pe©ple

ย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าวันนี้ วินัย ดิษฐจร จะกลายเป็นช่างภาพข่าวและสารคดี

วินัย ดิษฐจร คือใคร? หลายคนอาจส่ายหัว แต่สำนักข่าวไทยและเทศหลายสำนักใช้บริการภาพถ่ายของเขา

วินัยเป็นที่รู้จักในระดับสากลตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู มีภาพถ่ายตีพิมพ์และเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศหลายหัว เช่น Time และ The New York Times

วินัยเป็นช่างภาพไทยคนแรกในสังกัดสำนักข่าว EPA (European Pressphoto Agency) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพถ่ายส่วนใหญ่ของวินัยบันทึกความจริงที่หลายคนหลบตา ยาเสพติด โสเภณี กลุ่มคนลักลอบตัดไม้ ม็อบเหลือง-แดง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

วินัย ดิษฐจร นิตยสาร National Geographic
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร, นิตยสาร National Geographic

 

ภาพของเขาให้กลิ่นต่างจากภาพข่าวไทยทั่วไป เขาไม่ต้องการเล่าว่าเกิดอะไรแบบไร้ศิลปะ และมีบางครั้งที่ภาพของเขาทิ้งนัยยะบางอย่างให้ตีความครุ่นคิด

“เมื่อก่อนการถ่ายรูปสำหรับผม เป็นเหมือนความฝันราคาแพง” วินัยพูดประโยคนี้ขณะเปิดไฟล์ภาพเก่าๆ ซึ่งเป็นรูปของเขาในวันที่ยังตรากตรำกับชีวิต

กระเป๋ารถเมล์ ทหารอาสาสมัคร จับกังโรงงานผลิตยา

รูปในอดีตเคลื่อนผ่านไปทีละภาพ ฉายภาพชีวิตของวินัยที่พลิกผันเหมือนหนังดราม่า มากกว่าจะเป็นเรื่องจริง

แต่รูปถ่ายเหล่านั้นยืนยัน ชีวิตที่ผ่านมาของเขาไม่ใช่ความฝัน

วินัย ดิษฐจร ตอนอายุ 16 ปี
วินัย ดิษฐจร ตอนอายุ 16 ปี (photo: วินัย ดิษฐจร)

วัยเด็กที่พลิกผัน

วินัยเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตอยู่แถวคลองเตย พอขึ้นชั้นประถมได้ไม่กี่ปี ก็มีเหตุให้ต้องย้ายตามพ่อที่ตัดสินใจลาออกจากงานสนามบิน เพื่อหันเหไปทำไร่ในอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

วินัยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหุบเขา ฝูงควาย ท้องนา และวิวพระอาทิตย์ตกดินในชัยภูมิ ตั้งแต่ ป.4 ถึง ม.2 ก่อนย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังชีวิตชาวไร่ของพ่อไม่สวยงามอย่างที่ฝัน ทุกสิ่งพลิกผัน ฐานะที่พอมีกลับยากจน ต้องอาศัยบ้านญาติซึ่งตั้งในซอยสุขุมวิท 62 เป็นที่ซุกหัวนอน

ความขัดสนในเวลานั้นไม่อนุญาตให้วินัยได้มีชีวิตเหมือนเด็กวัยเดียวกัน เขาต้องออกหาเงินเรียนหนังสือด้วยตัวเอง

“ตอนนั้นเราทำทุกอย่าง ขายหนังสือพิมพ์ เรียงเบอร์ น้ำหอมปลอม ธูป เทปเพลงสากล นิตยสาร สตาร์พิกส์ จำได้เลยว่าใส่เสื้อนักเรียนนี่แหละ หิ้วไปเลย”

เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก พ่อที่ขณะนั้นทำงานในโรงงานประสบอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้รายได้หลักของครอบครัวหดหาย วินัยต้องหยุดความฝันที่จะเรียนต่อชั้น ม.ปลาย อย่างไม่มีกำหนด แล้วเดินเข้าสู่โลกการทำงานของผู้ใหญ่ก่อนเวลา เพื่อดูแลพ่อและส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสือ

