©ulture

พัสดุชิ้นแรกของเดือนมีนาคมถูกส่งมาที่บ้าน

แม้จะรู้ว่าข้างในคืออะไร แต่ขณะที่แกะห่อพลาสติกกันกระแทกออกมาก็ทำให้ตื่นเต้นไม่น้อย ซองจดหมายสีฟ้าโผล่มาทักทาย ด้านหลังปิดผนึกด้วยตราประทับที่เขียนว่า ‘Bibli’ เป็นชื่อของสำนักพิมพ์หน้าใหม่ที่มาแนะนำตัวให้เรารู้จักเป็นครั้งแรกด้วย Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย วรรณกรรมแปลสัญชาติญี่ปุ่นจากปลายปากกาของอิวาอิ ชุนจิ 

แม้ต้นเก่าจะจากไป แต่เมล็ดพันธุ์อันสมบูรณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มาหลายปีอย่าง จี – จีระวุฒิ เขียวมณี และ บิ๊ก – วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ยังเชื่อว่าความรักในหนังสือยังผลิบานได้เสมอ พวกเขาจึงค่อยๆ พร้อมใจกันหยั่งรากลงผืนดิน เติบโตเป็นสำนักพิมพ์ต้นใหม่ที่ชื่อว่า Biblio ซึ่งแตกกิ่งก้านออกเป็น Bibli ที่รวบรวมวรรณกรรมแปลสนุกๆ อบอุ่นหัวใจ และ Be (ing) ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือแนวสารคดีที่พาเราไปทำความรู้จักชีวิตให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง

Biblio
คือมนุษย์นักอ่านผู้สนใจหนังสือหลากหลาย 

เพราะได้อ่านหนังสือเรื่องใหม่ก่อนใคร จึงทำให้บิ๊กหลงใหลหนังสือต่างประเทศมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาค้นพบว่าโลกนี้มีหนังสือดีๆ มากมาย แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีใครหยิบมาแปล เขาจึงลงมือเป็นนักแปลเสียเอง และถนนสายนี้ก็พาให้มาพบกับจี ผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จนมาเป็น Biblio ในวันนี้ 

จี – จีระวุฒิ เขียวมณี และ บิ๊ก – วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร

“Biblio คือคนที่สนใจหนังสือหลากหลาย ทั้งนิยายแปลญี่ปุ่นไปจนถึงหนังสือชีวประวัติของศิลปินระดับโลกอย่างดาวินชี เราเชื่อว่าเราทำออกมาได้ และก็ต้องทำให้ดีด้วย” จีพูดถึงสำนักพิมพ์ที่เขาและบิ๊กร่วมกันปลุกปั้นขึ้นมา 

หลังจากที่รู้จักกันพอสังเขป ก็ชวนให้เรานึกถึงตัวละครจากหนังสือลำดับที่ ในเครือ Bibli นั่นก็คือ ‘รินทาโร่ เด็กหนุ่มจากวรรณกรรมเรื่อง ปาฏิหาริย์แมวส้มผู้พิทักษ์หนังสือ 

รินทาโร่เป็นนักอ่านตัวยงที่รู้จักหนังสือดีๆ หลายเล่ม และเขาจะใส่ใจกับการแนะนำหนังสือให้เพื่อนทุกครั้ง เราจึงนึกสงสัยขึ้นมาว่าถ้า Biblio เป็นตัวเอกในเรื่องนี้ เขาจะเลือกหนังสือให้กับเพื่อนๆ ซึ่งคือนักอ่านอย่างพวกเราอย่างไร 

จีครุ่นคิดสักพักก่อนเป็นคนอาสาเล่าให้เราฟัง 

วิธีเลือกหนังสือมีสามข้อ คือ หนึ่ง เป็นหนังสือที่ดีไหม คำว่าดี หมายถึงดีพอสำหรับแนวทางของหนังสือเล่มนั้น เช่น ถ้าเป็นนิยายแปลแนวฟีลกู้ด แล้วให้คุณค่ากับชีวิต มันทำหน้าที่สมกับหมวดของหนังสือหรือยัง นี่คือนิยามคำว่าดี 

สอง คนอ่านสนใจไหม พออยู่ในวงการนี้มานาน เราก็พอสังเกตได้ว่าคนอ่านกำลังอ่านอะไรกันอยู่ หรือสำนักพิมพ์กำลังทำอะไรออกมา มันคือการมองหลายๆ องค์ประกอบร่วมกัน ทั้งคนทำ ทั้งคนอ่าน 

