“ลูกหลานอาจมองว่า ‘โบราณวัตถุ’ หรือ ‘ศิลปวัตถุ’ เป็นภาระและไม่อยากดูแล”
ด้วยสาเหตุนี้ ของเก่าอันเต็มไปด้วยคุณค่าและมูลค่าของหลายครอบครัว มักมีปลายทางที่ ‘งานประมูล’
“ของเก่าผลัดกันชม”
คุณโดมชัย บุตรดาวงษ์ ผู้จัดการแผนกประมูล ประจำศูนย์การค้า ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ได้ให้คำนิยามสั้นๆ ถึงงานประมูลโบราณวัตถุ
ช่วงเวลา 30 ปีที่ทำงานในฐานะผู้ดูแลและจัดการประมูลที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดและโด่งดังที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขามีโอกาสสัมผัสงานโบราณวัตถุล้ำค่าหลากหลายประเภท
บางงานมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ซึ่งมีอายุมากกว่าร้อยปี
บางงานมีอายุเก่าแก่และสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือในสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์
“เราไม่มีทางรู้ได้ว่าจะมีของเก่าหรือของโบราณชิ้นไหนหลุดเข้ามา มีมูลค่าเท่าไร และไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ราคาประมูลสุดท้ายจะจบที่เท่าไร เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ”
นี่คือหนึ่งในเสน่ห์ของ ‘งานประมูล’
และยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมที่ common ได้ค้นพบจากเบื้องหลังงานประมูลที่เราได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์
‘งานประมูลโบราณวัตถุ’ แหล่งพบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนความรู้ ของนักสะสมศิลปะจากทั่วโลก
หากถามถึงงานประมูลโบราณวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ผู้คนในวงการส่วนใหญ่ยกตำแหน่งให้ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ไม่เพียงจำกัดแต่ในหมู่คนไทยด้วยกัน ที่นี่ยังเป็นที่รู้จักของนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก ในฐานะผู้จัดงานประมูลโบราณวัตถุแห่งแรกในเมืองไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มานานกว่า 30 ปี
นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนรักโบราณวัตถุจากหลายประเทศ
“ริเวอร์ ซิตี้ เป็นตัวกลางให้คนซื้อและคนขายโบราณวัตถุมาเจอกันผ่านการประมูล ราคาเริ่มต้นคือราคาที่ตกลงกัน แล้วทางบริษัท ประมูลจะทำการเก็บ ค่าคอมมิชชั่น อยู่ที่ 10- 15 เปอร์เซ็นต์ นี่คือวิธีการทำงานของเรา”
ปัจจุบันริเวอร์ ซิตี้ จัดการประมูล 6 ครั้งต่อปี โดยมีงานใหญ่ปีละ 3 ครั้ง มีแขกมาร่วมงานประมาณ 200-300 คน ทั้งคนไทย คนต่างชาติจากยุโรป สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง และไต้หวัน
“ปกติในงานประมูลสินค้าที่ร่วมประมูล สามารถประมูลได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยทางเราให้อิสระ กล่าวคือ ให้ผู้เข้าร่วมงานยกป้ายเสนอราคาที่พวกเขาต้องการ
“การประมูลเหมือนการเล่นเกมส์ เราไม่มีทางรู้ได้ว่า ราคาประมูลสุดท้ายจะจบที่เท่าไร บางชิ้นเริ่มต้นจาก 50,000 บาท ไปจบที่ 200,000 บาท มันเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ”
เล่นของเก่า ถ้าไม่อยากโดนหลอก ต้องเล่นเป็นเครือข่าย
“ของโบราณทุกชิ้นที่จะเข้ามาถึงการประมูลตรงนี้ได้ ต้องผ่านการตรวจสอบจากทางคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก่อน ทั้งด้านคุณภาพและสภาพการเก็บรักษา เพื่อพิสูจน์ว่าทุกชิ้นเป็นของจริง”
ดังนั้น บางครั้งการทำงานประมูลต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มคนทำงานสายเดียวกันในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากงานศิลปะบางชิ้นได้อิทธิพลมาจากต่างประเทศ
“อย่างบริเวณก้นถ้วย มันสามารถบอกได้ถึงเทคนิคการผลิตที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นถิ่น แต่ละยุคสมัย เพราะการเผาจะต้องทำการขึ้นโครงที่ก้นก่อน”
“การเล่นของเก่าหรือของโบราณ ไม่ควรเล่นคนเดียว ต้องเล่นเป็นเครือข่าย มิฉะนั้นแล้วอาจโดนหลอกให้ซื้อขายของปลอมได้”
งานศิลปะส่วนใหญ่ที่เข้ามาในงานประมูลเป็นมรดกตกทอดหลายรุ่น อาจสงสัยกันว่า ของเก่าเหล่านี้มาพร้อมเรื่องลี้ลับหรือไม่
“ผมไม่เคยเจอนะ แต่ผมเชื่อเรื่อง ‘เนื้อคู่’ มากกว่า ผมรู้สึกว่าของโบราณเหล่านี้เลือกเจ้าของ และมีแรงดึงดูดกัน”
