©ulture

ชวนช้อปหนังสือดี วรรณกรรมเด่น ที่เปียบุ๊คส์ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่อยู่คู่ถนนดินสอมานานกว่า 3 ทศวรรษ

นับตั้งแต่โครงการ หนังสือเดินทางร้านหนังสือ หรือ Book Passport เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา แวดวงร้านหนังสืออิสระก็ดูจะคึกคักมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ ที่ต้องการกระตุ้นให้คนเดินทางไปซื้อหนังสือจากร้านหนังสือมากขึ้น แทนที่จะสั่งซื้อออนไลน์เพียงอย่างเดียว

bookshop

ทั้งนี้ ก็เพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและร้านหนังสือให้เข้มแข็ง และให้ร้านหนังสือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในวงจรระบบหนังสือ ได้เติบโต ดำรงอยู่ และดำเนินกิจการต่อไปได้

วิธีร่วมสนุกกับกิจกรรม Book Passport เหมาะกับการ “หาเรื่อง” ออกเดินทาง ในขณะที่เรายังไม่สามารถออกไปเที่ยวต่างประเทศได้ เริ่มด้วยการขอรับ “หนังสือเดินทางร้านหนังสือ” จากร้านหนังสืออิสระ หน้าตาเหมือนพาสปอร์ตปกแดงเปี๊ยบ เอาไว้พกติกตัว เพื่อประทับตราร้านหนังสืออิสระทั่วไทยที่คุณมีโอกาสเดินทางไปเยือน แถมยังมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลทุกเดือนอีกต่างหาก

bookshop

ในบรรดาจำนวนร้านหนังสืออิสระมากกว่า 40 ร้านทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ มีจำนวน 15 ร้านที่เป็นร้านหนังสืออิสระในกรุงเทพมหานคร ที่ล้วนแต่เป็นร้านที่อบอวลไปด้วยมวลบรรยากาศแสนรื่นรมย์ มีการแบ่งหมวดหมู่ตู้หนังสือเป็นสัดส่วน ติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ มีคาเฟ่ให้นั่งชิล เสิร์ฟกาแฟ เครื่องดื่ม และขนมอร่อยให้ละเลียด มีไม้ดอกไม้ประดับ หรืองานศิลปะ ภาพวาดประทับ quote เด็ดวาทะดังไว้จรรโลงใจ บางร้านถึงขั้นมีแมวไว้ให้เกาคางเล่น ก็มี

มีเพียงร้านเดียวเท่านั้นที่เป็น ร้าน-ขาย-หนังสือ ตรงตามความหมายเป๊ะ ก็คือ มีแต่หนังสือเรียงรายอัดแน่นอยู่บนชั้น พร้อมจำหน่าย ไม่มีบรรยากาศอื่นใดให้เสพเพื่อความรื่นรมย์

bookshop

ร้านหนังสือแห่งนี้ชื่อ เปียบุ๊คส์ ตั้งอยู่บนถนนดินสอ ไม่ไกลจากเสาชิงช้าและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เปียบุ๊คส์ไม่มีป้ายชื่อร้าน (กำลังสั่งทำ) มีขนาดเพียงอาคารพาณิชย์ 1 คูหา และมีพนักงานขายตัวยืนเพียงคนเดียวคือ อ้อย แซ่โค้ว กับน้องแพรว ลูกสาวที่คอยเป็นลูกมือในบางเวลา

แม้วงการหนังสือจะซบเซาแค่ไหน แต่เปียบุ๊คส์ก็ยังคงเปิดแผงขายหนังสือทุกวัน ไม่มีวันหยุด มาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 