ทางเลือกของวินัยมีไม่มากนัก เขาได้งานเป็นกระเป๋ารถเมล์ตั้งแต่มือยังโหนราวไม่ถึง

ขณะนั้นวินัยมีวุฒิการศึกษาชั้น ม.3 และเพิ่งมีคำนำหน้าว่า ‘นาย’

วินัย ดิษฐจร
วินัยสมัยเป็นกระเป๋ารถเมล์

กระเป๋ารถเมล์

ช่วงชีวิตการเป็นกระเป๋ารถเมล์ของวินัยค่อนข้างโลดโผน นักเรียนช่างกล ตำรวจนอกเครื่องแบบ ถ้ามาหาเรื่อง ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีกี่คน วินัยไม่เคยนับนิ้วให้เสียเวลา

“เราไม่ใช่คนเกเรนะ แต่ถ้าใครมาหาเรื่อง ไม่จ่ายเงิน เราสู้”

แม้ชีวิตช่วงนั้นจะได้แผล แต่บาดแผลก็ไม่เคยทำให้เจ็บปวดเท่ากับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา

จากเด็กที่มีผลการเรียนดี สอบได้ที่หนึ่งไม่ก็สอง กลับต้องมาเป็นกระเป๋ารถเมล์ วินัยเลือกเดินหนีความว้าวุ่นในช่วงนั้นด้วยการดูหนังและอ่านหนังสือปรัชญา การหลบหนีสู่โลกทางความคิด แม้จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่ถูกความจริงปะทะหน้า วินัยก็กลับมาตั้งคำถามกับโชคชะตาและตัดพ้อตัวเอง

“ช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ เราทำงานกะบ่ายและกะกลางคืน ทำให้เรามีประสบการณ์ดีไม่ดีหลากหลาย เจอคนทั้งด้านมืดด้านสว่าง ไม่ว่าคนดี ขี้เมา โสเภณี ตำรวจนอกเครื่องแบบ ร้อยแปด

“เราเห็นชีวิต มันมากกว่าในห้องเรียน”

วินัย ดิษฐจร
วินัยสมัครเป็นทหารอาสา

เรียนถ่ายรูปในค่ายทหาร

“เราอยากจะท่องเที่ยว แต่เราไม่มีตังค์ ทำไงล่ะ ก็ต้องเอาตัวเราไปแลก” วินัยหยุดอาชีพกระเป๋ารถเมล์ของตัวเองไว้ที่อายุ 23 เมื่อน้องๆ เริ่มเรียนจบ ภาระในครอบครัวลดลง เขาเลือกสมัครเป็นทหารอาสาสมัคร กองพลทหารราบที่ 9

หนังเรื่อง The Killing Fields หรือ ทุ่งสังหาร ในชื่อภาษาไทย ที่ได้ดูระหว่างที่เป็นทหาร ทำให้วินัยฝันอยากเป็นช่างภาพ เขาเริ่มหาความรู้วิชาถ่ายภาพ โดยสมัครเรียนทางไปรษณีย์กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์

ทุ่งสังหาร
The Killing Fields หรือ ทุ่งสังหาร ภาพยนตร์ที่จุดประกาย วินัย ฝันอยากเป็นช่างภาพ (photo: imdb.com)

“จำได้ว่าตอนที่เรียนความรู้เบื้องต้น สื่อภาพนิ่ง-ภาพยนตร์ เรายังไม่มีกล้องถ่ายรูป แต่ต้องทำข้อสอบ 150 ข้อ เราทำผิดไม่เกินสิบข้อ แต่ใส่ฟิล์มไม่เป็นนะ กล้องก็ไม่มี แต่ที่ทำได้เพราะเป็นเรื่องที่เราสนใจ ในตอนนั้นสำหรับเราความรู้เหมือนหนังโป๊”

พอเรียนไปสักพัก การเรียนตามหลักสูตรบังคับให้เขาต้องเรียนวิชาอื่นที่ไม่สนใจ เมื่อตอบตัวเองได้ว่า ต้องการความรู้มากกว่าใบปริญญา วินัยจึงเลือกเดินออกจากระบบการศึกษา หันไปยืมหนังสือจากห้องสมุดประชาชน หรือไม่ก็ซื้อหนังสือมาอ่านเอง

