life

ขอแนะนำเครื่องตรวจสอบมลพิษทางอากาศรุ่นใหม่ล่าสุด ทำงานด้วยระบบเซนเซอร์ที่แม่นยำ ด้วยรูปลักษณ์ที่ผ่านการออกแบบให้มีน้ำหนักเบา และสามารถติดตั้งได้ทุกที่ทั่วเมือง 

เครื่องมือที่ว่านี้ก็คือ เส้นผม ของเราทุกคนนั่นเอง 

เราต่างก็คุ้นเคยกับบรรดาแคมเปญโฆษณายาสระผมที่ชูคุณสมบัติปกป้องเส้นผมจากมลภาวะเป็นจุดขาย โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง P&G เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ผมร่วง และพบว่ามลภาวะสามารถเกาะติดเส้นผมได้มากกว่าผิวหนังถึง 3 เท่า ทำให้เส้นผมมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากสิ่งสกปรก จนอ่อนแอ และหลุดร่วงมากขึ้น 

แต่ในทางกลับกัน มีคนอีกกลุ่มที่ไม่ยอมชำระล้างมลภาวะออกจากเส้นผมง่ายๆ จนกว่าจะได้นำสารพิษต่างๆ ที่เกาะอยู่บนเส้นผมมาทำการตรวจวิเคราะห์ เพื่อทำแผนที่มลพิษในเมืองใหญ่โดยใช้เส้นผมของชาวเมืองเป็นเครื่องตรวจจับสารพิษที่แม่นยำที่สุด 

และเมืองที่มีแผนที่มลพิษจากเส้นผมมนุษย์เป็นแห่งแรกในโลก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 

follicle
แผนที่กรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นจากสารพิษบนเส้นผม
Photo: https://www.instagram.com/pareid.architecture/

เจ้าของโปรเจกต์นี้เป็นสถาปนิก 2 ราย ได้แก่ เดบราห์ โลเปซ (Deborah Lopez) และ แฮดิน ชาร์เบล (Hadin Charbel) เจ้าของสตูดิโอ Pareid ที่ทำงานด้านสถาปัตยกรรมประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

ทั้งคู่สนใจงานทดลองเกี่ยวกับเส้นผมเป็นพิเศษ เนื่องจากเคยมีผลการวิจัยระบุว่า ในบรรดาขยะเส้นผมจำนวนกว่า 6.5 ล้านกิโลกรัมที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เป็นผลิตผลที่จากหนังศีรษะของประชากรอังกฤษล้วนๆโลเปซและชาร์เบลจึงตระหนักว่า ควรนำขยะเส้นผมมาใช้แทนวัสดุในการก่อสร้างที่ยั่งยืน พวกเขาจึงเคยทดลองนำเส้นผมมาทอเป็นผืนผ้าสักหลาด เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในขั้นเริ่มต้น 

follicle
โมเดลของโปรเจกต์ Follicle สำหรับจัดแสดงในงาน Venice Architecture Biennale 2021
Photo: https://www.instagram.com/pareid.architecture/

และหลังจากศึกษาเกี่ยวกับโลหะหนักที่สะสมในเส้นผมมาได้พักใหญ่ ทั้งคู่จึงตั้งสมมติฐานใหม่บนพื้นฐานที่ว่า เส้นผมของมนุษย์สามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์มลพิษในเมืองได้หรือไม่ 

มลพิษคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาที่สุดในตอนนี้ และเราก็สนใจประเด็นที่ว่าพื้นที่บนร่างกายมนุษย์สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับมลพิษได้ดี ทั้งยังสะท้อนและบันทึกสภาพแวดล้อมของแต่ละเขตที่อยู่อาศัย พื้นที่ที่ใช้หายใจ กิน และดื่มได้ดีอีกด้วย” โลเปซให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Dezeen 

โลเปซและชาร์เบลเรียกโปรเจกต์นี้ว่า Follicle และพวกเขาเลือกกรุงเทพฯ เป็นเมืองตั้งต้นในการเก็บตัวอย่างเส้นผมพลเมือง เพราะเป็นเมืองที่มีปริมาณหมอกพิษสูงเป็นประวัติกาลใน .. 2562 ส่งผลให้โรงเรียนกว่า 437 แห่งต้องประกาศงดทำการสอน 

follicle
Photo: https://pareid.com/Follicle-BKK

Follicle เริ่มต้นเก็บตัวอย่างเส้นผมของชาวบางกอกที่ยินยอมพร้อมใจในงาน Bangkok Design Week 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม  กุมภาพันธ์ 2562 ในชื่อ Foll(i)cle” A Toxi-Cartographic Proposal for Bangkok โดยใช้กลเม็ดดึงดูดใจผู้เข้าชมงานด้วยการสร้างศาลาลอยน้ำทำจากเส้นผมของมนุษย์ ซึ่งถูกเย็บระหว่างโครงสร้างเดิมของบ้าน 200 ปี บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

follicle
ศาลาเส้นผมในงาน Bangkok Design Week 2019 
Photo: https://pareid.com/Follicle-BKK

