านั้นด้วยซ้ำ
แต่โทรเลขฉบับไหนก็ไม่สั่นสะเทือนวงการเท่ากับฉบับในปี 1896 เมื่อ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิสต์ ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก เจอร์นัล (New York Journal) มาทำแข่งกับ นิวยอร์ก เวิลด์ ทั้งยังซื้อตัวบรรณาธิการและทีมข่าวของ นิวยอร์ก เวิลด์ ฉบับวันอาทิตย์ไปจนหมด จากนั้นเฮิสต์ก็เริ่มปฏิบัติการ ‘ใส่สีตีไข่’ ลงไปบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ผู้อ่านได้กินอาหารเช้าวันอาทิตย์ไปพร้อมกับการได้เสพข่าวฆาตกรรม อาชญากรรม และเรื่องเพศแบบโจ๋งครึ่ม
พูลิตเซอร์ขอวางมวยในศึกนี้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน จึงเกิด วิชาการหนังสือพิมพ์สีเหลือง (Yellow Journalism) ขึ้น โดยเรียกขานตามเอกลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ทั้งสองหัวที่ใช้หมึกสีเหลืองในการตีพิมพ์ และแข่งกันเสนอข่าวโคมลอยที่แทบไม่มีข้อเท็จจริง และไม่ผ่านการค้นคว้าเชิงข่าวมาอย่างถูกต้อง เน้นการพาดหัวที่หวือหวาเป็นสำคัญ ในที่สุด แม้พูลิตเซอร์จะยอมล่าถอยในภายหลัง แต่สื่อเหลืองก็ได้ถูกก๊อปปี้และนำไปทำซ้ำจากรุ่นสู่รุ่น จนหลงเหลือเป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน
สถาปนาคณะวารสารศาสตร์
ปี 1910 บนเรือยอร์ชลิเบอร์ตี้ที่กำลังลอยลำอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก พูลิตเซอร์วัย 63 ปี เรียกบรรดาเลขานุการของเขามาล้อมวงฟังพินัยกรรม โดยไล่ตั้งแต่การมอบเงินจำนวนเกือบล้านเหรียญให้สมาคมดนตรีฟิลฮาโมนิคของนิวยอร์ก กับเงินอีกก้อนจำนวนเท่ากันยกให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน และอีก 25,000 เหรียญสำหรับสร้างรูปปั้น โทมัส เจฟเฟอร์สัน บิดาแห่งประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา
“มีมรดกอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับใจผมเอง ผมอยากจะช่วยฝึกคนทำงานหนังสือพิมพ์เพื่อให้เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดีที่แท้จริงให้ตระหนักถึงหน้าที่และภาระและความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชนที่เขาพิมพ์หนังสือให้อ่าน ผมได้เกลี้ยกล่อมคณะกรรมการสตรีของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้สำเร็จ ผมจึงกำลังจะอุทิศเงินก้อนนี้ให้ก่อนที่ผมจะตายเป็นจำนวน 2 ล้านเหรียญให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก ให้ตั้งคณะวารสารศาสตร์ขึ้น”
Columbia University Graduate School of Journalism ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1912 มีสถานะเป็นแหล่งผลิตนักหนังสือพิมพ์ชั้นนำของโลก และเป็นต้นแบบให้เกิดแผนกวารสารศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามมา
กำเนิดรางวัลพูลิตเซอร์
“และเพื่อยกระดับนักหนังสือพิมพ์และนักวรรณคดีของอเมริกา ผมจะทิ้งเงินไว้ทุกปีให้เป็นรางวัลสำหรับนวนิยายที่เขียนถึงชีวิตแบบอเมริกันได้ดีที่สุด ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุด บทบรรณาธิการที่เด่นที่สุด โคลงบทที่ดีที่สุด และอื่นๆ อีกเพื่อให้ความเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าไป”
และนี่คือจุดกำเนิดเรียบง่ายของรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ที่เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์สาขาคนทำข่าว ตลอดจนแวดวงวรรณกรรมและดนตรี โดยทุกเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 1917 เป็นต้นมา จะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 21 สาขา (สายสื่อสารมวลชน 14 สาขา และสาขาสร้างสรรค์วรรณกรรมบทละครและดนตรีอีก 7 สาขา) ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับในปีนี้ การประกาศผลรางวัลพูลิตเซอร์ถูกเลื่อนจากกำหนดเดิมในวันที่ 19 เมษายน เป็นวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน เวลาบ่ายโมงตรงตามเวลาสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
- ไอริส โนเบิ้ล เขียน, สุดจิต ภิญโญยิ่ง แปล.พูลิทเซอร์ บรรณาธิการหัวเห็ด.สี่เกลอ, 2524
- Pulitzer News. Pulitzer Prize Board Postpones Announcement of 2021 Awards. https://www.pulitzer.org/
- Kjell Knudde.Joseph Pulitzer. https://www.lambiek.net/artists/p/pulitzer_joseph.htm