#RealSizeBeauty
เป็นแฮชแท็กที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มงลง ‘แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส’ บนเวทีประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2021 เนื่องจากเป็นปีแรกที่ผู้ชนะฉีกภาพลักษณ์แบบ พิมพ์นิยม หรือ บิวตี้สแตนดาร์ด ออกไป ไม่เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประกวดอีกครั้งหนึ่งที่สร้างความฮือฮาในหมู่แฟนนางงาม ทั้งยังชวนให้จับตามองว่า เวทีที่มีใจความสำคัญเป็น ‘ความงาม’ นั้นจะเป็นอย่างไรและยังจำเป็นอยู่ไหม ในเมื่อนิยาม ‘ความงาม’ แบบเก่ากำลังจะเปลี่ยนไป
เราขอชวนไปย้อนดูประวัติศาสตร์ของเวทีนางงามว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน แม้โลกเปลี่ยนไป ทำไมถึงยังจัดประกวดนางงามมาจนทุกวันนี้
การประกวดนางงามอย่างไม่เป็นทางการเริ่มต้นราว ค.ศ. 1854 เมื่อ ฟีเนียส เทเลอร์ บาร์นัม (Phineas Taylor Barnum) นักแสดงหัวหมอที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา เจ้าของคณะละครสัตว์ Barnum & Bailey Circus จัดงานประกวดต่างๆ ขึ้น ทั้งประกวดสัตว์เลี้ยง ดอกไม้ เด็กๆ รวมถึง ‘หญิงสาว’ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนคณะละครสัตว์กวาดเงินได้เป็นกอบเป็นกำ
หลังจากนั้น เขาก็ยกระดับการประกวดให้เป็นทางการขึ้น โดยแขวนภาพของหญิงงามแต่ละคนไว้ในพิพิธภัณฑ์ จากนั้นก็ให้ผู้ชมเข้ามาโหวต ใครได้รับความนิยมมากที่สุดก็เป็นผู้ชนะ ซึ่งโมเดลนี้บาร์นัมตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไรและเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ
หลังจากที่ธุรกิจของบาร์นัมได้รับความสนใจ แถมยังทำเงินได้ เมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 บรรดารีสอร์ทในอเมริกาจึงพากันจัดการประกวดสาวงามเพื่อสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยว และถือเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของชนชั้นกลาง ซึ่งเมื่อได้รับความนิยมมากเข้า ‘มิสอเมริกา’ (Miss America) เวทีประกวดนางงามอย่างเป็นทางการของอเมริกาจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1921 เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวยังคงเที่ยวในประเทศต่อหลังสิ้นสุดวันแรงงาน
การประกวดนางงามเริ่มแพร่หลายทั่วโลกในช่วงปี 1930 – 1950 ซึ่งนางงามประจำชาติเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณานิคมไปสู่ความเป็นชาตินิยมแบบเต็มขั้น และหลังจากที่เวที มิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) เกิดขึ้น การประกวดนางงามก็ดูจะยิ่งครอบคลุมและได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ส่วนในประเทศไทย นอกจากมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สแล้ว เรายังมีเวทีนางงามของตัวเอง คือ ‘นางสาวสยาม’ หรือ ‘นางสาวไทย’ ในปัจจุบัน ซึ่งเวทีเกิดนี้ขึ้นในช่วงที่ประเทศเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณายาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย จึงมีการจัดประกวดหาสาวงาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญของประเทศ
ภายหลังเมื่อนางงามเกี่ยวข้องกับความเป็น ‘ชาติ’ เวทีนี้จึงเป็นมากกว่าความบันเทิง แต่หมายถึงการเฟ้นหาหญิงสาวที่จะมาเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ การประกวดจึงให้ความสำคัญกับช่วงตอบคำถามยากๆ ซึ่งเป็นการวัดความเฉลียวฉลาดของผู้หญิงอีกด้วย ผู้ชนะบนเวทีจะได้รับเงินรางวัลมหาศาล ทั้งยังมีหน้าที่ที่ต้องทำในฐานะคนของประชาชน เช่น เดินสายขอบคุณสื่อฯ กล่าวสุนทรพจน์บนเวทีสำคัญต่างๆ ของประเทศ ทำงานจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม และเป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารบางสิ่งไปยังผู้คน รวมถึงในยุคแรกๆ นางสาวไทยเป็นเวทีที่ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียง ได้พูดถึงสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ
แต่ในขณะเดียวกัน การประกวดนางงามก็ชวนให้ตั้งคำถามมากมายหลายประเด็น เช่น การวัดคุณค่าผู้หญิงจากรูปลักษณ์ภายนอก เปรียบผู้หญิงเหมือนวัตถุและเป็นเพียงความบันเทิงในสังคมปิตาธิปไตย และที่สำคัญคือ บนเวทีซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงพูดเรื่องเสรีภาพ กลับเป็นเวทีที่ยังกีดกันทั้งเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง และตัวตนของผู้หญิง รวมถึงการพยายามสร้างมาตรฐานของ ‘หญิงงาม’ ในแบบที่ผู้หญิงอีกหลายล้านคนบนโลกไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในมาตรฐานดังกล่าว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในอดีตเวทีมิสอเมริการะบุอย่างชัดเจนว่าผู้เข้าแข่งขันต้องเป็น ‘คนผิวขาว’ เท่านั้น กว่าที่เราจะก้าวข้ามเรื่องสีผิวไปได้ เวลาก็ล่วงเลยมาจนปี 1970 เมื่อ เชอร์รีล บราวน์ (Cheryl Brown) เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ชนะการประกวดบนเวที Miss Iowa ซึ่งเป็นการประกวดระดับรัฐ
เวทีนางงามมีประเด็นให้นำมาถกเถียงได้ไม่รู้จบ ทำให้ในอดีตเกิดการประท้วงมากมาย เช่น ในปี 1960 กลุ่มสตรีนิยม (Feminism) New York Radical Women ออกมาต่อต้านการกดขี่ผู้หญิง เมื่อเวทีประกวดนางงามตัดสินคุณค่าของผู้หญิงจากความงามเพียงอย่างเดียว ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ที่หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลานาน ทำให้การประกวดมิสอเมริกามีผู้ชมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2015 มีคนดูเพียง 7.1 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสถิติจากปี 1954 ที่เคยมีคนดูถึง 27 ล้านคน
นอกจากการเป็นภาพลักษณ์ของ ‘ชาติ’ ในอดีตแล้ว ปัจจุบันแม้โลกจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และเส้นแบ่งของความเป็นชาติจะเบาบางลงไป แต่เวทีนางงามก็ยังคงทำหน้าที่บางอย่างในแบบที่เคยทำมาเสมอ
มินนี่ ไดรเวอร์ (Minnie Driver) นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Beautiful (2002) เล่าว่า หลังจากที่เธอทำการพูดคุยกับหญิงสาวหลายคนก่อนมาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ทำให้เข้าใจว่าการประกวดนางงามนั้นเป็นเหมือนโอกาสสำหรับผู้หญิงด้วยเหมือนกัน
“ผู้หญิงหลายคนบนโลกอยากจะพูดบางสิ่ง แต่ถูกสังคมทำให้เชื่อว่าพวกเธอต้องดูดีเท่านั้นถึงจะพูดได้ การประกวดนางงามมันแย่มาก เมื่อมองจากมุมของฉัน ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวขาวที่ได้รับโอกาสในการศึกษาดีๆ แต่ก่อนที่จะทำหนัง ฉันได้คุยกับผู้หญิงมากมาย ส่วนหนึ่งจากทางใต้ของอเมริกา ฉันพบว่าสำหรับพวกเขาแล้ว การประกวดนางงามคือทางหนี”
“หนังเรื่องนี้ไม่ได้เจาะลึกถึงวิวัฒนาการของสตรีนิยมสักเท่าไหร่นัก แต่มันทำให้ฉันคิดได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ใช้เวทีนางงามเป็นทาง ‘หลบหนี’ และฉันยังคอยค้นหาต่อไปว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้พวกเธออยากหนีออกมา”