การเรียนรู้ในค่ายทหารของวินัยเป็นไปอย่างลับๆ เพราะมีกฎระเบียบบังคับไม่ให้นำหนังสือติดตัวไปอ่านขณะฝึกภาคสนาม วินัยจึงใช้คัตเตอร์กรีดแบ่งหนังสือออกเป็นส่วนๆ จนบางพอจะยัดใส่เป้ ใส่กางเกง หรือม้วนใส่กระบอก M79 เพื่อแอบเอาไปอ่านในระหว่างฝึกซ้อม

วินัย ดิษฐจร
วินัยขณะฝึกภาคสนาม

“ถ้าพกไปเป็นเล่มๆ มันดูโจ่งครึ่มไง อีกอย่างเป็นพลทหารไปทำตัวมีการศึกษาไม่ได้ โดนตบอีก เจ้านายไม่ชอบ ทำตัวฉลาดไม่ได้ ต้องทำตัวโง่ๆ ไว้ ต้องได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน คือชีวิตจริงมันเป็นแบบนั้น

“คือเราไม่มายด์หรอกว่าเราจะต้องกราบไหว้หนังสือ หรือห้ามนั่งทับหนังสือ สำหรับเรา เราได้หนังสือมา เราต้องอ่านมัน เราต้องเอาเนื้อหาจากในหนังสือให้ได้ เพราะว่าสำหรับเรา กว่าจะได้มา มันไม่ง่าย”

พอเป็นทหารไปสักพัก วินัยพบว่าชีวิตทหารไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการ “ถ้าเกิดสงคราม เราก็ต้องฆ่าคน เราไม่เอา เราว่ามันไม่มีเหตุผล คนมาฆ่ากันเพราะเป็นเรื่องของนโยบาย คำสั่ง หรือเรื่องของความเป็นประเทศ เราดูในหนัง ทหารที่รบเพื่อชาติเหมือนเป็นฮีโร่ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครเป็นฮีโร่หรอก ทุกคนเป็นเบี้ยหมด พอไม่มีสงคราม คนคนนี้อาจจะอยู่ข้างบ้านเรา แค่มีแม่น้ำขวางกั้น แต่พอเกิดสงครามก็ต้องมาฆ่ากัน

“เราว่ามันดูเศร้า…”

วินัย ดิษฐจร
ถ่ายกับเพื่อนในโรงงานเภสัชกรรม

ฟิล์มม้วนแรก

หลังปลดประจำการ วินัยได้งานเป็นจับกังในโรงงานเภสัชกรรมชื่อ แอตแลนติค ตั้งอยู่ปากซอยสุขุมวิท 62 ไม่ไกลจากบ้านญาติที่พักอาศัย

ลังทำงานอยู่หลายเดือน วินัยเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก่อนจะนำมันไปซื้อกล้อง Pentax K1000 มือสอง ฟิล์มม้วนแรกของเขาหมดไปกับการถ่ายรูปอย่างสะเปะสะปะ ไม่ว่าวัดพระแก้ว หมา แมว คนตาบอด

PENTAX K1000
กล้อง PENTAX K1000 (photo: awesomecameras.com)

วันหนึ่งวินัยเปิดหนังสือพิมพ์พบประกาศรับสมัครงาน ช่างภาพประจำนิตยสารชื่อ The Dog เขาเห็นโอกาสที่จะไปเป็นช่างภาพตามที่ฝัน

ไม่กี่วันหลังจากนั้น วินัยไปสมัครงานที่นิตยสารเล่มดังกล่าว พร้อมประสบการณ์ถ่ายรูปแค่ ‘ฟิล์มม้วนเดียว’

วินัย ดิษฐจร
ถ่ายสารคดีสุนัขพลร่ม สมัยช่างภาพนิตยสาร The Dog

ผมถ่ายรูปเป็นเพราะหมา

เพิ่งถ่ายได้แค่ม้วนเดียว ก็สมัครเป็นช่างภาพเลย เอาความมั่นใจมาจากไหน?

