©ulture

สารภาพว่าเป็นเพราะภาพปกรูปทิวเขาสีฟ้าสลับซับซ้อน และปริศนาในคำว่า แปดขุนเขา’ เป็นส่วนผสมที่กระตุ้นให้เปิดอ่านหนังสือเล่มนี้

สารภาพเพิ่มอีกเล็กน้อยว่า เป็นเพราะกำลังคิดถึงการได้ก้าวเท้าเดินไต่ระดับความสูงทีละน้อยๆ ขึ้นไปสู่ยอดเขาสักแห่งตามแนวเทือกเขาหิมาลัย เพราะกำลังอยู่ในช่วงฤดูร้อนของไทยที่เหมาะเหลือเกินในการพาตัวเองไปสูดอากาศดีๆ ที่เนปาล 

ดังนั้น การได้ละเลียดตัวอักษรที่ให้อารมณ์เหมือนได้ไปสัมผัสลมเย็นบนภูเขาจึงเป็นตัวเลือกที่ชดเชยความปรารถนาที่มิอาจเอื้อม  ขณะนี้ได้ดีไม่น้อย 

โดยเฉพาะเมื่อหนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเขียนผู้เป็นนักปีนเขาไปด้วยในตัว อย่าง เปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti) ที่กล่าวกันว่าเป็นนักเขียนชาวอิตาเลียนผู้น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้

TheEightMountains
เปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti)
ผู้เขียนเรื่อง แปดขุนเขา
Photo: https://www.terre.it/interviste/scrittori-illustratori/paolo-cognetti-racconta-il-ragazzo-selvatico/

ไม่ใช่เพียงเพราะเขาสามารถพาหนังสือเล่มนี้คว้ารางวัลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิตาลี อย่างรางวัล Premio Strega ประจำปี 2017 มาครองเท่านั้น 

แต่เป็นเพราะการพรรณนาถึงรายละเอียดแห่งชีวิตในเทือกเขาโดโลไมต์ ทางตอนเหนือของอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ใช้ชีวิตที่นั่น ไปจนถึงมิติของต้นไม้ ใบหญ้า ท้องน้ำ ธารน้ำแข็ง ฯลฯ ที่เปาโลสามารถร่ายมนต์ให้ผู้อ่านเข้าถึงทุกสารที่เขาต้องการจะสื่อได้โดยสมบูรณ์ 

เปาโลเคยเล่าถึงหนังสือ แปดขุนเขา เอาไว้ว่า อาจกล่าวได้ว่า ผมเริ่มเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ เพราะเรื่องราวนี้เป็นของผมเช่นเดียวกับความทรงจำของผม หลายปีมานี้ เวลามีคนถามว่า มันเล่าถึงอะไร ผมตอบเสมอว่า เล่าถึงเพื่อนสองคนกับภูเขา 

ผู้อ่านจึงสามารถแทนค่าสมการลงไปได้ไม่ยาก ว่าตัวละครหลักในเล่มอย่าง ปิเอโตร ผู้รับหน้าที่เล่าเรื่องราวทั้ง หมดผ่านมุมมองของเขา ก็คือ ตัวของเปาโลเองที่ฉวยคว้าเอาบางเสี้ยวส่วนจากประสบการณ์ชีวิตมาแต่งแต้มเรื่องราวให้ดำเนินไป ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสองคนกับภูเขาเท่านั้น

TheEightMountains
ปราสาทในหมู่บ้านกรานาที่เป็นฉากในเรื่อง
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Graines_Castle

ความสัมพันธ์ของพ่อลูก ควาอบอุ่นจากลมใต้ปีกของผู้เป็นแม่ หรือกระทั่งตัวแปรสำคัญอย่างคนรัก ล้วนเป็นองค์ประกอบที่หลอมรวมจนเกิดเป็นนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ 

หากคุณคือนักเดินทางผู้หลงใหลการพิชิตยอดเขาโดยพุ่งความสำคัญไปที่ระดับความสูง 3-4 พันเมตรเหนือระดับน้ำทะเลเป็นสำคัญ ย่อมอดไม่ได้ที่จะถอดหัวใจตัวเองเข้าไปใส่ในตัวพ่อของปิเอโตรแบบสุดจิตสุดใจ 

ในขณะที่คนรักภูเขาสายชิล ที่ขอแค่ได้ออกแรงเดินพอให้ได้รู้สึกเหนื่อยหอบ พลางชมนกชมไม้ ทำความรู้จักพืชพรรณที่แปลกตาออกไป  ความสูงระดับ 1-2 พันเมตรต้นๆ คงเข้าใจดีถึงความสุขในแบบที่แม่ของปิเอโตรเลือก  

ส่วนปิเอโตรเองคงเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมของทั้งพ่อและแม่ เขาสามารถบุกบั่นฟันฝ่าเพื่อพิชิตยอดเขาที่สูงในระดับทรมานทั้งร่างกายและจิตใจได้ พอๆ กับการชอบใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ในระดับความสูงที่เย็นสบายอย่างพอดีๆ  

และมากไปกว่านั้น คือ ปิเอโตรมีโอกาสเดินทางไปนอกเขตเทือกเขาแอลป์ที่คุ้นเคย มุ่งหน้าไปทำความรู้จักหลังคาโลกอย่างเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเพื่อนรักของเขาอย่าง บรูโน ไม่มีโอกาสไปเยือน

TheEightMountains
ภูเขาเกรน็อน ตั้งอยู่เหนือสุดของอิตาลีทางด้านตะวันตก
Photo: https://www.reddit.com/user/Atellani/comments/au1msl/castle_of_graines_aosta_valley_italy_oc/

