life

เกิดเหตุระทึกในประเทศอังกฤษช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อหญิงสาวรายหนึ่งตั้งใจจะกระโดดลงมาจากสะพานข้ามมอเตอร์เวย์ เพื่อปลิดชีพตนเอง แต่เธอเลือกกลับชะงักงัน เมื่อ ‘ดิกบี้’ ค่อยๆ เดินเข้ามาหาเธอ 

และโดยไม่ต้องใช้วาทศิลป์ใดๆ ในการเกลี้ยกล่อม แค่หญิงสาวหันมาเห็นดิกบี้ เธอก็ยิ้มออก พร้อมกับปีนข้ามราวสะพานกลับมาแต่โดยดี 

ดิกบี้ไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งเพื่อนสนิท คนในครอบครัว หรือคนรักของหญิงสาว เป็นก็เพียงสุนัขพันธุ์ออสเตรเลียน ลาบราดูเดิ้ล ที่ได้รับการฝึกให้เป็น ‘สุนัขนักบำบัด มืออาชีพ

therapy dog
ดิกบี้ สุนัขบำบัดประจำหน่วยดับเพลิงในประเทศอังกฤษ
Photo: https://www.bbc.com/news/uk-england-devon-57498005

ดิกบี้ร่วมงานในฐานะสุนัขนักบำบัดประจำหน่วยดับเพลิงและกู้ชีพ Devon and Somerset มาตั้งแต่ปี 2018 โดยในครั้งนี้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเกลี้ยกล่อมหญิงสาวอยู่นาน แต่ไม่เป็นผล ซ้ำสถานการณ์ดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

therapy dog
Photo: https://www.bbc.com/news/uk-england-devon-57498005

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ร่วมปฏิบัติงานในครั้งนั้นจึงแนะให้พาดิกบี้มาช่วยกู้สถานการณ์ เพราะมันเคยบำบัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงรายหนึ่งให้ดีขึ้นจากอาการซึมเศร้ามาก่อน ซึ่งดิกบี้ก็สร้างผลงานในครั้งนี้ได้สมความคาดหมาย

therapy dog
ทหารชาวยูเครนสวมกอด ‘ริกกี้’ สุนัขนักบำบัด ที่ถูกฝึกมาเพื่อเยียวยาจิตใจของเหล่าทหารผ่านศึกให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทรงจำเลวร้ายไปได้
Photo: Sergei CHUZAVKOV / AFP

สำหรับประเทศในแถบตะวันตกนั้น คุ้นเคยกับสุนัขนักบำบัด (Therapy Dog) เป็นอย่างดี เพราะเป็นสุนัขที่ผ่านการฝึกให้พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตามบ้านพักผู้สูงวัย โรงพยาบาลเด็ก สถานพักฟื้นผู้ป่วย โรงเรียน หรือศูนย์พักฟื้นช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ 

แต่ถึงจะดูคล้าย ทว่า Therapy Dog มีความแตกต่างจาก Service Dog และ Emotional Support Animal ที่เราอาจจะคุ้นตากว่า เช่น สุนัขนำทางคนตาบอด สุนัขดมกลิ่น สุนัขกู้ภัย ฯลฯ

therapy dog
เด็กหญิงวัย 8 ขวบกำลังนั่งอ่านหนังสือข้างๆ ‘โมนา’ สุนัขนักบำบัด ในห้องสมุดแห่งชาติประเทศลิธัวเนีย โดยมีนักจิตวิทยาดูแลอย่างใกล้ชิด ภายใต้โปรแกรมส่งเสริมการอ่านในเด็ก ที่ระบุว่าการนั่งอ่านหนังสือกับสุนัขวันละ 15 นาที ทำให้เด็กมีสมาธิและจดจำได้ดีกว่าเรียนกับครูในห้องเรียน
Photo: Petras Malukas / AFP

เพราะ Service Dog หมายถึง สุนัขที่ได้รับการฝึกเป็นพิเศษสำหรับดูแลเจ้าของสุนัขเพียงคนเดียว โดยเจ้าของจะเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในชีวิตประจำวัน เช่น ตาบอด เป็นโรคลมชัก เบาหวาน หรือเป็นผู้พิการนั่งรถเข็น เป็นต้น 

