โดราเอมอนเป็นหุ่นยนต์แมวสีฟ้าตัวกลมที่ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกที่บ้านของโนบิตะในปี 1969 ด้วยปลายปากกาของนามปากกา ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ
บางคนรู้จักโดราเอมอนผ่านการ์ตูนช่องขาวดำบนบนแผ่นกระดาษ บางคนเพลิดเพลินกับโดราเอมอนผ่านโทรทัศน์จอสีทุกเช้าสุดสัปดาห์ เมื่อเดินทางผ่านเวลามาอย่างยาวนานทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้ทิ้งร่องรอยที่น่าสนใจไว้มากมาย
เรามานั่งไทม์แมชชีนย้อนไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1.กำเนิดโดราเอมอน 6 เวอร์ชั่น
ในปี 1950 – 1960 เป็นช่วงที่การ์ตูนญี่ปุ่นในนิตยสารเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสื่อบันเทิงเดียวสำหรับเด็กๆ ในยุคนั้น
โดราเอมอนเป็นการ์ตูนเรื่องใหม่ที่ถูกตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม 1969 ในนิตยสารเด็กทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ Yoiko นิตยสารเด็กเล็ก, Yochien นิตยสารเด็กอนุบาล และนิตยสารเด็กประถมฯ ปีที่ 1, 2, 3 และ 4
ความพิเศษของการตีพิมพ์ในนิตยสารทั้ง 6 เล่มคือ แต่ละเล่มจะมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างกัน ทำให้จุดกำเนิดของโดราเอมอนมีทั้งหมดถึง 6 แบบ เพราะผู้เขียนต้องออกแบบเรื่องราวให้เข้ากับเด็กแต่ละวัย รวมถึงสรีระของตัวละครก็จะแตกต่างกันไปด้วย จะสังเกตเห็นได้ว่าโนบิตะในเล่มของเด็กอนุบาลจะตัวเล็กกว่าในฉบับประถมฯ
หรือหลายคนอาจคุ้นชินกับโดราเอมอนที่มาจากอนาคตเพื่อมาช่วยให้โนบิตะไม่ต้องแต่งงานกับไจโกะ นั่นเป็นกำเนิดโดราเอมอนฉบับป.4 ที่เราจะคุ้นชินเป็นพิเศษเนื่องจากสำนักพิมพ์ The Nation ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของฉบับนี้มาแปลในบ้านเรานั่นเอง
ขณะที่โดราเอมอนสำหรับเด็กอนุบาล จะโผล่มาจากลิ้นชักเพื่อมาช่วยโนบิตะ เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่รู้จักการแต่งงาน
2.ก่อนจะเป็นผู้ช่วยคนเก่ง โดราเอมอนเคยเป็นหุ่นยนต์ป้ำๆ เป๋อๆ
ในช่วงแรกๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้ โดราเอมอนยังไม่ถือว่าเป็นผู้ช่วยที่ดีของโนบิตะมากนัก อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่เข้ามาป่วนให้เรื่องราวมีความสนุกสนานมากขึ้น
ลักษณะกวนๆ ของโดราเอมอนมีความคล้ายคลึงกับ ‘ผีน้อยคิวทาโร่’ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่โด่งดังในญี่ปุ่นยุคนั้น ผีน้อยจะเข้ามาเป็นเพื่อนของตัวเอก และบางครั้งก็สร้างความปั่นป่วนให้กับคนอื่นๆ
ภายหลังเมื่อโดราเอมอนได้รับความนิยมจากเด็กๆ ทำให้เหล่าผู้ปกครองไว้วางใจตัวละครนี้ให้เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของลูกๆ ผู้เขียนต้องรับผิดชอบกับคนอ่านมากขึ้น โดยการปรับให้โดราเอมอนมีความเป็นผู้ใหญ่และเป็นเพื่อนผู้คอยตักเตือนโนบิตะอยู่เสมอ
