©ulture

กลายเป็นข่าวที่คนทั้งประเทศจับตามอง เมื่อชาวนารายหนึ่งประกาศว่าจะฆ่าตัวตาย เพื่อรับเงินทำขวัญมูลค่านับแสนจากรัฐบาลมาจุนเจือครอบครัว 

สื่อโทรทัศน์ทุกสำนักจึงบุกไปยังหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดาร แล้วปักหลักถือกล้องตามติดชีวิตชาวนารายนั้น ลามไปถึงการยื่นไมค์สัมภาษณ์ชาวบ้านแถบนั้นให้วุ่นวายไปหมด 

พิพพลี’ หมู่บ้านเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครรู้จักจึงกลายเป็นชื่อที่ดังในชั่วข้ามคืน 

แม้เรื่องราวโอละพ่อทั้งหมดนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Peepli [Live] (2010) แต่สถานการณ์เข้มข้นในเรื่องนั้นสมจริงเสียยิ่งกว่าจริง ซึ่งต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับความสามารถของ อนุชา ริซว (Anusha Rizvi) ที่ทั้งเขียนบทและกำกับเอง ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเป็นนักข่าวมาก่อน จึงยิ่งทำให้เธอสามารถถ่ายทอดเนื้อแท้ของสื่อมวลชนได้อย่างถึงแก่น 

เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำเอา นาธาและพุทเธีย สองพี่น้องชาวนาถึงกับหลังชนฝา เมื่อพวกเขานำที่นาของบรรพบุรุษไปจำนองแล้วไม่มีเงินชำระหนี้ สมบัติชิ้นเดียวของตระกูลจึงกำลังจะถูกทางการยึดไปประมูลขายทอดตลาด 

ทั้งคู่จึงบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองประจำท้องถิ่น ที่นอกจากจะปฏิเสธความช่วยเหลือแล้ว ยังไล่ให้พวกเขาไปฆ่าตัวตาย เพราะหนังสือพิมพ์เพิ่งลงข่าวว่ารัฐบาลในอินเดียใต้ได้ออกนโยบายใหม่ โดยจะมอบเงินจำนวน 100,000 รูปี เป็นค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวชาวนาที่ฆ่าตัวตายเพราะหนี้สิน

peepli live
Photo: https://upperstall.com/film/peepli-live/

นาธาและพุทเธียมองหน้ากันด้วยความสิ้นหวัง ก่อนพุทเธียจะตัดสินใจว่านี่คงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เขาจึงทำทีอาสาเป็นผู้เสียสละ ยอมฆ่าตัวตายเพื่อนำเงินก้อนโตมาไถ่ที่ดินของครอบครัว ทำให้ นาธา น้องชายคนซื่อ ต้องขออาสารับทำหน้าที่นี้แทนพี่ชาย เกี่ยงกันอยู่ไม่นานนัก สุดท้ายนาธาก็ได้รับสิทธิในการฆ่าตัวตายไปครองแบบงงๆ 

นาธาควรจะได้ปลิดชีพตัวเองโดยสงบ ถ้าภารกิจครั้งนี้ไม่บังเอิญไปเข้าหูนักข่าวหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นเสียก่อน หนำซ้ำเบาะแสนี้ยังระแคะระคายไปถึงผู้ประกาศข่าวสาวจอมกัดไม่ปล่อยประจำสถานีโทรทัศน์ช่องดัง เธอจึงรีบขนทีมข่าวเฉพาะกิจมุ่งตรงไปยังหมู่บ้านพิพพลี เพื่อชิงทำสกู๊ปข่าวนี้เป็นเจ้าแรก พร้อมทิ้งคำถามตีแสกหน้าภาครัฐไว้ว่า “เขาจะฆ่าตัวตายแล้วประนามเรา หรือรัฐบาลจะช่วยเขาได้ทันเวลา

peepli live
Photo: https://gulfnews.com/world/asia/india/farmers-group-seeks-ban-on-screening-of-peepli-live-1.669600

