©ulture

บรรยากาศรอบๆ รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรยามเช้าคลาคล่ำไปด้วยผู้คนในละแวกที่ออกมาจ่ายตลาด 

คงเป็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักสำหรับใครที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น เพราะบรรยากาศของย่านเยาวราชในความทรงจำส่วนใหญ่คงมีแต่ที่ป้ายของร้านรวงที่สว่างไสวหยอกล้อกันในยามค่ำคืน 

เมื่อเดินเลียบถนนแปลงนามมาเรื่อยๆ เพียงไม่กี่ร้อยเมตร เราก็มาถึงห้าง I Am Chinatown ซึ่งด้านหลังเป็นที่ตั้งของ ASAI Bangkok Chinatown โรงแรมแห่งใหม่ที่ดูจะสุขุมที่สุดในละแวกที่ไม่เคยเงียบเหงา 

(Photo : ASAI Bangkok Chinatown)

ล็อบบี้ของโรงแรมกินพื้นที่ทั้งหมดบนชั้น ห้องโถงแห่งนี้แม้จะตกเตียงอย่างเรียบง่ายด้วยไม้สีอ่อน แต่ก็เพิ่มลูกเล่นซนๆ และคงความคลาสสิกด้วยสีและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของจีน เมื่อเดินสำรวจรอบๆ ก็ต้องประหลาดใจ เพราะที่นี่ให้กลิ่นอายที่แตกต่างจากโรงแรมทั่วไปอยู่ไม่น้อย 

แขกผู้มาเยือนจะเช็กอินด้วย ‘คีออส’ ระบบอัตโนมัติของโรงแรมที่จะช่วยให้ผู้มาเยือนเช็คอินได้ด้วยตัวเอง ในบริเวณเดียวกันยังมีพื้นที่สาธารณะอย่างโต๊ะพูล ห้องประชุม บาร์เล็กๆ สำหรับนั่งพูดคุย หากไม่รู้จักอาศัยมาก่อน คงคิดว่าที่นี่เป็นโฮสเทลซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ที่พาให้คนแปลกหน้าเข้ามารู้จักกัน 

(Photo : ASAI Bangkok Chinatown)

เมื่อเราเริ่มต้นบทสนทนากับ แชมป์ – ศิรเดช โทณวนิก หัวเรือใหญ่ที่บรรจงกอปรโรงแรม ‘อาศัย’ ขึ้นมาอย่างประณีตแล้ว ก็พบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดที่ทำให้ ‘อาศัย’ เป็นโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ 

เป็นการเปิดประสบการณ์ที่เกินไปจากขอบเขตของคำว่า ‘มาพักผ่อน’ ด้วยนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการความสนุกสนานมากกว่านั้น เพราะนอกจากทำความรู้จักกับสถานที่ใหม่ๆ การท่องเที่ยวยังหมายถึงการทำความรู้จักกับผู้คนที่พบเจอระหว่างทางด้วย 

ออกแบบโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับ ‘ผู้อยู่อาศัย 

 ประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โรงแรมเป็นศูนย์รวม เป็นคอมมูนิตี้ คนมาโรงแรมเพื่อพบปะกัน แต่ต่อมาเริ่มมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จะให้เฉพาะแขกที่เข้ามาพักเข้ามาในโรงแรมได้ เราเลยต้องการเปิด แล้วเอารั้วนั้นออก เพื่อให้คนโลคอลได้มาปฏิสัมพันธ์กับคนที่เป็นนักท่องเที่ยว แน่นอนว่าเราคงทำสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อมต่อกับชุมชน”  

แชมป์เล่าให้เราฟัง 

(Photo : ASAI Bangkok Chinatown)

เพราะเป็นโรงแรมที่อยู่ใจกลางเมือง ‘อาศัย’ จึงชวนผู้มาเยือนไปทำความรู้จักกับท้องถิ่นด้วยเดย์ทริปที่จะพาไปสำรวจย่านเมืองเก่า 

ถัดจากถนนเยาวราชอันพลุกพล่าน ซอกซอยเล็กๆ พาเราเดินตัดตลาดสำเพ็งไปยังถนนทรงวาดที่มีทั้งวัด มัสยิด และศาลเจ้าจีนตั้งอยูในละแวกเดียวกัน อีกทั้งยังมีแกลอรี คาเฟ่ ร้านอาหารจีนดั้งเดิม ก๋วยเตี๋ยวเจ้าเด็ด ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกตึก ชนิดที่ว่าหากไม่ได้เดินเท้าสำรวจก็คงไม่เจอ 

