“…จะดีแค่ไหนหากเมื่อหลายปีก่อนนั้นมีรถเร่ขายหนังสือแบบของคุณมิฟฟลินเดินทางไปถึงบ้าน เหมือนกับที่มีรถเร่ขายโอ่งมังกร พ่อค้าเร่ขายไม้กวาด และแม่ค้าเร่ขายเครื่องสำอางกับทัพเพอร์แวร์
แต่ดูเหมือนว่าในเวลานั้นหนังสือเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไป ไม่มีใครใส่ใจหรือไยดีจะดั้นด้นเร่ขาย ช่างน่าเสียดายจริงๆ”
ไอริสา ชั้นศิริ ผู้แปล ‘รถหนังสือเร่ของคนพเนจร’ (Parnassus on Wheels) เอ่ยความในใจปิดท้ายเล่ม เมื่อเธอเองก็รู้สึกโหยหารถหนังสือเร่ในจินตนาการ ซึ่งเชื่อว่าใครที่ได้อ่านผลงานของ คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์ (Christopher Morley) เล่มนี้จนจบ ล้วนต้องอยากให้มีรถหนังสือเร่คันจริงออกวิ่งขายหนังสือในละแวกบ้านเหมือนกัน
เพราะเมื่อลองนึกภาพตามตัวอักษรที่มอร์ลีย์บรรยายถึงบรรยากาศท้องทุ่งชนบทอันห่างไกลของอเมริกาในยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่การเดินทางไปไหนมาไหนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จู่ๆ ก็มีเกวียนเทียมม้าขนหนังสือมาเต็มห้องโดยสาร แล้วจอดเปิดแผงขายหนังสือดีส่งตรงถึงบ้าน มีหรือที่หนอนหนังสือในยุคที่ต้องไถหน้าจอดิจิทัลอ่านสารพันคอนเทนท์จนปวดตา จะอดใจไม่เพ้อถึงบรรยากาศโรแมนติกแบบนั้นไหว
เป็นใครก็ต้องอยากทำเหมือนกับนางสาวเฮเลน แม็คกิลล์ ในเรื่อง ที่บอกลากิจวัตรงานบ้านรายวันที่แสนจะจำเจ แล้วทุ่มเงินเก็บทั้งหมดไปกับการซื้อกิจการรถหนังสือเร่ต่อจากนายมิฟฟลิน เพื่อที่เธอจะได้หันหลังให้ชีวิตสาวโสดทึนทึก แล้วออกไปเผชิญโลกโดยมีรถหนังสือเร่ (และคนพเนจรอีกคน) เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง
ถึงจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็แฝงไว้ซึ่งนัยของโลกแห่งความจริงที่ไม่ได้สวยหรู การขับเกวียนพเนจรไปตามหมู่บ้านต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่การท่องโลกเพื่อความสนุกไปวันๆ เพราะแค่เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม หรือความโรแมนติกไม่สามารถทำให้ท้องอิ่ม แต่การต้องขายหนังสือให้ออกเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพต่างหากคือของจริง
ไม่ว่าชะตากรรมของเฮเลนและมิฟฟลินจะจบลงอย่างไร ท้ายที่สุดแล้ว คุณงามความดีของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การกระตุ้นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนกล้าที่จะทำตามความฝันให้เป็นจริง ดังตัวอย่างของร้านหนังสือติดล้อ 5 คันนี้ ที่ต่างก็ตระเวนขายหนังสือเล่มไปทั่วประเทศอเมริกา เพราะพวกเขาเชื่อว่า การอ่านหนังสือจากหน้ากระดาษและการอุดหนุนร้านหนังสือ คือ สารัตถะสำคัญแห่งชีวิต
1.
