life

“สังคมนี้ต้องการคนที่สมบูรณ์แบบ”

โยชิซาวาบอกกับมิคะมิซังขณะกินเนื้อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Under the open sky  มิคะมิเป็นอดีตยากูซ่าที่ต้องคดีฆาตกรรม ติดคุกนาน 13 ปี และเพิ่งออกมาใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา และแน่นอนว่าในสังคมญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีที่ยืนสำหรับคนที่เคยผิดพลาดมาก่อนเลย

สังคมตลาดเป็นใหญ่คาดหวังให้มนุษย์ต้องสมบูรณ์แบบ ใครๆ ก็อยากได้ผลลัพธ์ไร้ที่ติคุ้มค่าราคาจ้าง ความคาดหวังค่อยๆ ก่อตัวขึ้น จนทำให้คนตั้งบาร์ของความสมบูรณ์แบบสูงลิ่วจนไม่เห็นที่สิ้นสุด และพบว่าท้ายที่สุดแล้ว ‘สมบูรณ์แบบ’ ไม่มีอยู่จริง

เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ (perfectionist) เป็นลักษณะนิสัย (behavior) ของคนที่รักความสมบูรณ์แบบ ที่บ่มเพาะขึ้นได้ตั้งแต่ยังเด็ก แม้จะไม่ได้ร้ายแรงจนกระทบกับชีวิตประจำวันเหมือนโรคทางจิตเวช แต่ถึงอย่างนั้นลักษณะนิสัยแบบเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ก็นำมาซึ่งความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ที่ส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวชอื่นๆ ตามมา ร้ายแรงที่สุดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่หมายถึงแนวคิดที่ครอบคลุมทุกๆ อย่างในชีวิต นอกจากเรื่องงาน ความคิดที่ตั้งอยู่บนความสมบูรณ์แบบยังติดตามชีวิตของคนเราทุกย่างก้าว ทั้งด้านการงาน ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ จากการศึกษาของ โธมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) นักจิตวิทยาสังคม และ แอนดรูว์ ฮิล (Andrew Hill) ศาสตราจารย์ด้านแรงจูงใจและบุคลิกภาพ ในหมู่พบว่าเพอร์เฟ็คต์ชันนิสเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1990 – 2000 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เราแสดงออก เราพลาด ผู้คนก่นด่า และรุมทึ้ง โลกคือเวทีแสดงความสมบูรณ์แบบที่ไม่หลงเหลือพื้นที่สำหรับความผิดพลาดให้ใครได้เรียนรู้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้คนกลัวที่จะแสดงออกและเพิ่มความคาดหวังของตัวเองให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์

การทดลองหนึ่งของฮิลล์ เขาให้กลุ่มคนที่มีนิสัยเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์และคนที่ไม่มีนิสัยดังกล่าวมาทำงานชิ้นเดียวกัน โดยที่ไม่ได้เฉลยกับพวกเขาว่างานนี้จะไม่มีทางทำสำเร็จ ผลปรากฏว่าคนทั้งสองกลุ่มตั้งใจทำงานอย่างมุ่งมั่นเหมือนกัน แต่กลุ่มที่เริ่มไม่สนุกและถอดใจยอมแพ้ไปเสียก่อนคือกลุ่มที่มีลักษณะนิสัยแบบเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์

ฮิลล์ยังสรุปอีกว่าเมื่อเผชิญกับความล้มเหลวหรือปัญหาที่แก้ไม่ตก กลุ่มคนเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์จะตอบสนองด้วยอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น รู้สึกผิดมากขึ้น รู้สึกอับอายขายขี้หน้า และยังโกรธมากขึ้นด้วย

ผลงานที่เรามองว่าสมบูรณ์แบบเหมือนกัน อาจต่างกันตรงที่หากศิลปินเป็นผู้มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบแล้วล่ะก็เบื้องหลังการทำงานอาจไม่ได้สนุก งานชิ้นนั้นอาจหมายถึงไฟที่แผดเผาจิตวิญญาณและร่างกายของศิลปินจนมอดไหม้ก็เป็นได้

เพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์มักจะตั้งความหวังกับทุกสิ่งไว้สูงว่าต้องออกมาสมบูรณ์แบบทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งสิ่งที่ตนเองทำและสิ่งที่คนอื่นทำ ภาพของความสมบูรณ์แบบชัดเจนแจ่มแจ้ง จนทำให้บ่อยครั้งที่พวกเขาเลือกที่จะไม่ลงมือทำอะไรเลยเพราะกลัวความล้มเหลว และถึงจะลงมือทำแต่ทุกขั้นตอนจะเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด เพราะมีมาตรฐานในอุดมคติครอบงำอยู่เสมอ อาจทำให้ก่นด่า ตำหนิตัวเองได้เมื่อไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ความจริงและคำวิจารณ์ของคนอื่นๆ กลายเป็นหนามที่คอยทิ่มแทงให้เจ็บปวดได้เสมอ หนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขามักวิ่งหนีจากการถูกตัดสิน

