©ulture

พระมเหสีคิมโซยงแห่งวังหลวงจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Mr.Queen โยกหัวโอนเอนไปมาในวันที่เข้าพิธีอภิเษกสมรส

เนื่องจากเธอต้องแบกน้ำหนักของเครื่องหัวขนาดใหญ่ไว้บนคอ อีกทั้งชุดพิธีการที่ประกอบด้วยอาภรณ์หลายชั้น ยังทำให้เธอเดินเหินลำบาก 

ความเจ็บปวดที่มาพร้อมเครื่องแต่งกายไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะพระมเหสีในยุคโชซอนเท่านั้น หากเปิดหน้าประวัติศาสตร์ดูจะพบว่ามีผู้หญิงทั่วโลกอีกมากที่กำลังเผชิญกับเสื้อผ้าเป็นพิษ ที่ไม่เคยเป็นมิตรกับผู้สวมใส่อย่างพวกเธอ 

สังคมปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่นั้นเป็นต้นกำเนิดของค่านิยมที่คอยกำหนดว่าผู้หญิงควรจะเป็นอย่างไร อำนาจที่ว่านี้ไม่ได้แสดงออกผ่านบทบาทของพวกเธอในยุคสมัยนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังแสดงออกผ่านเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย แต่กลับทำหน้าที่เป็นกรงขังที่คอยจำกัดเสรีภาพของผู้หญิงเอาไว้อันเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นที่ไม่สบายสำหรับผู้สวมใส่ที่ตลอดรายทางประวัติศาสตร์ดังนี้  

 

คอร์เซ็ต (Corsets) 

รัดแน่นๆ เพื่อหุ่นทรงนาฬิกาทราย 

1906 Patent Corset history fashion invention (Photo : www.deviantart.com/rimusss)

คอร์เซ็ตเป็นชุดชั้นในของผู้หญิงในยุควิคตอเรีย วิวัฒนาการมาจากสเตย์ (Stays) ซึ่งเป็นผ้าที่ใช้รัดให้เอวคอดเข้ารูปและพยุงหน้าอกให้เป็นทรง เด็กๆ จะสวมใส่เพื่อช่วยให้กระดูกสันหลังตรงได้รูปไม่คดงอ 

ต่อมาเมื่อรัดเข้าไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดแฟชั่นเอวคอด ที่เชื่อว่าหุ่นทรงนาฬิกาทรายจะทำให้ผู้หญิงดูน่าดึงดูดและเปี่ยมด้วยเสน่ห์ดึงดูด คอร์เซ็ตจึงกลายมาเป็นไอเท็มสำคัญของหญิงสาวยุควิกตอเรียไปโดยปริยาย ก่อนหน้าที่มีแค่ผ้าจึงถูกพัฒนาให้แข็งแรงขึ้นโดยการเสริมโครงเหล็กหรือกระดูกวาฬเข้าไป และมีแนวโน้มจะรัดแน่นขึ้นไปอีกให้ร่างกายเปลี่ยนรูปทรง 

เทรนด์นี้ค่อยๆ ทำร้ายร่างกายของสตรียุคนั้น เพราะการรัดแน่นเกินไปเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องผูกได้ หายใจลำบาก ยิ่งไปกว่านั้น แรงบีบที่เกิดขึ้นตรงช่องท้องและหน้าอกอาจถึงขั้นทำให้อวัยวะภายในบอบช้ำได้ 

และที่สุดอาจถึงขึ้นเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุที่เกิดจากคอร์เซ็ตโดยไม่ทันได้คาดคิด เช่น ในปี 1903 หญิงสาวที่ชื่อ Mary Halliday ถูกพบว่าเสียชีวิต เนื่องจากเหล็กในชุดคอร์เซ็ตปักเข้ากลางหัวใจของเธอ 

 

คริโนไลน์ (Crinoline dress) 

วัตถุไวไฟในคราบของเสื้อผ้า

(Photo : https://pbuyvip.tk)