Parnassus Bookmobile
ม้าบินสีฟ้าที่มาพร้อมสุนัขนักขาย
พิกัด: เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี
รถหนังสือเร่สีฟ้าที่มีชื่อเล่นว่า เพ็กกี้ (Peggy) คันนี้ เป็นการเติมเต็มความฝันของ แคเรน ฮาเยส (Karen Hayes) หุ้นส่วนร้านหนังสือ Parnassus Books ร้านหนังสืออิสระประจำเมืองแนชวิลล์ ที่เปิดบริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2011 แน่นอนว่าชื่อร้านได้รับอิทธิพลมาจากนิยายรักเล่มบางของ คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์ โดยตรง
“ก่อนเปิดร้านหนังสือพาร์นาซัส ฉันแอบคิดเล่นๆ ว่าจะสนุกแค่ไหนนะ ถ้าวันหนึ่งเราได้เป็นเจ้าของรถหนังสือเร่ Parnassus on Wheels ขึ้นมาจริงๆ” แคเรนเผยถึงความฝันที่ซ่อนไว้ลึกๆ ในใจ
ผ่านไป 5 ปี ฝันของแคเรนก็เป็นจริง เมื่อเธอเสิร์ชเจอรายชื่อรถแวนขายหนังสือที่ปลดระวางแล้วในเว็บไซต์ eBay ที่พอจะสู้ราคาไหว และเมื่อปรึกษาหุ้นส่วนคนสำคัญของร้านอย่าง แอนน์ แพทเช็ตต์ (Ann Patchett) นักเขียนหญิงชาวอเมริกันชื่อดัง ปรากฏกว่าแอนน์ซื้อไอเดียนี้ ทำให้ ‘เพ็กกี้’ รถหนังสือเร่สีฟ้าคันโตได้โลดแล่นออกเดินทางตระเวนขายหนังสือไปทั่วเมืองแนชวิลล์
และถ้า Parnassus on Wheels ในนิยายมีสุนัขอย่างเจ้าบอคเป็นสมาชิกตัวสำคัญบนรถเร่ ในร้านหนังสือพาร์นาซัสและบนรถเร่เพ็กกี้เองก็มีเจ้าตูบถึง 3 ตัว อย่างเบลล์ สปาร์กกี้ และโอปี้ คอยรับแขกเช่นกัน
“ฉันอยากให้เพ็กกี้ได้รับความนิยมเหมือนกับรถขายไอศกรีมในวัยเด็ก ที่ใครๆ ต่างก็รอคอยจะโบกให้จอด ฉันอยากเห็นผู้คนเลือกซื้อหนังสือจากรถคันนี้ด้วยความโหยหาแบบนั้น” แอนน์หวังใจไว้เช่นนั้น
ติดตามการเดินทางของรถหนังสือเร่แห่งแนชวิลล์ได้ที่ twtr: ParnassusTruck
2.
The Book Bus
เปิดท้ายขายหนังสือบนโฟล์คสีเขียวมิ้นต์
พิกัด: เมืองซินซินแนติ รัฐโอไฮโอ
ทันทีที่ เมลานี มัวร์ (Melanie Moore) เกษียณจากการเป็นครูมานานกว่า 25 ปี เมื่อปี 2017 เธอก็เดินหน้าทำตามความฝันในการเปิดร้านหนังสือทันที โดยหาข้อมูลไว้พร้อมสรรพ และเดินเรื่องเช่าพื้นที่เตรียมเปิดร้านในปี 2018 เป็นที่เรียบร้อย
แต่แล้วก่อนถึงวันเซ็นสัญญาเช่าร้านเพียงหนึ่งคืน เธอเกิดความลังเลใจและฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า นี่เป็นการลงทุนไปกับเงินก้อนโตที่จะตามมาด้วยค่าโสหุ้ยอีกพะเรอเกวียน เธอจึงตัดสินใจพักไอเดียในการเปิดร้านหนังสือไว้ก่อน
และแล้ว ไอเดียในการเปิด ‘รถ’ ขายหนังสือก็ปิ๊งเข้ามาในหัว หลังจากเมลานีได้อ่าน Parnassus on Wheels หนังสือเปี่ยมเสน่ห์ที่ทำให้นักอ่านทั่วโลกเฝ้าฝันถึงการเป็นเจ้าของรถขายหนังสือเร่มานานร่วมศตวรรษ
