“คนอื่นๆ มักจะบอกว่าเพื่อนกินหาง่าย แต่ผมว่าไม่ใช่นะ เพื่อนที่กินคอเดียวกันกับเราจริงๆ น่ะหายากมาก ใครเจอถือว่าโชคดี ถ้ายังไม่เจอก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะแต่ละคนมีสิ่งที่ชอบไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความชอบกัน”
บอล – กิตติภูมิ หาญพัฒนกิจพานิช เจ้าของร้าน 10010 Bar บอกเล่าความคิดเห็นเกี่ยวกับความชอบในรสชาติอาหารโดยเฉพาะของหวานอย่างขนมอบและไอศกรีมหลากรสซึ่งเขาโปรดปรานเป็นพิเศษ อันที่จริงควรใช้คำว่าเข้าขั้นหลงรักน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะร้านแห่งนี้คือหลักฐานยืนยันความรักที่เขามีต่อขนมหวานได้เป็นอย่างชัดเจน “ทั้งหมดในร้านคือของที่ผมชอบ ชอบถึงขนาดอยากทำกินเอง เมื่อทำได้ก็อยากแบ่งปันรสชาติเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ได้ลองชิม ชอบตรงไหน หรือรู้สึกยังไง เรามาคุยกัน”
เหลือเวลาเตรียมตัวอีกเพียง 1 ชั่วโมงก่อนร้านจะเปิดบริการ บอลกำลังขะมักเขม้นจัดเรียงไอศกรีมทั้ง 13 รสชาติลงตู้จนแล้วเสร็จ พอดีกับเสียงนาฬิกาของเตาอบดังเตือนขึ้น เขาเดินไปหยิบถาดขนมออกมาตกแต่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายอย่างคล่องแคล่ว ไม่จำเป็นต้องพูดหรืออธิบาย เพราะท่วงท่าและภาษากายของเขา ณ ขณะนั้น บอกให้รู้ได้ทันทีว่า ความเป็นงานสะท้อนความเป็นตัวจริงในสิ่งที่ทำ ซึ่งสำหรับบอลคือขนมอบและไอศกรีม
‘ถ้าได้ทำสิ่งที่รัก เราย่อมทำได้ดีเสมอ’ อาจเป็นประโยคดาษดื่นที่หลายคนเคยได้ยินมานักต่อนัก แต่ไม่บ่อยที่ทุกคนจะได้สัมผัสถึงความรู้สึกและรับรู้เบื้องหลังการทำงานของคนที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่รักจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องราวของบอลและที่มากว่าจะเป็นร้าน 10010 Bar
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกันความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ว่าคนที่กินใช่คอเดียวกันไหม แต่เป็นการบอกเล่าความชอบที่ทำให้เข้าใจความหลากหลายของผู้คนอย่างที่บอลบอกกับเราไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งชวนให้คิดทบทวนต่อไปด้วยว่าสิ่งที่ชอบจะพาเราไปเจอกับอะไรอีกบ้าง
รสชาติในความทรงจำที่หายไป
บอลพาย้อนความหลังไปถึงประสบการณ์ในวัยเด็ก เป็นช่วงเวลาที่เขาเจอรสไอศกรีมอันดับหนึ่งในใจหลังจากได้ลองชิมไอศกรีมหลากหลายรสชาติและรูปแบบ