“ตอนนั้นเราไม่มีทางเลือกไง คนเราโอกาสมันมา ถ้าเราถอยหนี ก็ไม่มีโอกาส ถ้าเราทำผิด ไม่มีใครมาประหารชีวิตเรา ไม่มีใครตบตีเรา ส่วนเรื่องอับอายก็ไม่กลัว เพราะอย่างเก่งก็แค่โดนด่า ถ้าโดนไล่ออกก็ไปสมัครที่อื่น แต่เมื่อโอกาสมันมา เราต้องเอาไว้ก่อน”

ระหว่างสัมภาษณ์งาน วินัยโชว์ผลงานภาพถ่ายจากฟิล์มม้วนเดียว และบทความไม่กี่ชิ้นที่เคยเขียนตอนเข้าร่วมอบรมผู้สื่อข่าวชุมชนสมัยที่เป็นทหารอาสาสมัคร เพื่อแสดงให้คนสัมภาษณ์งานเห็นว่าเขาทำได้

“คือเราไม่มีใบปริญญาไง ดังนั้นเราต้องมีอะไรสักอย่างเพื่อยืนยันว่าเราใกล้เคียงนะ กูทำได้ กูพอจะรู้อยู่นะ กูมีหลักฐานอยู่”

ไม่รู้ว่าอะไรดลใจ สุดท้ายเจ้าของนิตยสารตกลงรับวินัยเข้าทำงาน

วินัยบอกว่าการถ่ายรูปสุนัขไม่ใช่ของง่าย แต่ละพันธุ์มีลักษณะนิสัย จุดดีจุดด้อย มุมสวยต่างกัน ต้องศึกษาเรียนรู้

การเป็นช่างภาพทำให้วินัยได้ถ่ายภาพมากขึ้น จากฟิล์มม้วนแรกวินัยถ่ายไปอีกหลายม้วน ยิ่งถ่าย ผลงานก็พัฒนาขึ้นตามวันเวลา บางคนเห็นผลงานแล้วชอบ ก็ติดต่อ (บางเคสถึงขั้นตื้อ) ให้วินัยไปถ่ายสุนัขที่บ้าน

ตลอดเวลาสี่เดือนที่ทำงานเป็นช่างภาพนิตยสาร The Dog วินัยยอมรับตามตรงอย่างไม่อาย

“ผมถ่ายรูปเป็นเพราะหมา”

วินัย ดิษฐจร
ถ่ายภาพตัวเองที่โรงแรมเก่าในพิษณุโลก สมัยเป็นช่างภาพนิตยสารท่องเที่ยว (photo: วินัย ดิษฐจร)

สู่โลกกว้าง

การเปิดอ่านหนังสือพิมพ์หน้าสมัครงาน กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตวินัยอีกครั้ง เมื่อนิตยสารท่องเที่ยวชื่อ Bangkok This Week เปิดรับสมัครช่างภาพ

ด้วยความที่มีนิสัยชอบผจญภัยเป็นทุนเดิม วินัยตัดสินใจสมัครงานใหม่ทันที

“ถ่ายฟิล์มสไลด์เป็นไหม?” คนสัมภาษณ์งานถามวินัย

ความจริงเขาไม่เคยถ่ายฟิล์มประเภทนี้มาก่อน แต่พอจะรู้ว่าคืออะไร เพราะเคยอ่านจากหนังสือ

“ถ่ายเป็น” วินัยควบคุมน้ำเสียงให้ตอบอย่างมั่นใจ

ชีวิตช่างภาพที่นี่นอกจากถ่ายภาพให้นิตยสารเล่มหลักอย่าง Bangkok This Week เขายังรับหน้าที่ถ่ายภาพให้นิตยสารแนวท่องเที่ยวเล่มอื่นในเครือ

