ทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศชื่อรัชศกหรือ “เก็งโง” (Gengo) และชื่อยุคใหม่ จาก ‘เฮเซ’ (Heisei) เป็น ‘เรวะ’ (Reiwa)
เพื่อขานรับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จจักรพรรดิองค์ใหม่คือ มกุฏราชกุมารนารุฮิโตะ ในวันที่ 1 พ.ค. นี้
สื่อทั่วโลกก็พร้อมใจกันนำเสนอข่าว
ใครที่ไม่เคยรู้ว่า ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนชื่อรัชศกและชื่อยุค ตามรัชสมัยของสมเด็จจักรพรรดิ เชื่อว่าคงรู้ได้แบบทันทีว่านี่คือ “เหตุการณ์สำคัญระดับชาติ”
แล้วชื่อนั้นสำคัญไฉน?
ชื่อยุคคือการขีดเส้นอนาคตของญี่ปุ่น
ไม่เพียงแค่ ‘เรวะ’ จะถูกใช้ในปฏิทิน หนังสือพิมพ์ และเอกสารสำคัญต่างๆ ทางราชการ
แต่การเปลี่ยนชื่อยุคยังมีความสำคัญทั้งในแง่การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิทยา
เพราะนี่ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่คือการจับอารมณ์ร่วมของคนในชาติ
เนื่องจากการเปลี่ยนชื่อยุค คือการขีดเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ไปในคราเดียวกัน
การนับปีแบบเก็งโง จึงสื่อความหมายมากกว่าแค่วัน เวลา ที่หมุนผ่านไป
ย้อนไปดูช่วง ยุคเฮเซ (1989 – 2019) ซึ่งมีความหมายว่า “สันติสุขทุกแห่งหน”
ตอนเริ่มต้นของยุคในปี 1989 ตัวอักษรคันจิ 2 ตัว 平成 ได้รับการคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถัน
พร้อมกับความคาดหวังที่ญี่ปุ่นต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อเวทีเศรษฐกิจโลก
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ การเงินฝืดเคืองเป็นเวลานาน
ขณะเดียวกัน จีนและเกาหลีใต้ก็เติบโตขึ้น
ความหวังของญี่ปุ่นจึงริบหรี่ลงเรื่อยๆ
ประกอบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโกเบ ในปี 1995 วิกฤตการณ์นิวเคลียร์และเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2011 ก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีของยุคเฮเซ
แต่ถ้าย้อนไปยุคก่อนหน้า สมัยโชวะ (1926 – 1989)
ตลอด 64 ปีของโชวะ เปรียบได้กับความรุ่งเรือง
ที่พูดได้เลยว่าคือยุคทองของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
จึงไม่แปลกที่พอถึงยุคเฮเซ คนญี่ปุ่นจะเกิดความคาดหวังที่มากยิ่งขึ้น
และเมื่อไม่เป็นดั่งหวัง ก็มักจะมีคำพูดทำนองว่า “คิดถึงช่วงเวลาสมัยนั้น (โชวะ)”
การประกาศชื่อรัชศกในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนความหวังใหม่ เพื่อกระตุ้นและปลุกใจคนญี่ปุ่น
ที่จะก้าวไปสู่ “เรวะ” (令和) ซึ่งมีความหมายว่า “การเริ่มต้นความสงบสุขอันดีงาม”
เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ปฏิทินแห่งยุคสมัยกำลังตกยุค?
ขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ กำลังตื่นเต้นกับรัชศกใหม่ที่กำลังจะมาถึง
แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อย ที่เริ่มตั้งคำถามกับ ‘ชื่อยุค’ ว่ายังจำเป็นอยู่หรือ ในยุคสมัยปัจจุบัน
เพราะการนับปีตามเก็งโงได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ
มีคนญี่ปุ่นเพียง 34% เท่านั้นที่ยังใช้วิธีนับปีแบบนี้ ในขณะที่มีจำนวนถึง 25% เปลี่ยนมานับปีปฏิทินแบบตะวันตก (ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ Mainichi Shimbun)
ซึ่งสอดคล้องกับโพลของ Kyodo News
ที่บอกว่ามีเพียง 24.3% เท่านั้้นที่ยังใช้ปฏิทินแบบเก็งโง 39.8% ใช้ทั้งแบบเก็งโงและตะวันตกควบคู่กันไป และมีถึง 34.6% ที่ใช้เฉพาะแบบตะวันตก
“สังคมญี่ปุ่นไม่ได้ถูกควบคุมโดยจักรพรรดิอีกต่อไปแล้ว” ฮิโรชิ โกเซน (Hiroshi Kozen) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต เคยให้ความเห็นไว้ว่า ระบบของยุคสมัย ควรสะท้อนความต้องการของผู้คน หากเรายังอยากใช้ระบบนี้ต่อไปก็ได้ แต่ต้องมาอภิปรายกันก่อนว่า
“ทำไมเราจึงต้องการมัน”
ปฏิทินที่เปลี่ยนยุคคือการทำลายความรู้สึกเรื่องเวลา
ข้อคิดเห็นของศาสตราจารย์โกเซนดูจะชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ก่อนการประกาศชื่อรัชศกใหม่เพียง 5 วัน
มีตัวแทนทนายความจากนากาโนะ สื่อมวลชนจากโตเกียว และผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแขวงโตเกียวให้ระงับการเปลี่ยนชื่อยุค
โดยให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนชื่อยุคทุกครั้งที่เปลี่ยนรัชสมัย เป็นการทำลายความรู้สึกเรื่องเวลา (sense of time) ของคนญี่ปุ่นในระดับปัจเจก ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญ ที่รับประกันว่าทุกคนจะได้รับความเคารพในระดับปัจเจก
จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางความยินดีของการ ‘เปลี่ยนชื่อยุค’ ยังมีคลื่นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอีกหนึ่งระลอก ที่เป็นแรงต้านอยู่ลึกๆ
เป็นประเด็นน่าคิดว่า การมาถึงของ “เรวะ” (令和) หรือ “การเริ่มต้นความสงบสุขอันดีงาม”
จะเป็นความผลิบานครั้งใหม่ หรืออาจจะเป็นรัชศกสุดท้ายของญี่ปุ่น ก็ได้เช่นกัน
อ้างอิง :
- MALCOLM FOSTER. Japan’s Imperial era names are bookmarks for politics, history and culture. http://bit.ly/2FQgJ53
- KYODO. For some, era system is unnecessary in modern-day Japan. http://bit.ly/2I4N6OS
- MATCHA. สารานุกรมคำญี่ปุ่น「ยุค โชวะ」. https://matcha-jp.com/th/1148
- Anngle.org. ญี่ปุ่นเตรียมประกาศชื่อปีรัชสมัยใหม่แทน “ปีเฮเซ” ราวเดือนเมษายน 2562. https://anngle.org/th/news/japannewera.html
- กรกิจ ดิษฐาน. ไขปริศนาชื่อรัชศก “เรวะ” ยุคสมัยใหม่แห่งญี่ปุ่น. https://www.posttoday.com/world/585207
FACTBOX
- วิธีการนับปีแบบญี่ปุ่น ตามรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ มีวิธีเรียกดังนี้ ยกตัวอย่าง ยุคเฮเซ 平成 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ 2532) จากวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะขึ้นครองราชย์ เรียกว่าปีเฮเซที่ 1, ปี 2018 ก็คือปีเฮเซที่ 30 แต่หลังจากวันที่ 1 พ.ค. 62 จะขึ้นศักราชใหม่ เรียกว่าปีเรวะที่ 1