Service Dog ที่ถูกฝึกอย่างเข้มข้นตั้งแต่ตอนเป็นลูกสุนัขจนถึง 2 ขวบ จึงสามารถช่วยนำทาง ช่วยเปิดประตู กดรับโทรศัพท์ หรือเห่าแจ้งเหตุอาการป่วยได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้ ในฐานะสุนัขกู้ภัยและสุนัขดมกลิ่น 

ส่วน Emotional Support Animal นั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแค่สุนัข แต่เป็นสัตว์ประเภทใดก็ได้ที่ได้รับการฝึกให้สามารถดูแลและอยู่เคียงข้างเจ้าของได้ โดยเจ้าของมักเป็นผู้เจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ หน้าที่ของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จึงเป็นการอยู่เคียงข้างเจ้าของเพื่อคอยให้ความรัก ความอุ่นใจ โดยสถานพยาบาลจะต้องออกจดหมายรับรองผู้ป่วย เพื่อให้สุนัขสามารถติดตามไปในสถานที่ต้องห้ามได้ เช่น ร้านอาหาร หรือบนเครื่องบิน

therapy dog
มิสเตอร์ดาร์ซี เป็นหนึ่งในสุนัขนักบำบัดที่พร้อมทำหน้าที่คลายเครียดให้แก่นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขัน Pan American Games 2015 
Photo: EVA HAMBACH / AFP

สำหรับ Therapy Dog นั้น เป็นการทำงานแบบแพ็คคู่ โดยทั้งเจ้าของและสุนัขจะได้รับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาทักษะหลากหลายด้าน มีการทดสอบ และฝึกงานในสถานที่จริง เช่น โรงพยาบาลเด็ก บ้านพักผู้สูงวัย สถานบำบัดทางจิตเวช ฯลฯ ก่อนจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง เพื่อให้ทั้งคนและสุนัขบำบัดสามารถออกปฏิบัติหน้าที่ในฐานะจิตอาสา เพื่อสร้างความสุข มอบรอยยิ้มและความผ่อนคลายทางกายและใจให้แก่ผู้อื่น 

ดังนั้น ในวันปกติ สุนัขบำบัดก็ยังคงเป็นสมาชิกสี่ขาประจำบ้าน ที่มอบความรักและความสุขให้คนในครอบครัวตามปกติ แต่วันใดก็ตามที่เจ้าของต้องการออกปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เพื่อนร่วมสังคม เมื่อนั้นสุนัขประจำบ้านจึงค่อยเปลี่ยนมาสวมบทสุนัขนักบำบัด ให้เด็กๆ ผู้สูงวัย ผู้ป่วย ผู้พิการ ฯลฯ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ได้รับความสุขจากเพื่อนซี้สี่ขาของมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน 

กำเนิดสุนัขนักบำบัด 

แนวคิดในการนำสุนัขหรือสัตว์มาช่วยในการบำบัดนั้นเริ่มต้นในยุโรปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยในปี 1860 มารดาแห่งวิชาชาชีพพยาบาลอย่าง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ค้นพบว่า เมื่อผู้ป่วยจิตเวชได้ใช้เวลากับสัตว์ตัวเล็กจะมีความกระวนกระวายลดลง

therapy dog
ฟรอยด์กับโจฟี
Photo: https://barkpost.com/wp-content/uploads/2014/09/PJ-AY438_HEALTH_G_20101220211203.jpg

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ก็สนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน โดยเขาเชื่อว่าสุนัขสัมผัสได้ถึงระดับความเครียดของคน เขาจึงใช้สุนัขสื่อสารกับผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยเล่นกับโจฟี สุนัขพันธุ์เชาเชาของเขาก่อน เพื่อแง้มประตูแห่งความไว้วางใจ จากนั้นเขาจึงค่อยเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา 

