©ulture

ลองทบทวนตัวเองผ่านหนังสือ ปล่อยใจไปกับตัวอักษร และมองย้อนสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเรื่องราวที่ใกล้เคียงกันจากเรื่องเล่าหรือเรื่องแต่งของผู้อื่น

เวลาผ่านไปอย่างไม่รู้ตัวอีกปีหนึ่ง โดยปี 2023 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ สำหรับใครหลายคนอาจเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้ได้หวนจดจำ ทั้งที่อยากนึกถึงและที่ไม่อยากเก็บมาคิดก็ตาม 

ถ้าอย่างนั้น ลองทบทวนช่วงเวลาเหล่านั้นผ่านหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้อื่น แต่กลับมอบความรู้สึกร่วมให้กับเราในฐานะผู้อ่านอย่างใกล้ชิดดีไหม ดีไม่ดีอาจทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่นหัวใจ คล้ายกับได้รับการปลอบประโลม ผ่านเรื่องราว เรื่องเล่า และคู่มือที่เราเพิ่งเคยอ่านเป็นครั้งแรก แต่กลับเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อเป็นอย่างดี

becommon เลือกมาแนะนำทั้งหมด 5 เล่ม 5 รสชาติ ทั้งความเข้าอกเข้าใจต่อผู้หญิง คู่มือรักษาแผลใจ เรื่องราวของคนที่ต้องรับมือกับการสูญเสียคนสำคัญ ปรัชญาชีวิตผ่านการชงชา และการบอกเล่าถึงการหลงทางของเหล่านักเขียนและนักวาดภาพประกอบ 14 คน

 

Little Women

นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติที่เป็นผลงานชิ้นเอกของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott หรือ L.M. Alcott) เล่มนี้ ผู้เขียนเลือกหยิบยกชีวิตของตัวเองมาเป็นพื้นฐานเรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาวทั้ง 4 คน หรือ 4 ดรุณีแห่งตระกูล มาร์ช (March) ครอบครัวชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกายุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามกลางเมือง (American Civil War)

เหตุผลที่วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ได้รับการยกย่องเป็นผลงานมาสเตอร์พีซ ซึ่งถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1994 และครั้งที่สองในปี 2019 เป็นเพราะผู้เขียนสามารถสร้างประสบการณ์ร่วมให้ผู้อ่านสามารถเข้าอกเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในหนังสือร่วมไปกับในชีวิตจริงได้ ถึงแม้ว่าสภาพสังคม วัฒนธรรม และค่านิยมในยุคนั้นจะแตกต่างกับยุคสมัยนี้ แต่ผู้เขียนใช้กลวิธีในการตั้งคำถามถึงการตีกรอบผู้หญิง จนยากเหลือเกินกับการลืมตาอ้าปากด้วยตัวเอง แม้จะมากด้วยความสามารถอันล้นเหลือ มีอะไรบ้างนอกจากชีวิตของตัวเองที่พวกเธอสามารถเป็นเจ้าของได้ และมีสูตรแก้ความจนวิธีอื่นอีกหรือไม่นอกจากการแต่งงานกับคนรวย

ดังนั้น หนังสือที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ Coming of Age เล่มนี้จึงทั้งอ่านสนุก ชวนฝันไปกับเรื่องราวรักใคร่ ขณะเดียวกันก็ชวนผู้อ่านให้มองลึกลงไปในความฝัน ซึ่งอาจหมายถึงการตามหาคุณค่าที่แท้จริงของตนเอง ผ่านเรื่องราวของหญิงสาว 4 คนที่ผู้อ่านน่าจะเข้าอกเข้าใจพวกเธอได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียน: Louisa May Alcott
สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน
จำนวนหน้า: 716 หน้า
ราคาปก: 525 (ปกแข็ง)

 

Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ

‘ชุดปฐมพยาบาลทางอารมณ์เบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการแตกสลาย และป้องกันใจอักเสบลุกลาม’  คือประโยคเปิดในช่องแนะนำหนังสือของเว็บไซต์ Minimore เกี่ยวกับเล่มนี้ที่เขียนโดย กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยา และนักพูด TED Talk แปลโดย ลลิตา ผลผลา 

หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ดั่งตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะใจติดเชื้อจากการได้รับบาดเจ็บทางอารมณ์ โดยผู้เขียนได้แบ่งประเภทบาดแผลและความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่สามารถสร้างแผลใจฝังลึกเอาไว้ทั้งสิ้น 7 ประเภท แต่ละบทมีวิธีรักษา จ่ายยา และการบำบัดที่ใช้ได้จริง ทำตามได้ง่าย การันตีด้วยประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาวะทางจิต ถ่ายทอดจากประสบการณ์การบำบัดคนไข้จริง และความน่าเชื่อถือจากกลุ่มตัวอย่างและเอกสารประกอบการค้นคว้าที่สืบค้นต่อได้

ผู้เขียนบรรยายว่าบาดแผลทางจิตใจสามารถส่งผลกระทบต่อเราในระยะยาวได้อย่างไรบ้าง เช่น การปฏิเสธหรือถูกปฏิเสธ  การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ การถูกทำร้ายจากความเหงา การครุ่นคิดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ความรู้สึกผิด ความล้มเหลว และความเคารพในตัวเองต่ำ ผู้เขียนจะบอกกับผู้อ่านเองว่า แบบไหนที่ควรไปพบจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ และแบบไหนคือวิธีปฐมพยาบาลให้ตัวเองเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของใจที่ถูกกัดเซาะ

ผู้เขียน: Guy Winch
สำนักพิมพ์: Be(ing)
จำนวนหน้า: 408 หน้า
ราคาปก: 329 (ปกอ่อน)

 

Kitchen คิตเช่น

ท่ามกลางผู้จากไป ผู้ที่ยังคงมีอยู่ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป ถึงอย่างนั้น บางครั้งการสูญเสียก็อาจนำมาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่าแค่การบอกลา สิ่งนั้นอาจหมายถึงความทรงจำที่ถูกย้ำเตือน และก่อให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ต้องพบเจอกับการสูญเสียคนรอบตัวก่อนวัยอันควร

Kitchen เขียนโดย บานานา โยชิโมโตะ (Banana Yoshimoto) เคยถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ 25 ปีก่อน เกี่ยวกับเรื่องราวที่จะว่าอบอุ่นก็พูดได้ จะว่าพิสดารก็ไม่ผิด เพราะหลังจากที่ ซากุราอิ มิคาเงะ สูญเสียคุณยายผู้เป็นครอบครัวร่วมสายเลือดคนสุดท้ายของเธอไป ไม่นานนักครอบครัวทานาเบะก็ชักชวนให้เธอย้ายไปอยู่ด้วยกันอย่างเต็มใจ กลายเป็นเรื่องราวที่ชวนให้สนุกสนานไปกับชีวิตประจำวันอันแสนไม่ธรรมดา แต่ก็แฝงไปด้วยรอยยิ้ม และความเศร้าที่ตลบอบอวลอยู่อย่างไม่มีทางจางหาย

สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ครองใจผู้อ่านเห็นจะไม่ใช่แค่ความสนุก หรือจังหวะการเล่าที่ไม่เร่งรีบ เต็มไปด้วยคำบรรยายถึงสภาพแวดล้อมรอบให้ชวนนึกภาพตาม แต่เป็นเพราะการพูดถึงวิธีจัดการตัวเองของผู้คนที่เพิ่งผ่านการสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไปอย่างไม่ทันตั้งตัว บางครั้งบางคราว หนังสือเล่มก็ทำหน้าที่มากกว่าการเป็นแค่วรรณกรรม แต่ยังเป็นบันทึกเรื่องราวที่ผู้อ่านสามารถใส่ความรู้สึกร่วมของตัวเองเข้าไปเพื่อสำรวจตัวละครได้อย่างชวนเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องเคยพบเจอกับการสูญเสียมาก่อนก็ได้

ผู้เขียน: Banana Yoshimoto
สำนักพิมพ์: Salmon Books
จำนวนหน้า: 192 หน้า
ราคาปก: 265 (ปกอ่อน)

 

ทุกวันเป็นวันที่ดี: ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน 

ในทุกช่วงเวลาของชีวิตของโนริโกะ ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เพิ่งเรียนจบออกมาหางาน ช่วงเวลาที่มีความรักจนได้หมั้นหมาย สู่ช่วงเวลาที่ต้องใจสลายเมื่อมีอันเลิกรากับคู่หมั้น ช่วงเวลาของความสับสนวุ่นวาย ช่วงที่เลือกจะแยกมาอยู่ลำพัง ช่วงเวลาที่ลังเลใจกับการเรียนชงชา ช่วงเวลาที่พยายามมองหาที่ทางของตัวเองบนโลกหลากฤดูกาลใบนี้ ไปจนถึงช่วงเวลาใจสลายจากการสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักยิ่ง

ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ‘วันที่ดี’ คือวันแบบไหน

ถึงอย่างนั้น โนริโกะก็พบว่าทุกวันเสาร์เธอยังคงมาเรียนชงชากับคุณป้าทาเคดะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ เธอจะค่อยๆ ทำความเข้าใจความรู้สึกของชีวิตเหล่านั้นผ่านการเรียนชงชาได้เสมอ

เนื้อหาในเล่มสะท้อนภาพพิธีชงชาอันละเมียดละไมของญี่ปุ่นออกมาเป็นบทเรียนชีวิตทั้งหมด 15 ประการ เขียนโดย โมริชิตะ โนริโกะ (Morishita Noriko) นักเขียนผู้เรียนชงชามากว่า 25 ปี ผ่านการชงชามาแล้วกว่าหลายฤดูกาล จนเข้าใจถึงปรัชญาชีวิตที่ถูกแฝงเอาไว้ในพิธีเหล่านั้นอย่างแยบยล ก่อนจะนำมาเล่าสู่กันฟังในรูปแบบของตัวหนังสืออย่างคมคาย ผ่านเรื่องราวที่ชวนให้เห็นคุณค่าของการเข้าใจชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการทำทุกอย่างด้วยความใส่ใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกเล่าความเป็นไปของชีวิตด้วยน้ำเสียงสอนสั่งแต่อย่างใด

ผู้เขียน: Morishita Noriko
สำนักพิมพ์: Bibli
จำนวนหน้า: 248 หน้า
ราคาปก: 275 (ปกอ่อน)

 

CHAPTER 1: LOST

จากคำบอกเล่าในเว็บไซต์ Minimore ‘CHAPTER’ คือโปรเจกต์เฉพาะกิจผ่านการนำนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ ทั้งหน้าใหม่และมากประสบการณ์จำนวน 14 คน มาร่วมเล่าเรื่องสั้นๆ ของตัวเองคนละ 1 บท ผ่านโจทย์ประจำ chapter นั้นๆ ซึ่งในครั้งนี้โจทย์คือ ‘บันทึกการหลงทาง’ หรือ ‘Lost’

ทีนี้จะมีหนังสือสักกี่เล่มที่เราจะได้เห็น โตมร ศุขปรีชา, ธนชาติ ศิริภัทราชัย, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ และนักเขียน/นักวาดท่านอื่นๆ อีก 11 คน มาร่วมบันทึกเรื่องราวของตัวเองเอาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน นั่นคืออีกหนึ่งเสน่ห์ของหนังสือบันทึกการหลงทางเล่มนี้ ที่บันทึกเอาไว้ทั้งการหลงทางในชีวิตจริง และหลงทางในจินตนาการ ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับตัวอักษรของผู้เขียนว่าจะนำพาผู้อ่านไปทางไหน จะไปในทางให้อารมณ์ขัน หรือในทางที่ชวนให้ทบทวนถึงวันที่ตัวเราเคยหลงทางจากการเลือกเส้นทางของชีวิต จากความเคว้งคว้าง และจากความรู้สึกถึงทางตัน

ที่สำคัญ Salmon Books ได้มีการจัดเลย์เอาต์หนังสือเล่มนี้ให้ออกมาแปลกตา แปลกใหม่ และให้รสชาติที่ไม่เหมือนเดิมขณะอ่าน เรียกได้ว่าหลากหลายทั้งอารมณ์ของเรื่องเล่าในแต่ละบท และความสวยงามของงานศิลป์บนหน้ากระดาษอย่างไม่เคยพบเจอ

ผู้เขียน: โตมร ศุขปรีชา, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์, ธนชาติ ศิริภัทราชัย, ปฏิกาล ภาคกาย, โชติกา ปริณายก, ธีรภัทร์ เจนใจ, น้ำใส ศุภวงศ์, ปัจจาพงศ์ ศุภชัยเจริญ, คาลิล พิศสุวรรณ, ทราย โชนะโต, จัง, SAHRED TOY, PLARIEX, TUNA DUNN
สำนักพิมพ์: Salmon Books
จำนวนหน้า: 224 หน้า
ราคาปก: 245 (ปกอ่อน)