©ulture

วินัย ดิษฐจร เลือกบันทึกความจริงที่หลายคนหลบตาลงในภาพถ่าย

ยาเสพติด โสเภณี กลุ่มผู้ประท้วง ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้–ฯลฯ

ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Vinai Dithajohn เขาจำกัดความตัวเองว่า ‘พลนำสาร พรานล่าภาพ’

“เราอยากให้ภาพสารคดีของเราไม่มองอะไรสั้นๆ”

ถ้าภาพถ่ายสารคดีคือการสะท้อนความจริง วินัยก็เปรียบเสมือนนักต่อจิ๊กซอว์ความจริงที่กระจัดกระจาย

ด้วยวิธีคิดนี้ เขาจึงพาตัวเองเข้าสู่เขตแดนที่หลายคนไม่กล้าเข้าไป เพื่อเก็บจิ๊กซอว์บางชิ้นที่ขาดหาย

Time Magazine, The New York Times, International Herald Tribune, National Geographic, GQ คือตัวอย่างของสื่อบางสำนักที่เคยใช้บริการภาพถ่ายของเขา

ภาพถ่ายที่ทำให้รู้ว่า ‘ภาพถ่าย’ และ ‘ช่างภาพ’ บางประเภท ยังจำเป็นต่อโลกใบนี้

“โชคของการถ่ายรูปมีอยู่ แต่โชคจริงๆ เกิดจากการที่เรามองหาความน่าจะเป็น แล้วทำให้ความน่าจะเป็น…เป็นไปได้”

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

‘วางแผน’ สร้างโอกาส

การถ่ายรูปข่าวและสารคดีคือการเก็บภาพในสถานการณ์จริง ทุกสิ่งเกิดขึ้นฉับพลันตรงหน้า…เพียงเสี้ยววินาที

และวินัยจับเสี้ยววินาทีเหล่านั้นลงในภาพถ่ายได้อย่างถูกที่ถูกเวลาราวกับเสกขึ้นมา

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“โชคมีส่วน” วินัยบอก แต่ที่เหลือคือ ‘การวางแผน’ เพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน ‘ความน่าจะเป็น’

“ก่อนถ่าย ผมจะมีเลย์เอาต์ มีมุมกล้องอยู่ในใจ มีโครงสร้างและวิธีการเล่าเรื่อง ว่าจะเล่าอย่างไร

“ยกตัวอย่างช่วงที่ผมไปเก็บภาพการชุมนุมทางการเมืองที่ราชประสงค์ ซึ่งเป็นสารคดีที่ผมทำมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติ 19 กันยา ปี 2549 ก่อนไปผมจะดูตาราง วันนี้มีกิจกรรมอะไร มีประเด็นอะไรน่าสนใจ ถ้ามี ก็โฉบไป

“โชคของการถ่ายรูปมีอยู่ แต่โชคจริงๆ เกิดจากการที่เรามองหาความน่าจะเป็น แล้วทำให้ความน่าจะเป็นนั้นเป็นไปได้

“…ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วมีโชค”

‘ทำการบ้าน’ ศึกษาประวัติศาสตร์ ก่อนลงพื้นที่

หากภาพสารคดีคือการสะท้อนความจริง น่าสงสัยว่าวินัยเก็บความจริงแบบไหนลงในภาพถ่ายของเขา

เพราะภาพถ่ายมีหลายใบ ความจริงก็น่าจะมีหลายชุด

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“ก่อนลงพื้นที่ ต้องอ่านประวัติศาสตร์ เพราะไม่งั้นเราจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นแค่ช่วงชีวิตของเรา”

วินัยบอกเขาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่ผู้พิพากษา หน้าที่ของเขามีแค่บันทึกความจริงตรงหน้า ให้มีริ้วรอยของอคติน้อยที่สุด

“กติกาการทำงานของผมคือต้องพยายามหาข้อมูล อย่ามีอคติกับตัวละครในเรื่องมากเกินไป เวลาได้ยินอะไรมา ต้องคิดก่อนเสมอว่าสิ่งที่ได้ยินเป็นจินตนาการ คำบอกเล่า หรือมายาคติ

