กรกฎาคม 2564 เป็นเดือนที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 142 ปี
องค์การบริหารด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) เปิดเผยข้อมูลจากการคำนวณค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิบนพื้นผิวดินและผิวน้ำ พบว่า ตัวเลขอุณหภูมิสูงกว่าเมื่อศตวรรษที่ 20 ไปถึงเกือบ 1 องศาเซลเซียส และร้อนกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 0.01 องศาเซลเซียส

คลื่นความร้อนที่แผ่ไปทั่วทวีปยุโรปส่งผลให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวในเฟรนช์ริเวียร่าพากันมาพักผ่อนคลายร้อนริมชายหาดอย่างเนืองแน่น

องศาที่เดือดจัดกลางกรุงโรม ประเทศอิตาลี ทำให้สาวๆ กลุ่มนี้พากันยืนจ่อหน้าพัดลมไอเย็นเพื่อคลายความร้อนที่ยิ่งวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกแม้เพียงเสี้ยวทศนิยมสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติระดับมหาศาล ชนิดที่มนุษย์คาดไม่ถึง
และโดยไม่ต้องคาดการณ์อีกต่อไป โลกก็ได้ส่งสัญญาณให้เราเริ่มรู้สึกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในรอบหนึ่งเดือนเดียวที่ผ่านมาก็ชี้ชัดแล้วว่า ดาวเคราะห์สีฟ้าของเรากำลังเข้าขั้นโคม่า

สภาพของบ้านกลางป่าในภูมิภาคคาบิลลี ทางตะวันออกของเมืองหลวงของแอลจีเรีย ถูกเพลิงเผาวอดเป็นจุณไปพร้อมกับพื้นที่ป่าที่หายไปเป็นวงกว้าง
ไล่มาตั้งแต่ไฟป่าที่โหมทำลายหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย กรีซ อิตาลี แอลจีเรีย ตุรกี และแคนาดา โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ ที่แม้ปกติแล้วจะเกิดไฟป่าทุกปี แต่ปีนี้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม โดยมีพื้นที่ป่าถูกเผาไหม้แล้วกว่า 8.8 ล้านไร่
ส่วนที่กรีซนั้นเกิดไฟป่ามากถึง 586 จุดทั่วทุกมุมของประเทศ เผาผลาญบ้านเรือนไปหลายร้อยหลังคาเรือน ทำให้ต้องอพยพประชาชนถึง 63 ครั้งในช่วงเวลาไม่กี่วัน โดยเกาะเอเวีย ซึ่งเป็นเกาะใหญ่อันดับสองของกรีซ ได้ถูกไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของเกาะไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ชาวบ้านในหมู่บ้านเพฟกีบนเกาะเอเวีย ประเทศกรีซ กำลังช่วยนักผจญเพลิงถือสายยางเพื่อเร่งดับไฟป่าที่กำลังโหมกระหน่ำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564
เช่นเดียวกับตุรกี ที่ต้องเผชิญฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยเกิดไฟป่าขึ้นกว่า 500 แนว บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตอนใต้ของประเทศ ผลาญพื้นที่ป่าของตุรกีไปกว่า 1,600 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เมืองรีสอร์ตริมทะเลต้องอพยพหนีไฟป่าที่ลามเข้าประชิด โดยใช้เวลานานร่วม 2 สัปดาห์ถึงจะควบคุมสถานการณ์ได้เป็นส่วนใหญ่

หน้าจอโทรศัพท์ของประชาชนที่พักอาศัยในเมืองกรีนวิลล์ แสดงข้อความเตือนให้รีบอพยพออกจากที่พักอาศัย เนื่องจากไฟป่าดิกซีที่กำลังโหมทำลายพื้นที่ป่าทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังลามมาสู่เขตที่อยู่อาศัยของชาวเมือง

แม้จะได้รับการแจ้งเตือนให้รีบย้ายออกจากที่พักอาศัย แต่ชายวัยเลยเกษียณอย่าง จอน แคปเปิลแมน (Jon Cappleman) ยืนยันว่าจะยืนหยัดต่อสู้กับไฟป่าดิกซีด้วยตนเอง โดยไม่ขอย้ายออกจากบ้านเด็ดขาด
ทางด้านยุโรปตะวันตกก็ประสบกับอุทกภัยขนาดใหญ่ ที่ถือเป็นภัยพิบัติรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ครอบคลุมพื้นที่ประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ส่งผลให้บ้านเรือนและถนนเสียหายอย่างหนัก โดยเยอรมนีได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด นักวิจัยเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้น

ภาพถ่ายจากมุมสูงแสดงให้เห็นถึงซากตึกในเมืองโบซเคิร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอีซีนใกล้ทะเลดำในประเทศตุรกี ที่พังทลายจากการถูกกระแสน้ำป่าไหลบ่าเข้าทำลายอย่างรุนแรงภายในเวลาไม่กี่นาที

ซากรถยนต์จำนวนมากที่ถูกพัดมากองรวมกับดินโคลนหลังถูกถล่มโดยอุทกภัยครั้งใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติตุรกี

สภาพทิวแถวของรถยนต์ในเมืองแวร์วิเยร์ ประเทศเบลเยียม ที่ถูกความรุนแรงของกระแสน้ำที่ท่วมขึ้นอย่างฉับพลันจากน้ำล้นตลิ่งซัดจนเกยซ้อนกันอย่างที่เห็น โดยทางการเบลเยียมประกาศให้วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นวันรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตและสูญหายจากอุทกภัยในครั้งนี้

เด็กน้อยชาวเบลเยียมกำลังช่วยทำความสะอาดบ้าน หลังเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

สภาพบนทางหลวงสาย B265 ทางตะวันตกของเยอรมนี ที่ระดับน้ำสูงจนท่วมรถยนต์พังเสียหายจนเกือบมิดคัน

ชายหนุ่มกำลังเข็นรถสาลี่ผ่านซากตึกที่เพิ่งถูกพังถล่มจากเหตุน้ำท่วมครั้งรุนแรงทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี
ประเทศจีนเองก็ประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 1,000 ปี พังทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ดินถล่ม รวมถึงท่วมลงในรถไฟใต้ดิน ทำให้ต้องอพยพผู้คนกว่า 376,000 คนออกจากพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและเศรษฐกิจขนาดหนัก

ชาวเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน โดยสารบนรถตักดินเพื่ออพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วม หลังเผชิญพายุฝนที่มีปริมาณน้ำฝนสูงเกิน 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดกระแสน้ำท่สมไหลเชี่ยวกรากทั่วทั้งเมือง
และล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศเฮติต้องเผชิญโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในรอบสิบปี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ทางตะวันตกของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 300 คน และไร้ที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนมาก

สภาพของโบสถ์ในเมืองเลสคาเยส ประเทศเฮติ ที่พังถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2564

ชาวเฮติจำนวนมากที่บ้านเรือนถูกพังถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติ ต้องใช้ชีวิตกลางดินกินกลางทราย ในขณะการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคารหลายแห่งยังดำเนินต่อไป
นับวันธรรมชาติยิ่งส่งสัญญาณเตือนชาวโลกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาในอนาคตหรือเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป
อ้างอิง
- CDP. Disasters. https://disasterphilanthropy.org/our-approach/disasters/