w©rld

World Expo คือหนึ่งในงานมหกรรมโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติ รองจากฟุตบอลโลกและการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในปี 1851 ภายหลังกำหนดให้จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี และหมุนเวียนไปตามแต่ละประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

ทั่วพื้นที่งาน World Expo จึงเป็นเสมือนเวทีให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมได้แสดงศักยภาพรอบด้าน ประชันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึงเผยแพร่ความคิดสร้างสรรค์หรือความตั้งใจเบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

สำหรับงาน World Expo ครั้งนี้ จัดขึ้นในชื่อ World Expo 2020 Dubai ณ กรุงดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2021 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2022 และนับเป็นครั้งแรกที่ World Expo จัดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้จะเลื่อนมาจากปีที่แล้ว เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีจำนวนประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน 192 ประเทศ มากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา

ขบวนธงชาติแทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วม World Expo 2020 Dubai ในพิธีเปิด ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ วันที่ 30 กันยายน 2021 โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศเจ้าภาพได้คาดการณ์จำนวนผู้เข้าชมงานไว้ราว 25 ล้านคน
Photo: Giuseppe Cacace / AFP

บนพื้นที่จัดงาน 4.38 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่าสนามฟุตบอลกว่า 600 สนาม แต่ละประเทศจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้ก่อสร้าง Pavilion หรืออาคารจัดแสดง ภายใต้แนวคิดหลัก คือ ‘Connecting Minds, Creating the Future’ เชื่อมความคิด สร้างอนาคต พร้อมกับชูประเด็นสำคัญ 3 หัวข้อ ได้แก่ Opportunity (โอกาส) Mobility (การขับเคลื่อนไปข้างหน้า) และ Sustainability (ความยั่งยืน)

Al Wasl Dome ใจกลางของ World Expo 2020 Dubai ขนาดกว้างเกือบสองเท่าของเครื่องบินแอร์บัส A380 สองเครื่อง ฉายภาพขึ้นพื้นผิวภายในได้รอบทิศทาง
Photo: Giuseppe Cacace / AFP

อาคารจัดแสดงของประเทศต่างๆ จึงไม่ใช่เพียงผลลัพธ์ของการออกแบบให้มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หรือดึงดูดให้ผู้เข้าชมสนใจเท่านั้น แต่ยังต้องสะท้อนให้เห็นทั้งจุดยืน ความก้าวไปข้างหน้า และหมุดหมายที่แต่ละประเทศตั้งเป้าไว้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศของตนในอนาคตด้วย เพราะนี่คือหัวใจสำคัญของงาน World Expo

 

UAE Pavilion
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Photo: AFP

ผลงานการออกแบบอาคารขนาด 15,000 ตารางเมตรของ ซานติอาโก คาลาตราวา (Santiago Calatrava) สถาปนิกชาวสเปน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการกระพือปีกของเหยี่ยว สื่อถึงสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติที่เคลื่อนไหวได้อย่างทรงพลังและงดงามในคราวเดียวกัน

รูปทรงแปลกตาของหลังคาคือโครงสร้างแผงพลังงานแสงอาทิตย์รูปปีกจำนวน 28 แผ่น ที่ปรับทิศทางทำมุมได้ 110-125 องศา คอยเปิดรับแสงธรรมชาติจากทุกทิศทาง เพื่อนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าสำหรับใช้ควบคุมทั้งตัวอาคาร

Photo: AFP

แม้จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการค้าน้ำมัน แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มหันสนใจและสนับสนุนเงินลงทุนกับธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนที่ได้จากธรรมชาติมากขึ้น เพราะเป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อมลพิษและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนน้ำมัน

 

Spain Pavilion
สเปน

Photo: Karim Sahib / AFP

อาคารรูปกรวยทรงสูงสีสันสดใสออกแบบภายใต้แนวคิด ‘Intelligence for Life’ ปัญญาเพื่อชีวิต เพราะประเทศสเปนเชื่อว่าความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมของมนุษย์ คือหนทางสำคัญที่จะช่วยปกปักรักษาชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไปได้

โครงสร้างของตัวอาคารอยู่ในความดูแลของ Amann-Cánovas-Maruri สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากประเทศสเปน โดยออกแบบพื้นผิวทรงกรวยทั้ง 14 แท่งให้มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้ ช่วยสะท้อนแสงธรรมชาติให้ตกกระทบกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่รอบๆ ฐาน

การออกแบบทั้งหมดยึดหลัก Bioclimatic Architecture หรือ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งให้ความสำคัญกับการปรับลักษณะอาคารให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายของกรุงดูไบ ทำให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก เพื่อรักษาอุณหภูมิของตัวอาคารให้ใช้พลังงานลดลง