“ก่อนลงพื้นที่ ต้องอ่านประวัติศาสตร์ เพราะไม่งั้นเราจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมุมมองแค่ช่วงชีวิตของเราหรือตามกระแสสังคม ไม่ได้มองเห็นถึงที่มาที่ไปของปัญหา

“อย่างกรณีความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เราต้องมองย้อนกลับไป ว่าที่จริงแล้วมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงช่วงที่ประเทศเราเรียกว่าสยาม ในช่วงนั้นทางส่วนกลางมีการขยายอาณาเขต จัดระเบียบการปกครอง แล้วเผอิญสิ่งที่ทำนั้นไปแตะกับความขัดแย้งทางด้านอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ของคนในพื้นที่ ต่อมาจึงเกิดความหมางเมิน ความบึ้งตึง ซึ่งเรื่องพวกนี้เราจำเป็นต้องอ่าน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นตัวแทนอีกฝ่ายนะ

“เรามีทัศนคติว่า ทุกฝั่งทุกฝ่ายเป็นมนุษย์เหมือนกัน”

วินัย ดิษฐจร
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ นิตยสาร National Geographic (photo: วินัย ดิษฐจร)

‘ตั้งคำถาม’ อย่าพิพากษา

วินัยพยายามมองทุกสิ่งอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุและผลในตัวเอง

“เราต้องหาเหตุผลของปรากฎการณ์แต่ละปรากฎการณ์ เหตุผลนั้นจะทำให้เราไม่อินกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างเรื่องภาคใต้ที่ผมไปทำ สังเกตว่างานของผมไม่ได้ตามเฉพาะคนไทยพุทธด้านเดียว แต่ตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปจนถึงชาวบ้านในชุมชนมุสลิม”

ในทุกพื้นที่ ทุกปัญหา ทุกเหตุการณ์ที่วินัยลงพื้นที่ เขาได้เห็นความจริงมากกว่าสิ่งที่อยู่ในรายงานข่าว

วินัย ดิษฐจร
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ นิตยสาร National Geographic (photo: วินัย ดิษฐจร)

“เราอ่านหนังสือพิมพ์ เรารู้ว่าที่ไหนมีคนตาย มีระเบิด มีการล้างแค้น แต่เราไปเห็นความจริง เราจะเห็นอะไรมากกว่านั้น เพราะว่ามันมีความจริงบางอย่างที่ไม่ได้ถูกพูดในสื่อกระแสหลัก”

วินัยจึงพยายามบันทึกความจริงเหล่านั้นลงในภาพถ่าย

“เรามีเจตนาให้ภาพของเราไม่ทำร้ายใคร แต่จะเป็นการเล่าเรื่อง และมีความเป็นศิลปะ เพื่อให้คนได้ระลึกถึง ได้ทบทวน ได้มองนานๆ แล้วซึมซับกับเรื่องราวในภาพ เพื่อตั้งคำถาม”

ตั้งคำถามกับเรื่องราวที่เห็น ไม่ใช่พิพากษา ภาพของวินัยบอกเราเช่นนั้น

วินัย ดิษฐจร
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ นิตยสาร National Geographic (photo: วินัย ดิษฐจร)

วิธี ‘สร้างความไว้ใจ’ ของพรานล่าภาพ

การแสดงอารมณ์ของตัวละครในที่เกิดเหตุ ไม่ว่าบนใบหน้าหรือดวงตา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการถ่ายในระยะประชิด

ภาพทำนองนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ใช่ว่ามีกล้องแล้วจะถ่ายได้ทุกคน เพราะตัวแบบต้องมอบความเป็นส่วนตัวและความไว้วางใจให้คนถ่ายภาพ

ไม่ว่าป่าเขา แหล่งค้ายา หรือข้างถนน วินัยถ่ายภาพแบบที่ว่าได้ไม่ยาก

“ก็กลัวๆ กล้าๆ ถ้าไม่กลัวก็บ้าแล้ว คือเราไปอยู่กับไฟ ยังไงมันก็ร้อน”

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“คือเราสามารถเข้าไปอยู่ในความเป็นส่วนตัวของคนได้ทุกที่” วินัยหมายความตามที่พูด พร้อมวิเคราะห์เหตุผลประกอบ

“หนึ่ง เรารู้จักตัวเราว่าบุคลิกเราไม่ใช่คนที่มาร้าย เราไปที่ไหน คนต้อนรับ เรารู้สึกได้