อะไรทำให้พี่อ้อย (เธอเรียกแทนตัวเองว่าอย่างนั้น และเราขอเรียกเธอตามนี้) เจ้าของร้านเปียบุ๊คส์ (ที่ทำไมไม่ใช่ชื่อว่าอ้อยบุ๊คส์?) ยืนกรานที่จะเปิดร้านทุกวัน หาคำตอบได้จากบทสนทนาที่แฝงด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนขายหนังสือที่อารมณ์ดีที่สุดในพระนคร

bookshop
อ้อย – ศรีนวล แซ่โค้ว
เจ้าของร้านเปียบุ๊คส์

ขอแนะนำพันธมิตรแห่งร้านหนังสืออิสระ

 หากไม่ใช่ขาประจำของร้าน คุณอาจเดินผ่านแผงหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ไปโดยไม่ทันสังเกตว่า นอกจากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูน ฯลฯ ที่วางแผ่หราอยู่บนแผงริมทางเท้าแล้ว ลึกเข้าไปในร้านยังมีชั้นหนังสือวางขนาบสองข้างกำแพง อัดแน่นไปด้วยพ็อกเก็ตบุ๊กกลางเก่ากลางใหม่หลายหมวดหมู่ ชนิดไม่มีพื้นที่ว่างตั้งแต่พื้นจรดเพดาน

bookshop

“หนังสือบางเล่มนึกจะขายก็ขายได้ ทั้งที่วางไว้เป็นปี ขายหนังสือต้องใจเย็น” เจ้าของร้านหนังสือเปิดบทสนทนากับเรา ที่กำลังก้มๆ เงยๆ มองหาหนังสือเล่มถูกใจ

“กฎของบางสำนักพิมพ์ ก็คือ ถ้าลงหนังสือปุ๊บ แล้วขายไม่ได้ภายในเดือนสองเดือน เขาจะเก็บคืนทันที ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรทำแบบนั้น บางเล่มอาจจะขายไม่ได้ทันทีเดี๋ยวนั้น เพราะต่างคนก็ชอบหนังสือต่างแนว เราไม่สามารถคาดเดาได้ วันนึงก็อาจจะขายออกได้เอง”

bookshop

นี่คงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราไม่เจอหนังสือจากสำนักพิมพ์เจ้าดังๆ ที่นี่ ที่รับหนังสือไม่จำกัดแนวจากเจ้าหลักๆ 3 เจ้ามาขาย อย่างสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ยิปซีกรุ๊ป และบุ๊คไทม์ (สุขภาพใจ) เพราะมีความเข้าใจต่อธรรมชาติของการร้านหนังสือที่ตรงกัน รวมถึงรับวางหนังสือฝากขาย ที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายเท่านั้น

“จริงๆ แล้วเศรษฐกิจแย่มากมาตั้งแต่เดือนมกรา ไม่อำนวยให้รู้สึกอยากที่จะทำอะไรเลย ยิ่งตั้งแต่เดือนมีนาจนถึงตอนนี้ยิ่งหนัก เจอโควิดไป ห้างปิด บริษัทก็ไม่พิมพ์หนังสือออกมาขาย เพราะส่วนใหญ่เขาก็ส่งไปขายตามร้านสาขาในห้าง แทบจะหยุดการพิมพ์ไปเลยช่วงนั้น” พี่อ้อยบอกเล่าถึงความรู้สึกต่อปียากๆ อย่าง พ.ศ. 2563

bookshop

“นอกจากบางสำนักพิมพ์ที่เจ๋งจริงๆ ก็จะยังพิมพ์หนังสืออยู่ อย่างยิปซียังพอมีพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งน้องทีมงานก็น่ารักมาก เขาไม่ได้เร่งรัดอะไรเราเรื่องกฎการวางหนังสือหน้าร้าน ผ่านไป 3-4 เดือนเขาค่อยเข้ามาเช็คสักครั้ง และคอยหาหนังสือใหม่มาป้อน

“ยอมรับว่ามีสำนักพิมพ์อีกหลายเจ้าที่เราไม่รู้จัก ยังมีหนังสือดีๆ อีกเยอะ แต่เราเข้าไม่ถึง ถ้าเราติดต่อเข้าไปเอง ก็จะเจอเงื่อนไขเยอะแยะ จนเราสู้ไม่ไหว”

bookshop

ร้านหนังสือเล็กๆ บนถนนดินสอแห่งนี้จึงยังคงขายหนังสือจากสำนักพิมพ์พันธมิตรเท่าที่มีอยู่ในมือ ซึ่งเฉพาะตัวเลือกของพ็อกเก็ตบุ๊กภายในร้านก็มากพอที่จะทำให้หนอนหนังสือตาลุกวาว

