life

ขณะขับรถกลับบ้าน ภาพของบางฉากบางตอนที่ตกหล่นอยู่ในความทรงจำของชีวิตของดุจดาวย้อนกลับมาฉายชัดอีกครั้ง

หลังจากเธอซ้อมละครเวทีอย่างยาวนาน การแสดงละครทำให้เธอเริ่มสงสัยว่าทำไมจิตใจถึงเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวร่างกาย นั่นคือเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ที่ชวนให้เธอตามหาคำตอบ และทำให้วันนี้ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เป็นทั้งนักบำบัด  นักแสดงละครเวที และผู้ปลุกปั้น Empathy Sauce องค์กรเล็กๆ ที่อยากเห็นคนสื่อสารกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ ที่นี่ไม่ใช่แค่สถานที่เวิร์กช็อปและบำบัดจิตใจ แต่ยังเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของใครหลายคน เหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย ในวันที่ผู้คนต่างพร้อมตัดสินกันและกันตลอดเวลา 

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่ซ้อมหนักมาก วอร์มร่างกายเกือบ ชั่วโมง แล้วอีก 2-3 ชั่วโมงหลังก็ทำโจทย์ต่างๆ บางครั้งมีหนึ่งคำโยนมาให้ แล้วนักแสดงจะต้องใช้ร่างกายสร้างภาพนิ่งตามโจทย์ บางช่วงก็ได้อิมโพรไวส์เอง เรารู้สึกว่าบางครั้งมันมีคำพูดหลุดออกมาระหว่างที่เรากำลังเคลื่อนไหว หรือบางครั้งก็ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แม้กระทั่งตอนขับรถกลับบ้าน เราก็หวนนึกถึงบางช่วงในชีวิตที่ลืมไปแล้ว ทั้งๆ ที่วันนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากกระโดด กระโจนไปมา 

“ยิ่งทำงานกับร่างกายบ่อยๆ มันเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ แต่พื้นที่ของละครเวทีมันให้คำตอบไม่ได้ เราแค่เอาร่างกายไปแสดง แต่เราอยากอธิบายให้ได้ว่าทำไมร่างกายถึงทำงานกับจิตใจ แล้วจิตใจมันทำงานกับวิธีที่เราเคลื่อนไหวอย่างไร ก็เลยหาคอร์สปริญญาโทไปเรียนเพื่อหาคำตอบ โดยสารภาพเลยว่าไม่ได้อยากเป็นนักจิตบำบัดมาตั้งแต่แรก” 

ดุจดาวตัดสินใจเรียนต่อด้านการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการบำบัด (Dance movement therapy) ที่มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ ประเทศอังกฤษ ที่นั่นทำให้เธอเรียนรู้การทำงานของจิตใจกับการเคลื่อนไหวอย่างลึกซึ้ง ได้ฝึกฝน นำไปบำบัดจริงกับคนไข้ และได้เป็นนักบำบัดในศาสตร์ที่เรียนมาอย่างเต็มตัว 


ช่วงที่ดุจดาวเรียนจบหมาดๆ ศาสตร์การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายยังคงเป็นสิ่งใหม่ และไม่ค่อยมีใครรู้จัก ตอนนั้นเธอตั้งใจจะกลับมาแสดงละครเวทีต่อ และยังไม่รู้ว่าจะใช้สิ่งที่เรียนมาอย่างไรได้บ้าง เธอจึงเริ่มถามไถ่รุ่นพี่ในวงการเดียวกัน จนกระทั่งได้รับเชิญให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของ มีรักคลินิก ซึ่งเป็นคลินิกจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่น 

“ข้อดีก็คือหมอจอม (นพ.จอม ชุมช่วย) รู้ว่าระบบจิตเวชที่อังกฤษอย่างที่เราเรียนมามันต้องใช้สหสาขาวิชาชีพในการดูแลคนไข้ คน จิตแพทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอ มันต้องมีนักบำบัด มีนักจิตวิทยาด้วย ตอนนั้นเราเลยได้ไปร่วมทีมกับเขาในฐานะนักจิตบำบัด และยังเป็นนักแสดงละครเวที เป็นอาจารย์พิเศษสอนการเคลื่อนไหวเพื่อการแสดงด้วย เราเป็นมนุษย์ที่ทำหลายอย่างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะคิดว่าสิ่งที่ได้เรียนมา ถ้าเอาไปทำอะไรได้ ก็จะทำ” 