“สอง อาจเป็นเพราะความที่เคยเป็นกระเป๋ารถเมล์ ทำให้เราได้เจอคนเยอะ เราพอจะรู้วิธีที่จะดีลกับคนแต่ละประเภท เรารู้ว่าเราควรจะเริ่มต้นแบบไหน”

เด็กแว้น พ่อค้ายา คนธรรมดา ทหาร จับกัง โสเภณี สำหรับวินัย ไม่ยากเกินจะเข้าไปทำความรู้จัก

วินัย ดิษฐจร
11:30 น. พัฒน์พงษ์คืนนี้เงียบมาก ถ่ายเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2559 วันที่ชีวิตคนไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ (photo: วินัย ดิษฐจร)

“สำหรับเรามันไม่ยาก เราพอรู้ว่าควรทำยังไง สมมติวันนี้เราอยากรู้จักกับคนค้ายา เรารู้แหล่งอโคจร เรารู้ภาษาของเขา เรารู้การแต่งกายของเขา เรารู้บทสนทนาของเขา เรารู้ความต้องการของเขา เรารู้การทำยังไงให้อยู่ในกิจกรรมของเขา เรารู้ว่าสเต็ปจะเป็นยังไง หลังจากนั้นเราก็แค่อยู่ตรงนั้นให้ถูกที่ถูกเวลา”

พออธิบายได้ไหมว่าทำยังไง? เราซักไซ้ถึงวิธีการ

วินัยนิ่งคิดสักพัก “จะบอกเป็นวิธีแบบวิธีปรุงอาหารไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของกาลเทศะ”

ภาพที่ดีต้อง ‘ไม่ทำร้ายใคร’

วินัยเปิดให้ดูรูปที่เขาถ่ายในบ้านแห่งหนึ่งที่เป็นแหล่งค้ายาเสพติด จากนั้นก็ค่อยๆ เลื่อนไปทีละรูปพร้อมอธิบาย

“เราเคยรู้จักกับคนค้ายารายย่อย เราเคยพัวพันกับเขา เราซ้อนมอเตอร์ไซค์เขา แต่เราไม่ได้ทำธุรกิจ ภาพที่ผมถ่าย ผมพยายามจะไม่ทำร้ายชีวิตของเขา”

ภาพใบนั้นดูทึบทึม มีเงาร่างของคนๆ หนึ่ง ดูคล้ายกำลังเสพยา หลังกดชัตเตอร์ วินัยเปิดรูปในจอหลังกล้องให้ตัวแบบดู ถ้าไม่โอเค วินัยยินดีลบรูปทันที

วินัย ดิษฐจร
ภาพสารคดี ‘สงครามยาเสพติด’ ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร, นิตยสาร National Geographic

บางทีการจะให้คนอื่นวางใจ ก็ต้องเอา ‘ใจแลกใจ’

วินัยเปิดภาพชุดใหม่ เป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังพลอดรักในมุมมืด มีเพียงแสงสลัวจากไฟริมทาง

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“รูปนี้เราแอบถ่าย เป็นรูปคนค้าประเวณีกับคนเมาเหล้าแถวคลองหลอด คือเราสังเกตพฤติกรรมมาสักพักแล้วว่าถ้าช่วงเวลานี้จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้”

เพื่อจะเก็บภาพ วินัยปลอมตัวเป็นคนจรจัด หาถุงดำมาปูรองพื้น พกเบียร์มาดื่ม เอามาม่ามากิน แล้วซุกนอนอยู่ในมุมมืด

“เรารู้ว่า ตรงจุดมืดๆ ที่เราอยู่จะมีคนมาพลอดรัก สุดท้ายก็มาจริงๆ”

วินัยบันทึกความจริงตรงหน้าด้วยกล้อง DSLR ภาพใบนั้นเห็นเพียงเงาร่างและท่าทางพอให้จินตนาการได้ว่า คนสองคนกำลังพลอดรัก

“เรามีเจตนาให้ภาพของเราไม่ทำร้ายชีวิตใคร”

วินัยย้ำเจตนาในใจ ก่อนเปิดภาพชุดต่อไป

ความกลัวของนายพราน

ภาพของวินัยฟ้องว่า ชีวิตช่างภาพของเขาดูเหมือนจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย รุนแรง และขัดแย้งเกือบตลอดเวลา คำถามคือเขากลัวบ้างไหม?