คริโนไลน์ เป็นผ้าที่ทำจากขนม้าหรือผ้าลินินเพื่อทำเป็นซับในของผู้หญิง ภายหลังวิวัฒนาการมาเป็นกระโปรงหนาๆ ที่เสริมโครงเหล็กหรือกระดูกวาฬข้างในคล้ายสุ่มไก่ ทำให้กระโปรงดูบานและเป็นทรงอยู่ตลอดเวลา ฟังก์ชันของกระโปรงแบบนี้นอกจากจะโค้งสวยแล้ว ยังมีประโยชน์ตรงที่โดนลมก็ไม่เปิด แต่ผ้าจะเกาะติดอยู่กับโครงเหล็กอย่างแน่นหนา 

เพราะมีโครงแข็งๆ ครอบที่เอวตลอดจึงทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกนัก และด้วยความใหญ่เทอะทะทำให้ชุดคริโนไลน์เป็นอันต้องเผลอไปชนข้าวของ เกี่ยวโดนสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เรื่อย แต่ที่อันตรายที่สุดสำหรับกระโปรงใหญ่ๆ แบบนี้คือ เนื้อผ้าที่เป็นวัตถุไวไฟชั้นยอด เมื่อเกี่ยวไปโดนเทียนหรือไฟแล้วย่อมลามได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสลัดออกจากตัวได้ยากยิ่งจึงทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตมานักต่อนัก 

บันทึกของปี 1858 ระบุไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการโดนไฟคลอก เพราะสวมใส่คริโนไลน์เฉลี่ยถึงสัปดาห์ละ ราย แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น คริโนไลน์ก็ยังได้รับความนิยมดีไม่มีตก ก่อนจะค่อยๆ ซาไปตั้งแต่ปี 1878 เป็นต้นมา 

 

Scheele’s Green (The Arsenic dress) 

ชุดเขียวเหนี่ยวพิษ 

Photo : https://yflnet.com/

 

หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม Scheele’s Green สารเคมีสีเขียวที่มีส่วนผสมของอาร์เซนิก หรือที่เราเรียกกันว่าสารหนู ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ประชาชนชาววิกตอเรียใช้กันเป็นว่าเล่น ชนิดว่าที่ว่าเป็นสารที่มีติดไว้ทุกบ้าน เอาไว้ใช้ย้อมสีกระดาษ ของเล่น ผสมกับสีเทียน แต่ที่ได้รับความนิยมสุดๆ เห็นจะเป็นการนำไปย้อมสีกระโปรงในหมู่ผู้หญิง 

เบื้องหลังของสีเขียวสดนี้เต็มไปด้วยอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากสารดังกล่าวจะค่อยๆ ปล่อยพิษให้ซึมลงไปในผิวหนังอย่างช้าๆ อาการแรกเริ่มอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นแผลพุพองที่ผิวหนัง ไปจนถึงท้องร่วง ปวดศีรษะ และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือทำให้เป็นมะเร็งและชีวิตลงในที่สุด สถิติระบุว่ามีผู้หญิง 18 ใน 100 คนในยุคนั้นเสียชีวิตจากการสวมชุดที่ย้อมด้วย Scheele’s green 

 

การรัดเท้า (Footbinding) 

รัดเท้าให้เป็นทรงดอกบัวตูม 

A Chinese Golden Lily Foot, Lai Afong, c1870s (Photo : https://asiaworldmedia.com/the-chinese-culture-of-feet-binding-women)

การมัดเท้าเป็นวัฒนธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นราวๆ ศตวรรษที่ 10 ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยแรกรุ่นของเหล่าเด็กสาวชาวจีน เพื่อจะเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว พวกเธอจำเป็นต้องใช้ผ้าพันเท้าให้แน่น เพื่อให้เล็กและเรียวเป็นทรงแบบ ‘ดอกบัวตูม’’  

การมัดเท้ามีรากฐานมาจากแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมจีน เท้าเล็กๆ ที่ผิดรูปอันเกิดจากการรัดแน่นนั้น ทำให้ผู้หญิงเดินเหินได้อย่างลำบาก เป็นการลดอำนาจของสตรีเพศอย่างเป็นรูปธรรมและปลูกฝังว่าเป็นผู้หญิงจะต้องเชื่อฟังฝ่ายชาย นอกจากนี้ การรัดเท้ายังถูกนำมาเชื่อมสัมพันธ์ของผู้หญิงในครอบครัวให้แน่นแฟ้น ไม่ว่าจะเป็นยาย แม่ และลูกสาว ทุกคนต่างก็ต้องผ่านพิธีกรรมนี้เช่นเดียวกัน 