3.เดิมที ‘โดรามิ’ เป็นแฟนของโดราเอมอน
ก่อนที่พวกเราจะรู้จักโดรามิในนามน้องสาวของโดราเอมอน เธอถูกวางบทบาทให้เป็นแฟนของโดราเอมอนมาก่อน โดรามิปรากฏตัวครั้งแรกในบททิ้งท้ายของการ์ตูนตอนหนึ่ง และเผยให้เห็นโดราเอมอนมีท่าทีเคอะเขินเหมือนกำลังตกหลุมรัก
หลังจากนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนพล็อตเรื่องให้โดรามิกลายเป็นน้องสาวของโดราเอมอน และเนื่องจากโดรามิมีความสัมพันธ์เชิงครอบครัวกับโดราเอมอน ทำให้เธอเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ยังคงอยู่ในการ์ตูนเรื่องนี้ตลอดมา
ส่วนแฟนของโดราเอมอนตัวจริงนั้น มีชื่อว่า โนะระเมียกโกะ (Noramyako) เป็นแมวตัวกลมสีชมพูหน้าตาคล้ายคลึงกับโดรามิ ซึ่งภายหลังได้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์มาเป็นแมวสาวรูปร่างสูงชะลูดแทน
4.โลกคู่ขนานของโนบิตะและผองเพื่อน
เนื่องจากโดรามิได้รับความนิยมเช่นเดียวกับโดราเอมอน จึงทำให้ภายหลังมีมังงะที่เป็นเรื่องราวของโดรามิเอง โดยตัวละครทุกตัวในเรื่องมีหน้าตาเหมือนกับตัวละครในเรื่องโดราเอมอนทุกประการ เพียงแต่มีชื่อและนิสัยที่เปลี่ยนไป
โดรามิได้รับภารกิจให้ช่วยเหลือเด็กชายคนหนึ่ง ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของโนบิตะชื่อ โนบิทาโร่ แม้จะมีหน้าตาเหมือนกันทุกประการแต่โนบิทาโร่ เป็นเด็กที่ฉลาด ทั้งยังแข้มแข็ง ไม่ขี้แงเหมือนโนบิตะ ส่งผลให้เนื้อเรื่องเป็นแนวให้ความรู้ ท่องเที่ยว วิชาการ มีความจริงจังมากกว่าเรื่องโดราเอมอน
5.บางสิ่งที่หายไปอย่างลึกลับ
การ์ตูนเรื่องนี้มีบางตัวละครหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เช่น กาชาโกะ หุ่นยนต์เป็ดจอมกวนที่มาจากโลกอนาคต แรกเริ่มเดิมทีกาชาโกะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของโดราเอมอน โดยมีภารกิจสำคัญเพื่อมาช่วยเหลือโนบิตะเช่นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวละครนี้กลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย
นอกจากตัวละครที่หายไปแล้ว ห้องลับบนบ้านของโนบิตะ ก็ยังหายสาบสูญไปอีกด้วย ในอดีตบนชั้นสองของบ้านโนบิตะ มีอีกหนึ่งห้องซึ่งว่ากันว่าเป็นห้องนอนของคุณยาย แต่ปัจจุบันเมื่อมีการเผยแพร่ภาพแปลนบ้านของโนบิตะฉบับใหม่ ก็ไม่มีห้องลับห้องนั้นอีกต่อไป บนชั้นสองของบ้านจึงเหลือเพียงห้องของโนบิตะเพียงคนเดียว
6.ความลับในชื่อของตัวละคร
ในเรื่องมีการเล่นคำอยู่หลายจุดไม่ว่าจะเป็นชื่อของเหล่าของวิเศษจากกระเป๋า หรือชื่อเรียกสิ่งของต่างๆ แม้แต่ในชื่อตัวละครแต่ละตัวนั้นก็แฝงความหมายที่สื่อนิสัยของพวกเขาเช่นกัน
