เด็กๆ กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน บนใบหน้าของหญิงชรามีรอยยิ้มเปื้อนอยู่จางๆ ผู้คนที่อาศัยอยู่สองฝั่งถนนสายที่ 3 ในเขตยูฮิ กรุงโตเกียวพากันออกมายืนอยู่หน้าบ้านของพวกเขา และพร้อมใจกันแหงนหน้ามองท้องฟ้า
เช่นเดียวกับครอบครัวซูสุกิเจ้าของกิจการอู่ซ่อมรถ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นครอบครัวเดียวในย่านนี้ที่มีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง แต่ก็พบว่าจอสี่เหลี่ยมนั้นไม่อาจถ่ายทอดบรรยากาศอันคึกคักและชื่นมื่นที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้
ท้องฟ้าของวันนี้ต่างจากท้องฟ้าของฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากปรากฏให้เห็นภาพของห่วงกลมๆ 5 ห่วงซึ่งเป็นผลงานของเครื่องบินไอพ่นที่กำลังบรรจงวาดอย่างประณีต นี่เป็นสัญญาณว่าโอลิมปิกครั้งแรกของญี่ปุ่นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ถนนสายที่ 3
เขตยูฮิ, กรุงโตเกียว
วันที่แสนพิเศษของผู้คนบนถนนสายนั้นดำเนินไปอย่างเรียบง่ายในภาพยนตร์เรื่อง Always : Sunset on Third Street หรือ ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม ที่ฉายครั้งแรกในปี 2005 เรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ ทากาชิ ยามาซากิ (Takashi Yamazaki) ซึ่งดัดแปลงมาจากมังงะของ เรียวเฮ ไซกัง (Saigan Ryohei) เรื่องซังโจเมะ โนะยูฮิ (Sanchome no Yuhi) โดยภาพยนตร์มีทั้งหมด 3 ภาค แต่ละภาคล้วนเป็นเรื่องราวของผู้คนบนถนนสายที่ 3 ของกรุงโตเกียวในสมัยโชวะที่ 33 ปี 1958
ชางาวะ เป็นนักเขียนนิยายที่เปิดร้านขายของชำอยู่บนถนนแห่งนี้ เขาหลงรัก ฮิโรมิ หญิงสาวอดีตนักระบำเปลื้องผ้าที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของบาร์สาเกเล็กๆ ในละแวก นั่นทำให้เขาจับพลัดจับผลูต้องรับเลี้ยง จุนโนะสุเกะ เด็กชายที่ถูกผู้เป็นแม่ทิ้งไว้กับฮิโรมิ
บ้านหลังตรงข้ามร้านชำบนถนนเส้นเดียวกันเป็นอู่ซ่อมรถซูสุกิออโต อู่เล็กๆ ของครอบครัวซูสุกิที่ประกอบไปด้วย โนริฟูมิ ผู้เป็นพ่อที่มีนิสัยโผงผาง โทโมเอะ แม่ผู้ใจเย็น อิปเป ลูกชายคนเดียว และ มุสึโกะ เด็กสาวที่เพิ่งเรียนจบมัธยมจากต่างจังหวัด ผู้หอบความฝันเข้ามาเป็นลูกจ้างในเมืองใหญ่
Always มีพล็อตเรื่องเรียบง่าย ไม่หวือหวา คล้ายกับภาพยนตร์หลายเรื่องของญี่ปุ่นที่เพียงต้องการจะสื่อสารให้เห็นมุมมองของการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีฉากต่อสู้ที่ชวนให้อะดรีนาลีนหลั่ง ไม่ใช่หนังเศร้าเคล้าน้ำตา แต่สิ่งที่ทำให้สามารถเข้าไปยืนอยู่ในหัวใจของผู้ชมได้เป็นเพียงเรื่องราวที่อาจเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้ชม และนั่นเป็นการชักชวนให้เราเข้าไปสำรวจ เรียนรู้ เข้าใจและเติบโตไปพร้อมๆ กับตัวละคร
ครอบครัว คู่รัก เพื่อน หรือแม้แต่คนแปลกหน้าที่ต้องมาอยู่ร่วมบ้าน ทุกความสัมพันธ์ล้วนเผชิญกับปมปัญหาที่แก้ไม่ตก ไม่ว่าจะเป็น หมอประจำหมู่บ้านผู้จมจ่อมอยู่กับอดีตหลังจากสูญเสียภรรยาและลูกสาวในสงคราม ชางาวะผู้ทุ่มเทและพยายามเพื่องานเขียนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จุนโนะสุเกะที่ถูกทอดทิ้งและเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวครั้งแรก หรือแม้แต่การรับมือกับความขบถในช่วงวัยรุ่นของอิปเปลูกชายคนเดียวของครอบครัวซูสุกิ
ตัวละครต่างพยายามก้าวข้ามปมเหล่านั้นโดยมีเป้าหมายเพื่อการรักษาความสัมพันธ์ให้ดำเนินต่อไปได้ บ้างก็เป็นไปอย่างราบรื่น บ้างก็ทุลักทุเล แม้จะจบด้วยเสียงหัวเราะหรือหยดน้ำตา แต่สิ่งที่ภาพยนตร์กำลังบอกเราคือความกลมเกลียว เห็นอกเห็นใจ และอยู่กันเป็น ‘ครอบครัว’ นั้นเป็นสิ่งสวยงามไม่ใช่แค่กับทุกความสัมพันธ์ของตัวละครในชุมชนนั้น แต่ยังหมายถึงผู้คนในประเทศญี่ปุ่นด้วย
เติบโตไปพร้อมๆ กับหอคอยโตเกียว
หลังสงครามสิ้นสุดลง เป็นช่วงเวลาที่ความหวังของชาวญี่ปุ่นเริ่มผลิบาน ทั้งความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี ความหวังที่จะพัฒนาประเทศ และความหวังที่ว่าเราจะมีความสุขกันมากกว่าเดิม นอกจากใจความเหล่านี้จะถ่ายทอดผ่านตัวละครที่ค่อยๆ เติบโตและเรียนรู้ที่จะประคับประคองความสัมพันธ์ของพวกเขาแล้ว ‘ความหวัง’ ยังถูกบอกเล่าผ่านสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิตบนถนนสายที่ 3 และ หอคอยโตเกียว ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง เป็นเพียงโครงเหล็กสีแดงที่มีความสูงเพียงพ้นหลังคาบ้าน