มากต่อมากเป็นหนังสือความรู้แนวประวัติศาสตร์ คละด้วยนิยายขึ้นหิ้งของไทย และตำรับตำราความรู้หลากแขนง 

หากค้นดีๆ ก็จะเจอหนังสือที่ตามหามานาน หรือถึงค้นเจอตามอินเตอร์เน็ตก็ราคาแพงหูฉี่จนซื้อไม่ลง

“พี่ทำไม่เป็น” พี่อ้อยตอบตามตรงต่อคำถามว่า ทำไมไม่เปิดเพจขายหนังสือออนไลน์ควบคู่ไปด้วย

bookshop

“ทั้งที่เวลาลูกค้าบางคนมาซื้อ เรารู้เลยว่าเขาซื้อไปขายต่อ เพราะขนซื้อปกเดียวไปที 4-5 เล่ม เขาก็แนะนำพี่เหมือนกันว่า มีหนังสือดีๆ ตั้งหลายเล่ม ทำไมไม่เอาไปขายในเน็ต “อย่างเพนต์เฮ้าส์เล่มละ 180 บาท ผมเอาไปขายได้เล่มละตั้ง 500 บาท” เขาเล่าให้ฟัง ยิ่งตอนนี้ยิ่งมีค่ามาก เพราะหนังสือปิดตัวไปแล้ว” เธอเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอในร้านเล็กๆ คูหาเดียวห้องนี้

จากร้านขายเทปในตำนานสู่ร้านหนังสือ

สำหรับลูกค้าประจำ รวมถึงชาวบ้านละแวกนี้จะรู้ดีว่า เดิมร้านเปียบุ๊คส์อยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน และก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนโฉมเป็นร้านหนังสือ ที่นี่เคยเป็นร้านขายเทปและซีดีชื่อดังมาก่อน โดยใช้ชื่อว่า เปีย นำแสง เสาชิงช้า

“ตอนแรกเปิดอยู่ฝั่งตรงข้าม ห้องนึงขายขนม พวกขนมปี๊บ ขนมขาไก่เป็นโหลๆ ตั้งขายเรียงไป ด้านหน้าขายหนังสือพิมพ์ พอเขาเลิกกิจการก็ให้รุ่นพี่ที่พี่เคารพมากชื่อ พี่เปีย ซึ่งเป็นคนที่ชวนพี่เขามาทำงานในกรุงเทพฯ มาเช่าทำร้านขายเทปซีดีตั้งแต่ปี 2524”

bookshop

พี่่อ้อยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการย้ายมาลงหลักปักฐานบนถนนดินสอ ในฐานะลูกมือร้านเปีย นำแสง เสาชิงช้า ร้านขายเทปเพลงชื่อดังในยุคที่วงการเพลงไทยเฟื่องฟูเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

“พอถึงช่วงปี 2530-2531 กิจการเริ่มแย่ลง ขายได้น้อยมาก จนปี 2532 ต้องขนเทปซีดีที่เหลือไปให้วัดสวนแก้ว แล้วเปลี่ยนมาขายหนังสือการ์ตูนและแม็กกาซีนแทน”

นั่นเป็นที่มาของตัวเลข 1988 ที่ประทับอยู่เหนือชื่อร้าน เปียบุ๊คส์ by อ้อย ที่กำลังจัดทำและเตรียมติดตั้งเร็วๆ นี้ หลังจากไม่เคยมีป้ายชื่อร้านมาตลอด 30 ปี

bookshop

หลังจากขายหนังสือการ์ตูน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯลฯ เรื่อยมาในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์เต็มไปด้วยเรี่ยวแรง และแข่งขันกันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ทั้งแม็กกาซีนหัวไทยหัวนอกต่างก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แผงหนังสือของพี่อ้อยจึงพลอยเต็มไปด้วยสีสัน ที่เมื่อบวกกับอัธยาศัยไมตรีอันดีของเจ้าของร้าน ทำให้ทั้งเปีย นำแสง เสาชิงช้า และเปียบุ๊คส์ เป็นมากกว่าร้านค้าสำหรับใครหลายๆ คน

