มนุษย์กาญ่า (Homo Gaia) เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุกและเพลิดเพลินมากที่สุดเล่มหนึ่ง
สำนวนการเล่าเรื่องที่ไม่ต่างจากการเล่านิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่าของ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ดร.อ้อย ทำเอาผู้อ่านแทบหลงลืมไปว่าเธอคือนักวิทยาศาสตร์ด้านนิเวศวิทยามือฉมังคนหนึ่งของเมืองไทย
เรื่องเล่าต่างๆ มีทั้งประสบการณ์ชีวิตที่เติบโตมากับคุณแม่ผู้มีความรักในธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติ ประสบการณ์ทำงานที่เปิดโอกาสให้เจ้าตัวได้ประสบพบเจอเรื่องราวราวสามัญแสนอัศจรรย์ของบรรดาสัตว์และพืชรอบโลก
บวกกับการฝึกฝนเฉพาะตัวของ ดร.อ้อย ในการหาหนทางติดต่อสื่อสารกับธรรมชาติ ที่ออกจะเหนือจริงนิดๆ ออกไปจากโลกวิทยาศาสตร์หน่อยๆ ทั้งหมดถูกกลั่นกรองจนเกิดเป็นเนื้อหาสิบบทในหนังสือเล่มบางเล่มนี้ ที่ช่วยเปิดโลกให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในป่าคอนกรีตได้ทึ่งกับการได้เริ่มต้นหัดสังเกต ฟัง และสื่อสารกับธรรมชาติรอบตัวไปทีละน้อย
เพราะการสังเกตโลกภายนอกและสิ่งมีชีวิตรอบตัวเราเท่ากับการใส่ใจในชีวิตผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์โฮโม เซเปียนส์ อย่างเราๆ ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลจนเกินไป
และถ้าได้ผลมากไปกว่านั้น เราอาจพัฒนาขีดความสามารถจนกลายเป็น ‘มนุษย์กาญ่า’ ได้ในที่สุด
มนุษย์กาญ่าไม่ใช่มนุษย์ผู้ทรงพลังพิเศษเหนือมนุษย์ เหมือนอย่างที่โงกุนสามารถอัปเลเวลตัวเองจนกลายเป็นซูเปอร์ไซย่าอย่างในการ์ตูนเรื่อง ดราก้อนบอล
มนุษย์กาญ่าเรียบง่ายกว่านั้น เพราะหมายถึง “สายพันธุ์มนุษย์ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสังคมโลกเคียงคู่ไปกับสรรพชีวิตอื่นๆ เป็นสายพันธุ์มนุษย์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤตการทำลายล้างธรรมชาติของโฮโม เซเปียนส์” – เป็นนิยามที่ผู้เขียนแจงไว้เพื่อความเข้าใจตรงกันตั้งแต่หน้าแรกๆ ของหนังสือ
ถ้านึกภาพง่ายๆ ดูเหมือน ดร.อ้อย จะชวนผู้อ่านวิวัฒนาการถอยหลังไปด้วยกัน จากการเป็น ‘มนุษย์ฉลาด’ (ความหมายของ โฮโม เซเปียนส์) ที่ฉลาดเสียจนสร้างผลกระทบมหาศาลต่อสภาพแวดล้อมในระดับที่เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง แล้วกลับไปเป็นมนุษย์ยุคโบราณในสมัยที่ยังไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นภาษาเพื่อสื่อสารกัน และยังคงพูดคุยกับพืชและสัตว์รู้เรื่อง
เหมือนอย่างที่นิทานปรัมปราส่วนใหญ่มักเริ่มเรื่องว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในยุคสมัยที่คนยังคุยกับสัตว์ได้…” จึงคงจะดีหากกาลครั้งหนึ่ง ณ วันนี้ ผู้คนจะหันมาสื่อสารกับสัตว์และธรรมชาติได้อีกครั้ง
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงแย้งว่าเพ้อเจ้อ ซึ่ง ดร.อ้อย รู้ทันจึงงัดเอาทีเด็ดอย่างเคสของ อันนา ไบรเทนบัค (Anna Breytenbach) ล่ามสัตว์หรือนักสื่อสารข้ามสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง มาเป็นเครื่องยืนยัน เมื่อครั้งที่ไบรเทนบัคสามารถเปิดใจเสือดำจอมดุร้ายที่ขู่กรรโชกใส่มนุษย์ทุกคนที่เฉียดใกล้ ให้กลายเป็นเสือเชื่องๆ ได้
สิ่งที่ไบรเทนบัคทำเพียงแค่สบตาสื่อจิตและปรับความเข้าใจกับเสือดำให้ยอมเชื่อว่า มนุษย์มีหลายประเภท และยังมีมนุษย์ประเภทหนึ่งที่ทุ่มเทช่วยเหลือสัตว์ป่าด้วยหัวใจเมตตาอย่างแท้จริง เจ้าเสือดำจึงยอมเชื่อใจและเชื่องขึ้นกว่าเดิม
เสือดำไม่ได้แค่เชื่องธรรมดาๆ แต่ถึงขั้นร้องขอให้มนุษย์ใจดีช่วยเปลี่ยนชื่อให้หน่อย เพราะมันไม่ชอบชื่อเดิมอย่าง ดียาโบล (Diablo) ที่มีความหมายเชื่อมโยงกับปีศาจร้าย ในที่สุดมันก็ได้รับการขนานนามใหม่ว่า สปิริต และกลายเป็นเสือสุขภาพจิตดีที่ยินยอมให้มนุษย์เฉียดใกล้ได้ในที่สุด
อาจจะไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องราวของเสือในเมืองฝรั่ง เฉพาะในเมืองไทยเองก็มีคนเจรจากับสัตว์รู้เรื่อง อย่างชาวสวนเมืองจันท์ที่ถูกช้างป่าบุกสวนทึ้งผลไม้กินมานานปี เพียงแค่เขาคุยกับช้างดีๆ เจรจาเป็นภาษามนุษย์แต่สื่อออกจากใจจริงว่า พวกเจ้าจะแบ่งผลไม้ไปกินได้ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ปลิดกินดีๆ อย่าฉีกกิ่งก้านใหญ่ อย่าล้มต้นไม้ ไม่อย่างนั้นปีหน้าก็จะไม่มีกินกันอีก
เพียงเท่านี้ ช้างก็ยอมเข้ามากินผลไม้แบบเงียบๆ เรียบร้อย นับเป็นสวนทุเรียนมังคุดเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมีสภาพดี แค่เริ่มต้นจากการสื่อสารที่จริงใจ
แน่นอนว่าในการชักชวนผู้คนให้เปลี่ยนมาเป็นมนุษย์กาญ่าไปด้วยกันคงไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้หากมีเพียงเรื่องเล่า ดร.อ้อยจึงมาพร้อมแบบฝึกหัดที่ไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป ในการเชิญชวนให้ผู้อ่านได้พัฒนาผัสสะต่างๆ เพื่อการเข้าใกล้การสื่อสารกับธรรมชาติขึ้นไปอีกสเต็ป
เช่น การหัดมองโลกด้วยเลนส์ไวด์แบบตานกฮูก ฝึกฟังสรรพเสียงรอบตัวแล้ววาดแผนที่เสียง หัดฟังภาษานกที่ช่วยเตือนภัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัดดมกลิ่นด้วยจมูกหมา เดินให้เบาอย่างสุนัขจิ้งจอก สังเกตรสชาติขณะกินอาหาร ทดลองสัมผัสพื้นผิวต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย
ไปจนถึงการสะกิดให้ผู้อ่านลองหัดเรียนเต้นระบำหน้าท้อง รำไทเก๊ก เรียนกังฟู ฯลฯ ที่ช่วยขยายผัสสะพื้นฐานให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
มากไปกว่าการขยายผัสสะพื้นฐาน ดร.อ้อยพาผู้อ่านล้ำไปสู่การข้ามโพ้นโซนผัสสะ ที่แปลง่ายๆ ว่า การพัฒนาเซนส์ต่างๆ จนสามารถเชื่อมโยงหรือสื่อสารกับธรรมชาติรอบตัวได้ โดย ดร.อ้อยใช้คำว่า ‘เข้าถึงแหล่งข้อมูลจากธรรมชาติได้’ ซึ่งฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์มาก ทั้งที่จริงๆ แล้วว่าด้วยเรื่องของซิกส์เซนส์หรือสัมผัสที่หก ซึ่งออกจะเป็นเรื่องทางไสยศาสตร์เสียมากกว่า
นั่นทำให้หนึ่งในข้อดีของการข้ามโพ้นโซนผัสสะเพื่อเป้าหมายของการเป็นมนุษย์กาญ่า ยังทำให้ผู้ฝึกฝนอย่างจริงจังได้รับโล่ป้องกันมนุษย์พันธุ์ต้มตุ๋นเป็นอีกหนึ่งของแถม ซึ่ง ดร.อ้อย แจกแจงได้อย่างเห็นภาพ
“แต่มันจะเป็นอย่างไร ถ้าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงศักยภาพของมนุษย์ในการเชื่อมต่อกับสรรพสิ่งในจักรวาล ทำให้มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีความเหนือธรรมชาติ มีแต่ความเป็นธรรมชาติละเอียด เป็นธรรมชาติมากๆ
“อำนาจในการต้มตุ๋นของตัวกลาง ร่างทรง กูรูเก๊ ซูเปอร์โค้ชจะลดลงไหม เมื่อใครๆ ก็เข้าถึงแหล่งข้อมูลจากธรรมชาติได้
“ฉันอยากชวนสำรวจความสามารถด้านนี้ของตัวเองกัน ซึ่งฉันเชื่อมั่นว่าเราทุกคนมีอยู่ และฝึกฝนทำได้เหมือนที่บรรพบุรุษของเราทำกันมา”
หรืออย่างน้อยที่สุด การสื่อสารข้ามสายพันธุ์ก็เพื่อนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจกัน ลดทอนการด้อยค่าสัตว์เดรัจฉานว่าไร้จิตสำนึก ไม่มีศีลธรรม ไม่มีวัฒนธรรม ซึ่งเนื้อหาในเล่มนี้ทำหน้าที่แจกแจงให้ผู้อ่านทึ่งในความอัศจรรย์ของธรรมชาติของบรรดาสัตว์เดรัจฉาน ที่โดยนิยามแล้ว แปลว่า ไปโดยส่วนขวาง คือเป็นสัตว์ที่มีร่างกายขนานไปกับพื้นโลก หัวใจและอวัยวะสำคัญถูกปกป้องไว้ระหว่างอุ้งขา
ต่างจากสัตว์ (ที่นิยามตัวเองว่า) ประเสริฐอย่างมนุษย์ที่ก็แค่ยืนสองขาเปิดหัวใจและอวัยวะสำคัญสู่โลกกว้าง ก็เท่านั้น
ขอรับประกันว่าเรื่องราวของเหล่าเดรัจฉานในเล่มนี้สามารถทำให้หลายคนทั้งยิ้มและน้ำตาซึมได้ในเวลาเดียวกัน
มนุษย์กาญ่า (Homo Gaia)
ผู้เขียน: สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
สำนักพิมพ์: Salt
ราคาปก: 260 บาท