life

มนุษย์มีเวลาทั้งหมด 4,000 สัปดาห์ หากมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 85 ปี 

เมื่อเวลาชีวิตของเรามีจำกัด เราจึงต้องทำทุกอย่างให้มากขึ้นด้วยความเร่งรีบ คล้ายกับเวลาที่รีบเขมือบเนื้อย่างให้ได้มากที่สุดภายในบุฟเฟ่ต์ที่จับเวลา ชั่วโมง 30 นาที เราใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวว่าจะทำไม่ทันก่อนตาย หรือกลัวว่าจะต้องจมอยู่กับความเสียดายตอนแก่ เมื่อแต่ละวินาทีกำลังล่วงเลยไป

นี่อาจทำให้มนุษย์ติด กับดักผลผลิต (Productivity trap) 

โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) นักจิตวิทยา เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Four Thousand Weeks ว่า เมื่อกับดักผลผลิต เกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดความผิดหวังและความทุกข์ตามมา เขามองว่ามนุษย์จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้ช้าลง หากยังต้องการใช้ช่วงเวลา 4,000 สัปดาห์อย่างมีคุณค่า

แกรนท์ คาร์ดัน (Grant Cardone) ผู้ประกอบการและโค้ชด้านธุรกิจเขียนไว้ในหนังสือ The 10X Rule ของเขาว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่หิวกระหายความสำเร็จ และเสพติดมัน” จากสิ่งที่แกรนท์บอกไว้ เราเองก็เห็นได้ว่ามนุษย์มักท้าทายตัวเองอยู่เสมอ เพื่อพยายามเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเมื่อวาน และสิ่งนี้ก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมการทำงานให้สำเร็จให้ได้มากๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และยังหิวกระหายที่จะทำแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ

เสียงของนาฬิกานับถอยหลังดังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรามาเนิ่นนาน แม้แต่ในอดีต ราวๆ 29 ปีก่อนคริสตศรรตวรรษ ก็ปรากฏให้เห็นข้อความของ เวอร์จิล (Virgil) กวีชาวโรมัน ที่เขียนเอาไว้ว่า “fugit inreparabile tempus” หรือ “เวลาผ่านไปอย่างแก้ไขอะไรไม่ได้”

เวลายิ่งมีอิทธิพลกับมนุษย์มากไปอีก ราวๆ หลังศตวรรษที่ 20 เมื่อโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สินค้าต่างๆ ถูกผลิตอย่างรวดเร็ว ครั้งละมากๆ คนเองก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นเครื่องจักร เพื่อผลิตสิ่งเหล่านี้ จนเราลืมไปว่ามนุษย์นั้นมีข้อจำกัดและต้องการพักผ่อน 

นั่นทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ว่า ‘ทำงานเยอะๆ เป็นเรื่องดี’ และจะยิ่งดีถ้างานออกมามีคุณภาพ วัฒนธรรมแบบที่ว่านี้ผลักให้คนจำเป็นต้องมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เก่งมากขึ้น ทำให้ได้มากขึ้น เพื่อตอบสนองการผลิตของตลาดที่ไม่มีสิ้นสุด ยิ่งมนุษย์ทำลายข้อจำกัดของตัวเองได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้รับการชื่นชม เราจึงมีสุดยอดมาสเตอร์เชฟที่ปรุงอาหารดีๆ เสิร์ฟได้เพียงไม่กี่นาที เราจึงมีผู้แข่งขันรายการปลดหนี้ที่ทำงานของเขาได้อย่างรวดเร็วในเวลาที่กำหนด

 

มนุษย์จะไปหยุดที่ตรงไหน?

โลกนี้อาจมีคนที่มีความสุขกับการชาเลนจ์ตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ท้ายที่สุดแล้ว การประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วงแต่ละครั้ง อาจนำมาซึ่งงานที่มากขึ้นกว่าเดิม หนักกว่าเดิม เพื่อให้เราได้สัมผัสความรู้สึกความสำเร็จอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อเข้าสู่การเสพติด วงจรนี้อาจกลับมาทำร้ายตัวเราได้ แทนที่จะทำงานได้อย่างโปรดักทีฟ ร่างกายอาจถูกใช้งานเกินขีดจำกัด จนทำให้เกิดผลตรงกันข้ามได้

เมื่อความสุขของเราจะผูกติดอยู่กับการทำงานให้ได้ทีละเยอะๆ หรือเคลียร์ทุกอย่างออกให้หมด แม้จะไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว แต่ความสุขที่ว่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน สุดท้ายคนเราจะต้องหาอะไรมาทำเพิ่มอีกเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกแย่ บางครั้งอาจทำให้ตัวเองรู้สึกผิดที่ว่างเกินไป

แม้แต่ในวันหยุดที่เรามีเวลาเหลือเฟือ ก็อาจพบว่าไม่ได้มีความสุขมากนัก เพราะดันเสียดายเวลาที่หมดไปกับการนอนพักผ่อนและไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