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)
วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“ก็กลัวๆ กล้าๆ ถ้าไม่กลัวก็บ้าแล้ว คือเราไปอยู่กับไฟ ยังไงมันก็ร้อน”

ถ้ารู้สึกกลัว สัญชาตญาณจะบอกให้เขาพอและหยุด “เราว่าความกลัวไม่เลวร้าย แต่จะทำให้เกิดความระมัดระวัง รอบคอบ”

วินัยมองว่าตัวเองค่อนข้างมีโชค เพราะผ่านสถานการณ์เฉียดตายมาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็แคล้วคลาด เช่นเมื่อครั้งโรงแรม CS ในปัตตานี ซึ่งเป็นโรงแรมที่วินัยเข้าพักบ่อยๆ โดนวางระเบิดคาร์บอม เป็นช่วงเดียวกับที่เขาไม่ได้เข้าพักพอดี หรือเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลากลางจังหวัดยะลา ก็เกิดขึ้นหลังจากวินัยไปติดต่องานที่นั่นหนึ่งวัน

แต่โชคก็ไม่ได้อยู่กับเราทุกวัน เพราะมีอย่างน้อยสองครั้งที่เขาถูกยิง

ครั้งแรก เมษายน ปี 53 วินัยโดนกระสุนจริง หลังจากทหารเข้าสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ครั้งที่สอง ธันวาคม ปี 56 วินัยโดนกระสุนปืนแก๊สนำ้ตา จากเหตุการณ์ กปปส. ปิดล้อมหีบเลือกตั้งที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

วินัย ดิษฐจร
วินัยทำข่าวการชุมนุมกลุ่ม กปปส. เมื่อพ.ศ.2557

วินัยบอกว่า เหตุการณ์ ปี 53 หรือวันที่เขาโดนกระสุนครั้งแรก คือวันที่เฉียดใกล้ความตายมากที่สุด

“ตอนเหตุการณ์ 10 เมษายน ปี 53 เราโดนยิงที่ขา โชคดีกระสุนทะลุเนื้อ ไม่โดนกระดูก

“จำได้ว่าตอนนั้นเราเสียเลือด เราหนาว แล้วมองอะไรไม่ค่อยเห็น”

ถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะทำให้วินัยเฉียดตาย แต่เขาก็ไม่ได้กลัวจนต้องขอลาออกจากอาชีพช่างภาพ

“เราไม่ได้แหยง แล้วเราก็ไม่ใช่คนห้าวนะ แต่อย่างที่บอก เราคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ไอ้ที่เราโดน มันมีปัจจัยอะไรที่เราคาดไม่ถึง ที่ทำให้เราต้องโดนไง

“เราว่าเหตุการณ์ในยะลา ปัตตานี ควบคุมยากกว่านะ” ขณะพูดตาของวินัยไม่มีแววหวาดหวั่น และบอกว่าเขาพร้อมจะลุยทุกพื้นที่ ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะมีความขัดแย้ง หรือรุนแรงแค่ไหน

ในโลกที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายและใครๆ ก็ถ่ายรูปได้ ภาพถ่ายดูเหมือนจะไร้ความหมายมากขึ้นทุกวัน

แต่คงไม่ใช่ภาพถ่ายของวินัย ดิษฐจร ที่กำลังกระซิบบอกความจริงกับเรา

ความจริงที่น้อยคนจะพูดถึงและสบตา.

วินัย ดิษฐจร
ภาพผู้ลี้ภัยชาวพม่าหนีมาชายแดนไทยที่ จ.กาญจนบุรี หลังกองทัพพม่าปะทะกองกำลังกะเหรี่ยง ถ่ายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 (photo: วินัย ดิษฐจร)

วินัย ดิษฐจร

วินัย ดิษฐจร
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ นิตยสาร National Geographic (photo: วินัย ดิษฐจร)

_____

*หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากบทสัมภาษณ์ ‘ภาพถ่าย-ชีวิต ความน่าจะเป็นและความฝัน’ โดย วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์ นิตยสาร happening ฉบับที่ 76 มิถุนายน พ.ศ.2556