เพราะรอบๆ อาศัยรายล้อมด้วยสิ่งน่าสนใจมากมาย แชมป์จึงนำเอาประสบการณ์ดีๆ เหล่านี้ เป็นของฝากให้ผู้มาเยือนติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย 

(Photo : ASAI Bangkok Chinatown)

ไม่ใช่แค่พาแขกออกไปรู้จักคนท้องถิ่นเท่านั้น แต่อาศัยยังเปิดรั้วบ้านความเป็นชุมชนเข้ามาอยู่ในโรงแรมแห่งนี้อีกด้วย 

ห้องพักจำนวน 224 ห้องตกแต่งอย่างเรียบง่าย เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นถูกจัดวางอย่างเป็นสัดส่วนแต่ความพิเศษคือลวดลายและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องสวยๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมในย่านเยาวราช หมอนสามเหลี่ยมที่วางบนเตียงตัดเย็บโดยช่างฝีมือดีจากเมืองกาฬสินธุ์ 

บนผนังสีขาวสบายตาประดับด้วยภาพถ่ายมุมต่างๆ ในย่านนี้ จากฝีมือของสองช่างภาพ ปั๊ก – ปาลิดา บุณยรังสฤษฏ์ และ เป็ด – ชญานี ชมแสงจันทร์ หรือ DogDuckPugPed 

เรียกได้อาศัยแห่งนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายของชุมชนเยาวราชอยู่ทุกอณู 

(Photo : ASAI Bangkok Chinatown)

เราอยากให้เขารู้สึกอยากเข้าไปรู้จักละแวกนี้มากขึ้น เราต้องการให้รู้ว่าไชน่าทาวน์ เยาวราช เจริญกรุง หรือเมืองเก่าที่เราเรียกกันมันมีอะไรมหัศจรรย์เยอะแยะ เราเองก็โตมาที่นี่ 20-30 ปี แต่ไม่เคยได้สัมผัส ไม่เคยได้ลิ้มลอง เราต้องอยู่ด้วยดีกับสิ่งรอบข้างของเราได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราชูร้านอาหาร แกลอรี ในท้องถิ่นมันสามารถทำให้จุดมุ่งหมายของเราโตไปกับเขาได้ ก็เป็นความยั่งยืน”  

แชมป์เสริม 

พึ่งพาอาศัย’  

เพื่อให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนแล้ว นิยามความยั่งยืนแบบฉบับอาศัย ยังถูกแสดงออกอยู่ในทุกมุมของโรงแรมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหาร JAM JAM Eatery & Bar ที่ใช้วัตถุดิบจากแปลงผักออร์แกนิกในโรงแรม ซึ่งได้ไอเดียจากเครือข่ายเกษตรกรกสามพราน ตู้กดน้ำดื่มฟรีสำหรับผู้พกขวดน้ำมาเอง หรือความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดขยะอาหารภายในโรงแรมเกินความจำเป็น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในความตั้งใจที่จะให้เป็นมิตรกับเพื่อนบ้านในละแวก 

(Photo : ASAI Bangkok Chinatown)

การเห็นความสำคัญกับชุมชน สิ่งแวดล้อม และธุรกิจใกล้เคียง เป็นหัวใจหลักที่ทำให้อาศัยยั่งยืนในแบบฉบับของแชมป์ 

เราต้องอยู่กับ ecosystem ของเราได้ ซึ่งมันก็คือธรรมชาติ คนที่อยู่ในชุมชนของเรา หลายๆ คนอาจคิดว่าการทำเพื่อสังคมคือพวกการกุศล แต่เราคิดว่าการทำดีไม่จำเป็นต้องเป็นการกุศล ไม่จำเป็นต้องเป็น CSR เราต้องการสิ่งที่ยั่งยืนจริงๆ และยังต้องเป็นธุรกิจได้ด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะเจอกำแพงตลอดเวลา เวลาเจอวิกฤติเราทำเงินไม่ได้ เงินที่เราให้การกุศลกับ CSR ก็น้อยลง 

ถ้าเราทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนจริงๆ มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ นี่ก็คือการสร้างคอมมูนิตี้แบบวินวิน สำหรับผมคือสร้างโมเดลธุรกิจอย่างไร ให้เราประสบความสำเร็จและยังช่วยชุมชนรอบข้างทั้งหมดได้ด้วย