การเริ่มต้นฝึกสุนัขเพื่อเป็นนักบำบัดอย่างจริงจัง เริ่มในปี 1976 โดย อีเลน สมิธ (Elaine Smith) พยาบาลชาวอเมริกันที่ขณะทำงานในประเทศอังกฤษ เธอสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เมื่อได้เล่นกับสุนัขบำบัด จึงนำแนวคิดนี้กลับไปใช้ในสถานพยาบาลในสหรัฐอเมริกา และเริ่มต้นการฝึกสุนัขนักบำบัดขึ้น ก่อนที่แนวทางนี้จะแพร่หลายไปยังหลายประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน 

สโมกกี้สุนัขบำบัดตัวแรกของโลก 

ยากจะเจาะจงแน่ชัดว่าสุนัขบำบัดตัวแรกของโลกเป็นใครกันแน่ อาจจะเป็นโจฟีของฟรอยด์ หรือ จิงเกิ้ลส์ สุนัขพันธุ์โกลเดนรีทรีฟเวอร์ สุนัขบำบัดประจำสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association หรือ APA) ที่รับหน้าที่บำบัดเด็กที่ป่วยด้วยโรคออทิสติกในทศวรรษ 1960 

แต่ในวงกว้างมักให้การยอมรับ สโมกกี้ เป็นสุนัขบำบัดตัวแรกของโลก

therapy dog
สโมกกี้ในหมวกทหาร
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Smoky_(dog)

สโมกกี้เป็นสุนัขพันธุ์ยอร์คเชียร์เทอร์เรียตัวจิ๋ว น้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัม ไม่รู้วันเดือนปีเกิดที่แน่ชัด รู้แต่ว่าถูกพบโดยบังเอิญในหลุมหลบกระสุนเมื่อปี 1944 โดยทหารนายหนึ่งที่กำลังรบอยู่ในป่านิวกินี 

หมาจิ๋วแห่งสนามรบถูกเปลี่ยนมือในวงไพ่โป๊กเกอร์ โดยสิบโทวิลเลียม วินน์ (William Wynne) ช่างภาพสงครามประจำกองทัพสหรัฐฯ รับซื้อสุนัขตัวนี้ในราคา 2 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 6.44 ดอลลาร์สหรัฐในสมัยนั้นและให้ชื่อว่า สโมกกี้

therapy dog
วินน์กับสโมกกี้
Photo: https://www.huffpost.com/entry/smoky-the-yorkshire-terrier_n_4110586

สองปีต่อมา สโมกกี้ถูกสิบโทวินน์พกติดกระเป๋าไปบันทึกภาพการรบทั่วสมรภูมิแปซิฟิคตอนใต้ เผชิญทั้งไต้ฝุ่นในโอกินาวา และประสบกับความโหดร้ายของสงครามไม่ต่างจากทหารร่วมรบ แต่ในเวลาว่าง สิบโทวินน์ก็มักจะฝึกสโมกกี้ให้รู้จักทำตามคำสั่งเบื้องต้นจนคล่องแคล่ว กลายเป็นขวัญใจประจำหน่วยรบไปโดยปริยาย

therapy dog
สโมกกี้ปฏิบัติหน้าที่สุนัขนักบำบัดในโรงพยาบาลที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนมิถุนายน ปี 1945
Photo: https://www.huffpost.com/entry/smoky-the-yorkshire-terrier_n_4110586

บทบาทสุนัขนักบำบัดของสโมกกี้เริ่มขึ้นเมื่อสิบโทวินน์ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จนต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลในนิวกินีนาน 5 วัน 

เพื่อนของนายทหารกลัวทั้งคนทั้งหมาจะเหงา เลยแอบพาสโมกกี้เข้าไปอยู่เป็นเพื่อนวินน์ในห้องพักฟื้น ซึ่งนางพยาบาลหลายๆ คนก็พบว่า ยอร์คเชียร์เทอร์เรียตัวนี้ไม่ได้ช่วยคลายเหงาให้เจ้าของคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นยาชูกำลังใจชั้นดีที่ช่วยให้ทหารที่กำลังบาดเจ็บหลายนายมีอาการดีวันดีคืนอย่างเห็นได้ชัด 

เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงหู ดร.ชาร์ล มาโย (Dr. Charles Mayo) แห่งมาโยคลินิก ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น เขาได้สั่งการให้สโมกกี้สามารถเดินออกตรวจคนไข้ร่วมกับหมอได้ และอนุญาตให้สโมกกี้นอนค้างคืนกับวินน์ได้ตลอดทั้ง 5 คืน จึงถือว่านี่เป็นการออกปฏิบัติงานครั้งแรกของสุนัขนักบำบัดตัวแรกของโลก ที่รับหน้าที่นี้จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อเนื่องจนสิ้นอายุขัยของมัน

therapy dog
สโมกกี้นอนหลับและจากไปอย่างสงบในวัย 14 ปี ในปี 1957 หลังเกษียณจากการเป็นสุนัขบำบัดได้ 2 ปี
Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Smoky_(dog)

ข่าวของสุนัขนักบำบัดตัวนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทหาร ใจความสำคัญว่าด้วยผลดีของการฝึกสุนัขให้สามารถช่วยฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยของทหารผ่านศึกได้ดี จึงได้มีการทดลองนำสุนัขไปบำบัดในหลายๆ โรงพยาบาลทั่วสหรัฐอเมริกา เช่น ศูนย์พักฟื้นของกองทัพอากาศในนิวยอร์คที่ทดลองนำสุนัขไปช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วย ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี จึงได้มีการนำสุนัขนักบำบัดเข้าไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมากขึ้น 

จากการสำรวจในปลายปี 1947 พบว่ามีสุนัขบำบัดประมาณ 700 ตัว ได้รับการฝึกเพื่อช่วยรักษาอาการบาดเจ็บทั้งทางกายและใจของทหาร ก่อนจะพัฒนาไปสู่การบำบัดเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน 

สุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย 

หลังจากที่ชาวตะวันตกรู้จักฝึกสุนัขให้มีสถานะเป็นนักบำบัด และทำงานร่วมกับมนุษย์มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทยเองก็มีคอร์สฝึกสุนัขนักบำบัดด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ “สุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย” (Therapy Dog Thailand by allfine)

therapy dog
Photo: facebook.com/therapydogthailand

แนวคิดในการสร้างชุมชนสุนัขนักบำบัดขึ้นในประเทศไทย เกิดจากประสบการณ์ตรงของ โอ – ศิริวรรณ โอสถารยกุล ที่พบว่าผู้สูงวัยในครอบครัวค่อยๆ ฟื้นตัวจากอาการป่วย หลังจากได้สัมผัส ลูบ กอด สุนัขภายในบ้านเป็นประจำ 

เธอจึงเริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสุนัขนักบำบัดมากขึ้น จนพบกับหลักสูตรสุนัขนักบำบัดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ชื่อ Therapy Dog Association Switzerland VTHS ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเธอ ศิริวรรณจึงชักชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 5 คน ร่วมกันก่อตั้ง allfine Social Enterprise ขึ้น และวางรากฐานหลักสูตร “สุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย” เพื่อให้เจ้าของสุนัขที่มีความพร้อมได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการนำสุนัขของตนมาเป็นเครื่องมือในการบำบัดตัวเอง คนในครอบครัว เพื่อนฝูง ไปจนถึงผู้อื่นในสังคมที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก

therapy dog
Photo: facebook.com/therapydogthailand

โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ จากสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า จิตตก โดยข้อมูลจากผลการวิจัยโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุยอดผู้ป่วยซึมเศร้าสะสมตั้งแต่ปี 2552 – 2561 มีประมาณ 1.4 ล้านคน แต่มีเพียง 57.6% เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา 

และโดยส่วนมากพบว่าปลายทางของปัญหานี้คือ การพยายามทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่าในประเทศไทยจะมีคนพยายามทำร้ายตัวเอง 6 คนทุก 1 ชั่วโมง 