ทันทีที่ข่าวนี้ออกอากาศ สื่อมวลชนเจ้าอื่นๆ จึงรีบยกโขยงบุกไปปักหลัก LIVE สด  หมู่บ้านไกลปืนเที่ยง เพื่อชิงส่วนแบ่งเรตติ้งจากเค้กก้อนโตชิ้นนี้มาครอง 

คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดง ผู้เฒ่าพ่อแก่ และเพื่อนบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในหมู่บ้านพิพพลี ต่างก็ต้องกลายเป็นแหล่งข่าวจำเป็นของบรรดานักข่าวที่กำลังหิวกระหายการสร้างคอนเทนท์ แม้จะไม่มีเพื่อนบ้านคนไหนรู้ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ดีไปกว่าสองพี่น้องชาวนา แต่เมื่อมีไมค์มาจ่อปาก พร้อมคำถามชี้นำจากนักข่าวจอมตื๊อ ชาวบ้านจึงจำยอมออกความเห็นไปตามความคาดเดาของตน 

เนื้อหาข่าวทะแม่งๆ ที่แต่ละช่องต่างก็รายงานไปตามเรื่อง จึงกลายเป็นข่าวคั่นเวลาที่ประชาชนให้ความสนใจได้ไม่ยาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว เนื้อหาที่สื่อทุกเจ้าเฝ้ารอคอยและต้องการถ่ายทอดสดให้ได้คือ วินาทีที่นาธากำลังฆ่าตัวตาย

peepli live
Photo: https://the-avocado.org/2021/05/26/wtf-asia-162-peepli-live-2010/

เนื้อหาขมขื่นใน Peepli [LIVE] ถูกเล่าในโทน ‘ขำ’ ขื่นที่เรียกยิ้มและเสียงหัวเราะ หึ หึ จากคนดูได้เป็นระยะ ทั้งจากบุคลิกซื่อเกินเหตุของนาธาความจู้จี้ขี้บ่นของเมียและแม่ของเขาความหัวหมอของพุทเธียความฉ้อฉลของนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ และพฤติกรรมกระหายข่าวจน ‘ล้น’ เกินเรื่องของสื่อมวลชนทุกเจ้า ที่อนุชาบรรจงหยอดแต่ละมุกไว้ในหนังได้อย่างมีจังหวะจะโคน 

แสบสันต์ที่สุดต้องยกให้วีรกรรมของกองทัพนักข่าว ที่แค่นาธาขยับตัวคว้าถังใส่น้ำ เพื่อจะเดินไปปลดทุกข์กลางทุ่ง พวกเขายังรีบหยิบไมค์สะพายกล้อง แล้ววิ่งตามไปถ่ายทอดสดคนกำลังจะเข้าส้วมกลางแจ้งแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง 

ร้อยละ 70 ของคนในประเทศเราขี้ในที่แจ้ง นี่เป็นการเปิดโปงถึงใจ!” นักข่าวรายหนึ่งให้เหตุผลแกมบังคับ เพื่อให้ช่างภาพประจำสำนักตามไปจับภาพคนนั่งยองๆ มาให้ได้

peepli live
Photo: https://www.timeout.com/movies/peepli-live-1

แม้ Peepli [LIVE] จะออกฉายมานานสิบปีแล้ว เนื้อหาในเรื่องก็ยังคงมีความเป็นอกาลิโก ที่สะท้อนให้เห็นถึงหลากหลายปัญหาที่ยังคาราคาซังเหมือนเดิม 