อาชีพช่างภาพนิตยสารท่องเที่ยวได้พาวินัยไปที่ต่างๆ ไม่ว่าภูเขา ทะเล มหานครหรือชนบท ในช่วงเวลาแห่งการเปิดหูเปิดตา วินัยจะพกสมุดบันทึกเล่มเล็กติดตัว เพื่อบันทึกสิ่งที่ได้พบ เขาบันทึกทุกสิ่งที่ช่างภาพควรรู้ แสงแดด ทิวทัศน์ วิถีชีวิตผู้คน ข้อมูลต่างๆ ได้รับการจดบันทึกอย่างละเอียด แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเวลาน้ำขึ้นน้ำลง สภาพภูมิประเทศ ทิศทางแสงในแต่ละช่วงเวลา เวลาเรือเข้าออกฝั่ง

หรือแม้กระทั่งความคิด ความฝัน

วินัย ดิษฐจร
สมุดบันทึกของวินัย (1)
วินัย ดิษฐจร
สมุดบันทึกของวินัย (2)
วินัย ดิษฐจร
สมุดบันทึกของวินัย (3)
วินัย ดิษฐจร
สมุดบันทึกของวินัย (4)

สตูดิโอแมน

หลังทำงานที่นิตยสาร Bangkok This Week ได้ราว 2 ปี วินัยลาออกมาเป็นช่างภาพอิสระถ่ายภาพสต๊อกทิวทัศน์ขายอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนพบว่าสนุกแต่ขาดทุน วินัยจึงเริ่มมองหางานประจำอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่บางกอกโพสต์กำลังเปิดรับสมัครช่างภาพพอดี

“ช่วงนั้นเราอยากเป็นสตูดิโอแมน มีความสนใจ เพราะมันเป็นงานเทคนิค ต้องใช้อุปกรณ์ แต่เราไม่มีปัญญาซื้อ มีทางเดียวที่จะได้ทำ คือเราต้องเอาตัวเข้าไปทำงานที่นั่นให้ได้”

วินัยได้งานเป็นช่างภาพนิตยสารชื่อ Sunday Magazine งานส่วนใหญ่ที่นี่เป็นงานถ่ายในสตูดิโอ สตูดิโอกลายเป็นห้องเรียนจัดไฟและทดลองเทคนิคต่างๆ ของวินัยทันที อุปกรณ์ฟรี ส่วนค่าใช้จ่ายมีแค่ค่าตำราถ่ายรูปที่เขาซื้อมาจากร้านหนังสือต่างประเทศ

วินัย ดิษฐจร
วินัยถ่ายงานในสตูดิโอของสำนักงานบางกอกโพสต์

“เงื่อนไขชีวิตที่จ่อคอหอยว่าห้ามพลาด ทำให้เราตั้งใจและพยายามหาความรู้ อย่างตอนที่อยู่ บางกอกโพสต์ เราหมดค่าตำราไปหลายหมื่น ซื้อมา แม้ว่าจะอ่านไม่ค่อยออก แต่เราดู แล้วเชื่อมโยงกับการจัดไฟ อย่างน้อยมันเป็นแรงบันดาลใจให้เรา”

นอกจากหาความรู้จากตำรา บางครั้งวินัยยังเรียนลัดด้วยการแอบเข้าไปดูทางแสงของช่างภาพคนอื่นที่จัดในสตูดิโอ

“ที่บางกอกโพสต์จะมีนิตยสาร Elle มี Cleo แล้วที่หน้าสตูฯ จะมีตารางบอกว่า  วันไหนใครใช้สตูฯ ซึ่งช่างภาพที่ใช้ก็จะจัดไฟไว้ก่อน แล้วรูดม่านปิดไว้ เราก็ฟอร์มว่าไปเก็บของ เพื่อเข้าไปดูทางไฟ แล้วก็จด

“เราเป็นคนที่เชื่อมโยงได้ว่าทำไมเขาต้องตั้งไฟแบบนี้ เพราะอะไร ดูแป๊บเดียวเราเชื่อมโยงได้ มันไม่ซับซ้อนสำหรับเรา”