เมลานีมั่นใจว่าตนสามารถทำไอเดียนี้ให้เป็นจริงได้ เธอจึงลงมือติดล้อให้ฝันได้เป็นจริงด้วยการดัดแปลงรถกระบะโฟล์คสวาเกนปี 1962 สีเขียวมิ้นต์ของสามี เป็นร้านหนังสือ แล้วให้ชื่อว่า The Book Bus
และในเมื่อไม่ต้องลงทุนไปกับค่าซื้อพาหนะ อีกทั้งเธอยังขนเอาหนังสือสะสมส่วนตัวมาวางขาย ทำให้ต้นทุนในการเปิดรถหนังสือเร่ของเมลานีค่อนข้างต่ำ เธอใช้เงินไปประมาณ 5,000 ดอลลาร์เป็นค่าเปลี่ยนเบรคและคลัทช์ใหม่ให้รถแล่นได้อย่างไม่ติดขัด ลงทุนไปกับการทำสินค้าที่ระลึกประจำร้าน อาทิ เสื้อยืด แก้วน้ำ รวมถึงค่าจดทะเบียนร้านค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เมลานีเริ่มออกเร่ขายหนังสือในเดือนธันวาคม ปี 2018 โดยเลือกจอดร้านใกล้ๆ คาเฟ่ หรือจอดตามตลาดนัด และในงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นในเมือง ซึ่งผู้คนก็ให้การตอบรับรถโฟล์คสีเขียวมิ้นต์ที่บรรทุกหนังสือมาเต็มพิกัดคันนี้อย่างอบอุ่น
ลูกค้าหลักของเมลานีส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวอายุ 25 ปีขึ้นไป เธอจึงต้องเลือกหนังสือให้ถูกจริตกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ให้มากที่สุด เพราะพื้นที่วางหนังสือบนรถมีจำกัด จึงต้องคัดเฉพาะเล่มที่โดนและขายได้เท่านั้น ซึ่งมักเป็นนิยายสำหรับผู้ใหญ่
ส่วนหนังสือที่ขายดีที่สุดตั้งแต่เปิดร้านมา ได้แก่ หนังสือที่เธอหิ้วมาเองจากประเทศอังกฤษ และไม่มีวางขายในอเมริกา “เท่าที่รู้ ร้านเราเป็นแห่งเดียวในอเมริกาที่มีหนังสือของสำนักพิมพ์ Persephone ของอังกฤษวางขาย” เธอเล่าถึงจุดเด่นที่ร้านอื่นยากจะลอกเลียน
นอกจากความสุขของเธอจะเป็นการตั้งใจเลือกหนังสือด้วยตัวเองทุกเล่ม และสนุกกับการได้พบปะพูดคุยกับคนรักหนังสือไม่เว้นแต่ละวัน เธอยังนำกำไรจากการขายไปซื้อหนังสือสำหรับเด็กแล้วมอบให้ห้องสมุดในโรงเรียนที่ขาดแคลน
และแม้จะเพิ่งเปิดร้านได้ไม่นานก็ต้องเจอกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ The Book Bus ไม่สามารถแล่นไปขายหนังสือได้อย่างเคย เธอก็ปรับตัวได้ไว โดยหันมาขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ จัดกิจกรรมบุ๊คคลับผ่าน Zoom (ซึ่งได้รับการตอบรับดีเกินคาด) และให้เช่ารถโฟล์คคันเก่งสำหรับถ่ายภาพหรือจัดงานวันเกิด ซึ่งเธอยังนำหนังสือมาขายในปาร์ตี้ของลูกค้าที่เช่ารถเธอได้ด้วย แน่นอนว่าเมลานีเคร่งครัดในกติการักษาระยะห่างทางสังคมเป็นอย่างดี จนกว่าจะถึงวันที่ The Book Bus จะสามารถออกตระเวนแล่นขายหนังสือทั่วเมืองซินซินแนติได้อีกครั้ง
ติดตามการเดินทางของรถหนังสือเร่แห่งซินซินแนติได้ที่ ig: cincybookbus
3.
