©ulture

อีกครั้งของการเดินทางเที่ยวทางตอนเหนือของอินเดียโดยมีพาหนะเป็น Royal Enfield มอเตอร์ไซค์สุดเท่แบรนด์อังกฤษที่อยู่คู่แดนภารัตมานาน จนมีสถานะเป็นสองล้อคู่ชีพที่ชาวอินเดียคุ้นชิน

ส่วนชาวต่างชาติอย่างเรา (ในฐานะผู้ซ้อนท้าย) รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มไปก้องหุบเขา

เส้นทางในครั้งนี้เป็นการเดินทางจากออกจากชิมลา (Shimla) เมืองหลวงของรัฐหิมาจัลประเทศ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ คินนัวร์ (Kinnaur) บนถนนที่ได้ชื่อว่าอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย เพื่อไปสัมผัสเสน่ห์ของดินแดนในอ้อมกอดแห่งขุนเขาที่อุดมด้วยไร่แอปเปิ้ล โดยมีพระเอกเป็น คินนัวร์ไกรลาส (Kinnaur Kailash) หนึ่งในยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียตั้งตระหง่านอวดเหลี่ยมเขาสีขาวยืนหยัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในแถบนี้

จุดหมายของเราอยู่ที่วัดพระกฤษณะที่อยู่สูงที่สุดในโลก ณ ยุลลากันฑา (Yulla Kanda) และไปจบที่หมู่บ้านสุดท้ายชายขอบประเทศอินเดียที่ ฉิตกุล (Chitkul) ซึ่งเมื่อพ้นไปจากเขตนี้ก็จะเป็นพื้นที่ของทิเบตโดยมีขุนเขาสลับซับซ้อนทำหน้าที่ปราการธรรมชาติยืนหยัดมาอย่างยาวนาน

kinnaur
ทิวทัศน์เทือกเขาในแถบ Kinnaur
Photo: mowgli1854

ลัดเลาะลอดอุโมงค์หินผามุ่งหน้าสู่ Kinnaur

คินนัวร์ (Kinnaur) คือ 1 ใน 12 เขตปกครองในรัฐหิมาจัลประเทศของอินเดีย ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร อากาศที่ Kinnaur จึงแห้งและหนาวเย็นตลอดทั้งปี ที่นี่จึงเป็นจุดหมายยอดนิยมของการหนีร้อนมาพึ่งเย็นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย โดยเฉพาะในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งคลื่นความร้อนแผ่ไปทั่วผืนดินอินเดีย แต่ที่ Kinnaur อุณหภูมิอยู่ที่ราว 8-30 องศาเซลเซียส จึงมักคลาคล่ำไปด้วยนักเดินทางที่บ่ายหน้ามาซบอากาศเย็นแห่งหิมาจัลประเทศ

kinnaur
อุโมงค์หินบนถนนสายคินนัวร์

การจะเดินทางไปยัง Kinnaur นั้นเสี่ยงอันตรายไม่ใช่น้อย เพราะถนนที่ทอดยาวไปสู่ Kinnaur ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในถนนเส้นที่อันตรายที่สุด เพราะใช้วิธีตัดช่องหินขนาดใหญ่ริมเงื้อมผา ซึ่งอยู่สูงกว่าหุบเขาเบื้องล่างราว 30 เมตร คดเคี้ยวขนานไปกับลำน้ำบาสปา (Baspa) ที่เกือบจะแห้งขอดในหน้าแล้ง และเปลี่ยนโฉมเป็นเชี่ยวกรากในฤดูมรสุมของทุกปี

kinnaur
บางช่วงของถนนที่เจาะตัดช่องหินยาวตลอดแนว

หลายช่วงของถนนสาย Kinnaur เป็นอุโมงค์หินธรรมชาติ ชวนให้ตื่นตาตื่นใจ ในขณะที่ผู้ขับขี่ต้องตั้งสติให้มั่น ห้ามประมาทแม้เพียงเสี้ยววินาที เพราะถนนแคบๆ เส้นนี้พร้อมที่จะมีรถสวนทางมาได้ทุกเมื่อ สัญญาณแตรจึงจำเป็นมากสำหรับที่นี่ 