แต่ผลลัพธ์ที่นอกเหนือเรื่องอำนาจทางสังคมนั้น ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์นัก เพราะนอกจากจะทำให้กระดูกเท้าผิดรูปแล้ว ยังทำให้เกิดแผลอักเสบ เป็นหนอง นำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่ถึงจะอันตรายแบบนั้น แต่ยังมีหญิงสาวบางคนที่อยากลองติดเชื้อดูสักครั้ง เพราะนั่นเป็นหนทางที่อาจทำให้นิ้วเท้าตายและหลุดออกไปได้ หลังจากนั้นก็อาจจะทำให้เท้าเป็นทรงมากขึ้น 

หญิงชาวจีนมัดเท้ากันอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านเข้าสมัยของจักรพรรดิคังซี ในราชวงศ์ชิง ในปี 1668 ก็ออกกฎหมายห้ามสตรีรัดเท้าในที่สุด 

 

Gigot  

เสรีภาพของการเคลื่อนไหวที่ถูกจำกัดไว้ในแขนเสื้อ 

Fashion Plate 1895 (Photo : www.genealogylady.net)

Gigot เป็นภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึงขาหลังของสัตว์ โดยเฉพาะแกะที่มีลักษณะด้านบนกว้างด้านล่างแคบ จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อของแขนเสื้อพองๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1820 มีความกว้างตรงช่วงบนและรัดบริเวณข้อมือ ในยุคแรกเป็นผ้าที่เย็บให้มีลักษณะพองลม แต่ภายหลังได้มีการเสริมด้วยโครงกระดูกวาฬ 

เสื้อแขนพองถือกำเนิดขึ้นในปี 1820 ไม่ได้พองธรรมดา แต่เป็นเสื้อที่มีแขนพองใหญ่ตั้งแต่ไหล่ลามมาจนถึงข้อศอก บางครั้งอาจเสริมด้วยโครงกระดูกวาฬที่ทำให้พองเป็นทรงแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม 

ด้วยความพองและหนาที่กินพื้นที่ตั้งแต่ช่วงไหล่จนมารัดตึงที่ข้อมือ ทำให้หญิงที่สวมใส่เสื้อแขนพองเคลื่อนไหวไม่สะดวก ขยับแขนได้ในองศาที่จำกัด และยกแขนไม่ได้ อีกทั้งเสื้อแขนพองมักจะสวมคู่กับชุดกระโปรงหนาๆ ที่มีซับในหลายชั้น ไม่ใช่แค่ขยับตัวลำบาก แต่การถูกหุ้มด้วยผ้าหนาๆ นั้นทำให้หายใจไม่สะดวกอีกด้วย 

 

Hobble skirt 

เดินไม่สนุก ลุกนั่งไม่สบาย 

Photo : www.hanfordsentinel.com)

หลังจากกระแสกระโปรงบานขนาดใหญ่อย่างคริโนไลน์เริ่มซาลงไป ศตวรรษที่ 19 วงการกระโปรงก็พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยเป็นสุ่มไก่ใหญ่เทอะทะ กระโปรงก็วิวัฒนาการให้หดลีบลง เหลือเป็นผ้าบางๆ ที่แนบไปกับเนื้อ อีกทั้งยังมีการมัดชายที่ยาวรุ่มร่ามติดกับน่อง ดูแปลกตา 

ที่จำเป็นต้องรัดชายกระโปรงเอาไว้หรือออกแบบให้รัดแน่นบริเวณข้อเท้า นั่นเพราะเป็นการป้องกันไม่ให้ลมพัดจนกระโปรงเปิด แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับฟังก์ชันที่ว่าเท่าไหร่นัก เพราะกระโปรงอยู่ในสภาพเรียบร้อยก็จริง แต่ทว่าทำให้ผู้สวมใส่เดินเหินไม่สะดวก เพราะกระโปรงรั้งไว้ให้เดินได้เพียงก้าวสั้นๆ อาจทำให้สะดุดล้มคะมำไปก็เป็นได้ 