“สมัยก่อนเด็กเบญจมฯ เด็กสตรีวิทย์ชอบมาที่ร้าน พอแม่โทรมาถามว่าอยู่ไหน ก็จะตอบว่า อยู่ร้านพี่อ้อย บรรดาแม่ๆ ก็จะโกรธ ถามว่า ทำไมแกต้องมาร้านพี่อ้อย เพราะเขาไม่รู้ว่าที่ร้านขายหนังสือการ์ตูนอะไรพวกนี้ เขาคิดว่าเป็นแหล่งมั่วสุมเด็กๆ จนพอเขามาที่ร้าน ถึงได้รู้ว่า พี่อ้อยมันตลก (หัวเราะ)

bookshop

“ผัวเมียบางคู่ก็เคยเกิดเหตุการณ์เมียโทรมาตามว่า อยู่ไหน รู้แล้วว่าอยู่ร้านไอ้อ้อย ทำไมแกต้องมาแต่ร้านขายซีดีเพลง ซื้อตรงไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องมาร้านนี้เลย จนเมียตามมาคุมได้ 2-3 ครั้งก็เลิกมา เพราะรู้แล้วว่าทำไมผัวชอบมาที่นี่ คือ เราก็คุยตลกขบขันไปเรื่อย คนซื้อก็ต๊อง คนขายก็ต๊อง” พี่อ้อยเล่าพลางหัวเราะให้กับความหลังที่ยังสดใสและชัดเจนในความทรงจำ

bookshop

พ.ศ. 2552 เจ้าของตึกต้องการขายพื้นที่ ทำให้เปียบุ๊คส์ต้องย้ายทำเลมายังห้องแถวฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ตั้งร้านในปัจจุบัน ซึ่งโชคดีที่เป็นบ้านของแม่สามีพี่อ้อย ทำให้เปียบุ๊คส์เป็นทั้งที่อยู่และที่ทำงานแบบไม่ต้องเสียค่าเช่าแต่อย่างใด

พาสปอร์ตต่อลมหายใจ

“ขายดีขึ้นก็ตอนมีโครงการนี้แหละค่ะ” น้องแพรว ลูกสาวของพี่อ้อย ตอบขณะทอนสตางค์ให้เรา พร้อมบุ้ยใบ้ไปยังโปสเตอร์ของโครงการ หนังสือเดินทางร้านหนังสือ ที่แปะอยู่บนกระจกหน้าร้าน

bookshop
พี่อ้อย – น้องแพรว แห่งร้านเปียบุ๊คส์

“บุ๊กพาสปอร์ตทำให้คนรู้จักเยอะขึ้นนะ ตอนแรกที่ทางโครงการส่งเอกสารมาให้ พี่อ่านๆ แล้วก็ขี้เกียจตอบ เลยทิ้งไป” พี่อ้อยย้อนเล่าถึงตอนที่เกือบทิ้งโอกาสสำคัญให้หลุดมือ

“ตอนนั้นพี่ไม่อยากจะไปเขียนตอบโน่นตอบนี่ เราเรียนน้อยก็ไม่เข้าใจอะไรหลายๆ เรื่อง ผ่านไปพักใหญ่จนวันที่ใกล้จะหมดเขตรับสมัครร้านหนังสือเข้าร่วมโครงการแล้วมั้ง มีน้องๆ ที่ห้อยป้าย กทม. 3 คน ผู้ชายคนนึง ผู้หญิงสองคน เดินเข้ามาถามว่า ทำไมเราไม่เข้าร่วมโครงการของเขา มีแต่ได้กับได้นะ

bookshop

“เราก็บอกว่ามันยุ่งยาก เราอยู่ร้านแค่คนเดียว เขาเลยจัดการให้ทั้งหมดเลย ตั้งแต่โทรไปถามให้ว่า ยังสมัครทันไหม ปรากฏว่ายังทัน ส่วนตราปั๊มประจำร้าน เราก็ไม่มี ทางกระทรวงฯ ก็ทำให้ก่อน แล้วตอนหลังพี่ค่อยวานให้น้องชายเพื่อนออกแบบให้ เป็นตราเดียวกับป้ายชื่อร้านที่กำลังทำอยู่”