kinnaur
ไม่ว่าเส้นทางจะอันตรายแค่ไหน ย่อมมีวัดตั้งอยู่บนหัวโค้งถนนเสมอ

อุปสรรคของการสัญจรบนถนนสายนี้ คือ หินร่วงและดินถล่ม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น การเดินทางที่สะดวกที่สุด (แต่อาจจะไม่ปลอดภัยที่สุด) ก็คือ มอเตอร์ไซค์ เพราะบ่อยครั้งที่เส้นทางถูกปิดกะทันหันเนื่องจากมีกองดินกองหินถล่มปิดกั้นเส้นทาง รถติดในหุบเขาจึงเป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน พาหนะสองล้อเท่านั้นที่สามารถเดินทางลัดเลาะต่อไปได้โดยไม่เสียเวลา

จุดหมายแรกที่ถือเป็นประตูสู่ Kinnaur ได้แก่ สราฮัน (Sarahan) หมู่บ้านเล็กๆ ณ ความสูง 2,165 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีสถานที่สำคัญคือ วัดภีมกาลี (Bhimakali) ที่ประดิษฐานรูปสักการะขององค์แม่กาลีสำหรับฮินดูชนได้แวะเวียนมาสักการะตามศรัทธา 

kinnaur
วัด Bhimakali

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ สามารถเดินเล่นไปตามเส้นทางเลาะเลียบข้างวัดขึ้นเขาไปเรื่อยๆ จนถึงจุดชมวิวบริเวณป่าสนด้านบน ที่สามารถมองเห็นวิวหมู่บ้าน Sarahan ได้กว้างไกลตา ระหว่างทางมีบ้านโบราณที่ยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมประจำท้องถิ่นนี้ไว้อย่างสมบูรณ์ เป็นบรรยากาศที่เหมาะแก่การเดินเล่นแบบไม่ต้องรีบร้อน เพราะด้วยระดับความสูงที่ไม่มากจนเกินไป ทำให้อากาศเย็นในองศากำลังดี หลายคนที่ตั้งใจมาเดิน trekking บนยอดเขาในแถบนี้มักเลือก Sarahan เป็นจุดตั้งต้นในการเตรียมร่างกายก่อนออกเดินทางต่อ

kinnaur
หมู่บ้าน Sarahan
Photo: mowgli1854
kinnaur
บ้านโบราณใน Sarahan
Photo: mowgli1854

Yulla Kanda 

วัดกฤษณะกลางทะเลสาบที่อยู่สูงที่สุดในโลก

ออกเดินทางจาก Sarahan มุ่งหน้าสู่ ยุลลากันฑา (Yulla Kanda) ยอดเขาอันเป็นที่ตั้งของวัดพระกฤษณะ หนึ่งในเทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาฮินดูที่มีความโดดเด่นในแง่ของการปกป้องดูแล เป็นเทพแห่งความเมตตา ความอ่อนโยน และความรัก เชื่อกันว่าผู้ที่บูชาพระกฤษณะสม่ำเสมอจะส่งผลให้มีความรักที่อบอุ่นสมหวัง นำไปสู่ชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง 

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พระกฤษณะจะเป็นเทพอันดับต้นๆ ที่ชาวฮินดูจำนวนไม่น้อยให้การเคารพนับถือ และปรากฏรูปเคารพของพระกฤษณะในปางที่หลากหลายทั้งช่วงวัย ลีลา และอารมณ์ มีตั้งแต่ Baby Krishna ที่มักอยู่ในอิริยาบถกำลังกินเนยเหลว ปางที่กำลังบรรเลงเพลงขลุ่ย ปางคู่กับพระแม่ราธาผู้เป็นมเหสี หรือปางสง่างามในฐานะผู้ทรงราชรถที่กำลังสนทนาอย่างน่าเกรงขามกับอรชุน

kinnaur
เส้นทางสายแอปเปิ้ลใน Yulla Khas

และตามปกติแล้วเมื่อนึกถึงสถานที่ที่เหมาะแก่การไปไหว้พระกฤษณะ หลายคนมักนึกถึงเมืองมถุราในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระกฤษณะ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นที่ทวารกาในรัฐคุชราต หรือนครอุฑุปิ รัฐกรณาฏกะ ที่ตั้งของมณเฑียรพระกฤษณะอันใหญ่โตโอ่อ่า ดึงดูดให้ชาวฮินดูที่นับถือลัทธิไวษณพนิกาย (ลัทธิบูชาพระวิษณุ หรืออีกนัยก็คือ พระนารายณ์และพระกฤษณะ) เดินทางไปสักการะเนืองแน่นตลอดทั้งปี

