ตาตุและปาตุ เป็นหนังสือภาพชื่อแปลกหูที่เชื่อขนมกินได้เลยว่า ใครเคยอ่านเป็นต้องหยิบขึ้นมาอ่านอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้เบื่อ เพราะทุกการเปิดอ่านครั้งเป็นต้องได้เจอรายละเอียดใหม่ที่ซ่อนไว้ในภาพวาดแสนยุ่งเหยิงที่เรียกรอยยิ้มได้เสมอ
หนังสือภาพสัญชาติฟินแลนด์ชุดนี้วางจำหน่ายมายาวนานกว่า 20 ปี แปลแล้ว 22 ภาษา รวมถึงเวอร์ชั่นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์นาวา ที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเด็กสุดเพี้ยนชุดนี้มาตีพิมพ์สร้างเสียงหัวเราะให้นักอ่านชาวไทยแล้วถึง 4 เล่ม
คำว่า ‘สุดเพี้ยน’ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่อยู่ในชื่อหนังสือตาตุและปาตุทุกเล่ม ไล่มาตั้งแต่ สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ, สิ่งประดิษฐ์ย้อนยุคสุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ, ตาตุและปาตุเด็กฝึกงานสุดเพี้ยน และเทพนิยายสุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ เพราะคาแร็กเตอร์ของสองตัวละครในเรื่องช่างตรงตามนิยามคำว่า เพี้ยน ที่หมายถึง ผิดแปลกไปเล็กน้อย หรือไม่ค่อยปรกติ แบบถูกทุกข้อ
และเพราะความผิดแปลกไปจากขนบของหนังสือเด็กทั่วไปนี่เอง ทำให้ตาตุและปาตุเป็นหนังสือที่อ่านสนุก โดยไม่จำกัดอายุผู้อ่าน (แม้ปกหลังจะกำกับไว้ว่าเหมาะสำหรับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่หัวใจใฝ่เรียนรู้) เพราะเมื่อส่วนผสมของไอเดียสุดแหวกในเรื่องที่จงใจให้เด็กๆ ตื่นตาและประหลาดใจ ถูกโขลกให้เข้ากับมุกตลกสำหรับผู้ใหญ่ที่เหยาะเข้ามาเพิ่มสีสัน สัดส่วนของหนังสือเล่มนี้จึงอ่านอร่อยและเต็มไปด้วยรสชาติ ยิ่งพลิกหน้ากระดาษ ยิ่งได้ค้นพบไอเดียใหม่ล้ำ ซ้ำยังนำไปพลิกแพลงใช้ในชีวิตประจำวันได้
เจ้าของส่วนผสมลับในการปรุงหนังสือเด็กให้อร่อย ได้แก่ สองสามีภรรยาชาวฟินน์อย่าง ไอโน ฮาวุไกเนน (Aino Havukainen) และ ซามิ ตอยโวเนน (Sami Toivonen) ที่ช่วยกันคิด เขียน และวาดหนังสือภาพชุดตาตุและปาตุ มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990
แต่หนทางของตาตุและปาตุไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หนำซ้ำยังได้รับก้อนอิฐเป็นจำนวนมากเสียยิ่งกว่าช่อดอกไม้ในปีแรกๆ ที่วางขาย เพราะไอเดียเพี้ยนๆ ของตาตุและปาตุแห่งนครพิลึกกึกกือไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาผู้ใหญ่ยุค 90
กว่าจะครองใจนักอ่านได้สำเร็จ ไอโนและซามิต้องยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง และสาละวนกับขั้นตอนการทำหนังสือที่ยุบยับไปด้วยลำดับวิธี ที่ไม่ต่างอะไรกับการพยายามหาทางแก้ไขสถานการณ์ในแต่ละเล่มของสองตัวละครที่พวกเขาสร้างขึ้น
เมื่อจุดยืนมั่นคง ลายเส้นแข็งแรง แฝงด้วยมุกตลกร่วมสมัย และไม่หยุดพัฒนาไอเดียของแต่ละเล่ม ในที่สุด หนังสือภาพชุดตาตุและปาตุก็เข้าไปอยู่ในใจนักอ่าน ไม่เฉพาะในฟินแลนด์ แต่ขยายขอบเขตไปทั่วโลก ทั้งยังได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนฟินแลนเดีย (Finlandia Junior Literary Prize) ในปี 2007 เป็นตราประทับความสำเร็จ
จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเบื้องหลังแนวคิด 4 ประการ ในการผลิตหนังสือเด็กให้เป็นที่รักของนักอ่านไม่จำกัดวัย ว่าอะไรทำให้สองสามีภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังตัวละครสุดเพี้ยนอย่างตาตุและปาตุ สามารถสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยไม่มีคำว่าตีบตันไอเดีย
1.