Twenty Stories
รถตู้ขายหนังสือคัดสรรที่มีเพียง 20 ปกเท่านั้น
พิกัด: เมืองพรอวิเดนซ์ รัฐโรดไอแลนด์
รถแวนขวัญใจชาวเมืองพรอวิเดนซ์คันนี้ไม่ได้ขนหนังสืออะไรก็ได้มาขาย แต่ ‘คัด’ เฉพาะหนังสือเนื้อหาดี เดือนละ 20 ปก มาเสนอขายแด่หนอนหนังสือโดยเฉพาะ
ไอเดียนี้เป็นของ อเล็กซา เทรมบ์ลี (Alexa Trembly) และ อีโมรี ฮาร์กินส์ (Emory Harkins) ที่เคยใช้ชีวิตในเมืองลอสแองเจลิสมาก่อน ซึ่งพลังของเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมรถขายอาหารที่มีอยู่ทั่วทุกหัวถนน ทำให้ทั้งคู่ปิ๊งไอเดียในการขนวรรณกรรมชั้นดีใส่รถ แล้วเร่ขายให้ผู้คนได้ชิมอาหารสมองดูบ้าง
และก็เหมือนกับรถขายอาหารแต่ละคันที่ไม่ได้ทำอาหารทุกชนิดในโลก ร้านหนังสือของอเล็กซาและอีโมรีจึงใส่ใจในการเลือกหนังสือที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่าดี ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม สารคดี บทกวี ฯลฯ เพียงเดือนละ 20 ปกเท่านั้น ที่ถือเป็นรสชาติเฉพาะของร้านหนังสือ ‘20 เรื่องราว’
ร้านหนังสือ Twenty Stories จึงถือกำเนิดขึ้นที่ลอสแองเจลิสในปี 2017 ก่อนจะย้ายมาลงหลักปักฐานที่พรอวิเดนซ์ โดยมีทั้งหน้าร้านและรถหนังสือเร่ที่ดัดแปลงมาจากรถแวนวินเทจรุ่นปี 1987 ออกวิ่งไปหาที่จอดเหมาะๆ แล้วปักหลักขายหนังสือเดือนละ 20 ปก เป็นประจำทุกวันหยุดสุดสัปดาห์
ติดตามการเดินทางของรถหนังสือเร่แห่งพรอวิเดนซ์ได้ที่ fb: Twenty Stories
4.
St.Rita’s Amazing Traveling Bookstore and Textual Apothecary
รถตู้ขายหนังสือมือสอง ที่มาพร้อมข้าวของจิปาถะ
พิกัด: เมืองยูเรกา รัฐมอนแทนา
เพราะเชื่อว่าหนังสือไม่ได้เป็นเพียงอาหารสมอง แต่มากด้วยสรรพคุณในการเป็นยาที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้คนให้เข้มแข็งขึ้นได้ รถแวนที่ขนหนังสือมือสองมาเต็มคันรถ พร้อมด้วยโปสการ์ด บัตรอวยพร ไปจนถึงพิมพ์ดีดรุ่นเดอะที่ตั้งไว้ให้พิมพ์อะไรก็ได้ จึงเริ่มออกตระเวนเยียวยาจิตวิญญาณของผู้คนทั่วเมืองยูเรกาตั้งแต่ปี 2015 เรื่อยมา
และมีหลายครั้งเหมือนกันที่ รถหนังสือเร่ชื่อยาวเหยียดคันนี้ออกตระเวนแล่นข้ามหลายรัฐไปทั่วสหรัฐอเมริกา St.Rita’s Amazing Traveling Bookstore and Textual Apothecary จึงกลายเป็นรถขายหนังสือเร่ที่คนอเมริกันคุ้นตามากที่สุด