พี่อ้อยเล่าพลางเปิดไอแพดให้ดูป้ายชื่อร้านหลายแบบหลากสี ที่ตัวเธอยังคิดไม่ตกว่าจะเลือกสีเขียวเพื่อให้ถูกโฉลก หรือสีน้ำเงินตามใจตัวเองดี จะเลือกเฉพาะฟ้อนต์เรียบๆ หรือมีรายละเอียดรูปภาพประกอบถึงจะเหมาะ

เหล่านี้ถือเป็นรายละเอียดสนุกๆ ที่งอกเงยเพิ่มเติมหลังเข้าร่วมกิจกรรมหนังสือเดินทางร้านหนังสือ ที่พลอยทำให้เปียบุ๊คส์ของเธอได้เดินทางต่ออีกครั้งหนึ่ง

bookshop

ทำไมถึงเปิดร้านทุกวัน

จะปิดได้ยังไง เงินหายากขึ้นทุกวัน แต่รายจ่ายมีให้จ่ายทุกวัน ถ้าเราปิดก็ไม่รู้ว่าวันไหนจะมีคนแยะไหม บางทีเสาร์อาทิตย์มีคนมากกว่าวันธรรมดา เลยเปิดตลอด จะไปไหนก็ต้องสลับกันกับลูก พ็อกเก็ตบุ๊คเดี๋ยวนี้ราคาสูง โอกาสขายได้เงินเป็นก้อนยังมีมากกว่าขายหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารข้างหน้าร้าน ที่แค่เล่มละไม่กี่บาท ไม่ขยันก็ต้องขยัน เปิดร้านไว้ก่อนดีกว่า

bookshop

ร้านเปิด-ปิดกี่โมง

ต้องไปรับหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเองตอนตี 4 ทุกวัน กลับมาถึงร้านก็เริ่มแยกหนังสือที่ลูกค้าสั่งเอาไว้ใส่ถุง ตี 5 เริ่มเปิดร้าน นั่งแบบนี้ทั้งวันไปจนถึงเวลาปิดร้าน ประมาณ 3 ทุ่ม ถามว่ามันคุ้มกับชีวิตไหม ไม่คุ้มหรอก แต่จะให้ไปทำอะไรล่ะ ตอนเช้าเรียงหนังสือคนเดียว ตอนกลางคืนลูกช่วยเก็บ กว่าจะอาบน้ำ นอนก็ปาไปห้าทุ่มเที่ยงคืน ถ้าลูกไม่อยู่ เราก็นั่งแบบนั้นทั้งวัน ถ้าลูกอยู่เราก็ดูทีวี หรือพักสายตาได้บ้าง

ดูเป็นคนอารมณ์ดีจัง

เราถือว่าเราเป็นคนขายของ ถึงจะมีเรื่องอะไรในใจ คนอื่นเขาก็ไม่ได้รับรู้กับเรา เพราะฉะนั้นจะทุกข์แค่ไหน ตอนขายของเราต้องยิ้ม คนอื่นเห็นหน้าเรายุ่งๆ ใครจะอยากเข้ามาซื้อของ อย่างลูกสาวหน้าไม่ค่อยยิ้ม ก็ต้องบอกเขาว่า แพรว ขายของต้องยิ้มหน่อยสิลูก เขาก็ตอบกลับมาว่า ใครจะเหมือนแม่ ยิ้มได้ทั้งวัน หนูไม่รู้จะยิ้มยังไง (หัวเราะ)

