©ulture

เพราะอะไรผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล ถึงได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ทศวรรษก็ตาม

แอนดี วอร์ฮอล ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องให้เป็น “กระจกเงาแห่งยุคสมัย” ขนานแท้ เพราะวอร์ฮอลกรุยเส้นทางอาชีพของตนผ่านการหยิบจับเอาใบหน้าของเซเลบริตี้จากหลากวงการ และข้าวของแห่งยุคสมัย มาทำให้ “ป็อป” ในสายตาคนทั่วไปได้อย่างลงตัว ผ่านชิ้นงานที่หลากหลาย ทั้งภาพวาด ภาพพิมพ์ งานเขียน และภาพยนตร์

Andy Warhol
Photo: https://revolverwarholgallery.com/wp-content/uploads/2020/05/warhol.jpg

สิ่งที่วอร์ฮอลทำถือเป็นการท้าทายอเมริกันชนถึงการประเมินความหมายของวัฒนธรรมการบริโภคในยุคหลังสงครามผ่านงานศิลปะ และตลอดการทำงานอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีจนสิ้นอายุขัย ผลงานของวอร์ฮอลก็ยังคงทำงานด้วยตัวมันเองอย่างต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้

ประวัติของศิลปินป็อปอาร์ตตลอดกาลคนนี้ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1928 วอร์ฮอลลืมตาดูโลกด้วยชื่อ  Andrew Warhola เขาเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาลูกชาย 3 คนของครอบครัวผู้อพยพชาวสโลวัก ที่มาตั้งรกรากในเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

ไม่รู้ว่าเป็นโชคร้ายหรือโชคดีกันแน่ ที่วอร์ฮอลป่วยด้วยโรคติดเชื้อที่ไขสันหลังตั้งแต่ตอนยังเรียนอยู่แค่เกรด 3 ส่งผลให้เกิดอาการทางระบบประสาทจนร่างกายของเขาบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง และผิวหนังซีดเผือดเนื่องจากระบบเลือดทำงานผิดปกติ

วอร์ฮอลจึงต้องนอนพักรักษาตัวอยู่แต่บนเตียงนานกว่า 2 เดือนครึ่ง และฆ่าเวลาด้วยการวาดรูป โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากการอ่านนิตยสารและหนังสือการ์ตูนเล่มแล้วเล่มเล่า จนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหลงใหลศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ และมุ่งมั่นบนเส้นทางนี้เรื่อยมา

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

หลังได้รับปริญญาสาขา Pictorial Design จาก Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Carnegie Mellon University) เมื่อปี 1949 วอร์ฮอลก็ย้ายไปหางานทำในฐานะศิลปินเชิงพาณิชย์ศิลป์ยังมหานครนิวยอร์ค

ใช้เวลาเพียงไม่นาน เขาก็ได้ออกแบบชิ้นงานให้ลูกค้าระดับท็อปๆ ตั้งแต่ Harper’s Bazaar ไปจนถึง Tiffany& Co. แถมยังมีโอกาสได้โชว์ศิลปะฝีมือตัวเองผ่านกระจกโชว์หน้าร้านในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย

ต้นยุค 50 เขาเริ่มหันมาสร้างงานศิลปะของตัวเอง โดยได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ในอดีตในฐานะนักวาดภาพประกอบ วอร์ฮอลเริ่มต้นด้วยภาพเขียนและภาพวาด ก่อนจะค่อยๆ หันมาใช้เทคนิคภาพถ่ายและภาพพิมพ์ ที่เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

เทคนิคการโฆษณาเป็นพาหนะในการขับเคลื่อนชื่อเสียงชั้นดี ที่วอร์ฮอลใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของเขา เพราะเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้ เขาเริ่มหยิบเอาภาพของวัฒนธรรมบริโภคนิยมในสังคมอเมริกันมาใส่ในชิ้นงานของเขา จนในที่สุด Museum of Modern Art ก็เชิญเขาเข้าร่วมแสดงงานในปี 1956

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

ในช่วงปี 1960 การเคลื่อนไหวในแวดวงป็อปอาร์ตถือว่าบูมสุดขีด และชื่อของแอนดี วอร์ฮอล ได้รับการพูดถึงในฐานะหัวหอกแห่งป็อปอาร์ต ผู้นิยมหยิบจับเอาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

สำหรับไอเดียที่อยู่เบื้องหลังผลงานป็อปอาร์ตทั้งหลาย ไม่จำกัดแค่งานของวอร์ฮอล คือ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้ประเมินคุณค่าของข้าวของรอบตัวเสียใหม่ ว่ามีความหมายเชิงวัฒนธรรมอย่างไร อีกทั้งป็อปอาร์ตยังท้าทายศิลปะบริสุทธิ์ไปในตัว ด้วยการนำภาพวัฒนธรรมร่วมสมัยในขณะนั้น อย่างข่าว ภาพโฆษณา มาสะท้อนความหมายที่เสียดสีหรือสร้างความประหลาดใจในงานศิลปะ

