“ถ้าข้าตาย ข้าจะมาอยู่ที่นี่”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงรับสั่งในวันที่เสด็จมาคุมงานก่อสร้าง ณ พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุลข้างพระอุโบสถ วัดราชโอรส
วัดที่พระองค์ทรงปฏิสังขรขึ้นใหม่ เนื่องจากมีความผูกพันทางใจสองสามประการ
หนึ่ง พระปัยยิกา (ยายทวด) เคยมีนิวาสสถานอยู่ย่านนี้ จึงทรงมีพระญาติอยู่มาก
สอง เป็นวัดที่พระชนกและพระชนนี (รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุลาไลย) ทรงให้การทำนุบำรุง
สาม ก่อนออกยกทัพไปสกัดทัพพม่า หลังจากมีข่าวลือว่าจะมาตีไทย พระองค์ได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัด ทำพิธีเบิกโขลนทวาร แล้วทรงอธิษฐานขอให้การศึกสงครามลุล่วงด้วยดี
ทุกสิ่งเป็นดังคำอธิษฐาน เพราะสุดท้ายเมื่อยกทัพไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ ทัพพม่าที่ว่าจะมารุกรานกลับไร้วี่แวว
เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครโดยสวัสดิภาพ พระองค์ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อแต่เดิมจาก ‘วัดจอมทอง’ เป็นชื่อ ‘วัดราชโอรส’ ตามที่พระบรมราชชนกโปรดเกล้าฯ พระราชทาน อันหมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา
นอกจากประวัติที่มา วัดราชโอรสยังโดดเด่นด้านสถาปัตย์ เพราะ ‘เป็นวัดแรกที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัด ซึ่งสร้างกันเป็นสามัญ’
เพราะโบสถ์วิหารนั้นไร้ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์แบบโบราณ แต่กลับใช้ศิลปกรรมแบบจีนมาผสมผสานกับไทยได้อย่างประณีตกลมกลืน
๑๔ ปีผ่านไป วัดแห่งนี้จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชหทัย
“เป็นวัดที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดของบางกอก” จอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd) ราชฑูตจากอังกฤษที่เข้ามาทำการค้าในสมัยนั้น บันทึกเอ่ยชมวัดราชโอรส
ต่อมาภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในหลวง รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสรีรังคารมาบรรจุไว้ ณ พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ
แล้วทรงเติมสร้อยให้ชื่อ จากวัดราชโอรสเป็น ‘วัดราชโอรสาราม’ โดยต่อมาถือกันว่า เป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๓…
เรื่องราวที่ผมเล่ามาทั้งหมด คือประวัติศาสตร์ที่คุณสามารถค้นหาได้จากกูเกิ้ล ซึ่งสำหรับคนถ่ายรูปอย่างผม ถือเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ศึกษา
เพราะการถ่ายภาพไม่ได้ใช้แค่ดวงตา หรือการมองเห็นตามกฎฟิสิกส์ที่แสงตกกระทบวัตถุแล้วสะท้อนมาที่จอประสาทตาเท่านั้น
บางครั้งการได้รู้จักและเข้าใจสิ่งที่ถ่าย จากการศึกษาประวัติที่มา ก็ทำให้เราได้เห็นความงามที่ซ่อนอยู่
ความงามที่อยู่ลึกลงไป และไกลกว่าระยะสายตา.
แผนที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร : https://goo.gl/maps/hTcajGuBez92