ในขณะที่ Yulla Kanda  อันเป็นที่ตั้งของวัดพระกฤษณะที่อยู่สูงที่สุดในโลกนั้น เป็นวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบบนยอดเขาหิมะ ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ไปเยือน นอกจากชาวบ้านในถิ่น Kinnaur รวมถึงผู้มีศรัทธาแรงกล้าจากทั่วสารทิศ ที่ต้องอาศัยแรงของสองน่องในการเดินขึ้นเขาระยะทางรวมกว่า 12 กิโลเมตร

kinnaur
หมู่บ้าน Yulla Khas ในวันฝนพรำ

เรื่องราวกำเนิดของวัดพระกฤษณะที่อยู่สูงที่สุดในโลกเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในมหาภารตะ โดยเชื่อกันว่าทะเลสาบบนยอดเขา Yulla Kanda ถือกำเนิดขึ้นโดยห้าพี่น้องปาณฑพ เมื่อครั้งถูกเนรเทศให้รอนแรมไปทั่วเขตหิมาลัยนั่นเอง

สำหรับเส้นทางเดินป่า Yulla Kanda อันมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดพระกฤษณะบนยอดเขา ณ ความสูง 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีระยะทางราว 12 กิโลเมตร ลัดเลาะไปในหุบเขา Rora โดยควรเริ่มต้นออกเดินตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อไปให้ถึงยอดเขาไม่เกินเที่ยงวัน และรีบเดินกลับลงมาก่อนที่อากาศบนยอดเขาจะเริ่มแปรปรวนในช่วงบ่าย

kinnaur
อากาศบนเขาแปรปรวนเสมอ ประเดี๋ยวแดดออก สักพักม่านหมอกปกคลุมเส้นทาง

นักเดินทางส่วนใหญ่ที่ต้องการพิชิตเส้นทาง Yulla Kanda มักเลือกพักค้างคืนในโฮมสเตย์ของบ้านชาวบ้านในหมู่บ้าน Yulla Khas เพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ เตรียมร่างกายให้พร้อมในการตื่นเช้าแข่งกับตะวัน จัดเตรียมของว่างเพิ่มพลังและอาหารกลางวันใส่เป้ไปให้พร้อมสรรพ แล้วเริ่มต้นออกเดินเท้าลัดเลาะไปตามถนนสายแอปเปิ้ลตั้งแต่ฟ้าสาง กระทั่งแสงแรกเริ่มสาดส่องทะลุเมฆลงมา

kinnaur
Gateway to Base Camp

เส้นทางสายนี้เป็นการเดินไต่ระดับเลียบเลาะขอบเหวไปเรื่อยๆ ท่ามกลางทิวทัศน์ที่งดงามของขุนเขาที่ยิ่งใหญ่เหลือจะเอ่ย ซึ่งโดยปกติจะมีแต่ชาวบ้านท้องถิ่นใช้เส้นทางสายนี้ในการสัญจรเพื่อเดินไปทำสวนทำไร่ในแต่ละวัน 

kinnaur
แอปเปิ้ล Kinnaur ที่ชาวบ้านปันให้กินระหว่างทาง

ยกเว้นใน เทศกาลเทศกาลชันมาษัฏมี หรือวันประสูติของพระกฤษณะ ซึ่งมักจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ที่ถนนสู่ Yulla Kanda จะคึกคักเป็นพิเศษด้วยบรรดาคนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ศรัทธาในกฤษณะเทพ รวมถึงชาวบ้านในแถบนี้ทุกบ้านที่พร้อมใจกันออกเท้ามุ่งหน้าสักการะองค์เทพที่พวกเขาให้การเคารพสูงสุดบนยอดเขา

kinnaur
ทิวทัศน์บนเส้นทาง Yulla Kanda

เมื่อเดินนับแอปเปิ้ลต้นแล้วต้นเล่าจนเข้าสู่เขตภูเขาหิมะสูงชันและไปถึงที่ตั้งของวัดพระกฤษณะสูงที่สุดในโลก กิจกรรมที่ฮินดูชนพึงกระทำก็คือ การสักการะพระกฤษณะและเดินเวียนรอบทะเลสาบตามความเชื่อว่าสามารถลบล้างบาปที่ทำมาได้ 