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

และในช่วงปี 1960 จนถึงต้นทศวรรษที่ 70 นี่เอง ที่วอร์ฮอลผลิตผลงานสร้างชื่ออย่าง Marilyn Monroe, Campbell’s Soup Cans และ Coca-Cola Bottles ขึ้นมา

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

ตลอดทศวรรษ 1970 ถือเป็นสิบปีแห่งความเงียบเหงาของวอร์ฮอล อันเนื่องมาจากการที่เขาถูกนักเขียนเฟมินิสต์อย่าง Valerie Solanas พยายามฆ่า โดยใช้อาวุธปืนยิงเขาหลายนัดชนิดเฉียดตาย วอร์ฮอลจึงปลีกตัวจากงานสังคม และหันไปสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงอื่นแทน

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

ทศวรรษที่ 70-80 จึงเป็นยุคที่วอร์ฮอลหันมาทำนิตยสารของตัวเองที่ชื่อ Interview, ถ่ายทำหนังสั้นให้รายการ Saturday Night Live, เป็นเจ้าของโมเดลลิ่ง และออกแบบปกอัลบั้มให้วงดนตรีต่างๆ ทั้ง The Rolling Stones และ The Velvet Underground

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

อาร์ตเวิร์คของเขานำเสนอผ่านภาพของนักการเมือง นักกีฬา และเซเลบริตี้จากหลายวงการ หนึ่งในชิ้นงานที่ได้รับการจดจำก็คือ ภาพซีรีส์ป็อปอาร์ตของท่านประธานเหมา (Mao series) นั่นเอง

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

วอร์ฮอลจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 ในวัย 58 ปี ขณะพักฟื้นในโรงพยาบาลนิวยอร์ค หลังการผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นาน เขาเพิ่งกลับจากการเปิดงานแสดงชุดสุดท้ายในชีวิต ชื่อ The Last Supper ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

หลังวอร์ฮอลจากไปได้ 2 ปี ได้มีการประกาศที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์แอนดี วอร์ฮอล ขึ้นที่เมืองพิตส์เบิร์ก บ้านเกิดของเขา ตามด้วยการก่อตั้ง Andy Warhol Foundation for the Visual Arts ขึ้น เพื่อยกระดับวงการศิลปะ โดยเฉพาะทัศนศิลป์ (Visual Arts) สืบต่อไป

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

อิทธิพลของเขายังก่อให้เกิดนักคิด นักเขียน และนักสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่ช่วยขับเคลื่อนและต่อยอดวัฒนธรรมอเมริกันให้ยังโลดแล่นในกระแสศิลปะของโลกตราบจนทุกวันนี้

และแม้ผลงานของวอร์ฮอลจะป็อปติดตา หาชมได้ไม่ยากในโลกอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับการได้เห็นชิ้นงานของจริงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน ดังนั้น เมื่อโอกาสอันดีเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในรูปแบบของนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art ที่จัดแสดงชิ้นงานจริงฝีมือแอนดี วอร์ฮอล กว่า 128 ชิ้น เราจึงไม่อยากให้คุณพลาดงานนี้ด้วยประการทั้งปวง

Andy Warhol
Photo: Courtesy of Media Sphere Communications Ltd.

นิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art นำเสนอผลงาน 4 ประเภท ได้แก่ ภาพถ่ายบุคคล – ภาพถ่ายทั่วไป, ภาพถ่ายคนดัง, นิตยสาร-ปกอัลบั้ม, การพิมพ์แบบซิลค์พรินต์ติ้งและอื่น ๆ ภาพถ่ายบุคคล อาทิ  Marilyn (1984) และ  Liz Taylor (1971 ) ผลงานอื่น ๆ อาทิ หน้าปก Interview Magazine และ Campbell’s Soup Can (1967) 

ทั้งหมดเป็นชิ้นงานสะสมของ จันฟรังโก โรซินี (Gianfranco Rosini) ชาวอิตาเลียนผู้เกิดในตระกูลที่มีใจรักในด้านศิลปะ ที่กล่าวถึงชิ้นงานที่คัดเลือกมาจัดแสดงในครั้งนี้เอาไว้ว่า

“ผมเชื่อว่าคอลเลคชันที่จัดแสดงครั้งนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่นำเสนอความเป็น “ยุโรป” ของแอนดี วอร์ฮอล และเป็นการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของวอร์ฮอลในช่วงเวลาที่อยู่ที่อิตาลี”

Andy Warhol: Pop Art เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ RCB Galleria ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ River City Bangkok

อ้างอิง