อย่ามัวแต่หลงใหลไอเดียแรก
“ตันสิ ทำไมจะไม่ตัน!” ถ้าทั้งคู่สามารถตะโกนออกมาเป็นภาษาไทยได้ อาจกู่ก้องออกมาเช่นนั้นในระหว่างร่วมพูดคุยกับ ก้อย – กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์นาวา ในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ถอดรหัสนิทานนอกกรอบ” จัดโดย TK Park เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564
เพราะความยากของการผลิตหนังสือที่หนาไม่ถึง 40 หน้า ที่วางจำหน่ายเพียงปีละปก ก็คือ การได้มาซึ่งคอนเซ็ปต์ของแต่ละเล่ม ที่กว่าจะกลั่นและกรองออกมาได้ราวกับหัวกะทิข้นๆ ไอโนกับซามิต้องนั่งระดมสมองบนโซฟาตัวโปรดในบ้านจนเบาะแทบยุบเลยทีเดียว
“การคิดคอนเซ็ปต์ถือเป็นส่วนที่ยากที่สุดในขั้นตอนการทำงาน เรามักเริ่มต้นด้วยการโยนไอเดียกันไปมา ซึ่งถ้าต้องทำคนเดียว คงไม่มีทางเกิดหนังสือตาตุและปาตุขึ้นได้แน่ เพราะต้องใช้เวลา 4-5 เดือนกว่าจะได้ไอเดียของแต่ละเล่ม จากนั้นเราถึงจะเริ่มลงมือหาข้อมูลโดยละเอียด ก่อนลงมือเขียนและวาด เพราะขั้นตอนการวาดรูปและลงสีต้องใช้พลังมาก ดังนั้น พวกเราจึงต้องหาข้อมูลอย่างหนักว่าจะใส่รายละเอียดในเรื่องราวอย่างไร หรือมีวิธีการใช้คำพูดอย่างไรให้เด็กๆ เข้าใจ” ไอโนเล่าถึงกระบวนการตั้งต้น
แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ตอนที่สำนักพิมพ์ Otava ติดต่อพวกเขาให้ทำหนังสือชุดเพื่อให้ความรู้สำหรับเด็ก พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกปัดตกไอเดียจากบรรณาธิการจนต้องหัวเสียกันมาแล้ว
“หลังจากทางสำนักพิมพ์เสนอให้เราทำหนังสือชุดต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้สำหรับเด็ก เช่น การไปหาหมอ เราเลยมาลงตัวที่ไอเดียของการคิดคาแร็กเตอร์ตัวละครที่มาจากข้างนอก และไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมในโลกเลย ซึ่งก็เข้าท่า เพราะการที่ตัวละครไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกจึงเป็นเครื่องมือชั้นดีในการสอนเด็กๆ ให้รู้จักเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
“ตอนแรกเราออกแบบตัวละครเป็นคนแก่ ให้ชื่อว่า อักสุกับโอโสะ (Axu and Ozo) ซึ่งบรรณาธิการไม่ชอบเลย บอกว่าน่าเกลียดมาก” ไอโนเล่าพลางหัวเราะ ทั้งที่ตอนนั้นพวกเขาโกรธจนควันออกหู
“พวกเรารู้สึกโกรธมาก เลยตั้งใจออกแบบคาแร็กเตอร์ใหม่ให้ดูคาวาอี้แบบญี่ปุ่น เลยออกมาเป็นเด็กน้อยตาโต ฉีกแนวไปจากคาแร็กเตอร์เดิม และให้ชื่อว่าตาตุกับปาตุ เพราะฟังง่ายดี” ซามิ ผู้รับหน้าที่วาดภาพทั้งหมดในเล่มย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวละครหน้าตาเพี้ยนๆ ที่หนึ่งในนั้นสวมแว่นกรอบชมพูเป็นเอกลักษณ์
การถูกสั่งรื้อหน้าตาของละครตั้งแต่ Day 1 ตามมาด้วยการตบไอเดียกันเองรอบแล้วรอบเล่ากว่าจะลงตัวเป็นต้นธารหนังสือตาตุและปาตุแต่ละเล่ม เป็นการย้ำเตือนทั้งคู่เสมอว่าไอเดียแรกไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป
“ไอเดียแรกอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดี อย่าหลงรักไอเดียแรกของตัวเองมากเกินไป ต้องทดลองซ้ำๆ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดีพอ เพราะไม่เคยมีทางลัดตัดตรงไปสู่ความสำเร็จง่ายๆ” ซามิย้ำ
2.