ใครเคยไปเที่ยวงานในปีนั้น และสมัครใจตัดปอยผมเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในงานวิจัยครั้งนี้ คงเกิดคำถามตามมาว่าตอนนี้โปรเจกต์เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว 

หลังจากที่โลเปซและชาร์เบลตกใจกับการตอบรับของชาวกรุงเทพฯ ที่ดีเกินคาด เพราะมีผู้สมัครใจตัดปอยผมเพื่อการวิจัยเป็นจำนวนหลายร้อยคน และจากหลายเขตที่พักอาศัยทั่วเมือง พวกเขาได้ส่งตัวอย่างเส้นผมทั้งหมดไปทำการวิเคราะห์ที่ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี 

follicle
Photo: https://pareid.com/Follicle-BKK

ผลการวิเคราะห์พบว่า เส้นผมของคนกรุงเทพฯ มีปริมาณโลหะหนักสะสมเป็นจำนวนมาก บ่งชี้ถึงมลพิษในสิ่งแวดล้อมสะสมในระดับสูง ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ เช่น คนที่พักอาศัยใกล้ถนนใหญ่จะมีปริมาณสารหนูสะสมในเส้นผมเป็นจำนวนมาก เป็นต้น 

เมื่อนำผลวิเคราะห์ทั้งหมดมาสร้างเป็นแผนที่ก็จะยิ่งเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้นว่า เขตใดในกรุงเทพฯ มีปริมาณสารพิษชนิดใดสะสมอยู่บ้าง โดยสามารถเข้าไปดูแผนที่ผมพิษได้ที่ https://foll-i-cle.com/toxi-cartography 

follicle
แผนที่แยกย่อยของแต่ละเขตในกรุงเทพฯ ที่แสดงให้เห็นเลเยอร์ของสารพิษแต่ละชนิด
Photo: https://www.instagram.com/pareid.architecture/

Follicle ยังเดินหน้าทำงานวิจัยเรื่องมลพิษที่เกาะติดบนเส้นผมอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้โลเปซและชาร์เบลได้หอบเอาผลงานชิ้นนี้ไปจัดแสดงต่อในงาน Venice Architecture Biennale 2021 โดยพวกเขาวางแผนจะทำสถานีทดสอบเส้นผมในอีกหลายเมืองทั่วโลก เพื่อสร้างความเข้าใจในวงกว้างถึงความเชื่อมโยงระหว่างเงื่อนไขของเมืองใหญ่กับมลพิษที่แฝงอยู่ในเส้นผม 

ในขณะเดียวกัน สถาปนิกทั้งคู่ยังเดินหน้าค้นหาทางออกของขยะจากเส้นผมจำนวนมหาศาลที่เหมาะแก่การนำไปเป็นโครงสร้างของอาคารได้ เพราะเส้นผมที่นำมาทอเป็นผืนผ้าสักหลาดนั้นมีคุณสมบัติเป็นฉนวนหรือแผ่นบุสำหรับกันเสียงได้ดี 

follicle
Photo: https://pareid.com/Follicle-BKK

แต่ก็ยังมีอีกอุปสรรคสำคัญที่โลเปซบอกว่าก้าวข้ามยากที่สุด นั่นคือ ความรู้สึกกลัวเส้นผมมนุษย์ของคนส่วนใหญ่ 

คนเรามักรู้สึกสบายใจที่ได้ลูบขนสัตว์ แต่เรากลับรู้สึกขยะแขยงเมื่อมันเป็นเส้นขนของเราเอง พวกเราเลยอยากคิดหาวิธีนำเส้นผมมนุษย์มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนจะไม่รู้สึก ยี้อีกต่อไป” โลเปซปิดท้ายด้วยความหวังในการพัฒนาความเป็นไปได้ในการนำเส้นผมมนุษย์มาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

อ้างอิง