ลองวิธีเก็บเงินมาหลายวิธีแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าอย่างนั้นต้องใช้เทคนิค No Buy Month ไม่ใช้จ่าย 1 เดือน เพื่อให้เก็บเงินได้มากขึ้น
การเก็บเงินด้วยเทคนิค No Buy Month หรือ การไม่ใช้จ่ายเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเทรนด์ที่เริ่มจุดกระแสในประเทศเกาหลีใต้มาตั้งแต่ปี 2022 เพราะเป็นช่วงที่เกาหลีใต้ประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ชาวเกาหลีหันมาตระหนักเรื่องการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น และเกิดเป็น Challenge ส่งต่อกันในโลกออนไลน์
และไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้เท่านั้นที่เจอพิษเศรษฐกิจเล่นงาน แต่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องอ่วมกับปัญหาเงินๆ ทองๆ เช่นกัน ทำให้ No Buy Month กลายเป็นกระแสในวงกว้าง เพราะคนต้องการเก็บเงินให้มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่มั่นคง
หลายคนคงเกิดคำถามว่าแล้วเราจะไม่ใช้เงินเลยใน 1 เดือนได้อย่างไร ?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า No Buy Month ไม่ใช้การ ‘ห้ามใช้จ่าย’ แต่เป็นการหยุดใช้จ่ายไปกับของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น เครื่องสำอางชิ้นใหม่ เสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชั่น การทานอาหารมื้อหรู ฯลฯ เงินที่เหลือจากกิจกรรมเหล่านั้นเองที่เปลี่ยนเป็นเงินออมที่เพิ่มพูน
ห้ามอะไรก็ห้ามได้ แต่ห้ามใจไม่ให้ใช้จ่ายไปกับของที่อยากได้นั้นยากแน่ๆ becommon จึงมี 5 เคล็ดลับในการเก็บเงินด้วยเทคนิค No Buy Month ให้ได้ผลมาแจกจ่าย เพื่อการออมที่เห็นผลอย่างแท้จริง
1.
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเก็บเงิน เพราะทำให้รู้ว่าเราเก็บเงินนี้ไปเพื่ออะไร เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโด หรืออาจจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น อย่างการเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศ ดูคอนเสิร์ตศิลปินที่ชื่นชอบ
เทคนิคระหว่างเก็บเงินเพื่อพิชิตเป้าหมาย คือ การจดรายละเอียดของสิ่งที่จำเป็นจะต้องซื้อ และสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงที่จะ ‘ไม่’ ซื้อในเดือนนั้นๆ อย่างชัดเจน เพื่อลดการเสียเงินไปกับสินค้าที่ไม่จำเป็น
2.
สำรวจข้าวของที่ตัวเองมี
ก่อนที่จะทำ No Buy Month ลองสำรวจสิ่งของต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะในตู้เสื้อผ้าที่มีเสื้อผ้าอัดแน่นอยู่เต็มตู้ บางทีเราอาจจะเจอชุดที่ยังไม่เคยใส่ หรือบางชุดที่ไม่ได้ใส่มานาน เพียงแค่ลองนำชุดเหล่านั้นมาจับคู่ Mix & Match กัน ก็อาจจะได้ชุดใหม่ที่มีสไตล์ไม่ซํ้าใคร และเป็นการลดการใช้จ่ายไปกับเสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชันอีกด้วย
อย่าลืมสำรวจห้องครัว ห้องเก็บของ ฯลฯ เพราะบางครั้งเราอาจเผลอซื้อเครื่องปรุงหรือของใช้กักตุนไว้นานจนลืม เพื่อป้องกันการซื้อซํ้า
3.
ออกไปใช้ชีวิตในราคา 0 บาท
การทำ No Buy Month ไม่ใช่การลงโทษที่จะไม่ให้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านหรือคลายเครียดเอาเสียเลย แค่ลองหากิจกรรมเติมเต็มความสุขของตัวเองที่ไม่ต้องเสียเงิน หรือเสียให้น้อยที่สุด เช่น ไปดูงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี เข้าครัวทำอาหารกินเอง สนุกกับฟรีคอนเสิร์ต ฯลฯ ก็สามารถผ่อนคลายได้แบบไม่เสียสตางค์
4.
เลือกของใส่ตะกร้า แต่อย่าเพิ่งจ่ายเงิน
ในระหว่างที่กำลังทำ No Buy Month ควรบล็อกหรือลบแอปพลิเคชันช็อปปิงออกจากสมาร์ทโฟนชั่วคราว เพื่อลดการอยากซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย หรือถ้าทำใจลบไม่ได้ ให้เปลี่ยนเป็นการกดของชิ้นนั้นใส่ตะกร้าไว้ก่อนโดยยังไม่ต้องกดจ่ายเงินทันที รอให้ผ่านไป 2-3 วัน ค่อยเข้าไปดูตะกร้านั้นอีกครั้งว่า คุณยังอยากได้สิ่งของชิ้นนั้นจริงๆ ใช่หรือไม่ หากสมองส่วนเหตุผลสั่งการว่า ใช่ ก็สามารถกดซื้อได้ตามความต้องการ
5.
ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จ
เมื่อบรรลุเป้าหมายก็ถึงเวลาให้รางวัลต่อความอดทนของตนเอง เช่น ออกไปทานอาหารร้านโปรดที่ไม่ได้ทานมาตลอด 1 เดือน ซื้อเครื่องสำอางชิ้นใหม่สักชิ้น เป็นต้น
ที่จริงแล้วเทคนิคการออมเงิน No Buy Month ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ถึงวิธีการที่อาจจะตึงจนเกินไป จึงมีคนเสนอวิธีการที่คล้ายกันแต่สามารถทำได้ง่ายกว่า เช่น เปลี่ยนเป็น No Buy Make up Month หรือ No Buy Week แทน ลองหาวิธีออมเงินที่เหมาะสมกับตัวเองและสามารถลงมือทำได้อย่างมีความสุขถึงจะได้ผลลัพธ์อย่างยั่งยืน
อ้างอิง
- Hillary Swetz. Secrets to a Successful No Buy Month Zand Saving More Money!). https://bit.ly/3xTnX66
- Samantha Murphy Kelly. How to take on the viral No Spend January trend. https://bit.ly/3LkerMp
- Alice Porter. How to have a no-spend month and hit your money saving goals. https://bit.ly/3xTXGoa