kinnaur

kinnaur
หมวก Kinnauri Topi ที่ชาวบ้านแถบนั้นนิยมสวมใส่

หลายคนถือโอกาสนี้เสี่ยงทายดวงชะตาประจำปี ด้วยการนำ Kinnauri Topi หรือหมวกรูปทรงกระบอกที่ชาว Kinnauri ทั้งหญิงและชายสวมในชีวิตประจำวัน มาลอยลงในทะเลสาบ เชื่อกันว่าหากหมวกลอยไปถึงอีกฝั่งได้ ปีนั้นชีวิตจะสุขี มีแต่ความราบรื่นตลอดทั้งปี แต่ถ้าหมวกจมลงระหว่างทาง ปีนั้นอาจไปได้ไม่สวยสักเท่าไร

สำหรับชาวบ้านท้องถิ่นยังมีกิจกรรมพิสูจน์ศรัทธาที่เหนือชั้นไปกว่านั้น คือ การว่ายน้ำในทะเลสาบบนยอดเขาที่ปกคลุมด้วยน้ำค้างแข็งตลอดปีแห่งนี้ ที่เชื่อกันว่าจะสามารถสลายสิ่งไม่ดีออกไปจากร่างกายและจิตใจ

kinnaur
เจ้าของโฮมสเตย์ชี้บอกทิศทางในการเดินไปสู่ Yulla Kanda

กิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนเท่านั้น สำหรับเดือนอื่นๆ ของปีแล้ว เส้นทางสายนี้แทบจะร้างไร้ผู้คน เหมือนอย่างเราที่ไปเยือน Yulla Kanda ในเดือนเมษายน ซึ่งอากาศเย็นสบายกำลังดี ถึงจะหนาวก็พอทนได้ และคิดว่าเส้นทางที่ไม่ได้ยากจนเกินไปสายนี้คงนำไปสู่ปลายทางที่สามารถไปถึงได้สบายๆ

หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้ว การไปให้ถึงวัดพระกฤษณะและทะเลสาบที่เสกสรรค์ขึ้นโดยห้าพี่น้องปาณฑพนั้น ไม่ได้อาศัยแค่แรงกายแรงใจเท่านั้น แต่ต้องเดินทางให้ถูกฤดูกาล

และสำคัญไปกว่านั้นคือ ควรมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง

ที่จริงพวกเราติดต่อไกด์ไว้เรียบร้อย แต่เขาเกิดไม่ว่างกะทันหันในวันนั้นพอดี เลยคิดว่าอากาศดี ฟ้าใส หนทางดูไม่ยาก ลองเดินไปเองเรื่อยๆ คงพอเป็นไปได้

kinnaur
สัญลักษณ์บอกทางมีเท่านี้จริงๆ

มาเริ่มฉุกคิดว่าเส้นทางสายนี้อาจไม่ง่ายอย่างใจหวัง เมื่อเดินมาเจอเข้ากับหญิงชาวบ้านแม่ลูกคู่หนึ่งที่กำลังพาฝูงวัวออกไปกินหญ้า ทั้งคู่รู้สึกแปลกใจเมื่อรู้ว่าพวกเรากำลังเดินทางไป Yulla Kanda แบบไม่มีไกด์นำทาง ทั้งคู่กังวลว่าเราอาจหลงทางได้ เนื่องจากฝนตกหนักหลายวันในช่วงนั้น ทำให้รอยเท้าบนหิมะ ซึ่งเป็นร่องรอยเดียวที่บ่งบอกถึงเส้นทางในการเดินไปสู่ยอดเขา น่าจะเลือนหายไปหมดแล้ว 