“Dance movement เป็นเครื่องมือทางศิลปะที่ประยุกต์ใช้ได้ ทาง เราเลยทำแบบตรงตัวทั้งในคลินิกจิตเวชด้วย และในรูปแบบของศิลปะด้วย บางครั้งก็เอางานบำบัดไปใช้ในศิลปะ บางครั้งก็เอาเทคนิคศิลปะมาประยุกต์ใช้ในงานคลินิกเช่นกัน” 

 

Empathy [noun]  

หมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจผู้อื่น 

หลังจากเป็นน้องใหม่ในวงการจิตบำบัดอยู่สักพัก ดุจดาวจับพลัดจับผลูเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยโจทย์ใหญ่ของการมาเยือนครั้งนี้คือการพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลให้มีจิตที่รักการบริการและดูแลผู้คนที่มาใช้บริการอย่างเป็นมิตร ดุจดาวจึงเริ่มจากการสอนภาษากายให้ก่อนเป็นอันดับแรก 

“พอลองทำไปสักพักถึงได้รู้ว่าแม้จะมีสกิลภาษากายเยอะ แต่ถ้าโดยพื้นฐานแล้วไม่มี empathy มันก็ยาก การทำงานในโรงพยาบาลต้องพยายามเข้าอกเข้าใจและประคับประคองคนตรงหน้าอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้ สกิลที่ใส่ลงไปมันอาจจะไหลออกหมด เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร” 

 

 

“พนักงานในองค์กรก็คือนักแสดงคนหนึ่งที่อยู่ในบทบาทนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เมเนเจอร์ หรือผู้บริหาร ก็พัฒนาการแสดง ให้เป็นนักแสดงที่ดีขึ้นได้”

 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดุจดาวออกแบบหลักสูตร ‘Empathic communication’ ที่หมายถึงการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อมาพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลให้มีจิตใจรักการบริการ โดยครั้งนี้เธอลองหยิบ ‘กระบวนการละคร’ เข้ามาใช้ เพราะเธอเชื่อว่าแม้ละครเวทีอาจถูกมองเป็นความบันเทิง แต่กระบวนการละครที่อยู่เบื้องหลังนั้นสามารถใช้พัฒนามนุษย์คนหนึ่งได้เป็นอย่างดี 

“เวลาเทรนด์แพทย์ เราจะมีการแสดงบทบาทสมมุติ ดาวมีเพื่อนผู้มากความสามารถด้านการแสดงเต็มไปหมด เราเลยชวนเขามาเล่นเป็นคนไข้บทบาทต่างๆ ที่เข้ามาหาหมอ ปกติเวลาคนไข้คุยกับหมอจบแล้ว เขาก็อาจไปบ่นนอกห้องบ้าง บ่นที่บ้านบ้าง แต่นี่เราให้หมอได้รู้เลยว่าถ้าคุยกับคนไข้แบบนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร เราให้เพื่อนของเราฟีดแบคกับหมออย่างละเอียด” 

“เพื่อนๆ ที่เป็นนักแสดงจะเชี่ยวชาญด้านการฟีดแบคอยู่แล้ว เขาจะใคร่ครวญประสบการณ์เก่ง เขาสามารถเล่าให้เราฟังได้ว่าเมื่อสักครู่มีอะไรบ้างที่ทำให้รู้สึกได้รับความอบอุ่น หรือมีจังหวะไหนบ้างที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนโดนกดทับ มีอะไรบ้างที่สร้างประสบการณ์ไม่ดีสำหรับคนไข้ เราคิดว่ามันแทบไม่มีที่ไหน ที่ให้เราได้ซ้อมแบบนี้” ดุจดาวเล่าให้เราฟัง 

 

เมื่อรับบทบาทเป็นคนอื่น 

เราก็จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น 

เมื่อพูดถึงละครเวที ในฐานะคนดูที่มองอยู่อีกฝั่ง เราคงจดจำได้แต่ภาพที่เกิดขึ้นบนเวที แต่สำหรับนักแสดงในแต่ละบทบาท การแสดงบนเวทีเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะข้างหลังม่านที่พวกเขากำลังฝึกซ้อมตามกระบวนการละครนั้นมีความหมายกว่ามาก และนั่นเป็นศาสตร์ที่จะพามนุษย์เข้าไปสำรวจจิตใจของตัวเองได้ 