ในแง่ของผู้เข้าประกวด เวทีนี้อาจหมายถึงโอกาสของผู้หญิงในอีกหลายๆ ประเทศที่ไม่เคยได้รับโอกาส นี่เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยยกระดับชีวิตให้ดีกว่าเดิมขึ้นได้ และอาจเป็นใบเบิกที่ทางดีเพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง ซึ่งเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คน
ในแง่ของธุรกิจ เวทีการประกวดยังคงเป็นเวทีที่มีเงินหมุนเวียนมากมาย ทั้งช่างแต่งหน้า ช่างตัดชุด อีกทั้งยังทำหน้าที่ด้านการโปรโมตการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ ซึ่งยังคงจุดประสงค์ดั้งเดิมตั้งแต่วันที่เริ่มจัดประกวดในอดีตไว้อย่างครบถ้วน ไม่เปลี่ยนแปลงไป ในแง่ของการเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มารับชม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเวทีประกวดเองก็พยายามขับเคลื่อนตัวเองไปพร้อมๆ กับโลกที่ยอมรับความหลากหลายของผู้คนมากขึ้น แม้ความสวยจะยังสำคัญ แต่ปัจจุบันกลับไม่สามารถเป็นหมัดหนักในการดึงดูดผู้ชมในยุคหลังได้อีกต่อไป ช่วงตอบคำถามจึงได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าสาวงามได้แสดงทัศนคติและพูดถึงประเด็นต่างๆ ของสังคม
นอกจากความบันเทิงที่มีไว้ชื่นชมความงาม เวทีประกวดจึงมีไว้สื่อสารและสร้างความตระหนักที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่จะทำให้เวทีนี้เติบโตไปกับยุคสมัยได้ เช่น ฮาน เลย์ (Han Lay) มิสแกรนด์เมียนมาร์ 2020 ที่พูดถึงความอยุติธรรมและสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือ แอนชิลี ที่พยายามจะฉีกกรอบเรื่องรูปร่างของผู้หญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมา นั่นหมายความว่า ตราบใดที่ยังมีสปอตไลท์ส่องถึง เวทีนี้ก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับสื่อสารใจความบางอย่างไปสู่ผู้ชมได้เสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเวทีจะพยายามขับเคลื่อนประเด็นสังคมแค่ไหน แต่จุดบอดใหญ่ๆ ของการประกวดนางงามก็ยังหนีไม่เคยพ้นเรื่องการวัดคุณค่าของผู้หญิงจากรูปลักษณ์ภายนอก รวมถึงมีกฎการประกวดที่ยังคงจำกัดเสรีภาพของผู้หญิง ซึ่งดูสวนทางกับการเรียกร้องสิทธิสตรีที่เวทีพยายามผลักดัน นอกจากต้องมีรูปลักษณ์ตามที่กำหนด ส่วนสูงถึงเกณฑ์แล้ว ยังต้องเป็นผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน และไม่เคยมีบุตรมาก่อน ซึ่งถ้าเราให้คุณค่ากับตำแหน่งนี้ นั่นก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า ‘การแต่งงานและมีลูก’ ลดทอนคุณค่าของผู้หญิงอย่างไร?
และชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่าเวทีนางงามจะทำลายกรอบของ ‘ความงาม’ ได้อย่างไร เมื่อกฎเกณฑ์ของการประกวดยังคงตีกรอบและกำหนดคุณสมบัติของผู้หญิง อีกทั้งหากมองมุมกลับในส่วนของการตอบคำถาม นั่นอาจเป็นความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น เมื่อสังคมเรียกร้องให้ผู้หญิงจำเป็นต้องเก่งและเฉลียวฉลาดเพื่อจะได้รับการยอมรับ
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนมีคุณค่าในฐานะคนหนึ่งและควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารูปลักษณ์ ความเฉลียวฉลาดจะเป็นอย่างไร ทุกเสียงนั้นมีความหมายและคู่ควรแก่การรับฟัง
อ้างอิง
- Hanna Flint. Can beauty pageants ever be empowering?. https://bbc.in/2ZOmNaQ
- Elizabeth King. A Look Back at the Sexist, Racist History of Beauty Pageants. https://bit.ly/3w50zNy
- Macey Malone. In An Already Sexist World, Do We Really Need Beauty Pageants?. https://bit.ly/2Y6RY0m
- วัชชิรานนท์ ทองเทพ. “ดอกไม้มาพร้อมก้อนอิฐ” เมื่อนางงามและการเมืองอยู่บนเวทีประกวด. https://bbc.in/3pYJWSP