Photo: Karim Sahib / AFP
Photo: AFP

ส่วนวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ตกแต่งอาคาร เน้นเป็นวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติช่างดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในตัว สื่อถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและการลงมือทำจริงๆ ของสเปน ซึ่งต้องการลดการใช้พลาสติกและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงอุตสาหกรรมใหญ่ระดับประเทศ

 

Korea Pavilion
เกาหลีใต้

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

เพราะโลก สังคม และผู้คนไม่เคยหยุดนิ่ง อาคารจัดแสดงของประเทศเกาหลีใต้จึงนำเสนอการเชื่อมโยงถึงกันของทุกสิ่งบนโลกที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดียิ่งขึ้น บนแนวคิดหลัก คือ ‘Smart Korea, Moving the World to You’ เพื่อสื่อว่าเกาหลีใต้พร้อมเป็นตัวแทนทำหน้าที่ขับเคลื่อนโลกที่ดีกว่าให้เข้ามาใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคน

ตามด้วยคำสำคัญ คือ Mass_ity ที่เกิดจาก Mass และ City มารวมกัน โดยเปรียบเปรยให้เห็นความเป็นเมืองที่เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังของผู้คน ซึ่งรวมตัวรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านกิจกรรมและการสร้างสรรค์ที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ศิลปวัฒนธรรม นวัตกรรม และอุตสาหกรรม

Photo: 두바이엑스포 한국관 / Expo 2020 Korea

อาคารจัดแสดงของประเทศเกาหลีจึงได้รับการออกแบบโดย Mooyuki Architects ให้มีรูปร่างคล้ายอัฒจันทร์ขนาดยักษ์ แต่ละที่นั่งมีจอภาพทรงลูกบาศก์ที่เปลี่ยนสีและหมุนได้ สะท้อนสีสันความบันเทิงของเกาหลีใต้ และความร่วมสมัยของเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเชื่อมสัมพันธ์ถึงกันได้ทุกเมื่อ ไม่ต่างจากเวลาที่ทุกคนมานั่งดูคอนเสิร์ต K-pop ร่วมกัน

 

UK Pavilion
สหราชอาณาจักร

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

จาก Breakthrough Starshot โครงการสำรวจอวกาศที่ริเริ่มโดย สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาชาวอังกฤษ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของการออกแบบอาคารจัดแสดงของสหราชอาณาจักรที่ชวนทุกคนมาช่วยกันพินิจพิเคราะห์ถึง Breakthrough Message สารพัดข้อความที่ควรค่าแก่การสื่อสารไปยังนอกโลก เพื่อแสดงตัวตนในฐานะประชากรโลก หรือดาวเคราะห์ลำดับที่สามของระบบสุริยะ

Photo: Karim Sahib / AFP

บนพื้นผิวไม้ทั้งด้านหน้าและด้านในอาคารจะปรากฏคำสำคัญ โดยใช้ระบบอัลกอริทึมช่วยรวบรวมและประมวลคำที่ผู้เข้าชมส่งเข้ามาแบบ real-time ผ่านแนวคิด ‘Innovating for a Shared Future’ ส่วนสาเหตุที่ทั้งตัวอาคารเลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เพราะต้องการสื่อถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความร่วมมือที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

 

Swiss Pavilion
สวิตเซอร์แลนด์

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

ภาพจำของสวิตเซอร์แลนด์คือจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความสงบและงามของธรรมชาติ สวิตเซอร์แลนด์จึงเลือกนำเสนอจุดเด่นของประเทศด้วยแนวคิด ‘Reflections’ หรือการสะท้อนกลับให้เห็นมากกว่าความงดงามของภูมิทัศน์ เพราะยังมีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญเคียงคู่กันเสมอระหว่างนวัตธรรมกับธรรมชาติ

การก่อสร้างอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากภูมิปัญญาเก่าแก่ของชาวอาหรับอย่าง Bedouin tent หรือกระโจมผ้าที่ขึงกางด้วยเสาไม้ใช้เป็นที่พักชั่วคราวบนทะเลทราย ด้านหน้าอาคารจัดแสดงประดับกระจกเงาเพื่อเน้นแนวคิดหลัก และเลือกใช้สีแดงคู่สีขาว เพราะเป็นสีที่ปรากฏบนผืนธงชาติ แล้วออกแบบเส้นทางการเข้าชมคล้ายกับการออกสำรวจความสำเร็จของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ โดยเล่าเรื่องผ่านม่านหมอกและขุนเขาสูง

Photo: Giuseppe Cacace / AFP
Photo: Giuseppe Cacace / AFP

ระหว่างรอเข้าตัวอาคาร เจ้าหน้าที่จะแจกร่มที่พิมพ์ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวเป็นลูกเล่นให้ผู้รอเข้าชมเงยหน้าดูว่ามีคำหรือสัญลักษณ์ใดบ้างปรากฏบนกระจกเงา