การศึกษาหนึ่ง โดย เดวิด ชาน (David W. Chan) นักจิตวิทยาการศึกษาได้สำรวจนักเรียนชาวฮ่องกงจำนวน 1,000 คน พบว่านักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทั้งหลายคือคนที่ใช้นิสัยเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ในทางที่เหมาะสม กลับกันนักเรียนที่มีนิสัยเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์แบบสุดโต่งมีแนวโน้มจะไร้ซึ่งพรสวรรค์ ตัวอย่างการใช้นิสัยนี้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น พยายามเอาชนะตัวเองเมื่อทำผิดพลาด หรือในเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ไม่ได้ ซึ่งทำให้จิตใจบอบช้ำ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นอื่นๆ ยังแสดงให้เห็นว่า การพยายามอย่างหนักเพื่อความสำเร็จในอุดมคตินั้นแทบไม่เป็นผล และยิ่งไปกว่านั้นมันกลับมาทำร้ายเราอีกด้วย

งานวิจัยของ บาร์ต โซเนนส์ (Bart Soenens) ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Family Psychology ปี 2008 ระบุว่าการเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งที่บ่มเพาะให้เด็กเป็นเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์ รวมถึงระบบโรงเรียนที่ให้คุณค่ากับเด็กๆ ที่เป็นเลิศและมีความสามารถ ถ้าเด็กๆ ทำผิดแล้วถูกดุ พวกเขาก็จะกลัวการลงมือทำ หรือบอกตัวเองเสมอว่าห้ามทำผิดอีก ถ้าเด็กๆ ฝึกระบายสีแล้วผู้ใหญ่คาดหวังให้งานออกมาดี จะทำให้เด็กๆ กลัวที่จะละเลงสีอย่างสนุกสนาน จนไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาด ความคาดหวังในผลลัพธ์มากเกินไปอาจพัฒนาเป็นความกลัวล้มเหลว จนทำให้เปราะบางเกินกว่าจะลงมือทำอะไรในอนาคตได้

แล้วเราจะใช้ชีวิตและสนุกกับ ‘ความไม่เพอร์เฟ็กต์’ ได้อย่างไร เราขอชวนมาเริ่มจากฝึกมองโลกในมุมมองใหม่ๆ ตามแบบฉบับ กัสทาโว ราซเซตที (Gustavo Razzetti) นักเขียนและซีอีโอ Fearless Culture ที่ทำงานด้านการฟื้นฟูพฤติกรรมมนุษย์มานานกว่า 20 ปี ซึ่งวิธีที่เราหยิบมาฝากนี้น่าจะช่วยให้ดึงนิสัยเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์มาใช้ให้เป็นประโยชน์

มีเดดไลน์เป็นสรณะ 

เลิกผัดวันประกันพรุ่ง พร้อมได้แต่อย่ารอให้พร้อมนานเกินไป เพราะความพร้อมสำหรับงานที่จะออกมาตามอุดมคติในครั้งแรกนั้นไมมีอยู่จริง ทริคง่ายๆ คือกำหนดเดดไลน์ให้ตัวเอง แล้วลงมือทำทันทีให้ทันตามเวลาที่ตัวเองกำหนดเอาไว้ 

ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวในภาพยนตร์เรื่อง Your Name สวยตระการตา ช่างน่าทึ่งที่มาโตะ ชินไค (Makoto Shinkai) ทำออกมาได้สวยงามขนาดนี้ แต่เชื่อสิว่าเบื้องหลังต้องผ่านการแก้ไขมาหลายต่อครั้งกว่าจะออกมาเป็นไฟนอลสู่สายตาคนดูได้ ถ้ารอให้พร้อม ค่อยๆ แต้มดวงดาวทีละดวงในจุดที่สมบูรณ์แบบที่สุด คงเป็นงานที่ทำทั้งชีวิตก็ไม่มีวันเสร็จสิ้น และเราก็คงไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ 

ปล่อยใจอยู่กับปัจจุบัน

ปล่อยใจสบายๆ แล้วโฟกัสกับระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ สลัดความกลัวในอนาคตที่ว่ามันอาจจะไม่ดีพอทิ้งไปแล้วสนุกกับปัจจุบันเข้าไว้ พึงระลึกไว้ว่าครั้งแรกผิดพลาดได้ ต่อให้เป็นครั้งที่ 100 ก็ผิดพลาดได้ แต่ที่สำคัญคือเราเรียนรู้และแก้ไขมันได้เสมอ

ทำให้แล้วเสร็จ ดีกว่าจินตนาการงานที่ดีแต่ยังไม่ได้ทำ

งานที่แล้วเสร็จ ดีกว่างานในจินตนาการที่คิดว่าดีแต่ยังไม่เสร็จ อย่าลังเลที่จะลงมือทำเพราะงานที่เสร็จแล้วแต่ยังไม่ดียังทำให้เราพอมีเวลามานั่งแต่งเติมได้ทีหลัง หากเทียบกับงานในจินตนาการที่ดีแล้วสิ่งนั้นอาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริงเลยก็เป็นได้

ตั้งความหวังที่เป็นไปได้ 

ยอมรับข้อจำกัดแล้วตั้งความหวังที่พอจะเป็นไปได้และเป็นมิตรกับสุขภาพจิต

เพราะไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นโรคทางจิตเวช นิสัยรักความเพอร์เฟ็คต์จึงอาจไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือนิสัยที่ส่งผลกับชีวิตในทางใดทางหนึ่งและเป็นเหมือนบ่วงลึกที่แม้พยายามจะก้าวออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พ้น 

พึงระลึกไว้เสมอว่า ‘คนเราผิดพลาดกันได้’ เสียใจได้แต่อย่านานเกินไป เผชิญกับโลกอาจทำให้เจ็บปวด  ความผิดพลาดจะทำให้เสียใจ แต่นั่นคือเครื่องหมายที่ย้ำเตือนว่าเรายังเป็นมนุษย์

 

อ้างอิง