ยกตัวอย่างประเด็นชาวนาฆ่าตัวตายในอินเดียที่ในหนังระบุว่า “ทุกแปดชั่วโมงจะมีชาวนาในอินเดียฆ่าตัวตาย โดยตั้งแต่ปี 1998 – 2010 มีชาวนาฆ่าตัวตายไปแล้วกว่า 170,000 คน” ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปีเดียวกับที่หนังออกฉาย เมื่อสถานีโทรทัศน์เอ็นดีทีวีรายงานว่า ชาวไร่ฝ้ายในรัฐมหาราษฏระกว่า 30 คน พร้อมใจกันฆ่าตัวตายหมู่ เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเงินกู้ธนาคาร และเงินกู้ของเจ้าหนี้ท้องถิ่นได้ 

จากปัญหาของเกษตรกรก็นำไปสู่นโยบายเยียวยาจากรัฐบาล และจริยธรรมในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่พลอยทำให้เรื่องราวอีนุงตุงนังกว่าเดิม 

ตัวอย่างจากในหนัง เมื่อนักข่าวถามถึงแนวทางในการแก้ปัญหานี้ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรก็แจงนโยบายต่างๆ ยาวเป็นหางว่าว เช่น การยกเลิกเงินกู้ เพิ่มสินเชื่อ เริ่มนโยบายจัดการน้ำใหม่ๆ ไปจนถึงการออกแคมเปญเร่งด่วนที่ชื่อ ‘บัตรนาธา’ ซึ่งก็คือการรับเงินเยียวยาก้อนหนึ่ง ทำให้ทันทีที่ประกาศนโยบายนี้ออกไป ก็มีชาวนากว่า 65,000 คนสมัครบัตรนี้อย่างรวดเร็ว (แต่อาจจะมีเกณฑ์หมกเม็ดปลีกย่อย ที่ทำให้ชาวนาชวดเงิน)

peepli live
Photo: https://the-avocado.org/2021/05/26/wtf-asia-162-peepli-live-2010/

ในขณะที่นักข่าวตั้งป้อมจับจ้องแต่นาธา ทำให้แม้จะมีชาวนาอีกคนที่เพิ่งถูกยึดที่ดิน จนต้องหันมาขุดดินไปขายจนหมดแรงตาย กลับไม่มีใครแยแส ทำให้นักข่าวตัวเล็กๆ ในท้องถิ่นถึงกับตั้งคำถามกับผู้ประกาศข่าวระดับประเทศว่า ทำไมถึงไม่รายงานข่าวชาวนาคนนี้แทนที่เอาแต่ตามติดเฉพาะนาธา 

เธอตอบหน้าตาเฉยว่า ก็เพราะชาวนาคนนี้ไม่ได้ฆ่าตัวตาย เข้าทำนองหมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาสิถึงจะเป็นข่าว เธอจึงไม่ให้ราคากับชาวนาจนๆ ที่หมดแรงตายเพราะทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง 

อีกทั้งเธอยังย้ำถึงบทบาทสื่อมวลชนในมุมมองของตนว่า “จะไม่มีการแก้ปัญหาอะไรทั้งนั้น เราเป็นสื่อมวลชน นี่คืองานของเรา”  

ไม่ว่าบทสรุปชีวิตของนาธาใน Peepli [LIVE] จะออกมาเป็นเช่นไร แต่อย่างน้อยคนไทยที่ได้ชมภาพยนตร์อินเดียร่วมสมัยเรื่องนี้ คงไม่หลับตาข้างเดียวถึงขั้นมองไม่เห็นภาพสะท้อนหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเราเช่นกัน 

หากนโยบายบัตรคนจนก็ไม่ต่างอะไรกับบัตรนาธา หรือ กกกอก [LIVE] ก็ถือเป็นการใช้พื่นที่สื่อในการให้คุณค่ากับใครบางคนจนเกินพอดี เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Peepli [LIVE]   

ไม่แน่ว่าจากนี้เป็นต้นไป ทุกการนำเสนอข้อเท็จจริงในการรายงานข่าว อาจต้องขึ้นคำเตือนกำกับไว้ว่า “โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม”  

ติดตามชม Peepli [LIVE] ได้ทาง Netflix