ถึงกระนั้น พวกเราก็ยังคงไปต่อด้วยอาการมองโลกในแง่ดี ใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะถึง Base Camp ซึ่งปกติคงมีเพิงขายชาและอาหารในฤดูกาลที่คลาคล่ำไปด้วยนักเดินทาง แต่สำหรับเดือนเมษายนแบบนี้ ไม่มีสัญญาณแห่งผู้คนใดๆ 

kinnaur
สู่เส้นทางที่ขาวโพลน

จากจุดนี้หนทางเริ่มปกคลุมด้วยหิมะที่หนาขึ้นเรื่อยๆ และเราก็เพิ่งเข้าถึงอาการตกใจของหญิงชาวบ้านคู่นั้น เพราะไม่ว่าเราจะลองเพ่งสายตามองหาทิศทางที่ควรจะเดินต่อแค่ไหน ก็ไม่ใช่เส้นทางที่ถูกต้องเสียที ทั้งๆ ที่มีทะเลสาบ Bhim Kund อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นหมุดหมายว่าอีกเพียง 1 กิโลเมตรก็จะถึง Yulla Kanda แล้ว

kinnaur
Kasorang Lake หรือ Bhim Kund
ทะเลสาบที่เป็นหมุดหมายว่าอีก 1 กิโลเมตรจะถึง Yulla Kanda

“มองหาธงของวัดให้เจอ” เรานึกถึงคำพูดของหญิงชาวบ้าน และไล่สายตามองหาธงทิวบนยอดเขา แต่เพ่งมองแค่ไหนก็ไม่เจอสิ่งพลิ้วไหวในฟากฟ้า 

เลยเที่ยงไปพอสมควร เมฆดำเริ่มลอยมาแต่ไกล ไม่ควรเสียเวลาไปมากกว่านี้ เพราะอากาศแปรปรวนบนยอดเขาไม่ใช่เรื่องที่ควรเสี่ยง หันไปตกลงกับเพื่อนร่วมทางเพื่อตัดสินใจร่วมกันว่า เราควรหันหลังกลับ เพราะต่อให้มองเห็นธงปักอยู่บนเขาก็ต้องเสียเวลาเดินไป-กลับอีกหลายชั่วโมง ไม่น่าจะคุ้มเสี่ยง

kinnaur
สักแห่งบนนั้นคือ Yulla Kanda

หลังจากถอดใจ และค่อยๆ ปีนป่ายกลับลงมายังเบสแคมป์ เมื่อตั้งหลักได้จึงหันกลับไปมองยอด Yulla Kanda อีกครั้งเป็นการร่ำลา

จู่ๆ เราก็พูดขึ้นเกือบจะพร้อมกันว่า “นั่น ! ธงใช่ไหม ?!” 

จุดเล็กๆ ไหวๆ บนยอดเขาไกลลิบตายอดหนึ่งเป็นเพียงร่องรอยเดียวที่คาดว่าน่าจะเป็นที่ตั้งของวัดพระกฤษณะที่เราไปไม่ถึง

ถึงจะเสียดาย แต่ไม่เสียใจ วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อโอกาสเหมาะมาเยือน เราจะไปให้ถึงทะเลสาบและวัดพระกฤษณะ ที่ในวันนี้ได้แต่ถ่ายภาพประดับผนังในโฮมสเตย์บันทึกไว้เป็นเป้าหมายในใจ

kinnaur
ภาพถ่ายวัดพระกฤษณะและทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์แห่ง Yulla Kanda

Chitkul 

หมู่บ้านสุดท้ายชายขอบอินเดีย

ว่าด้วยการเดินทางย้ายจากอีกเมืองไปสู่อีกเมืองในแถบหิมาจัลประเทศนั้นไม่ต่างอะไรกับการเดินทางข้ามเขาลูกหนึ่งไปสู่เขาอีกลูก

kinnaur
ถนนซิกแซกข้ามเขาหนึ่งลูก สังเกตดีๆ มีรถบัสประจำทางอยู่บนถนนหนึ่งคัน

เราเดินทางออกจาก Yulla Khas ตอนสายๆ ใช้เวลาบนสองล้อมอเตอร์ไซค์ราวเกือบสองชั่วโมง แล่นเคี้ยวคดข้ามเขาบนเส้นทางสายลอดอุโมงค์หิน จนมาถึง สังกลา (Sangla) เมืองที่มีพรมแดนติดทิเบต โดยไปสุดเขตที่หมู่บ้านฉิตกุล (Chitkul)

