life

โรคที่ถูกพูดถึงด้วยความเข้าใจผิดๆ อยู่บ่อยมากพอกับไบโพลาร์และฮีสทีเรีย คือ ‘โรคย้ำคิด ย้ำทำ’ หรือ โอซีดี (Obsessive-compulsive disorder : OCD) 

โรคที่ถูกพูดถึงด้วยความเข้าใจผิดๆ อยู่บ่อยมากพอกับไบโพลาร์และฮีสทีเรีย คือ ‘โรคย้ำคิด ย้ำทำ’ หรือ โอซีดี (Obsessive-compulsive disorder : OCD) 

ชื่อโรคนี้มักถูกหยิบยืมไปใช้อธิบายนิสัยชอบจัดของให้เป็นระเบียบ ชอบล้างมือ หรือการเห็นบางอย่างแล้วหงุดหงิดต้องทำอะไรบางอย่าง จนเรียกกันติดปากว่าอาการเหล่านั้นเป็น OCD

แต่ความจริงคนล้างมือบ่อย ชอบจัดของทุกคนไม่ได้เป็นโอซีดี และผู้ป่วยที่เป็นโอซีดีไม่ได้แสดงออกด้วยการล้างมือและจัดของเพียงอย่างเดียว เส้นแบ่งหนาๆ ที่ขีดแบ่งเอาไว้ระหว่าง ‘นิสัยส่วนตัว’ กับการเป็น ‘โรค’ คือ ผิดปกติจนกระทบกับการใช้ชีวิต กล่าวคือ ถ้าอาการของโรคทำให้คนเจ็บป่วย และแน่นอนว่ามันร้ายแรงเกินกว่าจะหยิบมาพูดเล่นๆ ได้

แต่ไม่ว่าคุณจะเคยรู้จักโรคนี้มาแบบไหน เราขอชวนมาทำความเข้าใจโรค OCD กันใหม่อีกครั้ง ก่อนจะส่งต่อความเชื่อผิดๆ ต่อไปเรื่อยๆ

โรคนี้เกิดจากหลายปัจจัยทั้งกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ พฤติกรรม และความผิดปกติของระบบประสาท 

เมื่อเพ่งเข้าไปดูระดับยีนจะพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มียีนตัวหนึ่งที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นยีนที่ทำงานกับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) และ โดปามีน (Dopamine) สำหรับเด็กบางคนโรคนี้เกิดขึ้นตามมาหลังจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ สำหรับบางคนโรคนี้อาจเกิดขึ้นได้จาก โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Posttraumatic Stress Disorder : PSTD) 

แค่ชอบจัดของ ไม่ได้หมายความว่าเป็น OCD 

OCD เป็นโรคทางจิตเวชที่จัดว่ารุนแรงโรคหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีความคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเดิมซ้ำๆ จนทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียดสูง ส่งผลให้ต้อง ‘กระทำ’ อะไรสักอย่างเพื่อหนีจากอาการวิตกนั้น บางคนแสดงออกด้วยการจัดข้าวของให้เข้าที่อยู่ตลอดเวลา หรือทำความสะอาดแบบหยุดไม่ได้ 

และไม่เพียงเท่านั้น อาการของโรคนี้มีหลายแบบ ซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกแตกต่างกันไป อีกทั้งแต่ละวัยยังแสดงอาการต่างกันอีกด้วย ซึ่งอาการของผู้ป่วยคือ ‘ย้ำคิด’ และตามด้วยอาการ ‘ย้ำทำ

การย้ำคิดจะมาในรูปแบบของ ความกลัว (fear) และ หมกมุ่น (obsession)  อยู่กับความคิดอันตราย รุนแรง ผิดศีลธรรม แต่จะไม่แสดงออกด้วยการกระทำที่ควบคุมไม่ได้ เช่น 

บางคนหมกมุ่นอยู่กับความกลัวเชื้อโรค กลัวตัวเลข กลัวว่าตอนขับรถอยู่อาจจะชนคนตาย บางคนเกิดความคิดผิดบาป เช่น คิดว่าตัวเองจะมีเซ็กส์กับศาสดาของศาสนา หรือนึกกลัวตัวเองทำร้ายคนอื่น 

เมื่อเกิดความคิดดังกล่าวก็จะส่งผลให้เกิด ‘การกระทำ’ ที่ อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ (compulsions) ตามมา เช่น การเคลื่อนไหวแบบเดิมซ้ำๆ นับเลขไม่หยุด ล้างมือตลอดเวลา สวดมนต์ กักตุนของไว้กับตัว เอามือไปสัมผัสวัตถุต่างๆ และอีกหลายอาการที่ทำซ้ำๆ อย่างควบคุมไม่ได้

โรคนี้ไม่แสดงออกด้วย ‘การกระทำ’ เสมอไป

ในบรรดาผู้ป่วยโรคนี้ หากได้รับการรักษาแล้วบางคนสามารถหักห้ามใจไม่ให้แสดงออกในที่สาธารณะได้ (แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นความป่วยไข้ที่ทรมานอยู่ดี) อีกทั้งยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่ง คือ Pure Obsessional OCD หรือ Pure O ที่จะไม่แสดงออกทางกระทำ จับสังเกตได้ยาก เพราะมีเพียง ‘ความคิด’ เท่านั้นที่โลดแล่นอยู่ในหัว

แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจแสดงออกด้วยระดับที่ไม่ร้ายแรงมาก เช่น พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้เกิดความคิดนั้นๆ ท่องคาถาในใจซ้ำๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิดต่อความคิดผิดบาป พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยวิธีต่างๆ ตลอดเวลาว่าไม่ได้ทำผิดศีลธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางออกไหน ที่แน่ๆ ความคิดในหัวกำลังทำให้เขาเป็นทุกข์

OCD เป็นโรค ไม่ใช่นิสัย

ผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองจึงต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยรักษาได้หลายวิธีไม่ว่าจะใช้ยากล่อมประสาทเพื่อบรรเทาอาการ หรือใช้วิธีการบำบัดแบบ Exposure and response prevention (ERP) ที่ฝึกให้ผู้ป่วยเผชิญกับความคิดรบกวนใจซ้ำๆ เช่น ถ้าหมกมุ่นกับโต๊ะรกๆ แล้วต้องลงมือจัดตลอดเวลา ก็จะให้ผู้ป่วยฝึกอดทนอยู่กับความรกให้นานขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเครียดมากในตอนแรกๆ แต่อาการย้ำคิด ย้ำทำจะทุเลาลงภายหลัง

อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาจะช่วยบรรเทา แต่โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่อาจกลับมาเยือนได้อีกทุกเมื่อ นั่นหมายความว่าผู้ป่วยอาจต้องเผชิญกับสิ่งนี้ไปตลอดชีวิต

ในขณะที่ผู้เผชิญกับความป่วยไข้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาตัวให้หายดี คงจะดีถ้าเราจะหยุดส่งต่อความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ OCD และตระหนักถึงความรุนแรงของโรคทางจิตเวชกันให้มากกว่าเดิม

อ้างอิง