“กระบวนการการละครจะเกิดในช่วงเวลาซ้อม การพัฒนามนุษย์คนหนึ่งให้เป็นนักแสดงที่จำบท และไปแสดงบนเวทีได้ มันเรียกร้องสกิลเยอะมาก ทั้งการตั้งคำถาม ทำซ้ำ หรือการที่เราทดลองเป็นคนอื่น การที่เราไปอยู่ในบทบาทคนอื่นมันทำให้เราเข้าใจเขาได้มากขึ้น ทำให้เกิด empathy มากขึ้น เพราะเราไม่ได้เป็นเรา แต่ต้องจินตนาการว่าถ้าเราเป็นคนคนนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร”  

“บางครั้งกระบวนการละครก็ฝึกให้คนโฟกัสและมีสมาธิกับตัวเอง เราเลยดึงสิ่งนี้มาใช้ เวลาต้องฝึกอบรมอะไรสักอย่าง เราจะให้เขาลองทำแบบฝึกหัดที่เพิ่มโฟกัสให้กับตัวเขาเองก่อน แล้วค่อยให้เขาไปฝึกทักษะหลักที่เขาอยากได้ เขาจะค้นพบว่าตัวเองทำได้ดีกว่าปกติ แล้วในชีวิตจริงเขาจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มโฟกัสให้ตัวเองได้บ้าง ซึ่งกระบวนการของละครมันเอาไปผลักดันศักยภาพของมนุษย์ได้ พนักงานในองค์กรก็คือนักแสดงคนหนึ่งที่อยู่ในบทบาทนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เมเนเจอร์ หรือผู้บริหาร ก็พัฒนาการแสดง ให้เป็นนักแสดงที่ดีขึ้นได้” เธอบอกกับเรา  

 

Empathy Sauce  

ปีในโรงพยาบาลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างอยู่ที่นั่น ดุจดาวได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เธอออกแบบนั้นได้ผลจริง เธอเริ่มจินตนาการถึงภาพที่ใหญ่ขึ้น ว่าจะเป็นอย่างไรถ้ามนุษย์ทุกคนมี empathy จะเป็นอย่างไรถ้าทุกคนสื่อสารกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ นั่นจึงเป็นอีกก้าวที่ทำให้เธอตัดสินใจออกมาทำองค์กรชื่อ Empathy Sauce ด้วยความตั้งใจอยากให้ทุกคน ทุกองค์กรได้รู้วิธีสื่อสารกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน 

“บางคนอยากให้พ่อแม่มี empathy กับเรา บางคนอยากให้หัวหน้ามี empathy มากกว่านี้ จะได้รู้สึกอยากทำงาน จากเดิมเมื่อเดินเข้าไปรับการบำบัด เราจะได้รับ empathy ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรารู้สึกว่าน่าจะดี ถ้าเรามี empathy ต่อกันได้ในทุกๆ ที่ 

“สิ่งนี้มันไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เราอยู่กับเพื่อนมนุษย์อย่างเข้าอกเข้าใจ ลองจินตนาการดูว่าจะดีแค่ไหนถ้าเราได้ทำงานกับคนในทีมด้วย empathic communication เป็นทีมเวิร์กที่ทุกคนเกื้อกูลกัน ซัพพอร์ตกันในเวลาที่เราเหนื่อยล้า หรือมุ่งหา productivity แม้กระทั่งการฟีดแบ็กเพื่อพัฒนางานต่อไป เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกชอกช้ำ ระกำใจ และทำต่อไปด้วยความขมขื่น โจทย์ของดาวครั้งนี้อาจจะยิ่งใหญ่กว่าแค่ในโรงพยาบาล เพราะเราตั้งโจทย์ไว้ว่าจะเผยแพร่สิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ในสังคม” 

Empathy Sauce มีทั้งส่วนของการเวิร์กช็อปและการบำบัดเพื่อพัฒนา empathic communication ทั้งในระดับองค์กรใหญ่ๆ กลุ่มเล็กๆ หรือแม้กระทั่งใครคนหนึ่งที่กำลังมองหาพื้นที่ปลอดภัย ที่มีใครสักคนรับฟังอย่างเข้าใจ ซึ่งเธอเล่าว่าการเวิร์กช็อปแบบตัวต่อตัว (One on one) นั้นกลายมาเป้าหมายหลักของคนที่เลือกมาเยือนที่นี่ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อคนรู้สึกเครียดและท้อแท้ใจ และกำลังมองหาที่พึ่งเพื่อซัพพอร์ตจิตใจ ยังไม่ได้มีการบำบัดและเยียวยาอย่างลึกซึ้ง เป็นเพียงพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนหรือใครสักคนเคียงข้างและพร้อมรับฟัง แล้วค่อยขบคิดกันอีกครั้งว่า ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วอยากจะแก้ปัญหานี้อย่างไร 