นอกจากจะตั้งชื่อร้านหนังสือตามชื่อของตัวเองแล้ว ริต้า คอลลินส์ (Rita Collins) ตั้งใจอุทิศชื่อนี้ให้กับนักบุญริต้า ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการทำภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งชื่อมงคลนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ใครต่อใครพากันหลงรักรถตู้ที่ขนความรู้และความสุขไปแจกจ่ายอเมริกันชนในทุกหัวระแหง
รถหนังสือเร่ของริต้าไม่ได้ขายเฉพาะหนังสือมือสองหลากหลายแนวเท่านั้น แต่หนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนแวะเข้าไปทักทายรถตู้คันนี้ อยู่ตรงเครื่องพิมพ์ดีด Olympia สีเบจสุดคลาสสิค ที่ริต้าตั้งไว้บนโต๊ะเพื่อให้ใครก็ได้นั่งลงบรรจงพิมพ์สิ่งที่อยากระบายสู่หน้ากระดาษ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่หาโอกาสทำได้ยากยิ่งในยุคที่เครื่องพิมพ์ดีดแทบจะกลายเป็นของเก่าพ้นสมัยที่ถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์
จุดเริ่มต้นของริต้าก็เหมือนนักอ่านอีกค่อนโลก ที่ฝันอยากมีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง แต่เมืองยูเรกาที่เธออาศัยอยู่เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 1,000 คน ดังนั้นจึงไม่คุ้มแน่ถ้าจะเปิดร้านหนังสือแล้วรอให้คนเดินเข้ามาซื้อ
เธอจึงนึกถึงไอเดียรถขายหนังสือเร่ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Dylans Mobile Bookstore รถหนังสือเร่แห่งเวลส์ ซึ่งริต้าเองก็ติดต่อขอคำแนะนำจาก เจฟฟ์ ทาวส์ (Jeff Towns) เจ้าของรถหนังสือเร่ดีแลนส์ที่แล่นขายหนังสือบนเกาะอังกฤษมาตั้งแต่ต้นปี 2000 จนเมื่อมองเห็นความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เธอจึงตัดสินใจซื้อรถตู้มือสองยี่ห้อ Sprinter มาดัดแปลงเป็นร้านหนังสือในทันที
ในระยะแรก หนังสือมือสองที่เธอนำมาขายนั้นได้มาจากเพื่อนๆ ช่วยกันบริจาคให้คนละนิดละหน่อย และหลังจากตระเวนขายหนังสือไปทั่วประเทศ เธอก็แทบจะไม่ต้องหาซื้อหนังสือมาขายเพิ่มอีกเลย เพราะลูกค้าของเธอเองนั่นแหละที่ทยอยนำหนังสือมือสองมาเติมให้เธออย่างสม่ำเสมอ ทำให้ ‘ร้านหนังสือเร่ของนักบุญริต้า’ มีตัวเลือกของหนังสือครบรสหลากแนว โดยเธอยังแบ่งหนังสือส่วนหนึ่งไปบริจาคให้แก่ห้องสมุดสาธารณะและห้องสมุดในเรือนจำหลายแห่งอีกด้วย
ติดตามการเดินทางของรถหนังสือเร่แห่งเมืองยูเรกาได้ที่ ig: stritasbooks
5.
The Story House
รถรางขวัญใจเด็กวัยเรียน
พิกัด: เมืองร็อควิลล์ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี.