อย่ามัวแต่ทำงาน ให้ทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย
หากต้องกรอกอาชีพที่ทำในพาสปอร์ต ไอโนและซามิสามารถจรดปากกาเขียนลงไปอย่างภาคภูมิว่า “นักเขียนและวาดภาพหนังสือเด็กเรื่องตาตุและปาตุ” เพราะนี่คืองานหลักงานเดียวที่พวกเขามุทำตลอดทั้งปี แบบไม่มีวันหยุดราชการ
“แม้เราจะไม่ค่อยมีวันหยุด และหนังสือแต่ละเล่มก็ใช้เวลาทำนานมาก เพราะมีหลายส่วนประกอบกัน แต่เราก็ไม่ได้นั่งทำงานหลังขดหลังแข็งทั้งวัน โดยในระยะแรกพวกเรามักใช้เวลาตอนเช้าไปกับการคิดพล็อตเรื่อง และหลังจากระดมสมองเสร็จ ก็จะปล่อยเวลาที่เหลือตลอดวันเป็นชั่วโมงว่าง แยกย้ายไปทำอะไรที่อยากทำ” ซามิเล่าถึงตารางงานของผู้ผลิตหนังสือภาพชุดตาตุและปาตุ
“หลังวาดสตอรี่บอร์ดเสร็จก็เข้าสู่กระบวนการวาดภาพประกอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน แต่ไม่เครียด ทำให้พอหมดวัน เรามักจะหาอะไรทำอย่างอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูทีวี อ่านการ์ตูน เล่นบอร์ดเกม ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมก็จะไม่เหมือนกันในแต่ละปี อย่างปีที่ผ่านมาพวกเราชอบฝึกเต้นแบบเกาหลีตามเกมคอมพิวเตอร์ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นการผ่อนคลายที่ดีต่อสมองมาก เลยทำให้พวกเราเหมือนได้พักผ่อนอยู่ตลอดเวลา” ซามิแจกแจงถึงตาราง ‘เล่น’ ที่พวกเขาให้ความสำคัญพอๆ กับชั่วโมงทำงาน
“เราต้องหากิจกรรมอื่นๆ ทำ เพื่อที่จะได้กลับมาทำหนังสือต่ออย่างมีความสุข” ไอโนเฉลยถึงเคล็ดลับที่มนุษย์งานทุกคนต่างก็แสวงหาและใฝ่ฝันที่จะได้เป็นผู้ประกอบอาชีพที่ยิ่งทำยิ่งสนุกราวกับไม่ได้ทำงาน
ส่วนวันไหนที่หัวไม่แล่น คิดไม่ออก ไปต่อไม่ไหว ซามิแนะว่า ควรเติมคาเฟอีนเข้าร่างโดยด่วน
“ถ้าคิดไม่ออกให้กินกาแฟเยอะๆ ถ้ายังคิดไม่ออกอีก ให้กินช็อกโกแลตด้วย เพราะถึงอย่างไรการคิดไอเดียสดใหม่ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเราเสมอ เราพยายามไม่คิดซ้ำคนอื่น และไม่ทำซ้ำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาแล้ว” ซามิย้ำถึงหัวใจของงานที่ทำ
3.