 

ทำไมมนุษย์ถึงควรมี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ 

 

“มนุษย์มีศักยภาพในการเข้าใจตัวเองอยู่เยอะ ถ้าเราได้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความรู้สึกปลอดภัย”

 

พื้นที่ปลอดภัยหายาก ถ้าเราไม่ได้เติบโตมากับครอบครัวที่พร้อมจะรับฟัง ไม่ได้มีกลุ่มเพื่อนที่พร้อมจะเข้าใจ แล้วจะมีที่ไหนที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งได้เป็นตัวของตัวเองและระบายความในใจออกมาได้อย่างหมดเปลือก  

“แต่ละคนอาจไม่เคยรู้ตัวว่าระหว่างทางที่เราเติบโตมา เรามักจะสร้าง support system เอาไว้เราจะมีคนในครอบครัว มีเพื่อนสนิท มีเพื่อนห่างๆ มีเพื่อนร่วมงาน สมมติเราต้องการใครสักคน เราจะไปหาคนเหล่านั้น บางคนสร้างเอาไว้เยอะเป็นเครือข่าย เลยรู้ว่าเพื่อนเยอะ ถ้าฉันเครียดเรื่องงานฉันต้องโทรหาเพื่อนชื่อแป้ง ถ้าฉันเครียดเรื่องแฟนฉันต้องโทรหาเพื่อนชื่อเหมียว เขารู้ว่าเขาจะต้องไปหาใคร 

“แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมี พอไม่มีแล้วเขาเจอปัญหา มันเลยแก้ไม่ได้สักที บางคนปกติคุยกับแฟนได้ทุกเรื่อง แต่ปัญหาที่มีคือเรื่องแฟนเก่า ทีนี้ก็พูดไม่ได้ เพราะมันจะกระทบความสัมพันธ์ หรือบางคนเลือกไปคุยกับเพื่อน แต่เพื่อนดันฟังไม่เป็น พูดนำบ้าง เล่าเรื่องของตัวเองบ้าง เลยรู้สึกว่ามันควรมีที่ที่ให้เราได้พูดแต่เรื่องของตัวเองคนเดียวเยอะๆ  

 “ทุกคนควรมีพื้นที่ที่ให้เราได้พูดและระบายออกมา เพราะมนุษย์มีศักยภาพในการเข้าใจตัวเองอยู่เยอะ ถ้าเราได้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความรู้สึกปลอดภัย เราสามารถใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้ บางทีเราอัดอั้นเพราะเราไม่เข้าใจ เพราะเราไม่รู้ แต่พอเรารู้มันก็พอแล้ว” 

ดุจดาวเล่าต่อว่าพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยอย่างเต็มที่โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาเป็นอย่างดีคือ ‘คลินิกจิตเวช’ แต่ที่น่าเสียดายคือ ในยุคสมัยก่อนหน้า ตอนที่เรื่องของจิตใจยังไม่ค่อยถูกพูดถึงอย่างเปิดเผย โรงพยาบาลและคลินิกจิตเวชอาจถูกมองว่าไม่ใช่ที่ที่น่าไปเยือนสักเท่าไร และคนที่เข้าไปใช้บริการอาจดูไม่ดี แต่ดุจดาวอยากให้มองต่างออกไป 

“การบำบัดมีหลายระดับ บางทีไม่ต้องป่วยเป็นอะไรเลย แค่ไปส่องสะท้อนตัวเอง แล้วเข้าใจตัวเอง ก็ถือเป็นการบำบัดแล้ว พอดาวเล่าว่ามันทำงานอย่างไร ใน 10 ของคนที่มาสัมภาษณ์ดาว เขามักบอกว่าอยากไปลอง เราเลยให้เขานัดผ่านคลินิกจิตเวชได้เลย พอพูดว่าให้นัดผ่านคลินิกจิตเวช หลายคนก็เริ่มกลัว ไม่อยากลงทะเบียนเป็นคนไข้”  