Sunday Magazine วินัย ดิษฐจร
ปก Sunday Magazine ฉบับวันที่ 11-17 มิถุนายน พ.ศ.2538 ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
Sunday Magazine วินัย ดิษฐจร
ปก Sunday Magazine ฉบับวันที่ 23-29 มิถุนายน พ.ศ.2539 ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
ปก Sunday Magazine วินัย ดิษฐจร
ปก Sunday Magazine ฉบับวันที่ 1-7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
โต๊ะทำงานสมัยเป็นช่างภาพที่ Sunday Magazine ช่วงพ.ศ.2538-2540 (photo: วินัย ดิษฐจร)

 

ช่างภาพชื่อ ‘Vinai Dithajohn’

หลังเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพสตูดิโอจนชำนาญ วินัยลาออกจาก Sunday Magazine มาเป็นช่างภาพอิสระอีกครั้ง เขาเอาทักษะที่มีรับถ่ายงานโฆษณาให้ธุรกิจ SMEs เช่น ถ่ายสินค้าให้ร้านซูเปอร์สโตร์ แล้วนำรายได้ไปเป็นทุนรอนทำงานสารคดีที่ตัวเขาสนใจ

วินัย ดิษฐจร
สมัยเป็นช่างภาพอิสระรับงานถ่ายโฆษณา

หลังภาพสารคดีชุด ‘คนเก็บรังนก’ และ ‘ยิปซีบนเกาะลันตา’ ได้รับรางวัลชนะเลิศและชมเชยจากเวทีประกวดภาพสารคดี โดยนิตยสาร National Geographic ปี 2001 ช่างภาพชื่อ ‘Vinai Dithajohn’ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

ภาพบางส่วนจากสารคดีชุด ‘คนเก็บรังนก’ (photo: วินัย ดิษฐจร)

ช่างภาพไทยคนแรกของสำนักข่าว EPA

ชื่อของวินัยไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าในวงการช่างภาพ ดังนั้นเมื่อสำนักข่าว EPA (European Pressphoto Agency) มาตั้งสำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วถามหาช่างภาพเพื่อมาประจำสำนักข่าว คนในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทยจึงแนะนำชื่อ วินัย ดิษฐจร

“จริงๆ ตอนนั้นเรายังถ่ายรูปข่าวไม่เก่งเลยนะ พอร์ตข่าวเรายังไม่ดี เรามีแต่พอร์ทสารคดี แต่เขามาติดต่อ เราก็เอาไว้ก่อน”

การตอบตกลงรับงานนี้ ทำให้วินัยกลายเป็นช่างภาพคนไทยคนแรกของสำนักข่าว EPA แต่ขณะเดียวกันเขาก็พบปัญหาใหญ่ เมื่อต้องเขียนคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ

วินัย ดิษฐจร
สมุดบันทึกของวินัย

“ผมเอากล้องดิจิทัลถ่ายภาพข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ และ เดอะ เนชั่น เสร็จแล้วก็เอามาจัดหมวดหมู่ เช่น ภาพประชุม ภาพไฟไหม้ ภาพประท้วง เราถ่ายเก็บไว้เป็นพันๆ ภาพ เพื่อดูว่าภาพแต่ละประเภทใช้ชุดคำบรรยายอย่างไร กิริยาท่าทางแบบนี้ควรจะใช้คำว่าอะไร แล้วก็ดูคำศัพท์เฉพาะที่ใช้กับคนกลุ่มต่างๆ

“เรายอมแพ้ไม่ได้ไง โอกาสมันมาแล้ว เราได้อยู่สำนักข่าวต่างประเทศ มันเป็นใบเบิกทาง ไม่มีใครอยากออก อีกอย่างการเป็น Photo Journalist คือฝันที่เราอยากจะเป็น เพราะได้ผจญภัย ได้เห็นโลกกว้าง แล้วเราก็ชอบที่จะถ่ายทอดเรื่องราว”

วินัย ดิษฐจร
ภาพข่าว (1) ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
วินัย ดิษฐจร
ภาพข่าว (2) ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
วินัย ดิษฐจร
ภาพข่าว (3) ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
วินัย ดิษฐจร
ภาพข่าว (4) ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
วินัย ดิษฐจร
ภาพข่าว (5) ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร
วินัย ดิษฐจร
ภาพข่าว (6) ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร

ช่างภาพอิสระ (ถาวร)