นอกจากนี้ เราจะรู้สึกกดดันมากขึ้นจากความสำเร็จแต่ละครั้ง และอาจเผลอตำหนิตัวเองซ้ำๆ เมื่อทำไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ คงจะดีถ้าเริ่มรู้ลิมิตและดึงตัวเองกลับมาได้ทัน แต่ถ้าไม่ทัน และยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทำให้จิตใจอ่อนล้า อาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดอาการซึมเศร้า หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน อย่างที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญอยู่

แรนดี ไซมอน (Randy Simon) นักจิตวิทยาคลินิก ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า “คนเราไม่ได้ถูกสร้างมา เพื่อให้เกิดผลผลิตในทุกๆ นาทีของทุกวัน” 

จากสิ่งที่แรนดีบอกกับเรา ทำให้เห็นอีกว่าแม้จะใช้เวลาทำงานอย่างยาวนาน แต่ผลลัพธ์อาจไม่ได้ดีขึ้น การหยิบยืมเวลานอนมาใช้ ละทิ้งการดูแลสุขภาพ เพราะคิดว่ามันแย่งเวลาทำงานไป อาจทำให้ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เราผลิตงานดีๆ ได้

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า คนที่ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่ได้ทำให้มีผลงานมากไปกว่าคนที่ทำงานเพียง 56 ชั่วโมงเลย ยิ่งกว่านั้นการทำงานหนักเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการเหนื่อยล้า เช่น ปวดหลัง ปวดคอ และที่สำคัญคือ อาการปวดเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการใช้ร่างกายหนักไปเพียงอย่างเดียว แต่การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Occupational & Environmental Medicine ยังบอกอีกว่า มันคือผลที่เกิดจากความเครียดร่วมด้วย

 

เราจะหลุดจากกับดักได้อย่างไร

ในมุมมองของโอลิเวอร์ เราจะหลุดจากกับดักผลผลิต ลดความผิดหวัง และความทุกข์ได้ เมื่อเรา รู้จักตัวเอง ยอมรับ ความสามารถและข้อจำกัดของตัวเองให้ได้ อาจฟังดูเป็นนามธรรมไปสักหน่อย แต่ก็พอจะมีวิธีเริ่มต้นแบบจับต้องได้เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้หลุดจากกับดักนี้ เช่น

จดรายการสิ่งที่ต้องทำ (To do list) แต่เป็นการจดในโลกคู่ขนาน โดยแทนที่จะจดทุกอย่างลงไปให้ได้มากที่สุด เราขอชวนมาตัดบางรายการออกเพื่อให้เหลือแต่สิ่งที่สำคัญ และไม่ต้องรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำทั้งหมดในวันเดียว เมื่อบางอย่างยังเลื่อนไปทำวันอื่นได้ ครั้งนี้คำคมตลกๆ ที่บอกว่า ‘อย่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่มีอะไรทำ’ อาจใช้ได้จริง

รู้ขีดจำกัดของตัวเอง ระหว่างจดรายการสิ่งที่ต้องทำ ควรคำนึงถึงขีดจำกัดสูงสุดของตัวเองอยู่เสมอ สิ่งที่วางแผนจะทำจึงต้องไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป เช่น ถ้ากำลังฝึกวาดรูป ให้ลองกำหนดว่าในหนึ่งสัปดาห์จะวาดกี่รูป แบบที่ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และไม่ทำให้รู้สึกหมดไฟไปเสียก่อน ในข้อนี้อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะขีดจำกัดของคนเราไม่เคยเท่ากัน

จดจ่อกับสิ่งที่ทำ เมื่อทำงานแข่งกับเวลาและติดกับดักผลผลิต อีกหนึ่งสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ความรรู้สึกกังวลในการทำสิ่งต่างๆ เพราะแต่จิตใจเอาแต่พะวงถึงลิสต์รายการที่ต้องทำต่อจากนี้ หากเปลี่ยนมาจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่อย่างเต็มที่ จะทำให้งานที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมากกว่าการตรากตรำทำทุกอย่างพร้อมๆ กัน ด้วยความกังวลใจและตำหนิติเตียนตัวเอง

พักผ่อน ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า แต่วันหน้า ที่ว่านั้นคือวันไหน ถ้าเลือกจะสบายตอนนี้ เราก็จะสบายเลย ความสบายที่ว่าเกิดขึ้นได้เมื่อเราหยุดพัก และวางทุกอย่างลง แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างงานเพียงไม่กี่นาที ก็ถือเป็นการฟื้นฟูจิตใจและร่างกายเพื่อให้พร้อมทำสิ่งต่างๆ ต่อได้

การยอมรับข้อจำกัดของตัวเองและหยุดพักบ้าง ไม่ได้หมายถึงการยอมจำนนต่อโชคชะตาฟ้าดิน และล้มเลิกความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ แต่หมายถึงการทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น มองเห็นคุณค่ามากกว่าปริมาณ อีกทั้งยังทำให้ค้นพบประสิทธิภาพของทุกผลผลิตอย่างที่ตามหา โดยที่ไม่ทำร้ายตัวเองจนเกินไป 

อ้างอิง