“เลยทำเป็นเวิร์กช็อปที่ประคับประคองสูง เข้าถึงง่าย นักบำบัดบางคนบอกว่าสิ่งที่เราทำมันก็คือการบำบัด แต่มันเป็นการบำบัดที่มีโครงสร้างแน่นขึ้น ถ้าเป็นการบำบัดทั่วไป นักบำบัดจะบอกเองว่าจะต้องบำบัดถึงจุดไหน อย่างไร แต่เวิร์กช็อปที่เราทำ คือเจอกันแค่ ครั้ง อยากมาอีกก็มาได้ ถ้าไม่อยากมาแล้ว ก็ไม่ต้องมาก็มาก็ได้ เราดูความต้องการของคนว่าอยากทำอะไรแบบไหน เพื่อให้มันเป็นมิตรขึ้น” 

 

ไม่ได้โลกสวย  

แต่อยากเห็นโลกที่สวยขึ้น 

หนึ่งในพื้นที่ปลอดภัยของดุจดาวคือกลุ่มละครเวทีที่เธอเป็นสมาชิกอยู่ เนื่องจากกระบวนการการละครหล่อหลอมให้สมาชิกข้างในฝึกจะฟังและพูดอย่างเข้าอกเข้าใจกันอยู่เสมอ และเธออยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มน้อย กลุ่มใหญ่ที่อยู่ในสังคม 

“ก่อนหน้านี้ empathy ของดาวเป็นศูนย์เลย ดาวไม่รู้จักการฟังเลย เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง และไม่แคร์ความรู้สึกคนอื่น เรารู้สึกว่าเราก็โตมาได้นี่นา แต่ว่าพอเข้ามาอยู่ในกลุ่ม ระบบการทำงานด้วยกันมันให้พื้นที่ ให้เกียรติกัน กระบวนการของละครเวทีมันมีการฟีดแบ็กเยอะอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยปวดแสบปวดร้อน ในกลุ่มนั้นเราเคารพกันสูงมาก แล้วมันให้ผลลัพธ์ที่ดี 

“ดาวอยากเห็นสังคมที่แต่ละคนรู้จักสื่อสารอย่างเข้าใจ ตอนอยู่บ้านเราจะพูดอะไรก็ได้ แต่เวลาไปทำงาน เราจะต้องรู้ว่ามืออาชีพเขาคุยกันแบบไหน จะเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเหมือนเดิมไม่ได้ แบบนี้มันน่าจะลดหลายๆ ปัญหาลงไปได้”

“อยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมันหมายความว่าเขาจะไม่ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญ อาจแค่หันมาสะกิดคนรอบข้างให้นั่งฟัง ทำให้เขาสามารถเข้าถึงพื้นที่ปลอดภัยได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินมาทำเวิร์กช็อป มารับการบำบัด มันมีวิธีที่ประหยัดกว่า โดยใช้ทรัพยากรรอบตัวให้มีคุณค่า ยิ่งถ้าสมาชิกในครอบครัวรับฟังกันได้แบบที่มนุษย์คนหนึ่งต้องการ มันจะทำให้ความสัมพันธ์รุ่มรวยและปลอดภัย” 

“อาจฟังดูโลกสวยไปหน่อย” เธอบอกอย่างนั้น แต่ก็ย้ำให้เรามั่นใจว่ามันเป็นไปได้ 

ก่อนจะเล่าให้ฟังอีกว่า ถ้ามันจะเป็นไปไม่ได้ ก็เพราะยังมีอุปสรรคหลายๆ อย่างที่ทำให้เราไม่ยอมจับเข่าคุยกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ 

“บางคนอาจไม่เคยได้รับ empathy บางคนอาจไม่เคยเห็นตัวอย่างของคนที่มีสิ่งนี้ และสำหรับบางคนคือรู้ว่ามันดีแต่ทำไม่เป็น เพราะการสื่อสารแบบนี้มันเป็นทักษะอย่างหนึ่ง บางคนที่เติบโตมาในบ้านที่มี empathy อยู่แล้ว ก็เป็นความโชคดีไป แต่บางคนที่รู้แต่ทำไม่ได้ ก็ต้องฝึกฝนกันต่อไป 

“เราสื่อสารกันน้อยไปหน่อย เพราะมักติดกับดักคำว่าคอมมอนเซนส์ เราเองไม่เคยเชื่อคำนี้เลย คนอาจมีคอมมอนเซนส์ได้ ถ้าโตมาด้วยกันในบ้านหลังเดียวกัน แต่นี่เราโตขึ้นมากันคนละบ้าน เรามักจะผิดใจกันเพราะเราหวังว่าไม่ต้องพูดเขาก็น่าจะรู้ได้เอง คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาตีความอะไรแบบไหน 

“บางครั้งที่เราไม่ชอบอะไร เราแค่พยายามส่งสายตาให้เขารู้ตัว แต่ความจริงเขาไม่รู้เลยว่าเราไม่พอใจ ก็เพราะเราไม่เคยบอก ถ้าเราไม่เคยบอก เขาก็จะยังทำแบบนั้นเหมือนเดิม ถ้ามานั่งอ่านใจกันมันเหนื่อย มีใครบ้างในโลกนี้ที่อ่านใจมนุษย์ได้” 

 

เราจะเข้าใจกันมากขึ้นได้อย่างไร 

 

“เดี๋ยวนี้มันมีความกลัวอยู่รอบตัวเรา เวลาที่เราไปมีปฏิสัมพันธ์กับใคร การที่เราจะไปตั้งอยู่ที่ไหน จะพูดอะไร เรากลัวโดนตัดสิน กลัวโดนมองว่าไม่ดี มันเริ่มหนักหนาขึ้นในสังคม สิ่งนี้มันกำลังสะท้อนว่าเราอยู่ในยุคที่มันไม่ค่อยปลอดภัย” 

 

สำหรับดุจดาวการฝึกที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่นไม่เหมือนกับการปั่นจักรยาน ที่เห็นผลชัดเจนว่าเราขับได้หรือไม่ได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ  

“เริ่มตั้งแต่การอยากจะเข้าใจ จากนั้นค่อยฝึกฟัง ฝึกพูดให้ช้าลง รอให้เขาพูดให้จบ ทบทวนสิ่งที่เราได้ยิน และฝึกสงสัยและจินตนาการว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไรจากมุมมองของเขา บางครั้ง เรื่องที่เราเห็นว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น ในมุมของเขามันอาจจะต่างออกไป ทำไมเขาถึงอนุญาตให้มันเป็นแบบนี้ซ้ำๆ แล้วเขาก็ดูโอเคกับมัน มันก็น่าสนใจนะว่าลึกๆ แล้วเขารู้สึกอย่างไร เขาต้องการอะไรถึงทำแบบนี้ แม้ว่าเราไม่มีทางรู้หรอกว่าความจริงคืออะไร เพราะมันไม่ใช่ชีวิตของเรา แต่การทำแบบนี้จะทำให้เราตัดสินกันน้อยลง เพราะจุดที่เราอยู่กับจุดที่เขาอยู่มันคนละจุดกัน แล้วเราก็ไม่ได้ถูกเสมอไป” 

“อีกหนึ่งสิ่งคือทักษะการสังเกต เพราะการสังเกตคือการรับสารจากคนอื่น เช่น เขาพูดบางคำกับเรา เราเห็นไหมว่าแววตาเขาเป็นอย่างไร น้ำเสียงเขาเป็นอย่างไร มันตรงกับที่เขาพูด หรือมันได้บอกอะไรมากกว่านั้นไหม บางคนที่เงียบตลอดเวลา มันเกิดอะไร ทำไมเขาเลือกเงียบ ถ้าเราเริ่มสังเกตมากขึ้น ด้วยความอยากเข้าใจ มันคือการเปิดประตูเข้าไปหาเขาแล้ว” เธอบอกกับเรา 

 

“เดี๋ยวนี้มันมีความกลัวอยู่รอบตัวเรา เวลาที่เราไปมีปฏิสัมพันธ์กับใคร การที่เราจะไปตั้งอยู่ที่ไหน จะพูดอะไร เรากลัวโดนตัดสิน กลัวโดนมองว่าไม่ดี มันเริ่มหนักหนาขึ้นในสังคม สิ่งนี้มันกำลังสะท้อนว่าเราอยู่ในยุคที่มันไม่ค่อยปลอดภัย” 

“ดาวเลยจินตนาการว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้โดยที่เราไม่ต้องกลัว เพราะเรารู้ว่าคนตรงหน้าพร้อมจะเข้าใจว่าเราเป็นอย่างไร การอยู่ร่วมกันในสังคมจะได้รับการเกื้อกูล ได้รับการซัพพอร์ต ได้เป็นฝ่ายซัพพอร์ตด้วย นี่มันเป็นคงเป็นสมมุติฐานที่ดาวต้องใช้เวลาต่อไปเรื่อยๆ ตลอดการทำงานที่จะค้นหาว่าจะใช้เครื่องมือ หรือวิธีไหนบ้างที่จะทำสิ่งนี้”