ดังนั้น นอกเหนือจากการพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยยาและบำบัดด้วยแนวทางต่างๆ แล้ว ควรอย่างยิ่งที่เมืองไทยจะมีการฝึกสุนัขนักบำบัดที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการร่วมกันดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในสังคม

therapy dog
Photo: facebook.com/therapydogthailand

การทำงานของทีม TDT (Therapy Dog Thailand) ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายองค์กร ได้แก่ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ โรงพยาบาลศรีธัญญา สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย และศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง ทั้งเพื่อขอรับคำแนะนำมาปรับใช้กับหลักสูตร และสำหรับเป็นพื้นที่ฝึกงานเมื่อนักเรียนในหลักสูตรเสร็จสิ้นจากการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อย 

คำว่า ‘นักเรียน’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่น้องหมาฝ่ายเดียว แต่รวมถึงตัวเจ้าของเองด้วย เพราะการทำงานของสุนัขนักบำบัดนั้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของและสุนัขเสมอ

therapy dog
Photo: facebook.com/therapydogthailand

ดังนั้น ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมในโครงการสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยจึงต้องเป็นผู้ที่มีเวลา ทั้งในการมาเรียนและหมั่นทบทวนการฝึกฝนเสมอเมื่ออยู่บ้าน รวมถึงต้องฝึกสุนัขให้เข้าใจและฟังคำสั่งพื้นฐานได้เป็นอย่างดี สามารถเข้าสังคมได้โดยไม่กลัวผู้คน เป็นมิตรกับทั้งคนและสัตว์ด้วยกันเอง และไม่กลัวการใช้ชีวิตในสถานที่สาธารณะ มีสุขภาพแข็งแรงและได้รับวัคซีน พร้อมกับหยอดยาครบตามมาตรฐานสัตวแพทย์ 

เมื่อผ่านการสอบและคัดเลือกมาเป็นนักเรียนในสังกัด TDT แล้ว สุนัขจะได้รับการฝึกให้คุ้นเคยกับวัตถุและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถเข็น วอล์คเกอร์ ไม้เท้าค้ำยัน ฯลฯ รวมถึงการฝึกให้คุ้นเคยกับสภาวะที่ไม่คุ้นเคย เช่น เสียงปิดประตูดัง พื้นมันวาวของสถานพยาบาล เสียงตะโกนของผู้ป่วยแบบไม่ตั้งตัว ท่าทางของคนที่แปลกจากปรกติ ฯลฯ 

รวมถึงการฝึกให้คุ้นเคยกับการถูกลูบกอดทั่วทั้งตัวจากสัมผัสที่อาจจะไม่อ่อนโยนเหมือนที่สุนัขคุ้นเคย เพื่อให้สุนัขชินกับเหตุการณ์ที่อาจถูกเด็กๆ หรือคนแปลกหน้ามารุมลูบกอดโดยไม่ทันตั้งตัว

therapy dog
Photo: facebook.com/therapydogthailand

ส่วนเจ้าของสุนัขจะเน้นไปที่การเรียนรู้เทคนิคการสื่อสารด้วยคำพูดและท่าทาง การวางตัวและท่าทางให้เหมาะสมเมื่อต้องเจอผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เด็กสมาธิสั้น คนตาบอด คนหูหนวก ฯลฯ เทคนิคการอ่านภาษากายของบุคคลที่เข้ารับการบำบัด ไปจนถึงการทำความรู้จักอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งรถเข็น เตียง สุนัขนำทาง ฯลฯ 

เท่ากับว่าทั้งเจ้าของและสุนัขต่างก็ต้องเรียนไปพร้อมๆ กันตลอดระยะเวลาเรียนและฝึกรวม 30 ชั่วโมง นาน 5 เดือน ซึ่งล่าสุดนักเรียนรุ่น 1 ได้ผ่านการฝึกงานในสถานที่จริงที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรและโรงพยาบาลศรีธัญญาแล้ว เหลือแค่การฝึกงานอีกหนึ่งครั้งในศูนย์ดูแลผู้สูงวัย หลังจากนั้น ทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยรุ่น 1 ก็จะพร้อมออกปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะในรูปแบบของกิจกรรมจิตอาสา หรือการช่วยบำบัดเยียวยาคนใกล้ตัว 

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นนักเรียนรุ่น 2 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/therapydogthailand และ www.therapydogthailand.org 

อ้างอิง