สาม เป็นสิ่งที่เราอยากทำ นี่เป็นส่วนเติมเต็ม ถ้าเราคำนึงถึงแค่สองข้อแรกโดยไม่มีแพสชั่นจากคนทำเลย มันก็ไม่สนุก 

สามองค์ประกอบนี้ไม่ได้เท่ากันเสมอไป บางทีเราคำนึงถึงคนอ่านมาก แพสชั่นอาจน้อยลง บางเล่มแพสชั่นเราแรงมาก ก็ต้องอาศัยแรงผลักของเราทำให้คนอ่านรู้จักเล่มนั้นมากขึ้น ไม่ใช่ทำแค่หนังสือตามกระแสอย่างเดียว เราแนะนำคนอ่านให้นิยมหนังสือนอกกระแสขึ้นมาได้”  

เมื่อยุคเปลี่ยนผ่าน
คนอ่านรุ่นใหม่ๆ ก็ต้องการสาระของชีวิตอีกแบบหนึ่ง 

จีเล่าในฐานะของคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือมานานว่า หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หนังสือตลก เบาสมองซึ่งเขียนโดยเหล่าบล็อกเกอร์ เซเลปคนดังมักได้รับความนิยมเป็นพิเศษ แต่ในวันนี้ ทุกคนผลิตคอนเทนท์ลงบนหน้าฟีดของตัวเองได้ทุกวัน หนังสือเหล่านั้นจึงก็ค่อยๆ หายจากชั้นวางไปโดยปริยาย 

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงในหมู่นักอ่านผ่านสายตาของคนทำหนังสือ พวกเขามองว่า แต่ละเล่มจะทำหน้าที่ได้ดีในยุคสมัยของมันเอง และในยุคที่ Biblio ถือกำเนิดขึ้น ก็มีหนังสือที่ดีในยุคของตัวเองเช่นกัน 

คนอ่านเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ มาถึงจุดหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน แล้วก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลา บางทีเขาไม่รู้ว่าตัวเองอยากอ่านอะไร เราก็ต้องดูว่าเขาควรจะอ่านอะไร ลองนำเสนอในสิ่งที่คิดว่ามันดี” บิ๊กเกริ่นขึ้นมา ซึ่งชวนให้จีมองเห็นความเปลี่ยนแปลงข้อนี้ได้เช่นเดียวกัน 

มันคือการสังเกตร่วมกันระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่าน เหมือนคำถามที่ว่า ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อน คนอ่านอยากอ่านอะไร เราก็ทำสิ่งนั้นไป หรือเราทำสิ่งนั้นไป แล้วคนเกิดอยากอ่านขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่ยอกย้อนกันอยู่ คิดว่าคนอ่านเปลี่ยนความสนใจไปแต่ละช่วงอายุอยู่แล้ว แต่จะมีบางสิ่งที่คนในยุคนั้นต้องการร่วมกัน พอยุคเปลี่ยนผ่านคนรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดมา ก็ต้องการสาระของชีวิตอีกแบบหนึ่ง ต้องดูว่าอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นบ้าง” จีเล่าเสริม 

พวกเขายังชวนให้เราสังเกตปรากฏการณ์ที่หนังสือการเมืองและประวัติศาสตร์กำลังได้รับความนิยม เพราะนั่นเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักอ่านรุ่นใหม่ เข้าไปสำรวจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต หมายความว่าเนื้อหาเหล่านั้นกำลังตอบคำถามของผู้คนในยุคสมัยนี้ 

ใจความระหว่างบรรทัดคือ
ฟังก์ชั่นที่ทำให้หนังสือยังสำคัญกับโลก 

หากติดตามชาร์ตหนังสือขายดีของทั้งปีที่ผ่านมา จะพบว่าต้องมีสักเล่มของ Biblio เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ว่าจะเป็น วะบิ ซะบิ หนังสือที่เล่าถึงร่องรอยความไม่สมบูรณ์แบบ หรือ Actually I’m an Introvert ความเรียงแปลสัญชาติเกาหลีตีแผ่เรื่องราวของมนุษย์อินโทรเวิร์ต 

สองหัวเรือใหญ่ของสำนักพิมพ์เล่าว่าแต่ละเล่มประสบความสำเร็จเกินคาด ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหนังสือที่ Biblio เลือกมา คงมีใจความบางอย่างที่ไปสะกิดใจคนอ่านเข้า แม้แต่ในวรรณกรรมแปลร่วมสมัย ที่ดูอ่านง่าย ก็ยังสะท้อนความจริงอันหนักอึ้งของสังคมออกมาได้อย่างมีพลัง 