ตลอดเวลาสองปีครึ่งกับสำนักข่าว EPA วินัยได้พบคนทุกระดับ ทุกชนชั้น ตั้งแต่ผู้นำระดับประเทศ กษัตริย์ เศรษฐี จนถึงชาวบ้านและคนยากไร้ ได้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางสังคม ไม่ว่าชุมนุมทางการเมือง สึนามิ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในช่วง พ.ศ.2546-2548

การทำงานที่ EPA สร้างเครดิตให้ชื่อวินัยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ขณะเดียวกันวินัยก็รู้สึกว่าตัวเขาพร้อมแล้วที่จะออกมาเป็นช่างภาพอิสระอีกครั้ง หลังจากการตัดสินใจครั้งนั้น วินัยก็ไม่เคยกลับไปเป็นช่างภาพประจำอีกเลย

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“เราฝันถึงการมีชื่อในต่างประเทศตลอดนะ เราคิดอยู่เสมอว่าทำยังไงก็ได้ให้มีชื่อของเราอยู่ในอินเทอร์เน็ต มีเครดิตโฟโต้เป็นภาษาอังกฤษ ทั่วโลกก็จะรู้จักเรา เพราะว่าตอนที่เราเป็นช่างภาพโฆษณาแล้วทำสารคดีไปส่งตามนิตยสารไทย ค่าเรื่องพร้อมรูป 1,500 บาท มันอยู่ไม่ได้ไง เป็นได้แค่ความฝัน เป็นงานอดิเรก แต่เราต้องการมากกว่านั้น เราต้องการทำเป็นอาชีพ แล้วไอ้เรื่องที่เราสนใจ ซึ่งเป็นแนวซีเรียส นิตยสารไทย สื่อไทยไม่ค่อยลง ดังนั้นมันก็ต้องไปต่างประเทศ”

จากวันนั้นผ่านมาถึงวันนี้ วินัยยังคงเป็นช่างภาพข่าวและสารคดีอย่างที่ฝัน เขาได้ออกผจญภัยไปในที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้พบผู้คนที่หลากหลาย ได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านรูปถ่าย

รูปถ่ายที่บันทึกภาพที่เขาเห็น โลกที่เขามอง ชีวิตที่เขาเป็น

วินัย ดิษฐจร นิตยสาร National Geographic
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร, นิตยสาร National Geographic
วินัย ดิษฐจร นิตยสาร National Geographic
ภาพสารคดี ‘สงครามยาเสพติด’ ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร, นิตยสาร National Geographic
วินัย ดิษฐจร นิตยสาร GQ
สารคดี ‘สำรวจวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่’ เขียนและถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร, นิตยสาร GQ

สนุกกับชีวิต

ชีวิตความเป็นอยู่นอกเวลางาน วินัยจะเช่ามอเตอร์ไซค์วิบากแล้วขี่ไปคนเดียว เข้าป่า ขึ้นเขา ค่ำไหนนอนนั่น ไปครั้งหนึ่งราวหนึ่งสัปดาห์ โดยวินัยจะวางแผนว่าช่วงที่ไปต้องอยู่ในฤดูหนาว และเป็นคืนเดือนหงายที่พระจันทร์ส่องสว่าง

“บางทีก็ขี่ข้ามไปดอยไตแลง เพื่อจะไปหาข้อมูลทำสารคดียาเสพติด หรือบางครั้งก็ขี่ไปแม่ฮ่องสอน พกเต็นท์ เตรียมของทุกอย่าง แล้วไปใช้ชีวิตคนเดียว”

มอเตอร์ไซค์คู่ใจ ถ่ายที่ปั้มน้ำมัน เมืองกาสี, ลาว (photo: วินัย ดิษฐจร)

 

กางเต็นท์ ดับไฟ ม่านตาขยาย จ้องมองต้นไม้ สายลมโชย “เรามีความสุขตรงนี้ เป็นความสุขที่คนมีตังค์ก็ซื้อไม่ได้”