อย่าถอดใจกลางทาง
“ถ้าถูกปฏิเสธครั้งแรก อย่าเพิ่งถอดใจ ลงมือทำไปเรื่อยๆ ถ้าคุณรู้สึกว่าชอบและเกิดมาเพื่อสิ่งนี้”
ซามิผู้เหลาดินสอไม้จนกุดมาแล้วไม่รู้กี่ร้อยกี่พันแท่ง แจกคาถาแห่งความสำเร็จที่ไม่จำกัดเฉพาะอาชีพคนทำหนังสือเด็กอย่างพวกเขาเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน การฝึกปรือฝีมืออยู่ทุกวันก็ไม่ต่างอะไรกับดาบที่ถูกลับให้คมอยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมแก่การงัดออกมาฟาดฟันทุกอุปสรรคให้ราบเป็นหน้ากลอง
“ความลับของทุกทักษะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม คือ ฝึกฝนบ่อยๆ อย่างผมก็ต้องวาดให้เยอะ เขียนให้มากเข้าไว้ และถ้าเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็กจะดีมาก หากคุณเคยเห็นหนังสือเล่มแรกๆ ของพวกเราจะสังเกตได้เลยว่าลายเส้นยังไม่ค่อยดีเท่าปัจจุบัน เพราะทักษะจะเพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ ดังนั้น การทำงานจึงหมายถึงการเรียนรู้ตลอดเวลา” ซามิ ผู้เป็นสามีย้ำ ก่อนที่ไอโนจะช่วยเสริมความ
“นอกจากวาดให้เยอะแล้ว เมื่อวาดเสร็จควรพักงานชิ้นนั้นไว้ก่อน แล้วเปิดโอกาสให้คนอื่นช่วยคอมเมนต์งาน จากนั้นให้พัฒนาชิ้นงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนส่งไปนำเสนอยังสำนักพิมพ์ อย่าไปด้วยร่างแรก คุณต้องลงแรงให้เต็มที่เสียก่อน”
“และคุณต้องถามใจตัวเองให้ดีก่อนว่า ทำไมคุณถึงอยากทำหนังสือเด็ก เพราะอยากเป็นนักเขียน หรือเพราะมีเรื่องที่อยากจะเล่า เราทั้งคู่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเขียน เราเป็นแค่คนทำงานที่มีความสุขกับการฝึกทักษะที่ตัวเองชอบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน กว่าเราจะรู้ตัวว่าเป็นนักเขียนก็ตอนที่ไปตามงานเทศกาลหนังสือต่างๆ เพราะผู้คนพะยี่ห้อนักเขียนให้กับเรา” นักวาดอารมณ์ดีกล่าวย้ำ
4.
ตอบตัวเองให้ได้ว่าอะไรคือคุณค่าของสิ่งที่กำลังทำอยู่
‘อะไรคือสิ่งสำคัญในการทำหนังสือให้มีคุณภาพ’ เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญของการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ที่ไอโนตอบทันทีว่า ต้องกล้าที่จะแตกต่าง และผลิตงานตามใจตัวเอง ไม่ใช่ตามใจคนอ่าน
“คุณต้องกล้าคิดที่จะทำสิ่งใหม่ ไม่จำเป็นต้องทำตามขนบเสมอไป เพราะจริงๆ แล้วหนังสือเด็กก็มีขนบแบบแผนในการทำเหมือนกัน สิ่งที่พวกเราทำคือการหาวิธีใหม่ๆ ในการสื่อสาร แล้วสร้างสรรค์งานออกมา ซึ่งที่จริงแล้วในช่วงปลายยุค 90 ผู้ใหญ่ไม่ชอบตาตุและปาตุด้วยซ้ำ ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าหนังสือชุดนี้จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
“ดังนั้น สำหรับคนทำหนังสือ สิ่งที่ควรทำคือ ทำหนังสือที่ตัวเองชอบและตื่นเต้นที่จะได้เปิดอ่าน อย่าทำหนังสือตามใจคนอ่าน และในขณะที่กำลังสร้างสรรค์คอนเทนต์ คุณต้องลืมทุกอย่าง และใช้สัญชาตญาณนำทาง ค้นหาให้เจอว่าอะไรที่เวิร์คและดีที่สุด