“ในนี้เจ๋งเวอร์!” เด็กทุกคนที่ได้ขึ้นไปบนรถรางคันนี้ต่างก็พูดประโยคนี้เป็นเสียงเดียวกัน เพราะที่นี่คืออาณาจักรแห่งนิทาน วรรณกรรมเยาวชน หนังสือภาพ ฯลฯ สำหรับเด็กโดยเฉพาะ
รถรางขายหนังสือเด็กชื่อ The Story House คันนี้เป็นผลิตผลแห่งความตั้งใจของ เดบราห์ โบดิน โคเฮน (Deborah Bodin Cohen) นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนและครูสอนศาสนาชาวยิว ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระ ที่เธอเฉพาะเจาะจงว่า ต้องเป็นร้านหนังสือเด็กเท่านั้น
ทีแรกเดบราห์ก็อยากจะเปิดหน้าร้านตามปกติ ติดที่ค่าเช่าแพงหูฉี่ และมีบางคนแนะนำว่า ไปขายตามเทศกาลหนังสือคุ้มกว่า ซึ่งการจะขนหนังสือไปขายได้ก็ต้องใช้พาหนะคันใหญ่พอสมควร โดยสเปคของรถขายหนังสือที่เธอวาดไว้ในใจจะต้องมีหน้าต่าง และเล็กกว่ารถบ้านทั่วๆ ไป
เดือนมิถุนายน ปี 2016 ระหว่างที่จินตนาการถึงหน้าตาของรถขายหนังสือไปพลาง เดบราห์ในวัย 48 ปี ก็เข้าเว็บไซต์ Kickstarter เพื่อระดมทุนไปด้วย โดยเธอตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 ดอลลาร์ และแม้จะระดมทุนได้ไม่ครบตามเป้า แต่เธอก็ถูกชะตารถรางสีขาวปลดระวาง ที่เคยแล่นให้บริการในเส้นทางจากชายฝั่งตะวันออกไปนิวยอร์คและมิสซิสซิปปี้มานานกว่าสองทศวรรษ เข้าให้แล้ว
เดบราห์ใช้เวลาหัดขับรถรางอยู่ 2 วัน และทำเรื่องจดทะเบียนร้านให้เรียบร้อยเสร็จสรรพ ถึงจะเริ่มสั่งหนังสือมาขาย โดยได้คำแนะนำจากเจสส์และเอซร่า ลูกชายของเธอ ให้เลือกซื้อหนังสือเล่มนั้น ซีรีส์นี้ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของเด็กๆ นอกจากนี้ ยังได้แอเดรียนา ลูกสาวคนโต อาสาช่วยทำความสะอาดชั้นหนังสือเป็นประจำ
ล้อของ The Story House เริ่มหมุนเพื่อตระเวนขายหนังสือในละแวกมณฑลมอนโกเมอรีในปี 2017 โดยมีจุดจอดประจำที่หน้าโรงเรียนประถมเชฟวี่ เชส และกลายเป็นขวัญใจของชาวเมืองในเวลาไม่นาน
เพราะ The Story House ไม่ได้เป็นแค่ร้านหนังสือเด็กของนักเขียนเรื่องสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนด้วยไอเดียของเด็กอีก 3 คน ซึ่งเป็นลูกๆ ของเดบราห์ ที่ช่วยเลือกหนังสือมาขาย และแลกเปลี่ยนไอเดียในการตกแต่งรถรางคันนี้ให้กลายเป็นสถานที่สุดมหัศจรรย์สำหรับเพื่อนตัวจิ๋ววัยเดียวกัน
“เพื่อนที่โรงเรียนชอบเอาของเจ๋งๆ มาอวดกัน ผมล่ะรอวันที่แม่จะขับรถรางไปจอดหน้าโรงเรียน จะได้อวดเพื่อนบ้างว่า ผมก็มีของเจ๋งๆ แถมยังชิ้นใหญ่ที่สุดอีกต่างหาก” เจสส์กับความภูมิใจในร้านหนังสือประจำครอบครัว
ติดตามการเดินทางของรถหนังสือเร่แห่งเมืองร็อควิลล์ได้ที่ fb: The Story House – Bookstore on Wheels
อ้างอิง
- Parnarsusmusing. Parnassus on Wheels: Nashville’s Bookmobile Hits the Road. https://bit.ly/35L6gE5
- Katie Coburn. The Book Bus is the Cutest Bookstore on Wheels. https://bit.ly/2TSFN4R
- Rachel Kramer Bussel. Why A Retired Cincinnati Teacher Started The Book Bus, A Mobile “Bookstore On Wheels”. https://bit.ly/3j2kUP5
- Abha Bhattarai. Writer’s next venture: A children’s bookstore on wheels. https://wapo.st/3gUIFGh
- Ellen Ryan. One for the Books: A Rockville rabbi shifts gears with a trolley for young readers. https://bit.ly/3gUIZot
- Britta Shoot. The Adventures of America’s Most Well-Traveled Bookstore. https://bit.ly/3vWC9nQ