นิยายแปลเริ่มน่าสนใจเหมือนกัน อย่าง คิมจียองเกิดปี 82 ก็มีการสะท้อนสิทธิมนุษยชน สะท้อนสิทธิที่ผู้หญิงและคนเราควรจะมี เปล่งเสียงที่หายไปในสังคมชายเป็นใหญ่ อีกเรื่องคือ Her Name Is ชื่อของเธอคือ… จากโชนัมจู นักเขียนคนเดียวกัน เล่มนี้มาขยายรูปแบบอันหลากหลายของการถูกกดขี่ให้ชัดเจน วรรณกรรมกลุ่มนี้ทำให้เสียงเหล่านั้นกลับมาดังขึ้น 

อีกเรื่องจากไต้หวัน สวนสนุกแห่งการลงทัณฑ์ รักในฝันของฝางซือฉี ตัวละครสะท้อนความอึดอัดและภาวะทางสังคมที่ถูกกดขี่ เล่าประเด็นหนักๆ และล่อแหลมออกมาอย่างสละสลวย ถ้าจะประท้วง เขาจะไม่ถือป้ายประกาศปาวๆ แต่จะจัดโต๊ะ ปูผ้าอย่างสวยงาม ทำอาหารมาหนึ่งจาน แล้วบอกเราว่าสิ่งที่ฉันจะบอกมันอยู่ในจานนี้” จีเล่าถึงความหมายระหว่างบรรทัดที่อยู่ในหนังสือแต่ละเล่ม 

ระหว่างวรรณกรรมซึ่งเป็นเรื่องแต่ง และ non-fiction ซึ่งเป็นเรื่องจริง งานเขียนทั้งสองแบบยังมีพื้นที่เล็กๆ ทับซ้อนกันอยู่ บางครั้งงานเขียนจากเรื่องจริงก็ให้ความสนุกไม่ต่างจากวรรณกรรม บางครั้งวรรณกรรมก็สะท้อนความจริงได้อย่างทรงพลัง เป้าหมายของนักอ่านรุ่นใหม่ในมุมมองของจีและบิ๊กคือจินตนาการกับความรู้ต้องดำเนินไปด้วยกันได้ในหนังสือเล่มเดียว 

เรื่องปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือพูดถึงนักเขียนชื่อระดับโลกหลายคน ใครที่ไม่เคยรู้จักนักเขียนมาก่อน พอมาอ่านเล่มนี้อาจอยากกลับไปอ่านงานเขียนของนักเขียนเหล่านั้นต่อ ถ้าคุณไปอ่านนิยายของ มาร์เกซ เรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว โดยที่รู้จักจากเรื่องแมวส้มฯ ก็เท่ากับว่าหนังสือเล่มหนึ่งได้พาคนอ่านออกไปในปริมณฑลที่กว้างใหญ่มาก นี่คือฟังก์ชันของหนังสือรุ่นใหม่ๆ ที่เราอยากให้มันเกิดขึ้น” จีบอกกับเรา 

วรรณกรรมชวนให้ตั้งคำถาม
ที่คนอ่านอาจคิดไม่ถึงตั้งแต่แรก 

ปริมณฑลที่กว้างกว่าเดิม 

วลีที่จีเพิ่งบอกเราเมื่อสักครู่ อาจไม่ใช่ระยะทางที่ไกลออกไป แต่หมายถึงปริมณฑลทางความคิดที่แผ่ขยายมากกว่าเดิม ฟังก์ชันของหนังสือจึงหมายถึงชวนให้เราเข้าไปสำรวจและทบทวนความคิด ความเชื่อของตัวเองอีกครั้ง 

วรรณกรรมชวนให้ตั้งคำถามที่ตัวผู้อ่านเองอาจคิดไม่ถึงตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ แล้วมันจะก่อให้เกิดการกลั่นกรองตัวเองผ่านคำถามเหล่านั้น จนตัวเองเป็นคนใหม่อีกคนที่แตกต่างจากก่อนหน้าที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ 

ถึงมีคำพูดที่ว่าหนังสือเล่มหนึ่งเปลี่ยนชีวิตคุณได้ มันไม่ได้เปลี่ยนให้เราเป็นคนอื่น แต่จะมากระทำบางอย่างกับความคิดเรา และทำให้เรารู้สึกไม่เชื่อในบางสิ่งอย่างที่เคยเชื่อมา ยังมีหลายสิ่งที่ต้องนำมาเป็นองค์ประกอบในการคิดว่าเราจะเชื่ออะไร 