เมืองไทยรุ่มรวยด้วยโบราณวัตถุ
“งานศิลปวัตถุในบ้านเราถือว่าเป็นของดีมากๆ และหลงเหลืออยู่เยอะมาก”
คุณโดมชัยบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสของเก่าและของโบราณที่ผ่านมือเข้ามา
“คนไทยสมัยก่อนร่ำรวยมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองท่า เมื่ออยุธยาโดนเผาในช่วงสงคราม กรุงเทพฯ ไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้พบเจอพวกโบราณวัตถุตกทอดมาเยอะมาก อย่างบ้านที่อยู่ตามริมน้ำท่าจีน แม่กลอง”
การประมูลวัตถุโบราณที่ริเวอร์ชิตี้ เป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมทั่วโลก เพราะมักมีของดี ของสวย ของหายากหลุดเข้ามาสร้างสีสันให้วงการ
“การประมูลของเก่าในเมืองไทยเป็นเหมือนขนมหวานสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่มีของดีหลุดเข้ามาประมูลเยอะมาก อย่างเช่น ตั่งขาคู่ถมทอง ซึ่งคาดว่ามี 2 ชิ้นในประเทศไทย เริ่มต้นประมูลที่ 5 แสนบาท มีคนประมูลไปที่หนึ่งล้านเจ็ดแสนบาท”
เมื่อของเก่าหลายชิ้นจบการประมูลในราคาที่ค่อนข้างสูง การเก็บโบราณวัตถุจึงถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของคนมีฐานะเท่านั้น
“ผมมองว่าเป็นการสะสมขั้นสุดมากกว่า สมัยเด็กๆ เราสะสมตุ๊กตา แสตมป์ เมื่อโตขึ้นมาอาจสะสมงานศิลปะ และการสะสมงานโบราณวัตถุถือเป็นขั้นสุดยอด เพราะราคาค่อนข้างสูง”
ของราคาดีอยู่ที่ฝีมือช่างและความสวย
“ไม่ใช่ว่าของเก่าทุกอย่างจะขายหรือประมูลได้ราคาดี เราเล่นกันที่เรื่องราว”
คือความแตกต่างระหว่างของเก่า ของมือสอง และโบราณวัตถุ
นอกจากนี้ สภาพของโบราณวัตถุเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อราคา
“เวลาผมไปตรวจสอบของเก่าในบางบ้าน ผมจะให้ข้อมูลเรื่องการเก็บรักษาด้วย น่าเสียดายที่บางคนเก็บรักษาไม่ค่อยดี”
หากต้องการสะสมโบราณวัตถุ คุณโดมชัยให้คำแนะนำในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
“ควรเก็บของดี ของสวย ของที่ทำด้วยช่างฝีมือดีมีสกุล ของที่มีเรื่องเล่า อาจจะไม่ต้องสนใจความเก่ามากนัก ของบางอย่างมีอายุ 30-40 ปี สภาพดีแต่ไม่ใช่งานช่างฝีมือ ก็อาจเป็นได้แค่ของเก่าที่มีไม่มีมูลค่า”
เรียนรู้ศิลปะและประวัติศาสตร์นอกตำราผ่าน ‘ของจริง’
ทุกวันนี้การประมูลโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่หรือคนสูงวัยเท่านั้น
แต่ยังมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้าร่วมประมูลเพื่อช่วงชิงของเก่าล้ำค่ามาสะสมด้วย
“ไม่จำเป็นต้องในฐานะรวยมากๆ ก็สามารถเข้ามาร่วมการประมูลและสะสมของโบราณได้ เพราะของหลายชิ้นเริ่มต้นหลักพันหรือหลักหมื่นต้นๆ”
เมื่อมองไปรอบห้องประมูลบนชั้น 4 ของริเวอร์ ซิตี้ ที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจเดินชมก่อนถึงวันงานจริง
เราพบช้อนโบราณลายสวย อายุ 10-20 ปี ติดป้ายราคา 1,000-2000 บาท
“ของที่นี่มีหลากหลายราคา ไม่ใช่มีแต่ของแพง
“ผมอยากให้ทุกคนลองเข้ามาชมงานประมูลสักครั้ง โดยเฉพาะนักเล่นของเก่าหน้าใหม่ การสะสมของโบราณต้องมีความรู้และเครือข่าย ที่นี่ถือเป็นโรงเรียนเริ่มต้นที่ดี แค่มาเดินชมก็ได้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อนติดตัวกลับไป”
งานประมูลโบราณวัตถุ เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปชื่นชม สัมผัส และหยิบจับของจริง
“ของโบราณที่คนนำเข้ามาให้เราประมูลไม่เคยซ้ำกัน ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้ช่างฝีมือในสมัยก่อนมากมาย ลวดลายงานศิลปะไทยหลายชิ้น หลายคนอาจไม่เคยเห็น เพราะไม่เคยถูกบันทึกในหนังสือเรียน”
หากพิจารณาตามคำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญนี้ ประกอบกับการเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปชื่นชม สัมผัส และหยิบจับของจริง
คงไม่เป็นการพูดเกินไปว่า
งานประมูลโบราณวัตถุเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะนอกห้องเรียนที่สนุกและมีสีสันที่สุดแห่งหนึ่ง
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมโบราณวัตถุในรอบ Auction Preview ครั้งต่อไปในวันที่ 21-31 พฤษภาคม 2562 ที่ห้อง RCB Auctions ชั้น 4 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/events/646530149120811/