bookshop

โดยส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือไหม

ไม่ชอบ เฉยๆ พี่ชอบฟังเพลง และชอบสีสันของปกเทปปกซีดี เพราะฉะนั้น พอเปลี่ยนมาขายหนังสือ พี่ก็ชอบสีสันของปก เห็นแล้วเป็นอะไรที่สุขในใจ อ่านหรือไม่อ่านไม่รู้แหละ แต่เห็นแล้วสบายใจที่ยังมีหนังสือเป็นเล่มๆ ให้เราได้หยิบจับ

bookshop

เวลาลูกค้าอยากให้แนะนำหนังสือ แนะนำอย่างไร

เราก็ไม่รู้ว่าเขาชอบแนวไหน เลยมักบอกให้เขาเลือกเองดีกว่า เดี๋ยวเลือกให้แล้วไม่ดีพอ เพราะลูกค้าของเรามีตั้งแต่เด็กจนถึงชราภาพ ล่าสุดที่รู้ก็อายุ 96 ปี เรียกแทนตัวเองว่าคุณยาย เคยเป็นครูมาก่อน ความจำแกดีมาก หุ่นดี ผอม และยังแข็งแรง แกพูดจาแตกฉานเล่าว่า คุณยายอยู่ตัวคนเดียว ตอนนี้คุณยายเดินได้ คุณยายก็อยากมาซื้อหนังสือเก็บไว้ อ่านหรือไม่อ่านก็ขอซื้อเก็บไว้ก่อน เดี๋ยวพอคุณยายเดินไม่ได้จะไม่มีใครพามาซื้อ

bookshop

เห็นมีพระบรมฉายาลักษณ์กับหนังสือปกในหลวงรัชกาลที่ 9 เยอะมาก

อ๋อ เพราะคนขายชอบ (ยิ้ม) เห็นแล้วเป็นกำลังใจให้กับชีวิต พ่อแม่พี่ไม่อยู่แล้ว ก็ได้แต่ยึดท่านเป็นหลัก 

ทำไมถึงยังใช้ชื่อร้านว่า เปียบุ๊คส์ อยู่เหมือนเดิม

เราคิดว่าถ้าไม่มีเขา (พี่เปีย เจ้าของร้านเปีย นำแสง เสาชิงช้า) เราก็ไม่มีวันนี้ จะใช้ชื่ออ้อยบุ๊คส์ก็ไม่เพราะเนอะ (หัวเราะ) เพื่อนก็บอกว่าทำไมไม่ใช้ชื่ออ้อยบุ๊คส์ แกลองฟังระหว่างอ้อยบุ๊คส์กับเปียบุ๊คส์ อันไหนมันเพราะกว่ากัน 

เพื่อนก็ถามอีก แล้วทำไมต้องใช้ชื่อเขา ชื่ออื่นมีอีกตั้งเยอะแยะ เลยตอบตามประสาเพื่อนกันไปว่า อ๋อ ถ้าไม่มีเขา ก็คงไม่มีกูยืนอยู่ตรงนี้ (หัวเราะ) พี่เปียชวนพี่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ทำงาน และกินนอนอยู่ที่บ้านเขาตั้งแต่อายุ 14-15 ปี เขาช่วยเหลือพี่ทุกอย่าง 

พวกเราเริ่มต้นจากเป็นลูกจ้างร้าน ส รวมแผ่นเสียง ย่านสะพานเหล็กมาด้วยกัน จนเขาเติบโตมาเปิดร้านขายเทปเองได้ จากนั้นเริ่มขยายสาขาไปที่โซโก้ ตรงสี่แยกพระพรหม แล้วก็ขยายไปอีก 9-10 สาขา ซึ่งเร็วเกินไป จนมาเจอพิษเศรษฐกิจก็ไปไม่รอด จนเขาต้องย้ายไปอยู่เมืองนอก เราเองก็ทำร้านต่อไปเรื่อยๆ และไม่อยากให้ชื่อเขาหายไป จึงยังใช้ชื่อเปียบุ๊คส์จนถึงทุกวันนี้

bookshop

เปียบุ๊คส์ (ติดกับร้านครัวอัปสร) เลขที่ 167 ถ.ดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร 086-312-3035 เปิดบริการทุกวัน เวลา 05.00 – 20.00 น.