“ผมชอบไอศกรีมดาร์กช็อกโกแลตมากๆ จำได้แม่นว่าเป็นของร้าน Baskin Robbins ที่มาบุญครอง สมัยเพิ่งเข้ามาเปิดขายในไทยใหม่ๆ ประมาณสามสิบกว่าปีที่แล้ว แต่อยู่ๆ รสนี้ก็หายสาบสูญไป กลายเป็นคำถามฝังใจว่าเพราะอะไร ต่อมามีโอกาสไปเรียนที่อเมริกา ซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับของร้าน Baskin Robbins ผมเลยถามหารสดาร์กช็อกโกแลตแบบที่เคยกินตอนเด็กๆ กับพนักงาน เขาบอกว่าเลิกผลิตนานแล้ว ตอนนั้นรู้สึกหมดหวังมาก แต่ก็พยายามตามหารสนี้ต่อเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เรียนทำไอศกรีมกับเชฟชาวฝรั่งเศส เขาแนะนำให้รู้จักซอร์เบต์ดาร์กช็อกโกแลต ตอนแรกก็รู้สึกขัดใจ ควรต้องเป็นไอศกรีมที่ทำมาจากนมมากกว่า แต่หลังจากได้ลองแล้วเราก็หยุดใจไว้ที่ซอร์เบต์”
ไม่ใช่แค่รสดาร์กช็อกโกแลตที่หายไประหว่างทางของการเติบโตของบอล แต่ยังมีรสอื่นๆ ที่เขาอยากกินมากแต่หายากเหลือเกิน “ร้านไอศกรีมในไทยสมัยก่อนมีซอสราดสี่แบบ คือคาราเมล บัตเตอร์สก็อต ซอสช็อกโกแลตอีกสองแบบ คือฮอทฟัดจ์และโคลด์ฟัดจ์ อาจเป็นเพราะความนิยมที่เปลี่ยนไปในยุคต่อมา ทำให้บัตเตอร์สก็อตเป็นอีกอย่างหายที่ไปจากวงการไอศกรีม เมื่อหาซื้อไม่ได้ ทางเดียวที่ผมจะสนองความอยากของตัวเอง คือทำกินเอง”
______
แต่การทำไอศกรีมไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันทีทันใด เพราะกว่าบอลจะได้ลงมือทำจริงๆ เป็นเรื่องเป็นราวก็หลังจากเขาตัดสินใจเรียนต่อและย้ายไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
คำแนะนำเชิงขอร้องจากเพื่อนนักเรียนไทย
เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศต้นกำเนิดวัตุดิบที่ใช้ผลิตขนมหวาน บอลจึงคิดว่าขนมของที่นั่นคงอร่อยกว่าของไทย แต่เขากลับต้องผิดหวัง เพราะการเป็นดินแดนที่อุดมด้วยเนย นม และไข่ไก่ ไม่อาจการันตีรสชาติของขนมได้เสมอไป
“ผมคาดหวังมากว่าร้านขนมที่อเมริกาจะต้องอร่อย พอได้กินจริงๆ รู้สึกเฉยๆ มากกว่า ผมเลยลองหัดทำขนมเอง เพื่อให้ได้รสที่ถูกปากเรา ปรากฏว่าพัง แต่ก็ดึงดันเอาไปแบ่งให้เพื่อนนักเรียนไทยลองชิมดูเพราะคิดว่ายังพอกินได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือเสียดายไม่อยากทิ้ง ทุกคนที่ได้กินพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอยากทำให้ดีจริงๆ ก็ไปเรียนเถอะ”
เสียงของเพื่อนตอกย้ำให้บอลกลับมาถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไปดี ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบซึ่งนับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่ทำให้เขาเข้าไปยืนอยู่ในพื้นที่ของขนมหวานอย่างเต็มตัว
“การเรียนเปลี่ยนเค้กแข็งของผมให้กลายเป็นนุ่มได้ ทำให้รู้ตัวด้วยว่าที่ผ่านมาเข้าใจผิดหลายอย่างเพราะขาดความรู้ เค้กแข็งไม่ได้แก้ไขด้วยการเติมของเหลว แต่เกิดจากขั้นตอนการคนเนื้อแป้งต่างหาก กลายเป็นว่าผมเบนเข็มมาเรียนทำขนมจริงจัง จนมีโอกาสได้ทำงานในสายนี้”
หลังจากเรียนจบ บอลตั้งใจว่าจะกลับไทยมาเปิดร้านขนมเป็นกิจการของตัวเอง แต่วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งทำให้แผนทุกอย่างล่ม เขาเปลี่ยนใจอยู่ที่สหรัฐอเมริกาต่อ และพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานเกี่ยวกับขนมหวานต่อไป