kinnaur
Kamru Fort

Sangla เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่ บวกกับอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ทำให้สามารถเดินเที่ยวด้วยสองเท้าได้ทั่ว มีสถานที่สำคัญที่ควรค่าแก่การไปเยือนอย่าง Kamru Fort ป้อมโบราณที่หน้าตาไม่เหมือน Fort ใหญ่โตอลังการในแถบราชสถานหรือรัฐอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคยมากกว่า ป้อมของที่นี่มีลักษณะเหมือนหอคอยไม้สร้างอยู่บนฐานรากที่เป็นไม้สลับกับหิน งดงามด้วยศิลปะงานแกะสลักไม้ และเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเจ้าแม่กามาขยา (Kamakhya) หนึ่งในเทวีที่ชาวฮินดูให้การเคารพนับถือ

kinnaur
ขุนเขามาทักทายถึงหน้าต่างห้องพัก
kinnaur
ทิวทัศน์แถบ Sangla

โดยปกติแล้วจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา Sangla ก็เพื่อไปให้ถึงสุดเขตประเทศอินเดียที่หมู่บ้าน Chitkul โดยใช้เส้นทางถนนสาย NH-22 ห่างจาก Sangla ราว 23 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานเกินชั่วโมง เพราะเป็นถนนเส้นอันตรายที่คดเคี้ยวไปตามสายน้ำ Baspa ตามเอกลักษณ์ของเส้นทางในแถบนี้

kinnaur
ถนนเส้น Sangla – Chitkul

แต่ในความอันตรายก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนห้อตะบึงไปให้ถึงจุดหมายโดยไว เห็นเหลี่ยมเขาตรงไหนสวย จุดไหนของแม่น้ำที่สามารถขับรถลงไปแวะเดินเล่นถ่ายรูปได้ โปรดจงแวะละเลียดซึมซับความงามของธรรมชาติโดยไม่ต้องเสียดายเวลา ทิวทัศน์แถบนี้ไม่สามารถบรรยายด้วยตัวอักษรหรือภาพถ่ายให้ครบได้ทุกมิติ หากมีโอกาส ควรมาเยือนด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต

kinnaur
ป้าย Chitkul India’s Last Village

เมื่อเดินทางมาถึงเขต Chitkul ไฮไลท์ที่ทำให้ทุกคนต้องหยุดทุกยานพาหนะแล้วพาตัวเองลงมาจากรถก็คือ ป้ายประกาศระบุว่าที่นี่คือ Chitkul India’s Last Village ที่มีขุนเขาสวมหมวกสีขาวเป็นฉากหลัง ใครเลยจะอดใจไม่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้ ค่าที่อุตส่าห์ดั้นด้นเสี่ยงอันตรายขับรถเลาะเหวมาจนถึง

kinnaur

kinnaur
หมู่บ้าน Chitkul

สุดทางที่ Chitkul หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีทั้งอาคารที่พักสมัยใหม่ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่อยากค้างคืนในบรรยากาศหนาวเหน็บ ปะปนด้วยเรือนไม้แบบพื้นบ้าน สังเกตได้ว่าหลังคาจะเป็นแผ่นหิน ต่างจากบ้านที่สร้างในยุคหลัง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ บ้านเรือนส่วนใหญ่มักประดับด้วยมีธงมนตรา เพราะชาวบ้านในแถบนี้คนรับทั้งความเชื่อท้องถิ่น ฮินดู และพุทธวัชรยานแบบทิเบตผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน

kinnaur

kinnaur
จามรีเป็นสัตว์เลี้ยงของคนในแถบนี้

หากอยากเห็นสุดเขตประเทศอินเดียจริงๆ ว่ามีหน้าตาเป็นเช่นไร สามารถไปต่อได้จนสุดทาง เมื่อเห็นที่ทำการของ Indo-Tibetan Border Police (I.T.B.P) นั่นหมายความว่า เบื้องหลังทิวเขาสลับซับซ้อนข้างหน้าคือเขตทิเบต เป็นอันสิ้นสุดการเดินทาง

kinnaur

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเดินทางไป Kinnaur 

  • เมษายนถึงมิถุนายนเป็นช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิราว 8-30 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การท่องเที่ยวคินนัวร์มากที่สุด แต่ก็หนาแน่นด้วยนักท่องเที่ยวมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่หนีร้อนจากภูมิภาคอื่นมาซบลมหนาวในหิมาจัลประเทศ
  • หลีกเลี่ยงการไปเยือนคินนัวร์ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เพราะเป็นฤดูมรสุมที่สภาพอากาศค่อนข้างเลวร้าย

อ้างอิง