แม้จะรักภูเขามากพอๆ กัน แต่บรูโนแตกต่างจากปิเอโตรโดยสิ้นเชิง เขาไม่ได้ใช้ภูเขาเป็นเพียงที่พักใจชั่วคราว เหมือนอย่างที่ครอบครัวของปิเอโตรเลือกเดินทางออกจากมิลาน เพื่อมาพักผ่อนตากอากาศที่หมู่บ้านกรานาเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 

เพราะทั้งชีวิตของบรูโนฝากไว้กับภูเขาตั้งแต่เกิด เขาจึงเพียบพร้อมด้วยทักษะการใช้ชีวิตในแบบหนุ่มลูกทุ่ง ที่สามารถปลูกผัก รีดนมวัว ปีนเขา ล่าสัตว์ ไปจนถึงการซ่อมแซมและสร้างบ้านได้ทั้งหลัง 

แน่นอนว่าเป็นคุณสมบัติที่หนุ่มนักทำสารคดีผู้ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างปิเอโตเทียบไม่ได้โดยสิ้นเชิง เขาถนัดที่จะตะลอนเดินทางบันทึกชีวิตของผู้คน ปนๆ กับการได้หวนย้อนรำลึกถึงความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวในบางครั้งคราวมากกว่า 

เหมือนอย่างเช่นครั้งหนึ่ง ขณะกำลังเดินเท้าอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ปิเอโตรแลกเปลี่ยนบทสนทนากับชาวบ้านท้องถิ่นตามปกติ เพราะบนเส้นทางสายนั้นใครๆ ต่างก็ยิ้มแย้มและทักทายกัน  

เขาเล่าให้ชายชราชาวเนปาลฟังว่า กำลังอยู่ในระหว่างออกเดินทางท่องโลก เพราะอยากเห็นยอดเขาสวยๆ ในที่ไกลๆ ของโลก ชายชราจึงบอกว่าเขาคือ ‘คนที่กำลังท่องไปบนแปดขุนเขา’

TheEightMountains

แกเล่าว่า โลกในความเชื่อของชาวเนปาล มีหน้าตาแบบที่เรียกว่า มันดาลา คือ มีขุนเขาสูงยิ่งอยู่ใจกลางโลก ชื่อเขาพระสุเมรุ รอบเขาพระสุเมรุมีแปดขุนเขาและแปดมหาสมุทรรายล้อมอยู่ 

ดังนั้น นักเดินทางที่ตระเวนไปตามเทือกเขาต่างๆ ของโลกจึงเหมือนกับกำลังท่องไปยังแปดขุนเขา 

ชายชรายังทิ้งคำถามให้คิดต่ออีกว่า “ใครได้เรียนรู้มากกว่ากัน คนที่ท่องไปทั้งแปดขุนเขา หรือคนที่ไปถึงยอดเขาพระสุเมรุ” 

แน่นอนว่าปิเอโตรนึกถึงบรูโนเพื่อนรัก ชายผู้ปักหลักใช้ชีวิตในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของอิตาลี ที่ถือเป็นยอดเขาพระสุเมรุเพียงแห่งเดียวในชีวิต โดยไม่คิดโยกย้ายไปไหน 

เช่นเดียวกับบทสนทนาของทั้งคู่ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งช่วยกันซ่อมสร้างบ้านน้อยในป่าใหญ่ มรดกเพียงชิ้นเดียวที่พ่อทิ้งไว้ให้กับปิเอโตร  

โดยหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการช่วยกันโค่นต้นไม้มาทั้งวัน ปิเอโตรเจอเข้ากับต้นไม้ที่ลำต้นเล็กและคดงอต้นหนึ่ง เขาจึงถอนมันแล้วเอาไปปลูกบริเวณอื่น เพื่อให้ได้รับแสงแดดมากขึ้น 

แต่ดูเหมือนไม้ต้นน้อยที่ได้รับการปกป้องอยู่ในหินเป็นเวลานานจะไม่ชินกับการต้องยืนต้านแรงลมด้วยกำลังของตนเอง เขาจึงถามบรูโนว่าเคยย้ายต้นไม้ไปปลูกที่อื่นไหม 

ต้นนี้แปลก แข็งแรงถ้าโตตรงที่มันขึ้น แต่อ่อนแอทันทีที่เราย้ายไปปลูกที่อื่น บรูโนตอบ 

นายเคยลองแล้วเหรอ 

สองสามครั้ง 

ผลเป็นไง 

เหลว 

บรูโนคงไม่ทันได้คิดว่า เขานั่นคือไม้ต้นนั้นที่มิอาจเติบใหญ่ในต่างถิ่น และยืนกรานที่จะอยู่ใต้เงาหินต่อไป โดยเชื่อว่านั่นคือชีวิตที่ดีพอ 

เรื่องราวของแต่ละตัวละครใน แปดขุนเขา ไม่ต่างจากชีวิตจริงของคนเรา ที่ไม่มีใครสามารถตัดสินหรือบงการชีวิตของคนอื่นได้ เราต่างเป็นเจ้าของวิถีเดินทางต่างสไตล์ เหมือนกับที่แม่ของปิเอโตรเคยบอกเขาว่า ผู้คนมีความสูงของภูเขาเป็นของตัวเอง 

แต่ละคนจึงมีสิทธิเลือกระดับความสูงที่ตัวเองพอใจ แล้วหย่อนชีวิตไว้ตรงนั้น 

เว้นเสียแต่ว่า คุณยังหาระดับความสูงที่ดีต่อใจไม่พบ จึงยังคงต้องท่องไปให้ทั่วแปดขุนเขา หรือพยายามดิ้นรนค้นหาเขาพระสุเมรุของตน จนกว่าจะเจอ

  • แปดขุนเขา เขียนโดย เปาโล คนเญตติ แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ สำนักพิมพ์ อ่านอิตาลี