สำหรับวินัย งานกับชีวิตดูเหมือนจะไม่แยกจากกัน

“เอาเข้าจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราทำงาน เหมือนเราได้สนุกกับมัน เหมือนคนเที่ยวเล่นไปเรื่อยเปื่อย แต่การเที่ยวเล่นของเรามีสีสัน ทุกวันนี้เหมือนเราได้ไปดูหนัง ชีวิตเราเหมือนหนังผจญภัย เหมือนเราเข้าไปอยู่ในหนังของโลกทั้งใบ เจ็บจริงเราก็เจ็บมาแล้ว ใช่ไหม” หลังประโยควินัยหัวเราะเสียงดัง

“ถามว่าถ้าจะตายดีไหม ถ้าตายก็ดีนะ คืออยู่ก็ได้ ตายก็ได้ แต่ถ้าอยู่แล้วต้องสนุกไง”

วินัย ดิษฐจร
สอนถ่ายภาพที่ปัตตานี

หลังการสัมภาษณ์ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ วินัยส่งภาพถ่ายส่วนตัวและภาพสารคดีบางส่วนมาให้เพื่อใช้ประกอบบทสัมภาษณ์ ผมนั่งดูภาพถ่ายเหล่านั้น แล้วคิดถึงคำพูดบางคำของวินัย

“งานตรงนี้ไม่ได้เงินมากเหมือนตอนที่เราถ่ายโฆษณา แต่ว่ารวยประสบการณ์ มันได้กำไรชีวิต แน่นอน ทำงานต้องมีรายได้ ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าเราได้เติมเต็มตัวเราจากงานที่ทำ เราไม่ต้องเอาเงินจากรายได้เราไปซื้อหาความสุข เพราะว่าการที่เราใช้ชีวิตตรงนี้มันคือความสุข

“ไม่ใช่ความสุขแบบสนุกสนานรื่นเริงนะ แต่เป็นความสุขที่เราได้ไปเห็นความจริง เราได้ไปใช้ชีวิต มันเป็นกำไรชีวิต”

วันนี้วินัยอายุ 50 กว่า เขายังคงถ่ายภาพและมีความฝัน ไอ้เรื่องความฝัน เขาไม่ได้บอกผมหรอก แต่แววตาอันสดใสและตื่นเต้นกับเรื่องราวใหม่ๆ ที่ฝังลึกอยู่ในดวงตาของเขาบอกผมเช่นนั้น

วินัย ดิษฐจร
สอนถ่ายภาพที่ อ.เขาหลัก จ.พังงา

หลังโหลดไฟล์ภาพที่วินัยส่งมา จู่ๆ ผมก็นึกถึงเขา และคิดว่าตอนนี้วินัยคงกำลังถ่ายภาพอยู่ที่ไหนสักแห่ง

หรือไม่เขาอาจกำลังทำสารคดีสักเรื่อง ซึ่งมีเขาเป็นคนเขียนและถ่ายรูป

โลกเปลี่ยนไปแล้ว วินัยคิดว่าเขาไม่ควรจะอยู่เฉย การเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ไม่ว่าการเขียน หรือถ่ายและตัดต่อวิดีโอ (ซึ่งอย่างหลัง เขาออกตัวว่าเป็น ‘มือใหม่’ และหาความรู้เรียนเองจากอินเทอร์เน็ต) คือสิ่งจำเป็น

แน่นอนว่าเพื่อการทำงานและความอยู่รอด แต่อีกแง่หนึ่งวินัยมองว่าการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอ จะช่วยเปิดโอกาสการเล่าเรื่องในมิติที่ภาพนิ่งอาจเล่าได้ไม่ครบ

“เราก็เลยอยากจะทำ” วินัยตอบ

ถ้าใครได้เห็นแววตาของเขา จะรู้ได้ว่าวินัยกำลังสนุกกับโจทย์ใหม่ของชีวิต

ชีวิตที่พลิกผันเหมือนบทละคร และสอนให้รู้ว่าความพยายามและอดทนไม่เคยสูญเปล่า.

_____

*หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากบทสัมภาษณ์ ‘ภาพถ่าย-ชีวิต ความน่าจะเป็นและความฝัน’ โดย วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์ นิตยสาร happening ฉบับที่ 76 มิถุนายน พ.ศ.2556