วรรณกรรมโอสถน้อย เป็นทั้งชื่อหนังสือและร้านหนังสืออิสระที่ขายยาในรูปแบบของหนังสือ
โดยสถานะแล้ว วรรณกรรมโอสถน้อย หรือ La Piccola Farmacia Letteraria จัดอยู่ในหมวดนิยาย ที่มีเค้าโครงเรื่องจริงบางส่วนจากประสบการณ์เปิดร้านหนังสือในชื่อเดียวกันของ เอเลนา โมลินี (Elena Molini) ผู้เขียนและเจ้าของร้านขายหนังสือแทนยาแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
เรื่องราวในนิยายว่าด้วยชีวิตของ บลู สาวโสดวัยสามสิบ หนอนหนังสือผู้กลายมาเป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ในเมืองฟลอเรนซ์ ที่ชีวิตในแต่ละวันของเธอขับเคลื่อนโดยความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ รอบตัว ที่ต่างก็มีปัญหาไปคนละแบบ รวมถึงบรรดาลูกค้ามากหน้าหลายตาในร้านหนังสือที่มักขอให้บลูแนะนำหนังสือเพื่อแก้ปัญหาชีวิตให้ จนเป็นที่มาของไอเดียในการเขียนสรรพคุณของวรรณกรรมคัดสรรบางเล่มในรูปแบบคล้ายใบสั่งยา โดยบลูเชื่อว่าวรรณกรรมที่ดีสามารถบรรเทาอาการป่วยไข้ทางใจได้
บรรยากาศของร้านหนังสือในเล่มเคาะออกมาจากร้าน Piccola Farmacia Letteraria เป๊ะ ในขณะที่คาแร็กเตอร์ของตัวเอกในเล่มไม่เหมือนผู้เขียนเสียทีเดียว
“บลูไม่เหมือนฉันเท่าไร เธอค่อนข้างจะเลินเล่อ ส่วนฉันจริงจังและขี้กังวลกว่านั้นมาก” โมลินีแจกแจง
โมลินีเปิดร้านหนังสือ Piccola Farmacia Letteraria ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 ในเขต Ripoli เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บนความเชื่อมั่นส่วนตัวว่า “หนังสือดีย่อมดีต่อจิตวิญญาณ” เธอจึงทดลองใช้วิธีแนะนำหนังสือในรูปแบบของ ‘ใบสั่งยา’ โดยโมลินีจะเป็นคนเลือกหนังสือที่เธอคิดว่าใช่ แล้วนำมาหารือกับเพื่อนอีก 3 คน คนนึงเป็นจิตแพทย์ อีกสองคนเป็นนักจิตบำบัด ถึงสรรพคุณและผลข้างเคียงของหนังสือเล่มนั้นๆ ก่อนที่โมลินีจะรับหน้าที่เขียนใบสั่งยา โดยปัจจุบันทางร้านมีวรรณกรรมที่มากด้วยสรรพคุณในการเยียวยาอาการป่วยทางอารมณ์ ความรัก ความรู้สึก มากถึง 95 รายการ
ไอเดียของการวางตัวประหนึ่งร้านขายยา ส่งผลให้ร้านหนังสือ Piccola Farmacia Letteraria เป็นที่รู้จักตั้งแต่ปีแรกที่เปิดทำการ ในปีถัดมา โมลินีจึงเริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกในชีวิตที่ชื่อ La Piccola Farmacia Letteraria (หรือ วรรณกรรมโอสถน้อย ที่สำนักพิมพ์ Bookmoby Press ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทย โดยได้ อัมรา ผางน้ำคำ แปลจากภาษาอิตาลีโดยตรง)
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนส่งและเสริมให้ร้านหนังสือ Piccola Farmacia Letteraria โด่งดัง เพราะกิตติศัพท์ของเมืองฟลอเรนซ์เองได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเภสัชตำรับแห่งแรกอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า Nuevo Receptario ซึ่งร้านขายยาทุกแห่งจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วย
นอกจากนี้ ฟลอเรนซ์ยังเป็นที่ตั้งของร้านขายยาเก่าแก่ที่สุดในโลก อย่าง Officina Profumo Farmaceutica ซึ่งตั้งอยู่ในโบสถ์ซานตามาเรีย โนเวลลา (Santa Maria Novella) ที่ไม่เพียงเก่าแก่ แต่จัดเป็นร้านขายยาที่สวยงามมลังเมลืองที่สุดก็ว่าได้
“แม้จริงๆ แล้วไอเดียดั้งเดิมของการทำร้านหนังสือแห่งนี้จะมาจากการไม่อยากทำให้ร้านหนังสือมีบรรยากาศแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา เหมือนร้านหนังสือใหญ่ๆ เราเลยเติมสีสันของการแนบใบสั่งยาไปกับหนังสือบางเล่มให้คนที่มาเลือกซื้อหนังสือรู้สึกเชื่อมโยงกับหนังสือมากขึ้น
“แต่ฉันก็เพิ่งมารู้ตัวเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วการทำร้านหนังสือแห่งนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากบรรยากาศของเมืองที่กรุ่นกลิ่นอายของร้านขายยาเก่าแก่อยู่เหมือนกัน ดูจากหน้าตาของร้านก็ได้ เราพยายามตกแต่งร้านให้ได้อารมณ์วินเทจ และพยายามสร้างสรรค์บรรยากาศให้ผู้คนอยากมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเหมือนในวันวาน” โมลินีเล่าถึงร้านหนังสือที่กลมกลืนไปกับกลิ่นอายของเมือง
ในฐานะที่ฟลอเรนซ์มีร้านหนังสือเนื้อหอมอย่าง Piccola Farmacia Letteraria มาร่วมสมทบเป็นอีกหนึ่งโอสถศาลาประจำเมือง ก็ยิ่งทำให้เมืองเปี่ยมเสน่ห์แห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายใหม่ ที่นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลประวัติศาสตร์และการทัวร์ร้านหนังสือห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
อ้างอิง
- Iris Pase. The Incredible Historic Pharmacies of Florence, Italy.https://bit.ly/3EUJAnS
- Magentaflorence. Reading Cures at Bookshop ‘Pharmacy’. https://bit.ly/3SgrJum