โดราเอมอน : โดระ (どら) ที่หมายถึง ‘จรจัด’ ส่วนคำว่า เอมอน (えもん) เป็นคำที่ใช้ตามหลังเพื่อแสดงความเป็นผู้ชาย โดราเอมอนจึงหมายถึง ‘แมวจรจัดตัวผู้’
โนบิตะ : ในชื่อนี้มีคำว่า ‘โนบิโนบิ’ (のびのび) หมายถึง ชักช้าและยืดยาด ซึ่งตรงกับนิสัยของโนบิตะที่เป็นเด็กขี้เกียจและชอบนอนกลางวันเป็นชีวิตจิตใจ
ซึเนะโอะ : ชื่อของซึเนะโอะ มาจากคำว่า ซึเนะรุ (拗ねる) หมายถึง ขี้งอน เราจึงเห็นได้บ่อยๆ ว่าซึเนโอะนั้นค่อนข้างเอาแต่ใจและงอนเพื่อนๆ อยู่เสมอ
ชิสุกะ : ชื่อของเธอมีความหมายตรงกับคำว่า ชิสุกะ ( 静か) ซึ่งหมายถึง เงียบสงบ ชิสุกะจึงเป็นตัวแทนของเด็กผู้หญิงเรียบร้อย และเป็นที่ชื่นชอบของเด็กคนอื่นๆ
เดะคิสุงิ : เด็กชายผู้ฉลาดหลักแหลมทั้งยังมีหน้าตราหล่อเหลา เขามักจะทำอะไรได้ดีไปหมดเสียทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงมีชื่อว่า เดะคิสุงิ (出来過ぎ) ซึ่งมีความหมายว่า ดีเกินไป
ไจแอนท์ : ชื่อของไจแอนท์นั้นตรงกับรูปลักษณ์ที่เป็นเด็กตัวสูงใหญ่
7.‘ไดโนเสาร์ของโนบิตะ’
อนิเมชั่นที่ปฏิวัติวงการภาพยนตร์ของญี่ปุ่นไปตลอดกาล
เมื่อโดราเอมอนได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากหนังสือการ์ตูน ทำให้มีการเผยแพร่ฉบับพิเศษออกมาชื่อว่า ‘ไดโนเสาร์ของโนบิตะ’ และได้นำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องยาว เข้าฉายในปี 1980
ในปีนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนได้สร้างวัฒนธรรมการดูหนังฉบับใหม่ขึ้นมาและส่งผลให้วงการภาพยนตร์ของญี่ปุ่นเปลี่ยนไปตลอดกาล
ที่ประเทศญี่ปุ่น มีภาพยนตร์อนิเมชันเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างน้อยปีละเรื่อง และจะเป็นช่วงที่เหล่าคุณพ่อคุณแม่จะพาเด็กๆ ไปดูหนังด้วยกัน จนถือเป็นกิจกรรมประจำหน้าร้อนของหลายๆ ครอบครัวไปแล้ว
ภาพยนตร์อนิเมชั่นนั้นทำรายได้สูงในญี่ปุ่นเสมอมา แม้แต่ภาพยนตร์ดังระดับโลกที่เข้าฉายพร้อมกัน ก็ยังไม่สามารถทำรายได้เท่ากับอนิเมชั่น เช่น ปรากฏการณ์ในต้นปีที่ผ่านมาของ ภาพยนตร์เรื่อง Avengers Endgame ที่เกือบจะทำรายได้สูงสุดในโลก ก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับ Detective Conan: The Fist of Blue Sapphire ที่เข้าฉายในเดือนเดียวกัน
ตั้งแต่วันแรกที่โดราเอมอนโผล่ออกมาจากลิ้นชักในบ้านของโนบิตะจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว แมวสีฟ้าตัวนี้ไม่ได้เป็นแค่เพื่อนของโนบิตะเพียงคนเดียว แต่ยังเป็นเพื่อนของเด็กๆ หลายคนทั่วโลกอีกด้วย
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง ‘50 ปี โดราเอมอน : เรื่องเล่า การเล่นคำ และภาพของญี่ปุ่นจากการ์ตูนโดราเอมอน’ โดย ผศ.ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ Japan Foudation วันที่ 12 ตุลาคม 2562