หลายคนที่เคยกดเข้าไปดู TikTok อาจเคยประสบปัญหาหยุดดูไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ปาเข้าไปเป็นชั่วโมง
นี่คือแพล็ตฟอร์มสร้างวิดีโอสั้นๆ ที่ได้รับความนิยมที่สุดในสองปีที่ผ่านมานี้ และกำลังชี้ให้เราเห็นว่า คลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดียสั้นลงทุกปี
แต่ก่อนเราถ่ายวิดีโอกันผ่านกล้องตัวใหญ่ๆ ที่บันทึกลงใน VHS หรือม้วนวิดีโอหนาๆ ที่มีความยาวตั้งแต่ 60 นาที – 4 ชั่วโมง เวลาจะเล่นทีหนึ่งก็ต้องเอาใส่เครื่องเล่นวิดีโอที่ต่อเข้ากับจอโทรทัศน์
ต่อมาเมื่อกล้องดิจิตอลบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ไม่ต่างกัน จึงทำให้ม้วนวิดีโอเริ่มหายไปจากชั้นวางในบ้าน จนมาถึงต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 ภาพเคลื่อนไหวก็ถูกบันทึกลงในแผ่นซีดีบางๆ แทบจะเต็มรูปแบบ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งก็เกิดขึ้นเมื่อมือถือเครื่องเล็กๆ เริ่มถ่ายวิดีโอได้ ทุกอย่างกระโดดเข้ามาอยู่ในสมาร์ตโฟน
และไม่เพียงแค่อุปกรณ์ที่เปลี่ยนไป แต่รูปแบบของวิดีโอก็เปลี่ยนตาม
ปัจจุบันคนทั่วโลกเสพสื่อจากสมาร์ตโฟน 71 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลาเฉลี่ย 87 ชั่วโมงต่อเดือนไปกับการท่องโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดียเป็นเหตุผลแรกๆ ที่ทำให้คนเราติดมือถืองอมแงม เราใช้เวลาหมดไปกับการเสพข่าวสารทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ ‘กลัวตกข่าว’ (Fear of missing out [FOMO]) กลัวคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องมาตั้งแต่ไหนแต่ไร อาการไถหน้าฟีดไปเรื่อยๆ ที่ทำให้เราบริโภคข่าวสารได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นทำให้เราต้องรีบดู รีบไปเพราะมีคอนเทนต์รอเสิร์ฟอีกเพียบ
การกำเนิดของวิดีโอสั้นๆ จึงไม่ต่างอะไรกับฟาสต์ฟู้ดที่ทำง่าย กินง่าย ซึ่งถูกออกแบบมาให้บริโภคในโลกทุนนิยม เนื้อหาบนออนไลน์ค่อยๆ ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ย่อยง่าย เสพง่าย บทความสั้นๆ หรือวิดีโอสั้นๆ จึงตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนไป (หาคำตอบว่าทำไมเราจึงเสพติดโซเชียลมีเดียเพิ่มเติมได้ที่ https://becommon.co/life/why-socialmedia-addicted/)
Vidyard แอปพลิเคชันบันทึกวิดีโอซึ่งเป็นส่วนขยายใน Google Chrome ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ชมวิดีโอ พบว่าปัจจุบัน 56 เปอร์เซ็นต์ของวิดีโอที่ใช้โปรโมตแบรนด์ต่างๆ มีความยาวไม่เกิน 2 นาที และ 53 เปอร์เซ็นต์ของวิดีโอที่มีความยาว 1 นาทีครึ่งหรือน้อยกว่านั้นจะได้รับชมจนจบ ในขณะเดียวกันวิดีโอที่มีความยาว 30 นาที มีจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ผู้ชมจะดูจนจบ
Snapchat และ Vine เป็นแอปพลิเคชันแรกๆ ที่ชวนให้เรามาเสพคลิปสั้นๆ เป็นอาหารว่าง และอีกหลายสื่อก็พากันตามมา เช่น Instagram – หลังจากเปิดตัวสตอรี่เมื่อปี 2016 ล่าสุดก็เพิ่งเพิ่ม Reels ฟีเจอร์สำหรับสร้างวิดีโอสั้นๆ มีความยาวไม่เกิน 15 วินาที แต่จะถูกบันทึกไว้ถาวรและยังสามารถไปปรากฏบนหน้าฟีดรวม ที่ไม่จำเป็นต้องกดติดตามก็ดูวิดีโอของกันและกันได้ ชวนให้มาติดงอมแงมกันอย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับ Neflix ที่แม้จะเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับหนังและซีรีส์ยาวๆ แต่ก็ได้เผยว่ากำลังเดินหน้าทำซีรีส์ขนาดสั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละซีซันมีเพียงไม่กี่ตอน แต่ละตอนมีความยาวไม่กี่นาที โดยให้เหตุผลว่าสมาชิกที่ใช้สมาร์ตโฟนราวๆ 47 เปอร์เซ็นต์นั้นมักจะดูแต่เนื้อหาที่ความไม่ยาวไม่เกิน 20 นาที และมีแววว่าจะเปลี่ยนไปดูเรื่องอื่นได้อย่างรวดเร็ว หากภายใน 20 นาทีนั้นเนื้อหาไม่โดนใจ (รายงานจากนิตยสาร Variety)
เมื่อพร้อมจะเลื่อนไปดูอย่างอื่นได้ตลอดเวลา จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เนื้อหาของวิดีโอสั้นจำเป็นต้องขโมยความสนใจจากผู้ชมมาให้ได้มากที่สุดในวินาทีแรกๆ และนั่นทำให้วิดีโอสั้นมีความแตกต่างออกไปจากฟาสต์ฟู้ด ตรงที่การจะทำวิดีโอสั้นให้ปังและหาจุดดึงความสนใจของผู้ชมให้เจอนั้นไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิด และอาจซับซ้อนกว่าการทอดเฟรนช์ฟรายส์
สั้นให้สุดแล้วหยุดที่ตรงไหน
อย่างไรก็ตาม แม้เราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิดีโอมีขนาดสั้นลงเรื่อยๆ เพราะต้องการสำรวจคอนเทนต์ต่างๆ ที่มีมากมายบนโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิดีโอยาวๆ จะน่าเบื่อและไร้ประสิทธิภาพ เพราะมันยังคงทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมาเสมอ เมื่อจำเป็นต้องเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน และเรียกร้องระยะเวลาในการส่งสารที่มากขึ้น
เพราะบางครั้งการปล่อยให้ตัวละครนั่งมองตากันอย่างเนิบช้าโดยไม่พูดอะไรก็ยังจำเป็นในการส่งต่ออารมรณ์สู่ผู้ชม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงยอมทนดูซีรีส์ Vincenzo ที่มี 20 ตอน แถมแต่ละตอนยังยาวเป็นชั่วโมงได้อย่างไม่รู้เบื่อ
อ้างอิง
- Joe Forte. How Long Should Your Video Be In 2021. https://bit.ly/32PkW3u
- Kris Boger. The Rise of Short-Form Video & the Gen Z Social Revolution. https://bit.ly/3dR9E57
- Phil Cooke. The Growing Influence and Popularity of Short Videos. https://bit.ly/3noJDxs