ส่งต่อความรู้ เป็นครูสอนทำขนม
เวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง บอลตัดสินใจกลับไทยอีกครั้ง ปรากฏว่าครั้งนี้มีโจทย์ใหม่ เพราะเอาเฉพาะแค่กรุงเทพฯ ก็มีร้านขนมเยอะมากแล้ว เขามองว่าตัวเองเป็นมือใหม่ คงสู้คู่แข่งไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเปิดคอร์สสอนทำขนม อาศัยประสบการณ์และความรู้ที่ร่ำเรียนมาแทน
“ประมาณ พ.ศ. 2556 ตอนนั้นโรงเรียนสอนทำขนมมีน้อยมาก ผมกับเพื่อนจึงร่วมกันทำสตูดิโอเล็กๆ ที่สยาม เอาไว้ใช้สอนทำขนมหวานทั้งขนมอบ ไอศกรีม และขนมอื่นๆ ที่ผมชอบกิน เพราะเป็นสิ่งที่ผมถนัดที่สุด ผมเริ่มต้นด้วยคาราเมลป๊อปคอร์นก่อนคนจะนิยมกัน”
คนส่วนใหญ่สงสัยว่าทำไมต้องเรียนทำขนมหวานแปลกๆ เพราะไม่น่าจะมีใครทำกินในชีวิตประจำวันได้บ่อยๆ บอลจึงอธิบายว่า เขาต้องการส่งต่อความรู้ให้คนสร้างอาชีพ อย่างน้อยทำขายทางออนไลน์ก็น่าจะได้
“แรกๆ คนไม่เข้าใจ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเปิดรับออร์เดอร์ขนมออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน เพื่อทำเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็นว่า ทำขายได้จริงๆ นะ พอทำไปได้สักระยะ ผมก็เปลี่ยนไปสอนขนมตัวอื่นและเปิดรับออร์เดอร์ขนมตัวใหม่แทน จะได้ไม่แย่งลูกค้ากับนักเรียน แต่สอนเป็นพักๆ เพราะบินกลับมาไทยได้แค่เวลาสั้นๆ”
ในที่สุดบอลย้ายกลับมาอยู่ไทยถาวรประมาณ พ.ศ. 2562 เขาเปิดรับออร์เดอร์ออน์ไลน์ได้ตลอดปีเท่าที่กำลังของคนคนเดียวจะทำไหว นานวันเข้าคุณแม่ของบอลเอ่ยปากบอกเขาว่า นี่คือบ้านไม่ใช่โรงงานหรือร้านผลิตขนม เพราะอุปกรณ์และวัตถุดิบต้องการที่ตั้งวางจนกินที่พื้นของบ้าน บอลจึงได้ฤกษ์เปิดหน้าร้านของตัวเอง
10010 Bar กับความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเรื่องไอศกรีม
สภาพจราจรติดขัดบ่อยและความไม่สะดวกของการเดินทางในกรุงเทพฯ คือเงื่อนไขแรกที่ทำให้บอลคิดปักหมุดทำเลของร้านให้อยู่ในละแวกบ้าน เพราะเขาไม่อยากเสียเวลาไปกับปัญหารถติด จึงมองหาตึกให้เช่าใกล้ๆ
“บ้านผมอยู่ท้ายซอยเจริญนคร 10 เห็นตึกในซอยติดป้ายให้เช่าพอดี เลยเลือกที่นี่จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล ด้วยความบังเอิญ เลขที่ของตึกนี้คือ 100 อยู่ในซอย 10 ค่อนข้างจำง่าย ผมจึงตั้งชื่อร้านว่า 10010 bar อ่านว่า ร้อย-สิบ-บาร์ แล้ว 10010 เป็นเลขฐานสอง ถอดออกมาได้เท่ากับ 18 ส่วนคำว่า bar คือเครื่องหมายลบ รวมกันเป็น -18 หมายถึง อุณหภูมิองศาเซลเซียสที่ใช้เสิร์ฟไอศกรีม ถ้าสังเกตโลโก้ร้าน ผมทำเป็นบาร์โค้ด ซึ่งยิงได้จริงเป็นเลข 18”
บอลอธิบายเหตุผลสำคัญที่ทำไอศกรีมขายหน้าร้านด้วยว่า
“ไหนๆ ก็เปิดเป็นร้านแล้ว ผมคิดว่าเราก็ทำขนมที่ชอบทุกอย่างได้ในคราวเดียวกัน ทั้งขนมอบและไอศกรีม เพราะกินร่วมกันได้ อีกอย่างไม่ต้องกลัวไอศกรีมละลาย เราแช่ไว้ในตู้ตลอดเวลา ถ้าย้อนกลับไปตอนรับออร์เดอร์ออนไลน์ ผมขายไอศกรีมไม่ได้ เพราะขนส่งลำบาก และไม่ต้องการให้ลูกค้าเสียเงินค่าขนส่งเกินจำเป็น”
บรรดาขนมและรสไอศกรีมที่หมุนเวียนขายในร้าน 10010 Bar คือของหวานที่บอลชอบ ทำออกมาเป็นรสที่ถูกปากเขา เนยเป็นเนย น้ำตาลเป็นน้ำตาล นมเป็นนม เพราะเขาต้องการรักษาความชัดเจนของรสชาติไว้ กินแล้วรู้ทันทีว่าคือขนมอะไร
เบื้องหลังรสชาติไอศกรีมที่คนมักมองว่าแปลกประหลาด
ไอศกรีมอาศัยการผสมผสานกันของวัตถุดิบหลัก 4 อย่าง ได้แก่ นมกับครีมซึ่งบอลรวมเป็นอย่างเดียวกัน น้ำตาลหรือสารให้ความหวาน ไข่ไก่จะใส่หรือไม่ก็ได้ และวัตถุดิบที่มาของรสชาติ นี่คือเรื่องท้าทายความคิดสร้างสรรค์ของคนทำว่าจะออกแบบรสชาติ และสมดุลกลิ่นอย่างไรให้สำเร็จเป็นไอศกรีมแต่ละรสอย่างที่ต้องการ
“ทำขนมคือวิทยาศาสตร์ ตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอก ได้เรียนจึงรู้ว่าทุกอย่างส่งผลถึงกันหมด อย่างความหวานจากน้ำตาล บางคนบอกว่าอยากกินไอศกรีมหวานน้อย ไม่ใส่น้ำตาลได้ไหม ผมยืนยันว่ายังไงก็ต้องใส่ เพราะน้ำตาลคือตัวการที่ช่วยลดจุดเยือกแข็งในเนื้อไอศกรีม ถ้าเอานมไปแช่ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียล นมที่ได้จะแข็งกรอบเป็นลิ่ม กัดแล้วแตก แต่ถ้าใส่น้ำตาล นมจะข้นหนืดขึ้น เมื่อแช่ที่อุณหภูมิติดลบของเหลวจะจับตัวแข็งเป็นก้อน
“ส่วนสัมผัสนุ่นเบาเกิดจากการปั่นตีอากาศเข้าไปอยู่ภายในเนื้อไอศกรีม ฟองอากาศเล็กๆ จะเก็บกลิ่นวัตถุดิบไว้ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ความร้อนในปากทำละลายไอศกรีม ฟองอากาศแตกออก กลิ่นจึงขึ้นโพรงจมูก เราจะได้กลิ่นไอศกรีมตามมาที่หลังกินไปแล้วเสมอ”
คนจำนวนไม่น้อยแวะเวียนมาที่ร้าน 10010 Bar เพราะอยากลิ้มลองรสชาติไอศกรีมแปลกๆ ที่คิดไม่ถึงว่าจะเอามาทำได้ อย่างน้ำปลา พวงมาลัย สบู่ ยาแก้ไอชวนป๋วยปี่แปกอ แม้กระทั่งยาสีฟัน ซึ่งบอลมองว่ารสแปลกๆ ที่คนสนใจ เรียกให้คนเข้ามาดูหน้าตู้ไอศกรีมมากกว่า เปิดโอกาสให้เขาชิมไอศกรีมรสคลาสสิกรสอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนตัวเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นรสแปลกประหลาด แค่มองว่าไม่ใช่รสที่มีขายทั่วไป
“นี่คือเสน่ห์ของไอศกรีมที่สร้างสรรค์รสชาติได้ไม่จำกัด ไอศกรีมเป็นอะไรก็ได้คือหลักคิดที่เราเชื่อ เพราะไอศกรีมมีวิธีทำพื้นฐานเหมือนกัน ต่างแค่วัตถุดิบที่ใช้สร้างรสและกลิ่น ตอนสอนทำไอศกรีม รสกระเพราไข่เยี่ยวม้าก็เคยทำมาแล้ว”
ไอศกรีมทุกรสมีที่มาจากสิ่งรอบตัว
บอลแซวตู้ไอศกรีมของตัวเองว่า เป็นตู้ที่ดูน่าเบื่อมาก เพราะสีเนื้อไอศกรีมส่วนใหญ่ไปในโทนขาว เหลือง และน้ำตาล ไม่ได้มีสีสันฉูดฉาด แต่ทั้งหมดคือสีจากวัตถุดิบหลักซึ่งเขาไม่ได้ใส่สีผสมอาหารเพิ่มเข้าไป “รสชาติไอศกรีมในตู้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากแรงบันดาลใจระหว่างไปเที่ยวและเดินตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัวเรา ผมเคยไปเที่ยวสมุทรสาครแล้วซื้อเกลือกลับมา หรือได้เกลือมาจากบ่อเกลือที่น่าน ก็นำมาทำเค้กเกลือ หรือช่วงที่คนนิยมหมักเหล้าบ๊วย ผมก็เอาเหล้าบ๊วยที่เคยดองไว้มาทำไอศกรีม”
รสสบู่ “ดัดแปลงมาจากไอศกรีมรสน้ำผึ้งลาเวนเดอร์ซึ่งนิยมมากที่อเมริกา แต่คนไทยไม่เข้าใจ พอได้กลิ่นลาเวนเดอร์มักจะคิดว่าเป็นกลิ่นสบู่หรือแฮนด์ครีม จึงเป็นที่มาของชื่อรสสบู่”
รสน้ำมนต์มะกอกและรสพวงมาลัย “เกิดจากความสนุกในช่วงวันหยุดยาวหลังวันมาฆบูชา ผมคิดถึงสิ่งที่คนทำกันในวันนี้ คือซื้อพวงมาลัยไปไหว้พระ กับรดน้ำมนต์ แต่ถ้าเอาน้ำมนต์จากวัดมาทำใครจะกล้ากิน (หัวเราะ) เลยเทียบเคียงรสชาติแทน
“ผมใช้น้ำมันมะกอก แล้วเล่นคำเป็นรสน้ำมนต์มะกอก ซึ่งต้องตีโจทย์ต่อ พูดถึงน้ำมนต์คนจะแซวกันว่าโดนแล้วร้อน เลยแยกเป็นสองความรู้สึกคือ หวานเย็นร่มรื่นได้พรและแสบร้อนเป็นบาป ผมใส่ไวท์ช็อกโกแลตแทนน้ำตาเทียน และใส่พริกไทยแดงให้กลิ่นฉุนอ่อนๆ แต่ไม่เผ็ดรุนแรง ใช้พริกไทยดำไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นของคาว
“ส่วนพวงมาลัยผมอยากให้ความรู้สึกเหมือนเดินกำลังเดินในตลาดดอกไม้ เลยผสมชาดอกไม้หลายชนิดเข้าด้วยกัน แล้วเติมเปลือกส้มเพิ่มความสดชื่นและกลบกลิ่นดอกไม้ไม่ให้ฉุนเกินไป”
รสยาแก้ไอชวนป๋วยปี่แปกอ “ผมรู้ว่ามีร้านไอศกรีมที่มาเลเซีย และสิงคโปร์เอามาทำ ตั้งใจจะไปลองกิน แต่โควิด-19 มาระบาดก่อน เลยลองทำแก้ขัด ก็สนุกดี แต่รสนี้ไม่ได้รสออริจินอลของร้านเรา หากใครไม่เคยกินชวนป๋วยฯ อธิบายง่ายๆ ว่ารสชาติคล้ายเชอรี่ผสมชะเอม และอัลมอนด์”
รสยาสีฟัน “ไม่ได้เอายาสีฟันเป็นหลอดมาทำนะ สบายใจได้ แต่ใช้ใบมินต์เป็นวัตถุดิบหลักแทน ได้เป็นไอศกรีมสีขาวอมเขียวอ่อนๆ ส่วนสีเขียวอมฟ้าที่คนมักคุ้ยเคย เกิดจากการใส่สีเพิ่มเข้าไป”
รสน้ำปลา “เริ่มต้นจากโปรเจ็คต์ที่คิดให้กับเรือนจำกลางระยอง ผมมีโอกาสได้เข้าไปสอนทำไอศกรีมให้ผู้ต้องขัง เพื่อฝึกอาชีพ ผู้อำนวยการก็ปรึกษาอยากให้ช่วยคิดรสชาติที่มีขายเฉพาะที่นี่เท่านั้นให้หน่อย ผมรีบตอบรับทันที แล้วไปเดินตลาดดูว่าอะไรคือของดีประจำจังหวัดระยอง ก็เจอน้ำปลาเลยเอามาทำไอศกรีม
“แต่ก็คิดแทนคนกินว่าเขาจะกล้ากินกันไหม ผมจึงทำเป็น 2 แบบ คือซอสน้ำปลาคาราเมลเป็นน้ำปลาหวานเอาไว้ราดกับไอศกรีมรสอะไรก็ได้ ให้กลิ่นน้ำปลาอ่อนๆ สำหรับคนไม่ชอบน้ำปลา กับไอศครีมรสน้ำปลา กลายเป็นว่าแค่ทำเอาไว้รับรองเวลาแขกที่เข้ามาเยี่ยมชมเรือนจำก็ไม่พอแล้ว แต่ผมอยากช่วยโปรโมต จึงเอามาทำขายที่ร้านก่อน เมื่อทางเรือนจำพร้อมทำขาย ผมจะเลิกทำและบอกให้คนไปกินได้ที่คาเฟ่ของเรือนจำกลางระยอง”