แฟชั่น Hubble skirt ฮิตอยู่ในหมู่สาวๆ พักสั้นๆ ก่อนจะอันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่ตอบโจทย์การเดินของผู้ส่วมใส่แม้แต่น้อย 

 

รองเท้าส้นสูง (High heels) 

ยิ่งสูงไม่ได้หนาว แต่ยิ่งทำร้ายเท้าให้บอบช้ำ 

(Photo : https://docplayer.es/75632690-I-coloquio-de-investigadores-en-textil-y-moda.html)

เดิมทีรองเท้าส้นสูงถูกออกแบบมาเพื่อทั้งหญิงและชายตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เพื่อใช้ในการขี่ม้า หลังจากนั้นรองเท้าส้นสูงถูกใช้เป็นตัวบ่งบอกสถานะและชนชั้นของผู้คนในสังคม ยิ่งสูงมากก็ยิ่งรวยมาก ก่อนจะค่อยๆ กลายมาเป็นรองเท้าที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับผู้หญิงในปัจจุบัน 

มีส้นสูงโบราณที่เรียกว่า chopines ซึ่งถูกออกแบบให้สูงมากสุดราวๆ 10 นิ้ว จนทำให้เดินได้แบบเก้ๆ กังๆ ในอดีตหากเป็นเจ้าขุนมูลนาย เวลาสวมใส่จำเป็นต้องมีบ่าวรับใช้คอยเดินประคองตลอดไม่ให้ล้ม 

แม้ปัจจุบันส้นที่เคยสูงจะค่อยๆ เตี้ยลง และมีวิวัฒนาการมาเป็นรองเท้าแฟชั่นที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ความสูงที่ว่านั้นก็ไม่เคยปราณีกับสรีระเท้าของมนุษย์ได้เสียที เพราะการทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าที่อยู่บนส้นสูง อาจทำให้เท้าแบกรับภาระเกินจำเป็น และส่งผลให้กระดูกและข้อเข่าเสื่อมได้ 

(อ่านเรื่องราวของรองเท้าส้นสูงเพิ่มเติมได้ในบทความ ความสูงที่ไม่ต้องเขย่ง เส้นทางรองเท้าส้นสูงจากชายชาติทหาร สู่ความงามของสตรี) 

 

The Fontange 

ผมทรงฟองตาเก้ ไม่หนักหัวใครยกเว้นหัวเรา 

John Smith after Jan van der Vaart, Queen Mary, 1690, NGA 119669 (Photo : https://commons.wikimedia.org)

ฟองตาเก้เป็นผ้าโพกหัวยอดนิยมของหญิงสาวในปลายศตวรรษที่ 17 ไปจนถึง 18 โดยพวกเธอจะนำริบบิ้นและหมวกเล็กๆ มาแซมในผม โดยใช้หมุดกลัดเอาไว้ ดูราวกับมงกุฎหลายชั้นที่ประดับอยู่บนหัว ฟองตาเก้แบบเล็กๆ ก็ดูเก๋ไก๋ดี เพียงแต่ยิ่งนานไปเทรนด์ความใหญ่ก็มา ทำให้ฟองตาเก้เริ่มอัพไซส์ เป็นวายร้ายสำหรับคอบ่าไหล่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ความเทอะทะยังนำมาซึ่งอันตรายอันคาดไม่ถึง เพราะมักจะบังเอิญไปเกี่ยวนั่นเกี่ยวนี่เข้า ลำพังข้าวของอาจไม่เป็นไร หากเกี่ยวเชิงเทียนอาจทำให้เกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงตามมาได้ คล้ายๆ กับเคสไฟไหม้อันน่ากลัวของชุดคริโนไลน์ 

นอกจากจะประคองฟองตาเก้บนหัวไว้อย่างทุลักทุเล อีกหนึ่งอุปสรรคที่มากับเครื่องหัวชนิดนี้คือ เข็มหมุดที่ใช้ยึดวัตถุต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามไซส์ของฟองตาเก้ มีผู้หญิงนับไม่ถ้วนที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลเล็กๆ น้อยๆ จากคมของหมุดดังกล่าว 

 

อ้างอิง 

  • Christine-Marie Liwag Dixon.The Most Oppressive Fashion Trends Throughout History.https://bit.ly/3oUxIWZ