“และที่สำคัญไปกว่านั้นสำหรับการทำหนังสือเด็ก คือ อย่าดูถูกเด็ก อย่าลืมว่ากลุ่มคนอ่านหนังสือเด็กมีตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบ ดังนั้น คุณสามารถใช้คำยาวๆ หรือวาดภาพให้ละเอียดยิบได้ เพราะเด็กแต่ละช่วงอายุก็จะมองเห็นไม่เหมือนกัน ถ้าเขาไม่เห็นเลเยอร์ที่เราสร้างเอาไว้ ก็ไม่เป็นไร ใส่ความท้าทายให้เต็มที่ไปก่อน เด็กทุกคนมีความเฉลียวฉลาด เขาจะเรียนรู้และมองเห็นได้เองในวันหนึ่งข้างหน้า” คุณแม่ลูกสองผู้มีหัวใจเป็นเด็กตลอดกาลอย่างไอโน แนะเทคนิคให้นัก (อยาก) ทำหนังสือเด็กหยิบยืมเทคนิคนี้ไปใช้ได้แบบไม่หวง
“แม้เราจะบอกให้เริ่มต้นจากการนึกถึงผู้อ่านให้น้อย นึกถึงตัวเองให้มาก แต่ต้องนึกอยู่เสมอด้วยว่า หนังสือเล่มนี้มอบคุณค่าอะไรแก่ผู้อ่าน และทำไมถึงต้องมีหนังสือเล่มนี้วางขาย หนังสือเล่มนี้ให้ความบันเทิง ให้ประโยชน์ หรือให้ความรู้อย่างไร ใครจะได้รับประโยชน์บ้าง เพราะอย่าลืมว่าหนังสือต้องใช้กระดาษในการผลิต ดังนั้น ต้องคิดให้ใหญ่ว่าหนังสือที่คุณกำลังทำอยู่นั้นให้อะไรกับโลกใบนี้บ้าง” ซามิสะกิดให้คิด และโดยไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป เขาตระหนักดีว่าคุณค่าของหนังสือภาพชุดตาตุและปาตุก่อให้เกิดคุณค่าบางประการ อย่างน้อยก็ในบ้านของใครสักคน
“จะสังเกตได้ว่าในหนังสือตาตุและปาตุมักจะซ่อนมุกสำหรับผู้ใหญ่ไว้ด้วย เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงอ่านได้อย่างสนุกสนานเช่นกัน ทำให้แม้เด็กๆ อาจจะยังไม่เข้าใจบางมุกในเล่ม แต่เมื่อเขาสัมผัสได้ว่าพ่อแม่ชอบอ่านหนังสือเล่มนี้ เขาก็จะขอให้พ่อแม่หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านให้ฟังซ้ำๆ แล้วกระบวนการอ่านก็จะเต็มไปด้วยความสุขทุกครั้ง เพราะจะเกิดการซักถามและพูดคุยกันในครอบครัว หรือแม้แต่การไปกูเกิ้ลข้อมูลเพื่อหาความรู้เพิ่มก็ยิ่งดี” นักวาดภาพกลเฉลยถึงมนต์วิเศษ ที่เขาและภรรยาร่วมกันร่ายให้หนังสือเด็กสุดเพี้ยนชุดนี้มีผู้ติดตามอ่านเพิ่มขึ้นทั่วโลกในทุกๆ ปี
“ตาตุและปาตุเป็นหนังสือที่อ่านสนุก เพราะเป็นการปะทะกันระหว่างโลกแห่งความจริงกับคนที่มาจากโลกอื่น เลยเกิดเป็นอารมณ์ขันขึ้นมา อีกทั้งเด็กๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร ความเปิ่นของตาตุและปาตุเลยทำให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเอง ในขณะที่ความผิด–ถูกในเรื่อง ก็ช่วยสอนให้พวกเขาได้มองอะไรที่ต่างออกไป” ไอโนวิเคราะห์ถึงเสน่ห์ที่ทำให้การ์ตูนสุดเพี้ยนเป็นขวัญใจมหาชน
“ตาตุกับปาตุอาจจะซนหรือแหกกรอบ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่อยากทำอะไรเหมือนคนอื่นๆ เลยใช้ความพยายามสุดความสามารถ จนกลายเป็นการสร้างเรื่องยุ่งไปเสียอย่างนั้น แต่ถึงทำผิดทำถูก ได้บ้างไม่ได้บ้าง พวกเขาก็ไม่เคยเสียใจกับความล้มเหลว แค่เดินหน้าต่อ แล้วพยายามทำอีกแบบด้วยความรู้สึกตื่นเต้นเสมอ” แม้ซามิจะยืนยันว่า ไม่มีใครเป็นทั้งตาตุหรือปาตุ เมื่อผู้ชมทางบ้านถามว่า ‘ระหว่างผู้เขียนทั้งคู่ ใครคือตาตุและปาตุ’
แต่ดูเหมือนผู้อ่านจะรู้ได้เองว่า จริงๆ แล้วตาตุและปาตุคือใครในท้ายที่สุด
“พวกเขาคงมีความสุขไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ในเมื่อกำลังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน”