ปัจจุบัน ‘กรดไหลย้อน’ แทบจะกลายเป็นโรคสามัญที่ผู้คนแห่งยุคสมัยมีโอกาสเกิดอาการเจ็บแบบจุกๆ ในอกกันได้ทุกเพศทุกวัย
เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคกรดไหลย้อนล้วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนยุคใหม่ เช่น การกินอาหารมื้อดึก กินอิ่มแล้วนอนทันที การกินของมันหรือของทอดเยอะเกินไป กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ ไปจนถึงการไอเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ หูอักเสบ ฯลฯ หนักเข้าอาจก่อให้เกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
ทั้งนี้ กรดไหลย้อนยังซ่อนรายละเอียดของโรคไว้อีกหลายประการ รวมถึงความลับในอาหารบางชนิดที่ยิ่งกินยิ่งเร่งให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบหนักขึ้น
ดังนั้น ไม่ว่าตอนนี้คุณจะกำลังเป็นโรคกรดไหลย้อนอยู่ หรือยังไม่เป็น ก็ควรรู้เท่าทันเรื่องลับๆ ของโรคนี้ ที่ป้องกันไว้ดีกว่าปล่อยให้เกิดอาการแสบๆ ร้อนๆ ในอก ที่เจ็บและจุกจนต้องขอให้หมอจ่ายยาเพื่อบรรเทา
1.
ทำไมเป็นกรดไหลย้อนแล้วต้องเรอและคลื่นไส้
โรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เนื่องจากความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ โดยมักเกิดอาการหลังกินอาหารมื้อหนัก เวลาโน้มตัวไปข้างหน้า ตอนยกของหนัก และตอนนอนหงาย
นอกจากนี้ ยังมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก หากอาการขย้อนน้ำและอาหารรุนแรงอาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด จนเกิดอาการปอดอักเสบได้
ดังนั้น การรักษาสมดุลของความดันในช่องท้องจึงเป็นวิธีป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนที่ได้ผลดีที่สุด โดยสามารถทำได้ด้วยคาถา ‘6 ไม่’ ดังต่อไปนี้
- ไม่กินเยอะเกินไปในแต่ละมื้อ
- ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป
- ไม่กินของมันของทอดบ่อยๆ
- ไม่ดื่มน้ำเต้าหู้และน้ำอัดลมมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องเป็นปริมาณมาก
- ไม่ปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆ เพราะเมื่อต้องเบ่งทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น
- ไม่ละเลยการออกกำลังกาย โดยควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที เพื่อให้การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้ดี ลดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง
2.
ปวดจุกๆ แบบนี้เป็นกรดไหลย้อนหรือโรคกระเพาะกันแน่
โรคกระเพาะกับโรคกรดไหลย้อนมีอาการที่เหมือนจะเหมือน แต่แตกต่าง โดยโรคกรดไหลย้อนมักเกิดอาการหลังกินอาหารไปแล้ว 30-60 นาที ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ เรอบ่อย และรู้สึกเหมือนมีน้ำรสขมหรือเปรี้ยวไหลย้อนขึ้นมาทางปาก
ส่วนอาการปวดท้องของโรคกระเพาะมักจะปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ปวดใต้ชายโครงซ้าย และมักเป็นๆ หายๆ อาจปวดก่อนหรือหลังกินอาหารก็ได้
3.
กรดสามารถไหลย้อนไปนอกหลอดอาหารได้หรือไม่
มีหลายกรณีที่กรดสามารถไหลย้อนออกไปนอกหลอดอาหาร เรียกได้ว่ากรดไหลไปที่ไหน เกิดเรื่องที่นั่น เช่น หากกรดขึ้นไปสูงถึงรูเปิดของหูชั้นกลางซึ่งอยู่ตรงโพรงหลังจมูก อาจทำให้รูเปิดดังกล่าวบวม เกิดอาการทำงานผิดปกติจนทำให้หูอื้อ เกิดเสียงดังในหูเป็นๆ หายๆ ไปจนถึงมีอาการปวดหูได้
หากกรดไหลเข้าไปในช่องปาก อาจไปกัดกร่อนฟัน ทำให้ฟันผุหรือเสียวฟันได้ อีกทั้งกรดยังพาเอากลิ่นอาหารในกระเพาะอาหารขึ้นมาด้วยจนทำให้เกิดกลิ่นปากไม่พึงประสงค์
หรือหากกรดไหลไปถึงเยื่อบุจมูกด้านบน จะทำให้เกิดอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเสมหะไหลลงคอได้ ใครที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการอาจแย่ลงกว่าเดิม
4.
ทำไมเป็นกรดไหลย้อนแล้วเสียงแหบทุกเช้า
ผู้ป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อนหลายคนมักจะตื่นมาแล้วเสียงแหบ เพราะเวลานอนกรดจะไหลได้ง่ายกว่าปกติ และเมื่อกรดไหลย้อนขึ้นไปสัมผัสสายเสียงที่อยู่ด้านหน้า ทำให้สายเสียงบวม ปิดไม่สนิท เกิดลมรั่ว จนทำให้เสียงแหบได้
5.
กลืนไม่ลง เหมือนมีก้อนในคอ เพราะอะไร
อีกหนึ่งอาการยอดนิยมของคนเป็นโรคกรดไหลย้อน คือ กลืนอาหารลำบาก ติดๆ ขัดๆ คล้ายมีก้อนในคอ เพราะกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอทำให้กล้ามเนื้อหดตัว จึงเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกดังกล่าว บรรเทาได้ด้วยการกินยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน
6.
กรดไหลย้อนทำให้ท้องป่องและผายลมบ่อยจริงเหรอ
คนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจทำให้กรดในกระเพาะเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถย่อยอาหารได้สมบูรณ์เหมือนก่อน กระเพาะจึงบีบตัวแรงจนเกิดอาการท้องอืด จุกแน่นท้อง และอาหารที่ย่อยไม่หมดจะไปสะสมจนหมักหมมในลำไส้จนเกิดลมเต็มท้อง ทำให้เรอบ่อย ผายลมบ่อย และมีกลิ่นแรงกว่าเดิม
และเนื่องจากอาหารไปค้างในลำไส้จนไม่สามารถบีบตัวได้ดีเหมือนเดิม จึงถ่ายยาก ถ่ายไม่สุด จนท้องผูกบ่อยขึ้น และเกิดแบคทีเรียไม่ดีเป็นสาเหตุให้ท้องป่อง ท้องโต หรือท้องแข็งชนิดที่เกิดเสียงโครกครากขึ้นบ่อยๆ
ควรแก้ไขโดยกินอาหารทีมีจุลินทรีย์ชนิดดี หรือ Probiotics เพื่อไปกำจัดแบคทีเรียตัวร้ายในลำไส้ ปรับให้ลำไส้มีสภาพความเป็นกรดที่เหมาะสม จะทำให้อาการจุกเสียดแน่นท้องลดลง
7.
ทำไมเป็นกรดไหลย้อนถึงห้ามกินช็อกโกแลต
ไม่น่าเชื่อว่าของโปรดของสายหวานอย่างช็อกโกแลตและโกโก้ ล้วนมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนมากขึ้น เพราะในช็อกโกแลตมีสารเมทิลแซนทีน (Methyl-xanthine) ซึ่งมีรายงานว่าทำให้หูรูดหลอดอาหารมีการคลายตัวมากขึ้น โดยกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำ หรือเปิดบ่อยขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ จึงเพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น
และด้วยเหตุผลเดียวกับการกินของทอดและของมันแล้วทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ในช็อกโกแลตมี เนยโกโก้ (Cocoa Butter) เป็นส่วนผสมเพื่อช่วยในการขึ้นรูปช็อกโกแลต ซึ่งเนยโกโก้นั้นมีไขมันสูงจนทำให้กระเพาะอาหารใช้เวลาในการย่อยนานขึ้น และไขมันนี้จะไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือแสบร้อนที่กลางอกนั่นเอง
กรดไหลย้อนเป็นโรคที่สามารถหายได้ แต่ก็กลับมาเป็นอีกได้เช่นกัน ยาชนิดเดียวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คือ การปรับพฤติกรรมการกิน นอน และออกกำลังกายให้สมดุล รวมถึงบริหารจิตใจให้ห่างไกลความเครียดได้จะดีที่สุด
อ้างอิง
- Namwah.ช็อกโกแลต!!! อร่อยถูกปาก แต่ไม่ถูกใจกรดไหลย้อน.https://bit.ly/3zZ6Qh0
- รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.เรื่องกรดไหลย้อน…ที่ควรรู้.https://bit.ly/3UKSMzO
- อ.นพ.สุริยะ จักกะพาก.โรคกรดไหลย้อน…อันตรายหลังการทานอาหาร.https://bit.ly/3DYTpia