จีเล่าถึงฟังก์ชั่นของหนังสือที่สำคัญสำหรับเขา และทำให้บิ๊กมองเห็นอีกมุมที่ต่างออกไป 

ผมคิดว่าหนังสือไม่ได้เปลี่ยนชีวิตแต่ว่ามันให้ทางเลือก ถ้าเราไม่อ่านเราก็มีข้อมูลแค่ชุดเดียว แต่ถ้าเราอ่าน เราจะมีข้อมูลชุดนี้ ชุดนั้น แล้วแต่ว่าจะเลือกเชื่อชุดไหน แล้วก็ดำเนินชีวิตไปตามนั้น หนังสือทำหน้าที่เป็นทางเลือกให้เรามากกว่าบอกให้เราเชื่ออะไร”  

หลังจากสำรวจฟังก์ชันของหนังสือแล้ว จึงนึกสงสัยขึ้นมาว่าเมื่อสวมบทบาทผู้อ่าน มีหนังสือเล่มไหนบ้างที่พาพวกเขาทะยานไปในปริมณฑลทางความคิดที่ไกลกว่าเดิม 

บิ๊กตอบอย่างทันควันว่าหนังสือเล่มนั้นคือ Conversations with God ซึ่งนอกจากจะเป็นเล่มโปรดแล้ว เขายังแปลเป็นฉบับภาษาไทยด้วยตัวเองอีกด้วย 

ตอนนั้นเราสนใจว่าชีวิตคืออะไร ศาสนาก็ให้คำตอบในระดับหนึ่ง แต่เล่มนี้ให้คำตอบที่เราไม่ต้องถามอะไรอีกแล้ว ทุกศาสนาสอนเรื่องเดียวกันแต่สอนคนละมุม เล่มนี้เป็นคำตอบที่สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ขัดกับศาสนาไหนเลย 

 จีแสดงท่าทีเห็นด้วยและเผยว่าเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเล่มที่ชื่นชอบเช่นกัน 

เล่มนี้ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า แต่ตอบคำถามเรื่องการมีอยู่ของตัวเราในโลกใบนี้ พระเจ้ามีอยู่จริงไหมไม่สำคัญเท่าในเวลานี้เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เรายังต้องทำงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ พระเจ้าไม่ได้มาช่วยจ่าย แต่เราจะทำงานจ่ายเงินเองด้วยพละกำลังที่เกิดขึ้นข้างในใจเรา เล่มนี้ทำให้คนตัดสินใจได้ว่าจะยืนหยัดต่อสู้ หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อใครต่อไป 

จีเล่าอย่างตรงไปตรงมาเคล้าเสียงหัวเราะ ทั้งยังแนะนำอีกหนึ่งเล่มโปรด ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำให้เขาสนใจวรรณกรรมแปลอย่างจริงจัง และเป็นเล่มที่ก่อร่างสร้างตัวให้เป็น ‘จี’ ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราในตอนนี้ 

งานเขียนที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าๆ คือ สดับลมขับขาน ของ ฮารุกิ มุราคามิ เป็นเล่มที่เบิกเนตรให้เราเข้าสู่โลกที่ไม่สามารถบรรยายได้ด้วยหลักการและเหตุผล แก่นของเรื่องคือเป็นการประกาศว่าเราเติบโตและก้าวออกจากเปลือกไข่แล้ว พออ่านจบเราอยากค้นหาอะไรใรชีวิต 

เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ยังเข้าถึงงานของมุราคามิได้ แม้บริบททางวัฒนธรรมจะต่างกันเยอะก็ตาม เพราะตัวละครมันมีนัในการต่อต้านสังคม ยิ่งในยุคนี้เราอยู่ในสังคมที่บีบคั้นเรา เราก็ยิ่งออกมาต่อต้านอีกรูปแบบ 

หลังจากผลัดกันแนะนำหนังสือที่ชอบกันอย่างออกรส พวกเขาก็ทิ้งท้ายกับเราว่านอกจากสิ่งที่อ่านได้ระหว่างบรรทัด หนังสือยังเป็นพื้นที่ให้จินตนาการของมนุษย์ออกมาโลดแล่น แม้เป็นนิยายเล่มเดียวกัน แต่คนเราอาจตีความกันคนละแบบ ต่างกันแม้กระทั่งเฉดสีที่ปรากฏในพื้นหลังของเรื่องนั้น 

วรรณกรรมยังเป็นสิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวสังคม ยึดเหนี่ยวคนอ่านได้อยู่เสมอ เพราะมันทำหน้าที่อย่างมีเอกลักษณ์ในแบบที่ไม่มีอะไรมาแทนได้