ใครๆ ก็อยากให้โลกของตัวเองเป็นไปดั่งใจ
เช่นเดียวกับ ปีเตอร์ เบลเลอร์บี้ (Peter Bellerby) ที่มองหาลูกโลกเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 80 ปีให้พ่อของเขา
แต่ปีเตอร์ไม่เจอลูกโลกที่ถูกใจ เขาจึงเลือกสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาเอง พร้อมก่อตั้งสตูดิโอที่เขานิยามว่าเป็น globemaker โดยใช้ชื่อว่า Bellerby & Co ที่กรุงลอนดอน
ช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เขาและทีมช่างฝีมือสร้างลูกโลกส่วนตัวใบเล็ก ใบใหญ่ ให้ลูกค้ามากกว่า 600 รายต่อปี ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก
หากมองเผินๆ ลูกโลกเหล่านี้อาจมีทรงกลม ประกอบด้วยภาพน่านน้ำและผืนดินคล้ายๆ กัน แต่หากมองให้ดี โลกทุกใบที่ออกจากสตูดิโอแห่งนี้ มีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งปีเตอร์ย้ำว่า ไม่มีโลกของใครที่เหมือนกันสักใบ
“การทำงานสร้างลูกโลกที่อาจดูเหมือนเดิมทุกๆ วัน แต่ไม่น่าเบื่อเลย ผมรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือหรือดูหนังเล่มโปรดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งในแต่ละครั้งก็ได้อารมณ์ ความรู้สึก และเห็นอะไรที่แตกต่างกันไปเสมอ”
common ชวนสำรวจโลกของคนสร้างลูกโลก ที่ไม่มีใครทำแบบมืออาชีพมานานกว่า 100 ปี
ธุรกิจ ‘สร้างลูกโลก’ ที่เริ่มจากการตามหาโลกใบใหม่ให้พ่อ
หลายคนอาจคิดว่าธุรกิจผลิตลูกโลกอย่าง Bellerby & Co ก่อกำเนิดขึ้นมาหลายร้อยปี หรือเป็นกิจการที่สืบทอดกันมายาวนานหลายรุ่น
แต่จริงๆ แล้ว ปีเตอร์ก่อตั้งสตูดิโอสร้างสรรค์ลูกโลกของเขาเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา เพราะต้องการซื้อลูกโลกสวยๆ สักใบ เป็นของขวัญครบรอบ 80 ปีให้พ่อของตัวเอง แทนของขวัญจำพวกถุงเท้าหรือเน็คไทเช่นปีก่อนๆ
“ผมไปหาลูกโลกตามร้านค้า มีแต่ลูกโลกแบบที่เด็กๆ ใช้เรียนกัน แต่พอไปดูตามงานประมูล เจอแต่ลูกโลกที่ราคาสูงถึงสองหมื่นปอนด์ (ประมาณ 760,000 บาท) ผมไม่มีงบมากขนาดนั้น”
นี่คือสาเหตุที่ทำให้ปีเตอร์ อดีตคนทำงานสายอีเวนต์และโทรทัศน์ หันมาสร้างโลกเอง!
จากช่วงแรกที่ปีเตอร์วางแผนสร้างลูกโลกให้พ่อภายใน 6 เดือน แต่กลับกลายเป็น 2 ปี เพราะการสร้างลูกโลกสักใบเป็นงานคราฟต์ที่มีรายละเอียดมากกว่าที่เขาคิด และต้องอาศัยทักษะช่างฝีมือ ความปราณีต พิถีพิถัน และที่สำคัญ คือ ความอดทน
“งานนี้ต้องใช้มือทำเกือบ 100 เปอร์เซนต์ และต้องฝึกควบคุมการใช้มือทุกวัน”
แต่เมื่อกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งที เขาจึงคิดว่านี่คือโอกาสดีในการสร้างธุรกิจใหม่ที่ไม่มีใครทำแบบมืออาชีพมานานกว่า 100 ปี พร้อมย้ายสถานที่ทำงานมายังย่าน สโตก นิววิงตัน (Stoke Newington) ในลอนดอน
สร้าง (ลูก) โลกด้วยศิลปะและสองมือ
ในช่วงขณะที่ค้นคว้าเรื่องการสร้างลูกโลก ปีเตอร์พบว่า บรรดาลูกโลกที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งเขาใช้ลูกโลกเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลูกโลกของ Bellerby & Co
“ผมมองหาแรงบันดาลใจในด้านศิลปะมากกว่าเรื่องของเทคนิค เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่ที่แล้วที่จะลอกเลียนแบบเทคนิคงานฝีมือแบบโบราณ”
ถึงแม้ว่ายุคสมัยนี้ทุกอย่างเสกได้ด้วยเครื่องจักรและพึ่งพาแรงงานหุ่นยนต์ แต่ปีเตอร์และทีมศิลปินอีก 20 กว่าชีวิตเลือกสร้างโลกด้วยมือเกือบทุกส่วน รวมทั้งส่วนฐานที่ทำจากโลหะและไม้จริง
“ทุกขั้นตอน ช่างต้องใช้สมาธิและความอดทนสูงมาก และการสร้างลูกโลกหนึ่งใบช่างต้องทำงานร่วมกับลูกค้านานหลายเดือน เป็นปีก็มี เพื่อพูดคุยและให้ลูกค้าตัดสินใจว่าอยากให้มีอะไรอยู่บนลูกโลกของเขา เราก็พยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
(ลูก) โลกส่วนตัวที่เก็บประสบการณ์และความทรงจำ
ลูกโลกของ Bellerby & Co ใบเล็กสุดสนนราคาราว 1,200 ปอนด์ (ประมาณ 44,600 บาท) ส่วนใบใหญ่สุดที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 125 เซนติเมตร ตกอยู่ที่ประมาณ 79,000 ปอนด์ หรือราวๆ เกือบ 3 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าราคาลูกโลกเหล่านี้จะเข้าขั้น ‘แพง’ แต่ลูกค้าหลายร้อยคนจากทั่วโลกมองว่า ลูกโลกของ Bellerby & Co เสมือนที่บรรจุความทรงจำของพวกเขา
เพราะรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการใส่ไว้ในโลกส่วนตัว มักเป็นประสบการณ์ในชีวิต เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปกับคนรัก
นอกจากนี้ ลูกโลกของ Bellerby & Co ยังอยู่ตามคฤหาสน์ของเศรษฐี บนเรือสำราญ มิวเซียมระดับโลกหลายแห่ง รวมทั้งได้เข้าฉากในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่อง เช่น หนังแนวอิงประวัติศาสตร์ ผจญภัย ดราม่า ของผู้กำกับชื่อดัง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese)
อีกทั้งเรื่องราวบนลูกโลกของ Bellerby & Co สามารถคงอยู่ได้นานถึง 80-200 ปี เพราะปีเตอร์เลือกใช้หมึกแบบพิเศษที่ติดทนทานและกันน้ำ
เพราะเขารู้ดีว่า ความทรงจำบางอย่างประเมินค่าและหาใหม่ไม่ได้.
อ้างอิง
- Beller by and Co.Press. https://bellerbyandco.com
- Beller by and Co.About-Us.https://bellerbyandco.com
- CNA.Reviving the lost art of bespoke globe-making in London.http://bit.ly/30nye4p