“เดินเบา ๆ เดี๋ยวมันสั่น…ไปยืนรวมกันตรงนั้น หอมันจะไม่เอนหรอ” โนริฟูมิ กล่าวอย่างหวั่น ๆ เมื่อครั้งได้ไปเยือนหอคอยโตเกียวเป็นครั้งแรกกับสมาชิกในครอบครัวหลังจากที่หอคอยสร้างเสร็จสมบูรณ์
บนนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คน หนุ่มสาวสวมใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยมควงแขนกันอย่างเปิดเผย ผู้คนมีชีวิตที่สบายขึ้น นั่นเป็นภาพชินตาที่พบเห็นได้ในยุค 50s ของญี่ปุ่น ขณะนั้นประชาชนร่วมกันยืนหยัดสร้างชาติให้กลับมามั่งคั่งอีกครั้ง จนได้ชื่อว่าเป็นยุคแห่งการพัฒนาประเทศ หรือยุคที่เริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ นับเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
หนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงถึงยุคสมัยนี้ คือ หอคอยโตเกียว หรือ โตเกียวทาวเวอร์ (Tokyo Tower) หอคอยสีแดงสูงเสียดฟ้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว หอคอยแห่งนี้มีความสูงถึง 333 เมตร ถูกสร้างขึ้นใน ปี ค.ศ.1957 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1958 หอคอยแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่บอกลาอดีตอันบอบช้ำและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเริ่มต้น
นอกจากหอคอยโตเกียวอันเป็นสัญญะที่ภาพยนตร์ยังเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของการเติบโตของประเทศญี่ปุ่นไว้ในตัวละครและวิถีชีวิตบนถนนสายที่ 3 อีกด้วย เช่น การถือกำเนิดขึ้นของแนวคิดจ้างงานตลอดชีพ ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างมีความผูกพันกับบริษัทที่ตนสังกัด จนนำไปสู่การทำงานเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลักมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว มุสึโกะเด็กสาวลูกจ้างของอู่ซ่อมรถเองก็เป็นผลผลิตของแนวคิดนี้เช่นกัน เธอแสดงออกต่อครอบครัวซูสุกิด้วยความรักประหนึ่งเป็นคนในครอบครัว และรู้สึกผิดหากว่าวันหนึ่งจะต้องลาออกเพื่อไปมีชีวิตของตัวเอง
ภาพยนตร์เล่าถึงสังคมเมืองในญี่ปุ่นที่เริ่มมีสีสันมากขึ้นเมื่อผู้คนโหยหาที่จะเสพงานศิลปะและความบันเทิงเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณ ปรากฏการณ์ของระบำโป๊ ลอตเตอรี และโสเภณี สะท้อนอยู่ในตัวละครฮิโรมิ อดีตหญิงนักระบำที่แม้จะเลิกทำอาชีพนั้นไปแล้ว แต่เธอเองคงใช้อาชีพในอดีตกำหนดคุณค่าของตัวเอง จนพาลทำให้คิดว่าเธอไม่คู่ควรกับนักเขียนนิยายหนุ่ม
ประวัติศาสตร์ของวิทยาการและเทคโนโลยีในญี่ปุ่นเองก็ปรากฏให้เห็นในหลายๆ ฉาก ที่คนในชุมชนมักจะมารวมตัวกันที่ร้านซูสุกิออโตเพื่อชมการถ่ายทอดรายการมวยปล้ำ เพราะเป็นบ้านเดียวที่มีโทรทัศน์จากจอขาวดำในภาคแรกๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นจอสีในภาคต่อมา นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังบันทึกเอาเหตุการณ์ครั้งสำคัญลงไปด้วยนั่นคือปีที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1964
เรื่องราวของ Always Sunset on Third Street จบลงในภาคที่ 3 ขณะที่เศรษฐกิจ สังคมและผู้คนบนถนนสายนั้นต่างค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ภาพยนตร์ทิ้งไว้ คือ การมองเห็นความงดงามในความสัมพันธ์ที่จะทำให้เราเติบโต โดยนิยามของความงามนั้นไม่ได้หมายถึงความรื่นรมย์และความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด และยอมรับบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ความงดงามของการเติบโตที่ว่านั้นอาจหมายถึง ‘ความหวัง’ ทำให้ไม่กลัวการมาถึงของวันพรุ่งนี้ พร้อมจะก้าวต่อไปโดยไม่ละทิ้งคนสำคัญในชีวิตไว้เบื้องหลังและยังมองเห็นคุณค่าของทุกความสัมพันธ์เสมอ
หากเปรียบหอคอยโตเกียวเป็นหน้าปกหนังสือหนึ่งเล่ม เรื่องราวของทุกชีวิตบนถนนสายที่สามแห่งนี้คงเป็นเรื่องเล่าที่ถูกตีพิมพ์ลงบนกระดาษจนกลายเป็นหนังสือเล่มหนาที่คงไม่มีตอนจบ