บทสนทนาหน้าตู้จุดเริ่มต้นของรสชาติ
สิ่งที่บอลชอบมากที่สุดหลังจากเปิดหน้าร้าน คือการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกค้า
“อย่างที่ผมบอกว่าเพื่อนกินคอเดียวกันหายาก แต่ถ้าได้คุยกันก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ปรับจูนกัน ลองชิมไอศกรีมรสอื่นๆ ทดสอบว่าเจอกลิ่นอะไรบ้างเพราะแต่ละคนเจอกลิ่นไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เจอก็ไม่แปลกนะ ผมเห็นบางคนเคร่งเครียดกับการหากลิ่นไอศกรีมมาก แต่เราควรกินไอศกรีมด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย เพราะประสาทรับสัมผัสและประสบการณ์ต่างกัน ทำให้รับรสและรับกลิ่นต่างกัน”
“หรือจะชวนคุยเรื่องอื่นก็ได้ เคยมีลูกค้าบนว่าไอศกรีมราคาค่อนข้างสูง เราก็อธิบายให้เขาฟังว่า หลักการคือผมใช้วัตถุดิบที่ทำกินเอง เน้นคุณภาพและความสดใหม่ ราคาจึงค่อนข้างสูง บางรสมีต้นทุนสูงกว่า 3 เท่า แต่ผมไม่อยากให้ความแตกต่างของราคากลายเป็นเงื่อนไขให้คนคิดว่ากินรสไหนคุ้มกว่า เพราะทำให้คนกินไม่กี่รส จึงขายลูกละ 100 บาทเท่ากันหมด”
นอกจากคนทั่วไป ร้านของบอลมีโอกาสต้องรับเชฟขนมหวานอยู่ตลอด แม้ว่าเขาจะไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเชฟ แต่บอลรู้ได้จากคำถามที่เขาใช้ “ผมชอบเวลาเชฟมาชิมไอศกรีมที่ร้าน เพราะจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และวัตถุดิบด้วยกันอีกทางหนึ่ง”
คงไม่ใช่เหตุผลแค่ว่า ร้าน 10010 Bar เปิดเฉพาะวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ แต่เป็นรสชาติขนมหวานสไตล์โฮมเมดที่ทำขึ้นด้วยใจรัก รวมถึงความต้องการบริการที่มาจากใจด้วยเช่นกัน ที่ทำให้บรรยากาศในร้านอบอวลไปด้วยความเป็นมิตรเคล้ากับกลิ่นหอมของขนมที่เพิ่งอบเสร็จใหม่ๆ ชวนให้เริ่มต้นบทสนทนาหน้าตู้ ซึ่งมีเรื่องราวมากมายให้ค้นหา ลึกชื้งกว่าชื่อรสชาติที่ให้ความรู้สึกแปลกประหลาด เป็นประสบการณ์ที่ต้องลองด้วยตัวเองสักครั้ง
เลขที่ 100 ซอยเจริญนคร 10 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ 10600
เปิดบริการทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น.
Facts Box
- ไอศกรีมทุกลูกเสิร์ฟพร้อมแผ่นวาฟเฟิลทำสด
- ขนมอบขึ้นชื่อของร้านคือ ควินญามัน (200 บาท) เป็นขนมสัญชาติฝรั่งเศส วิธีทำคล้ายครัวซองต์ ต่างกันที่ใช้น้ำตาลโรยแทนแป้งไม่ให้ติดโต๊ะขณะรีด แต่ละชั้นจึงมีน้ำตาลแทรกอยู่ระหว่างแผ่นแป้ง เมื่อนำเข้าอบ น้ำตาลบริเวณขอบแป้งจึงละลายกลายเป็นคาราเมล
- ร้านอยากให้ทุกคนได้ลองชิมทุกรส จึงเลือกใช้ช้อนโลหะที่ล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อลดขยะจากการใช้ซ้อนครั้งเดียวทิ้ง