 

Russia Pavilion
รัสเซีย

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

ความคิดสร้างสรรค์ของรัสเซียมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนชาติใด รัสเซียจึงชูตัวเองว่าเป็นแหล่งรวมของความคิดสร้างสรรค์ ยืนยันได้จากนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ศิลปิน และนักดนตรีเชื้อสายรัสเซีย ผู้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ระดับโลกตลอดหลายศตวรรษจวบจนปัจจุบัน

แม้ความเป็นชาติจะเป็นเส้นแบ่งแต่ละคนแต่ละประเทศ แต่ทุกคนเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยสมองและความคิดสร้างสรรค์ รัสเซียจึงเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์จากสมองของมนุษย์ว่าจะนำพาชีวิตและโลกของเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่าวันนี้เสมอ

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

การออกแบบอาคารจัดแสดงจึงจำลองภาพการเชื่อมโยงของระบบประสาท ด้วยแนวคิด ‘Creative Mind: Driving the Future’ หมายถึง การขับเคลื่อนไปข้างหน้าที่เริ่มตั้งแต่ระดับเซลล์ในสมอง เปลี่ยนผ่านสู่การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ยิ่งใหญ่จากความคิดสร้างสรรค์เพื่อมวลมนุษยชาติ

 

Saudi Arabia Pavilion
ซาอุดีอาระเบีย

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

อาคารจัดแสดงของซาอุดีอาระเบียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากประเทศเจ้าภาพ แต่สร้างสถิติมีจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังเปิดงาน เฉพาะตัวอาคารอย่างเดียว สร้างสถิติโลกไว้มากถึง 3 รายการ ได้แก่ พื้นแสดงผลมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ม่านน้ำตกที่สูงที่สุดในโลก และบานกระจกพร้อมหน้าจอดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งหมดนี้ควบคุมด้วยระบบที่โต้ตอบกับผู้เข้าชมอาคารได้

Photo: Giuseppe Cacace / AFP
Photo: Giuseppe Cacace / AFP

รูปทรงอาคารลักษณะคล้ายบานหน้าต่างทันสมัยซึ่งกำลังเปิดออกมา ออกแบบตามแนวคิดหลักคือ ‘Window into the Future’ เพราะต้องการสื่อถึงการเปิดกว้างต้อนรับทุกคน การสืบทอดมรดกเก่าแก่ที่เป็นรากเหง้าของชาติ และการมุ่งไปข้างหน้าได้อย่างไร้ข้อจำกัด โดยนำเสนอผ่านประเด็นด้านมนุษยธรรม ศิลปหัตถกรรม และอาหารขึ้นชื่อของแต่ละภูมิภาคในประเทศ

 

Japan Pavilion
ญี่ปุ่น

Photo: Karim Sahib / AFP

ความเป็นญี่ปุ่นนับตั้งแต่อดีต ล้วนเกิดจากการเรียนรู้ รวบรวม โอบรับ และตีความ หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรม ประเพณี รูปแบบการใช้ชีวิต และนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนไม่เหมือนใคร ญี่ปุ่นในวันนี้ จึงเปรียบได้กับพื้นที่จุดประกายความคิดหลากหลายเพื่อสร้างอนาคตที่ดี ทั้งหมดกลายมาเป็นแนวคิดหลัก คือ ‘Where Ideas Meet’

การออกแบบตัวอาคารจัดแสดงของญี่ปุ่น ได้แรงบันดาลใจมาจากการผสมผสานศิลปะวาดเส้นระหว่าง Arabesque ของชาวอาหรับเข้ากับ Asanoha ของชาวญี่ปุ่น รวมถึงศิลปะพับกระดาษอย่าง Origami เพื่อสื่อความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานของทั้งสองชาติ เป็นการแสดงความเคารพด้วยความรู้สึกอ่อนน้อมและขอบคุณต่อตะวันออกกลาง ในฐานะที่ต้อนรับญี่ปุ่นให้เป็นแขกมาเยือนเจ้าบ้าน

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

ทุกคนที่เข้าชมอาคารจัดแสดงจะสัมผัสได้ถึง Omotenashi หรือวัฒนธรรมการบริการที่มอบความประทับใจและประสบการณ์ที่ดี เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงาน World Expo ครั้งต่อไปที่จังหวัดโอซะกะในปี 2025 นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังแต่งตั้งหุ่นยนต์กันดั้มและปิกาจูจากโปเกม่อนให้เป็นทูตวัฒนธรรมประจำอาคารจัดแสดงครั้งนี้ด้วย

Photo: Giuseppe Cacace / AFP

 

อ้างอิง